ทำไมความตายจึงน่าสะพรึงกลัว

ปรีดา เรืองวิชาธร 26 มิถุนายน 2011

ในการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบที่จัดมาตลอดหลายปีนั้น คำถามหนึ่งที่เราต้องถามผู้เข้าร่วมอบรมทุกครั้งไม่เคยขาดเลยก็คือ หากคุณกำลังจะตายลงในไม่ช้านี้ คุณจะรู้สึกอย่างไรต่อความตายที่กำลังปรากฏตัวตรงหน้าคุณ และถ้าเป็นคนส่วนใหญ่โดยทั่วไปเขาจะรู้สึกนึกคิดอย่างไรต่อความตายของเขา  ผู้เข้าร่วมอบรมทุกรุ่นทุกกลุ่มล้วนตอบตรงกันว่า คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะกลัวและไม่พร้อมที่จะตาย ส่วนผู้เข้าร่วมอบรมที่สนใจเรียนรู้เรื่องความตายจำนวนเกินครึ่ง ในวันแรกมักจะตอบว่าไม่กลัวความตายและค่อนข้างพร้อมที่จะตายในเวลาใดก็ได้

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้เข้าร่วมอบรมที่ไม่รู้สึกกลัวตายมักเป็นคนในแวดวงที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมาพอสมควร หรือไม่ก็เคยมี (หรือกำลังมี) ประสบการณ์ใกล้ตายไม่ว่าจะเป็นตัวเขาเองหรือคนรักรอบข้างเขา ทำให้เขาตื่นตัวขวนขวายเพื่อรับมือกับความตายของเขาเอง รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับความตายของคนใกล้ตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ หลายคนจึงหวังว่ากระบวนการอบรมคงจะช่วยทำให้กระจ่างในภาวะใกล้ตายมากขึ้น พร้อมกับจะสามารถแสวงหาวิธีการรับมือกับความตายเพื่อที่จะตายอย่างสงบสุขได้หากวันนั้นมาถึง

แต่ครั้นเราตรวจสอบด้วยคำถามนี้อีกครั้งในช่วงที่ทำกิจกรรมทดลองตาย (มรณสติภาวนา) กลับปรากฎว่าบางท่านที่เดิมคิดว่าไม่กลัวและพร้อมที่จะตายก็ได้สารภาพว่า ลึกๆ แล้วก็รู้สึกกลัวขึ้นมาบ้างเหมือนกัน หรือกลับไม่แน่ใจว่าถ้าความตายมาถึงจริงๆ (ไม่ได้คิดนึกเอง) ตัวเองจะพร้อมจริงๆ สักเพียงใด  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นไปได้ว่า เวลาเราถูกตั้งคำถามว่ากลัวตายหรือไม่ คนส่วนใหญ่มักตอบคำถามนี้จากการคิดนึกด้นเดา (ใช้หัว) ซึ่งอาจจะขาดประสบการณ์ตรงจนเรารู้สึกได้ถึงความตายจริงๆ (ใช้ใจ) ดังนั้นการคิดประเมินเอา กับรู้สึกได้จึงแตกต่างกันมาก

อีกเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ ในระหว่างที่กำลังผ่านกระบวนการทดลองตายนั้น ในบทมรณสติภาวนาได้น้อมนำให้เราระลึกนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เราวนเวียนข้องแวะผูกพันในชีวิตประจำวัน เช่น การงาน ทรัพย์สมบัติ ความสำเร็จ คนรัก ญาติมิตร รวมถึงตัวตนของเราเอง ทำให้บางท่านได้ตรวจสอบอย่างใคร่ครวญช้าๆ จนค้นพบว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ เราอาจจะยังรู้สึกยึดติดผูกพันกับบางสิ่งจนยังไม่พร้อมที่จะตาย หรือไม่ก็เพิ่งรู้ตัวว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้จัดการหรือเตรียมตัวไว้อย่างครบพร้อม จึงทำให้ลึกๆ แล้วยังไม่พร้อมตายในเวลาใดก็ได้  อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมอบรมที่น้อมใจใคร่ครวญไปตามบทมรณสติภาวนาก็มักได้รับการตอกย้ำว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะประมาทต่อความตาย โดยตั้งใจมั่นที่จะหมั่นระลึกรู้อยู่เสมอเพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างรู้คุณค่าความหมาย

หากเราถามลงลึกต่อจากนั้นว่า เพราะเหตุใดความตายจึงน่าสะพึงกลัวเสมอสำหรับคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ หรือมีเหตุปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้เราต้องขอผัดผ่อนต่อความตาย มีคำตอบผุดขึ้นหลากหลายมากมายจากการแลกเปลี่ยนแบ่งปันระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมและวิทยากร  องค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับความน่าสะพึงกลัวของความตายที่เกิดจากการสืบค้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเข้าใกล้ เข้าใจ และยอมรับภาพของความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อความตายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในประสบการณ์ส่วนตัวของผมเชื่ออย่างสนิทใจว่า เหตุสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งที่ทำให้เรากลัวอย่างลนลานต่อความตายก็คือ เราเห็นมันไม่ชัดหรือรู้จักมันน้อยจริงๆ  ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จะพบว่า เราสนทนาถึงมันตลอดจนเดินเข้าไปหามันด้วยใจที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาน้อยไปหน่อย ความตายก็เลยดูลึกลับน่ากลัวทั้งที่มีความตายเกิดขึ้นทุกชั่วโมงนาที อย่าว่าแต่ทุกวันเลย  ดังนั้นหากเราเข้าใจที่มาที่ไปของความกลัวอย่างลนลานนั้นชัดเจนขึ้น เราน่าจะสามารถเตรียมตัวรับมือกับมันได้อย่างมั่นคงบ้าง

สำหรับข้อสรุปอันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ว่า เหตุที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้กลัวตายหรือขอผัดผ่อนต่อความตายมีดังนี้

๑. ความเจ็บปวดทางกายในช่วงท้ายของชีวิต

สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงก่อนอื่นใดเวลานึกถึงภาวะใกล้ตายหรือการเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็คือ ความเจ็บปวดที่จะต้องเผชิญในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต  ประสบการณ์จากบุคลากรทางการแพทย์ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือแม้แต่หมอหรือพยาบาลเองต่างก็กลัวความเจ็บปวดทางกายที่หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะหากกำลังป่วยเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งด้วยแล้ว ยิ่งทำให้กลัวความเจ็บปวดอย่างสาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น

แต่เมื่อสืบค้นลึกลงไปเรากลับพบว่า ภาพความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าจนรู้สึกกลัวอย่างลนลานต่อความเจ็บปวดทางกาย หรือใจที่ต่อต้านไม่ยอมรับภาวะที่ต้องเจ็บปวด กลับเป็นส่วนสำคัญทำให้ความเจ็บปวดทางกายที่มีอยู่เดิมแล้วเพิ่มทวีขึ้นอย่างเข้มข้น จนเราตกอยู่ในสภาพเจ็บปวดทางกายแล้วยังทุกข์ทรมานทางใจอีก  ใจที่คิดนึกปรุงแต่งจนทำให้เราแหยต่อความเจ็บปวดนั้น ทำให้เราอ่อนแอเปราะบางในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะใกล้ตาย ซึ่งแม้จะมีส่วนจริงอยู่มากทีเดียวว่า เราอาจจะต้องประสบกับความเจ็บปวดบ้างไม่มากก็น้อย แต่ทุกวันนี้การแพทย์แบบประคับประคองก็มีกรรมวิธีหลากหลายมากมายที่ช่วยทำให้ความเจ็บปวดทางกายคลี่คลายบรรเทาลงไปได้บ้าง ซึ่งเราสามารถขอคำปรึกษาร่วมกับแพทย์พยาบาลได้ไม่ยาก  แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรารับมือกับความเจ็บปวดได้อย่างหนักแน่นมั่นคงก็คือ ใจที่ถูกฝึกฝนจนเข้มแข็งมั่นคงและมีสติตื่นรู้เพื่อพร้อมเผชิญความเจ็บปวดทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการฝึกฝนหล่อเลี้ยงให้จิตใจมีความเข้มแข็งมั่นคงนั้น เราจำต้องหมั่นเปิดโอกาสให้จิตใจได้เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดหรือความป่วยไข้ในชีวิตประจำวันนับแต่นี้เป็นต้นไป โดยฝึกฝนใจให้สามารถต้อนรับความเจ็บปวดป่วยไข้อย่างไม่รีบด่วนผลักไส  ดังนั้นในแต่ละขณะของชีวิตที่เกิดความเจ็บปวดป่วยไข้ขึ้นมา ไม่ว่าจะหนักหรือเบา ให้ถือเป็นโอกาสทองที่จิตใจจะได้ฝึกอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดป่วยไข้  และถือเป็นพื้นที่ฝึกฝนสติให้เราได้รู้เท่าทันทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งจะทำให้เห็นจิตใจที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพของทุกขเวทนาแต่ละขณะ

จริงอยู่ความเจ็บปวดป่วยไข้หรือทุกขเวทนานั้นมีแนวโน้มสูงมากที่จะครอบงำหรือสะกดให้เรากระสับกระส่ายหรือโกรธเคืองจนสติหลุดลอยกระเจิดกระเจิงได้ง่าย  แต่หากมองอีกด้านหนึ่งนั้น จิตใจที่จะมีความมั่นคงเข้มแข็งรวมทั้งมีสติฉับไวนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่หล่อเลี้ยง ซึ่งหมายถึง การที่จิตใจมีโอกาสฝึกฝนผ่านประสบการณ์ตรง นั่นคือการได้สัมผัสรับรู้สภาพทุกขเวทนาอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้หากความเจ็บปวดป่วยไข้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เราควรหมั่นน้อมสติให้เกิดขึ้นอย่างฉับไวและบ่อยครั้ง พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ใช้ภาวะความเจ็บปวดป่วยไข้เป็นที่ฝึกซ้อมหรือเป็นเครื่องอยู่ของสติ  เมื่อสติหรือความระลึกรู้เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบตามธรรมชาติของมันแล้ว ก็จะทำให้เราเห็นความจริงของทุกขเวทนาอย่างชัดเจน กล่าวคือ เห็นชัดถึงรสชาติของความเจ็บปวด เห็นชัดว่าความเจ็บปวดนั้นมันครอบงำจิตใจของเราให้คิดปรุงแต่งแส่ส่ายไปอย่างไร และเห็นชัดถึงความขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนของความเจ็บปวด ซึ่งจะทำให้จิตใจของเราเกิดปัญญาและความมั่นคงอย่างแท้จริงในที่สุด

ที่กล่าวมานี้ เราก็หาควรที่จะละเลยการหมั่นเจริญสติในแต่ละขณะของชีวิตประจำวันไปได้ไม่ เพราะสติหรือการระลึกรู้ทันที่ถูกฝึกมาดีนั้น ย่อมถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สติเกิดขึ้นได้จริง ในขณะที่เรากำลังเผชิญความเจ็บปวดป่วยไข้ที่หนักหนาสาหัส เพราะการไปรอฝึกซ้อมสติตอนมีทุกขเวทนากล้านั้นยากยิ่งจะทำได้จริง

๒. ความยึดติดในวัตถุและบุคคลอันเป็นที่รัก

เหตุปัจจัยสำคัญต่อมาที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากไม่ยิ่งหย่อนกว่าความกลัวเจ็บปวดก็คือ ความรู้สึกว่าความตายเป็นเสมือนคำพิพากษารุนแรงโหดร้ายที่สุด ความตายเป็นจุดจบของทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวรวมถึงตัวเราเองด้วย เพราะเพียงแค่ทันทีที่เราได้รับคำยืนยันจากหมอว่า เราป่วยเป็นมะเร็งในระยะลุกลามเท่านั้น โลกของเราทั้งหมดก็พลันจะมืดมัวอับเฉาลงเสียสิ้น ทุกอย่างที่เรากำลังมีกำลังเป็นกำลังจะถูกบั่นรอนจนหมดสิ้นในท้ายที่สุด ดังนั้นในความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่จะมีความวิบัติสูญเสียอะไรที่หนักหนาสาหัสกว่าความตายอีกล่ะ โดยเฉพาะคนที่ชีวิตกำลังประสบความสำเร็จหรือชีวิตกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นก็จะรู้สึกสูญเสียรุนแรงมาก ยกเว้นไว้บ้างกับบางคนที่ประสบความสำเร็จแต่ก็ดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทันความจริงควบคู่ไปด้วย

เมื่อถามลงลึกต่อไปว่า ทำไมจึงรู้สึกว่าความตายเป็นคำพิพากษาที่โหดร้ายรุนแรง ทั้งที่มันเป็นความจริงอีกด้านหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอไม่ช้าก็เร็ว เราพบว่าความตายมันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่ไปบั่นรอนทำลายทุกสิ่งที่มนุษย์ยึดติดผูกพัน โดยเฉพาะเรื่องหลักๆ ที่เป็นยอดปรารถนาหรือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพลังในการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้ดังเช่น ความสุข ซึ่งในที่นี้หมายเน้นถึงความสุขอันเกิดจากการได้เสพบริโภคทางวัตถุ หรือจากการสั่งสมครอบครองทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย

ชีวิตที่ว่ายวนอยู่ในกระแสของทุนนิยมบริโภคนั้น พวกเราต่างถูกปลุกกระตุ้นเร้าให้รู้สึกอยากมีอยากเอาอยากเป็นอย่างไม่มีขีดจำกัด และขณะที่เราใช้ชีวิตท่ามกลางเสน่ห์อันเย้ายวนของโภคทรัพย์อันพรั่งพร้อม เราจะไม่อยากรับรู้หรือเผชิญหน้ากับความตายตลอดจนความเสื่อมสูญใดๆ เลย อย่าว่าแต่จะหยิบเอาความตายมาใคร่ครวญให้เกิดสติปัญญาเลย  ในวิถีทางของทุนนิยมบริโภคจะมีปัจจัยหรือกระบวนการต่างๆ ที่สร้างความหมายให้เราเชื่ออย่างคลั่งไคล้ใหลหลงว่า หากคุณต้องการความสุขอย่างยั่งยืนถาวรแล้วคุณต้องแสวงหาและสั่งสมให้มากเข้าไว้

นอกจากนั้นสังคมทุนนิยมบริโภคยังบอกอย่างครอบงำอีกว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองหรือเอาชนะกฎความจริงของธรรมชาติอย่างไร้ขอบจำกัด เช่น หากความสามารถทางเพศของคุณเสื่อมก็มียาแก้ให้ฟิตปั๋งขึ้นมาใหม่ได้ หากคุณเริ่มแก่ความเหี่ยวย่นโรยรามาเยือนก็สามารถทำให้เต่งตึงดูยังหนุ่มยังสาวเสมอ รวมถึงหากคุณป่วยไข้รุนแรงเพียงใดเราก็ยังสามารถยื้อให้คุณมีลมหายใจต่อไปได้อีกนาน เป็นต้น  ความเชื่อมั่นในโลกทุนนิยมบริโภคดังกล่าวทำให้เรามุ่งมั่นแสวงหาสั่งสมโภคทรัพย์อย่างยึดติด จนหลงลืมมองข้ามความจริงของชีวิตอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ ความเสื่อมสลายหรือขาลงของชีวิตทุกแง่ทุกมุม ดังนั้นความตายจึงเป็นปฏิปักษ์อย่างสุดขั้วต่อความสุขชนิดนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

ยอดปราถนาของคนส่วนใหญ่อีกอันหนึ่งก็คือ ชีวิตที่กำลังประสบความสำเร็จหรือชีวิตที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นทั้งประสบความสำเร็จในแง่หน้าที่การงาน ฐานะและตำแหน่ง ชื่อเสียงภาพพจน์ที่คนให้การยอมรับ ครอบครัวกำลังอบอุ่นไปได้ดี ความสัมพันธ์อันดีที่กำลังเกิดขึ้นในที่ทำงานเป็นต้น แม้ด้านหนึ่งความสำเร็จจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสำคัญที่จะทำให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปอย่างมีพลังมีชีวิตชีวา แต่หากเราข้องแวะกับความสำเร็จอย่างงมงายไม่รู้เท่าทัน ความสำเร็จนั้นก็จะแว้งเข้ามาขบกัดผู้เป็นเจ้าของความสำเร็จนั้น

ด้วยเหตุนี้ชีวิตที่กำลังประสบความสำเร็จ ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เราพร้อมที่จะหันหลังกลับและวิ่งหนีความตายอย่างลนลาน ก็เพราะชีวิตที่กำลังสำเร็จมักทำให้เพลิดเพลินในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์บันไดสู่ความสำเร็จต่อยอดขึ้นไปอีก เหมือนตกอยู่ในสภาพที่อิ่มไม่เป็น เสน่ห์แห่งความสำเร็จทำให้เรารู้สึกขาดพร่องอยู่เรื่อยๆ ต้องวิ่งเต้นทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และนั่นก็จะส่งผลให้เราหลงลืมขาลงของชีวิตซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อความตายมาเยือนเราจึงกลัวและไม่พร้อมที่จะรับมือกับมัน แถมอาจจะหลงมั่นใจได้ไม่ยากว่าเราจะสามารถเอาชนะความตายได้ เพราะเราคุ้นเคยกับการประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในอีกด้านหนึ่งความสำเร็จในแต่ละขั้นแต่ละก้าวของชีวิต มักส่งเสริมให้เรารู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูแน่นหนาขึ้นไปอีกนั่นเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่า ความตายเป็นปฏิปักษ์อย่างสุดขั้วกับชีวิตที่ยึดมั่นถือมั่นในความสุขที่อิงแอบกับวัตถุและชีวิตที่กำลังประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามหาใช่แต่คนที่ร่ำรวยประสบความสำเร็จเท่านั้นที่จะกลัวตาย คนยากจนตลอดจนคนดีทั่วไปก็อาจกลัวตายหรือยังไม่พร้อมที่จะตายเช่นกัน เนื่องเพราะยังมีความยึดติดผูกพันคนรักใกล้ตัวดังเช่น พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลานหรือญาติสนิท คนรักใกล้ตัวเหล่านี้มักจะเป็นห่วงโซ่ที่ร้อยรัดให้เรายังไม่อยากจะจากโลกนี้ไป  จากประสบการณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักจะพบว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีความรักผูกพันลึกซึ้งกับคนรักใกล้ตัว มักจะมีความอาลัยอาวรณ์มากจนจิตใจโศกเศร้าอาดูรเมื่อถึงเวลาที่จะต้องลาจากกัน บ้างก็เป็นห่วงกังวลมากว่า คนที่ยังอยู่ต่อไปจะอยู่อย่างลำบากขัดสนมากน้อยเพียงใดหากไม่มีเขาอยู่ต่อไป

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางคนทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง ถ้าคนรักของเขายังอยู่ในภาวะเสียใจหรือยังยอมรับไม่ได้ถึงการจากไปของเขา ดังนั้นสำหรับคนรักที่มีความหมายลึกซึ้งจึงเป็นเรื่องที่คนกำลังจะตายปล่อยวางได้ยากมาก และทำให้รู้สึกไม่พร้อมที่จะตายจนต้องทำอะไรก็ได้เพื่อขอผัดผ่อนความตายให้เนิ่นนานออกไป นอกจากคนรักใกล้ตัวแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนหรือเกือบทุกคนปล่อยวางได้ยากที่สุดก็คือ ตัวตนของเขาเองหรือกล่าวให้ถูกก็คือ ความรู้สึกหลงยึดว่ามีตัวตนเป็นนายนั่นนางนี่อยู่จริงๆ และธรรมชาติของการหลงยึดในตัวตนก็มักจะอยากให้ตัวตนของตนดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องต่อไป พูดง่ายๆ ว่ามันไม่อยากให้ตัวตนดับสูญไป ดังนั้นความอยากให้ตัวตนดำรงอยู่อย่างไม่เสื่อมสลายจึงทำให้เราไม่อยากตาย เลยต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวตนดำรงอยู่ต่อไป ดังนั้นทั้งคนรักใกล้ตัวและตัวตนภายในจึงเป็นแรงต้านสำคัญที่จะทำให้เราสามารถปล่อยวางใจในยามที่ต้องเผชิญความตาย

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น หากเราจะทำให้ปัจจัยที่ทำให้เรากลัวตายหรือไม่พร้อมที่จะตายคลี่คลายบรรเทาลงไปได้บ้างนั้น เราก็จำต้องฝึกฝนใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน หมั่นทบทวนใคร่ครวญอยู่เสมอๆ ถึงความจริงของทุกสรรพสิ่ง ว่ามันผันผวนปรวนแปรอยู่เสมอๆ ทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนขึ้นลงไปตามเหตุปัจจัยอันหลากหลาย ซึ่งเราไม่สามารถแข็งขืนบังคับมันให้เป็นไปตามอำนาจความต้องการของเราได้ รวมถึงการพิจารณาอย่างแยบคายหรือจับสังเกตอย่างใคร่ครวญถึง สภาวะของจิตใจที่รู้สึกขาดพร่อง มีความทะยานอยากต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างไม่รู้สึกอิ่มเอมเพียงพอเสียที (ตัณหา) ไม่ว่าจะเป็นโภคทรัพย์ ความสำเร็จนานาชนิด หรือนามธรรมอย่างเช่น การได้รับความรักหรือการยอมรับ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาอย่างแยบคายเพื่อรู้เท่าทันเครื่องมืออันหลากหลายมากมายของกระแสบริโภคนิยมที่คอยกระตุ้นเร้าให้เราทะยานอยากอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน

สิ่งสำคัญพื้นฐานที่ควรทำก็คือ การฝึกฝนใจให้ตั้งสติทันเวลาเรากำลังสูญเสียสิ่งใด ทั้งการสูญเสียตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทรัพย์สินเงินทองไปจนถึงเรื่องใหญ่ของชีวิตเช่น คนรักใกล้ตัว เพื่อจะทำให้เราเห็นความทุกข์ทรมานใจจากความยึดมั่นอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งนั้นๆ  การที่จิตใจได้ถูกฝึกเพื่อเผชิญหน้าต่อการสูญเสียมักจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันภายในมากพอเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องจากลาคนหรือสิ่งที่เรารักไป ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ในแต่ละขณะของชีวิตที่เรากำลังข้องแวะผูกพันกับทรัพย์สมบัติ ความสำเร็จ คนรักหรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ควรเกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทันกับธรรมชาติของมัน กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันก็คือ สติและปัญญาที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี  ยิ่งหากต้องการรู้แจ้งแทงทะลุถึงความรู้สึกสำคัญมั่นหมายเป็นตัวตนนั้น การภาวนาที่ลึกซึ้งเท่านั้นจึงจะเป็นคู่ปรับกับความยึดมั่นถือมั่นที่แน่นหนานี้ได้

๓. สิ่งติดขัดค้างคาหรือภารกิจที่ยังไม่บรรลุผล

ใช่แต่เรื่องการติดยึดหลงใหลในสิ่งรอบตัวของชีวิตโดยเฉพาะสิ่งที่เนรมิตรให้ชีวิตเรามีความสุขและกำลังไปได้ดีเท่านั้น ที่เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้เราไม่พร้อมที่จะเผชิญความตาย แต่การที่ชีวิตมีสิ่งค้างคาที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำหรือมีสิ่งที่ควรลดเลิกละก็ยังลดละไม่ได้ถึงไหนเสียทีเป็นต้น สิ่งติดขัดค้างคาเหล่านี้ก็เป็นอีกเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เรากลัวและไม่พร้อมที่จะตายในเวลาใดก็ได้ เพราะหากเรากำลังอยู่ในช่วงภาวะใกล้ตาย ปัจจัยที่จะทำให้เข้มแข็งกล้าหาญขณะเผชิญหน้ากับพญามัจจุราชได้นั้นนอกจากสติและปัญญาที่ถูกฝึกมาดีแล้ว ความมั่นใจภายในอันเกิดมาจากการเตรียมตัวตายด้วยการทำภารกิจแห่งชีวิตได้เสร็จสิ้นเพียงพอก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน และสิ่งติดขัดค้างคาของชีวิตที่คนส่วนใหญ่อยากร้องขอเวลาเพื่อทำให้เสร็จสิ้นหรืออย่างน้อยก็ขอโอกาสได้ทำบ้างก่อนจะหมดลมหายใจไปมีดังนี้

อยากทำความดีให้ถึงพร้อมกว่าที่เป็นอยู่

เรื่องใหญ่แรกสุดเลยก็คือ อยากทำความดีให้ถึงพร้อมกว่าที่เป็นอยู่ จากประสบการณ์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนต่างรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคงภายในก็เนื่องด้วยสำนึกว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาตนประกอบคุณงามความดียังไม่มากพอ เพราะชีวิตที่โลดแล่นผ่านมาล้วนใช้หมดเปลืองไปกับการหาทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จ การเปรียบเทียบแข่งขันไต่เต้าเอาดี การมุ่งเสพบริโภคเพื่อความสุขทางเนื้อหนังไปวันๆ ซ้ำร้ายชีวิตของบางคนยังข้องแวะวนเวียนกับการทำร้ายทำลายตนเอง คนอื่น สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งบางคนที่สำนึกตัวว่าได้ทำผิดพลาดล่วงเกินไว้มากเกินค่อนครึ่งของชีวิตก็มักทำให้ผู้ที่กำลังจะตายหวั่นไหวหวาดกลัวมาก ที่เป็นดังนี้เพราะอย่างน้อยหากเขาเป็นชาวพุทธก็พอจะรับรู้และเชื่อมาอยู่บ้างว่า คนทำดีไว้น้อยแต่ประกอบกรรมชั่วไว้เยอะ ตายไปก็จะไปสู่ทุคติภูมิ นั่นก็คือ กลัวตกนรกหรือไปเกิดไม่ดี หรือไม่ได้ผุดได้เกิดเลย เป็นต้น

บางคนก็อาจจะหวั่นไหวหวาดกลัวว่า ถ้าทำไม่ดีเอาไว้เยอะแยะมากมาย ช่วงตายก็กลัวจะตายไม่ดีไม่สงบ หรือแม้บางท่านที่อาจไม่ได้เชื่อเรื่องโลกหน้าแต่หากทำดีมาน้อย ทำไม่ดีมาเยอะ ก็อาจจะรู้สึกไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวที่ทำให้จิตใจชุ่มชื่นมั่นคงหากต้องเผชิญหน้ากับความตาย เนื่องเพราะการทำคุณงามความดีมักจะเป็นเครื่องตอกย้ำความมั่นใจให้เข้มแข็ง โดยสังเกตง่ายๆ จากเวลาที่เราได้ทำความดีให้ปรากฎขึ้น เช่น ช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อน เราจะรู้สึกได้ถึงความมั่นคงภายใน เป็นต้น  อีกแง่หนึ่งที่สำคัญช่วงเวลาที่เรากำลังเดินทางสู่ความตายอาจจะรู้สึกหวั่นไหวหวาดกลัว เพราะรู้สึกว่ากำลังเดินไปสู่ความมืดมิดที่ลี้ลับน่ากลัว เป็นที่ทางที่เราไม่คุ้นเคย และที่แน่ๆ ต้องเดินทางอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ภาวะแบบนี้คนที่ไม่ได้ฝึกฝนสติมาดีย่อมอ่อนไหวเปราะบางและต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจซึ่งก็คือ ความมั่นใจในกุศลกรรมที่ทำมาในชีวิต นี่กระมังจึงน่าจะเป็นเหตุให้เรานิยมนิมนต์พระสงฆ์หรือขอให้ญาติมิตรคอยพูดกระตุ้นเตือนให้คนกำลังจะตายระลึกนึกถึงคุณงามความดีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ใจสงบในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ส่วนบางคนที่ทำคุณงามความดีมาก็ไม่น้อย แต่ก็อาจขอต่อรองเวลาเพื่อปฏิบัติธรรมให้ลึกซึ้งถึงแก่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเจริญสติ เพราะเขาเหล่านั้นตระหนักดีว่าการจะเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก จึงอยากจะมีเวลามากพอที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมอันลึกซึ้ง รวมถึงหากได้ฝึกฝนสติไว้อย่างช่ำชองจะช่วยให้ตายอย่างตื่นรู้ได้ ความทุกข์ความเจ็บปวดหรือความหวั่นไหวหวาดกลัวนานาชนิดก็ไม่น่าจะเข้ามาย่ำกรายได้ง่าย และหากตายไปขณะจิตสุดท้ายเป็นกุศลก็จะมั่นใจได้ว่าตนจะไปเกิดในสุคติภูมิแน่นอน

ความใฝ่ฝันที่ยังไม่ได้ทำหรือยังไม่บรรลุผล

เรื่องติดขัดค้างคาของชีวิตลำดับต่อมาก็คือ มีความใฝ่ฝันที่ยังไม่ได้ลงมือทำหรือทำไปบ้างแล้วแต่ยังไม่บรรลุถึงฝั่งฝัน ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนเมื่อรู้ตัวว่าเวลาของตัวเองเหลือน้อยเต็มที ประกอบกับมักหมดโอกาสที่จะออกไปทำกิจสิ่งใดได้เพราะต้องคอยนอนพักรักษาตัว ต่างนึกเสียดายเวลาและโอกาสเมื่อครั้งที่ตัวเองยังแข็งแรงสมบูรณ์ไม่ได้  ซึ่งความฝันหรือสิ่งที่ตั้งใจไว้อาจหมายถึงการเขียนหนังสือออกมาสักเล่ม การปรับความเข้าใจกับบางคนที่เคยขัดแย้งกัน การไปกล่าวคำขอโทษที่เคยล่วงเกินกับใครบางคนไว้ การตั้งใจจะใช้เวลาอย่างลึกซึ้งกับคนรัก การท่องเที่ยวไปสักแห่งในโลกนี้ หรือการทำกิจกรรมที่มีคุณค่าความหมายต่อตัวเองและสังคมเป็นต้น

ส่วนเหตุสำคัญที่ทำให้ความฝันของผู้ที่กำลังจะตายยังค้างคา ก็เพราะคนส่วนใหญ่มักผัดผ่อนในสิ่งที่ฝันหรือตั้งใจไว้อยู่เสมอ และที่ผัดผ่อนเป็นประจำก็คงเนื่องด้วยหลายสาเหตุ บ้างก็เข้าใจว่าเวลาในชีวิตคงยังเหลืออีกเยอะ จึงใช้เวลามุ่งไปกับสิ่งอื่นซึ่งมักจะเป็นเรื่องเฉพาะหน้าหรือเป็นเรื่องที่มีเส้นตายต้องรีบทำ หรือไม่ก็หลงเพลินกับกิจกรรมที่มีเสน่ห์ชวนให้เราติดกันอย่างงอมแงม จนยากที่จะปลีกเวลาไปใช้ทำกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อชีวิตหรือเพื่อเก็บเกี่ยวความฝันดังเช่น ดูทีวี เล่นเกม ท่องไปในโลกของไซเบอร์ โทรศัพท์พูดคุยเรื่อยเปื่อย หรืออื่นๆ อีกที่เราทำอย่างเลื่อนลอย  แต่บางคราวก็พบว่าบางคนขาดการมองอย่างใคร่ครวญถึงเข็มทิศของชีวิตว่า ควรจะมีเป้าหมายทิศทางรวมถึงลำดับความสำคัญในสิ่งที่ควรทำ ดังนั้นเวลาที่เราใช้อย่างหลงเพลินจึงผ่านไปแต่ละวันแต่ละปีอย่างรวดเร็ว มานึกได้อีกทีอายุก็ล่วงเลยไปไกลแล้ว หรือรู้ตัวอีกทีก็ตอนเริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ดังนั้นความฝันหรือภารกิจที่ควรทำให้เสร็จสิ้นจึงเหมือนดูสายไปเสียแล้ว

ความห่วงกังวลในกิจการงาน

เรื่องติดขัดค้างคาลำดับสุดท้ายในที่นี้ก็คือ มีกิจการงานที่ได้ริเริ่มไว้แต่ยังไม่เสร็จสิ้นดี หรือกำลังดำเนินอยู่แต่กังวลใจว่าจะมีใครที่วางใจได้มาสานต่อ บางครั้งก็ห่วงกังวลว่ากิจการงานนี้จะไปสร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับคนที่อยู่ต่อไป เช่นธุรกิจของครอบครัวเป็นต้น กล่าวโดยรวมแล้วสิ่งติดขัดค้างคาที่สำคัญต่อชีวิตจิตใจของผู้ที่กำลังเดินทางสู่ความตาย มักทำให้เขาห่วงกังวลกระสับกระส่าย กลัวหรือไม่พร้อมที่จะตาย ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การเตรียมตัวตายอย่างมีสตินับแต่นี้เป็นต้นไปจึงจะเป็นเครื่องช่วยทำให้เราวางใจได้ในการรับมือกับความตาย

สำหรับจุดใหญ่ใจความของการเตรียมตัวตายให้พร้อมก็คือ มุ่งหมายให้เราหมั่นระลึกนึกถึงความตายของเราและของคนใกล้ตัว (เจริญมรณสติภาวนา) หากมีสัญญาณหรือเครื่องหมายใดๆ ที่มีการตายการสูญเสียเกิดขึ้น ก็หมั่นพิจารณาเชื่อมโยงมาสู่ความตายของเรา มรณสติที่ทำโดยแยบคายจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างใคร่ครวญ ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาเข็มทิศชีวิตที่ควรจะเป็น เราจะลำดับความสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทาง ไม่เลื่อนลอยไปตามแรงกระตุ้นเร้าของกระแสทุนนิยมบริโภค ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็นการวางโร้ดแม็บของชีวิตที่เป็นเสมือนครรลองของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม แต่ก็ไม่ควรเป็นโร้ดแม็บที่เคร่งครัดตายตัวเช่นกัน

การเฝ้ามองทิศทางของชีวิตพร้อมกับสรุปบทเรียนของชีวิตบ้างตามสมควรจะทำให้เราชัดเจนว่า ยังมีความฝันหรือภารกิจใดที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ จะเห็นชัดถึงสิ่งใดที่ควรลดเลิกละที่ยังไม่ได้ทำ เห็นชัดว่าชีวิตกำลังดำเนินอย่างประมาทหรือมีสติรู้ทันเป็นต้น  นอกจากการเฝ้ามองทิศทางของชีวิตแล้วการทำพินัยกรรมชีวิตเตรียมไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก็มักทำให้เราเบาใจไปมาก  ท่านใดยังไม่ได้เตรียมญาติและคนรักให้พร้อมเผชิญกับความตายของเรา ก็ควรหาทางสื่อสารเป็นระยะๆ เพื่อทำให้เขาสามารถทำใจยอมรับได้หากไม่มีเราอีกต่อไป  ใครที่เรายังรู้สึกขัดแย้งหรือทำอะไรล่วงเกินไว้ ก็อาจต้องรีบหาเวลาเพื่อปรับความเข้าใจหรือกล่าวคำขอโทษไว้ให้เสร็จสิ้น  หากเรารู้ตัวว่ายังไม่มั่นใจถึงการสั่งสมคุณงามความดีรวมถึงการเจริญสติให้พรั่งพร้อม ก็ควรขวนขวายทำอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ควรโหมทำอย่างเร่งรีบหรือทำอย่างคาดหวังสูง

อย่างไรก็ตามในวาระสุดท้ายของชีวิต แม้เราจะเหลือเวลาอยู่น้อยเต็มทีและอาจไม่มีโอกาสลุกเดินเหินไปทำอะไรได้ตามฝันได้  อย่างน้อยที่สุดการดำรงอยู่อย่างแท้จริงกับสภาวะที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งก็คือความเจ็บปวดและความตายด้วยการมีสติต้อนรับทุกอย่างด้วยใจที่เปิดกว้างและกล้าหาญแล้ว ชีวิตในช่วงสุดท้ายนี้ก็ควรแก่การภาคภูมิใจและชื่นชมยินดีเป็นที่สุดแล้ว


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน