ธรรมะในนิทาน

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 18 มีนาคม 2012

ตามประสาคนในแวดวงหนังสือหนังหา ยามพบหน้าก็ต้องทักถามกัน-ตอนนี้อ่านอะไรอยู่บ้าง?

คำตอบของผมในช่วงนี้คือ อ่านหนังสือนิทาน ซึ่งรวมความหมายไปถึงกลุ่มที่เรียกว่า หนังสือภาพ ที่เน้นการดูสื่อเรื่องราวผ่านภาพวาดด้วย

อ่านเป็นเพื่อนลูกสาววัยอนุบาล 2 ซึ่งเล่มที่เป็นตัวหนังสือยาวๆ เธอยังอ่านเองได้ไม่ทั้งหมด เธอรับรู้เรื่องราวผ่านการดูรูปและฟังเสียงที่พ่ออ่าน คนเป็นพ่อก็ได้รู้เรื่องและรื่นรมย์ไปกับหนังสือนิทานแต่ละเล่มเหล่านั้นด้วย จริงดังที่ท้ายเรื่องนิทานบางเล่มเขียนไว้ว่า…อ่านให้เด็กฟัง และอ่านให้ตัวเองฟังด้วย

หนังสือเด็กหากเป็นแบบที่เน้นเรื่องภาพด้วยมักมีราคาสูง ซึ่งเป็นความสืบเนื่องมาจากต้นทุนในการทำรูปเล่มที่ต้องคงทนและสวยงาม แต่ราคาต่อเล่มที่สูงทำให้หนังสือกลุ่มนี้เข้าถึงเด็กๆ ได้ในวงจำกัด

รุ่นน้องที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือเด็กมาหลายปีคนหนึ่ง เพิ่งทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ เธอบอกว่า มันก็อยู่ที่พ่อแม่แต่ละคนว่าจะยอมลงทุนให้กับลูกหรือไม่ ตามความเห็นของเธอหนังสือนิทานดีๆ ก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เหมือนที่เรายอมจ่ายเงินเพื่อเรียนพิเศษ เรียนดนตรี หรือว่ายน้ำ ฯลฯ

ยังไม่ต้องนับว่าเรายินดีจ่ายเงินไปกับเรื่องเหลวไหลไม่เป็นเรื่องได้มากมาย อย่างการเติมเงินโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตมาใช้คุยเล่น ซื้อของลดราคาตามห้างที่ยังไม่ได้คิดว่าจะเอามาทำอะไร แต่กับหนังสือดีๆ ที่กินไม่ได้แต่มีผลทางปัญญาอารมณ์ของลูก อาจเป็นเรื่องที่ถูกนึกถึงทีหลังหรือผ่อนผันไปก่อน

แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เพิ่งเห็นหนังสือนิทานเด็กที่มูลนิธิเอสซีจีทำออกมาปีละ 5 เล่ม ขายในราคาเล่มละไม่ถึง 100 บาท ทั้งที่เป็นหนังสือสำหรับเด็กชั้นดีจากทั่วโลก ทั้งโดยนักเขียนอเมริกัน ญี่ปุ่น รัสเซีย อังกฤษ ฯลฯ ดูตามความเป็นมาที่ตีพิมพ์อยู่ท้ายเล่มแล้วยิ่งน่าทึ่ง หนังสือเหล่านั้นบางเล่มยืนยงอยู่บนบรรณพิภพมากว่า 50 ปี พิมพ์ซ้ำแล้วเป็นร้อยครั้ง และได้รับการแปลเผยแพร่ในประเทศต่างๆ มากมายหลายภาษา

ผู้รู้ด้านเด็กแนะนำว่าหนังสือภาพสำหรับเด็กนั้น ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง ซึ่งเด็กจะรับฟังเสียงและสร้างเรื่องราวขึ้นในจินตนาการจากการไล่ดูภาพที่เห็นในหน้าหนังสือตรงหน้า และในหนังสือเหล่านั้นที่บางเล่มก็ไม่ลืมฝากถึงผู้ใหญ่ด้วยว่า อ่านให้ลูกฟังแล้ว ก็อ่านให้ตัวเองฟังด้วย

ผมอ่านแล้ว และขอร่วมบอกต่ออีกเสียงหนึ่งด้วยว่าหนังสือภาพดีๆ นอกจากความสนุกความบันดาลใจ และแฝงแง่คิดให้เด็กแล้ว ยังสอนใจผู้ใหญ่ได้ด้วย

อย่างเรื่อง มีหมวกมาขายจ้า (Caps for Sale) นิทานพื้นเมืองชมพูทวีป ที่แอสโฟร์ สโลบ็อดกินา นักเขียนจากไซบีเรีย นำมาเล่าใหม่ วาดภาพประกอบเองด้วย (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสด์ แปล, มูลนิธิซีเมนต์ไทย จัดพิมพ์, พ.ศ. 2551) เล่าเรื่องของพ่อค้าขายหมวกที่ใช้วิธีเรียงหมวกแก๊ป 4 สี อย่างละ 4 ใบ วางซ้อนกันเป็นตั้งสูง เทินไว้บนหัวซึ่งเขาเองก็สวมหมวกลายใบหนึ่ง แล้วเดินเร่ขายไปในเมือง ช่วงหน้าแรกๆ ของเล่มนี้ เด็กๆ ก็ได้ฝึกเรียนรู้เรื่องสีและจำนวนแล้ว

เดินขายหมวกจนเหนื่อยพ่อค้าก็เผลอไปงีบหลับที่ใต้โคนไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ตื่นขึ้นมาหมวกหายไปทั้งตั้ง เหลือแต่หมวกลายของเขาเองเท่านั้น พอเงยขึ้นไปดูบนพุ่มไม้ก็เห็น…ไม้ทุกกิ่งมีลิงหนึ่งตัว บนหัวลิง ทุกตัวสวมหมวกของเขาอยู่

พ่อค้าร้องขอหมวกคืน ลิงเพียงแต่ร้องตอบเจี๊ยกๆ พ่อค้าเริ่มโกรธชูกำปั้นร้องตะโกน ลิงก็ชี้หน้ากลับและร้องเจี๊ยกๆ พ่อค้ายิ่งโมโหกระโดดกระทืบเท้า ลิงก็ตอบกลับในท่าเดียวกันอยู่ตามกิ่งไม้

พ่อค้ารู้สึกสิ้นหวังที่จะได้หมวกคืน ถอดหมวกของตัวเองโยนลงพื้น ลิงทุกตัวบนต้นไม้ก็ถอดหมวกบนหัวโยนลงสู่พื้น พ่อค้าเร่จึงได้เก็บหมวกทุกใบตั้งซ้อนขึ้นบนหัวแล้วเดินกลับเข้าเมือง

นิทานจบแล้วเราอาจสอนเด็กๆ เล็กๆ น้อยๆ ได้ว่า อยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร ก็ทำกับเขาอย่างนั้น

และเรื่องที่อ่านคงได้ช่วยสะกิดเตือนผู้ใหญ่ด้วยว่า เราเองนั่นแหละที่ต้องเริ่มปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ลูก

อีกเรื่อง ผมเคยอ่านอย่างบังเอิญตั้งแต่ลูกสาวยังไม่เกิด แต่จำได้ติดใจมาจนเดี๋ยวนี้ด้วยความแรงของตัวเรื่อง

เป็นเรื่องหนึ่งที่รวมอยู่ในหนังสือที่มีชื่อเล่มทำนองว่า นิทานตอลสตอย ผมจำได้ไม่ชัดเจนและไม่สามารถระบุรายละเอียดอ้างอิงได้ เพราะไม่ได้มีหนังสืออยู่กับตัว ตอนนั้นผมหยิบหนังสือเล่มนี้แบบสุ่มๆ ออกมาจากกองหนังสือมหึมาที่รอรถมาขนไปบริจาคให้ห้องสมุดโรงเรียนบนดอย อ่านไปได้เรื่องเดียวก็ถึงเวลาที่หนังสือเล่มนั้นต้องออกเดินทางไปกับเพื่อนของมัน ซึ่งป่านนี้คงได้ไปพบกับเด็กๆ ลีซอที่โรงรียนแถวตีนดอยเชียงดาวมาหลายรุ่นแล้ว

นิทานของลีโอ ตอลสตอย เรื่องนั้นเล่าถึงของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เฝ้าถามตัวเองว่า ในชั่วชีวิตของเรา ช่วงเวลาไหนสำคัญที่สุด? ใครคือคนสำคัญที่สุด? และอะไรที่เราควรจะทำมากที่สุด?

เขานำปัญหานี้ไปถามผู้เป็นอาจารย์ จากนั้นเหตุการณ์ในเรื่องก็ดำเนินไปอย่างสนุกตื่นเต้นตามครรลองของนิทาน โดยอาจารย์ได้ใช้อุบายธรรมและวิธีการให้ลูกศิษย์หนุ่มและคนอ่านได้คำตอบไปพร้อมกันว่า

ช่วงเวลาสำคัญที่สุดก็คือ ปัจจุบันขณะ

คนสำคัญที่สุดคือ คนที่อยู่ตรงหน้า

และสิ่งที่เราควรทำมากที่สุดก็คือ การทำดีต่อกัน

เป็นนิทานเด็กอย่างง่ายๆ แต่ให้ความหมายอย่างลึกสุด-ถึงแก่นศาสนธรรม

อ่านหนังสือนิทานดีๆ ด้วยกัน เด็กๆ ของเราก็มีโอกาสได้เก็บซับจินตนาการด้านดีงามไว้ในใจแต่วัยเยาว์ ให้เป็นที่หวังได้ว่าเขาจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนโยน ไม่ทำร้ายใคร หรือแม้แต่กับคนที่โตเป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว ก็คงยังไม่สายที่จะคอยเตือนตัวเอง ให้ทำสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ