ธรรมและวินัยสำหรับชาวพุทธยุคบริโภคนิยม

พระไพศาล วิสาโล 16 กุมภาพันธ์ 2003

ทุกวันนี้ ศีล ๕ เห็นจะไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีการเบียดเบียนที่ซับซ้อนและหลากรูปแบบที่ศีล ๕ คลุมไปไม่ถึง  ทางออกประการหนึ่งที่มีผู้เสนอกันก็คือ การตีความศีล ๕ ให้ครอบคลุมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการเบียดเบียนสังคมด้วยการผลิตและบริโภคที่ไม่ถูกต้อง  อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณาในที่นี้ก็คือการนำสาระของหลักธรรมบางหมวด (รวมทั้งศีล ๕) มาแตกซอยหรือลงรายละเอียดใน ๒ ลักษณะคือ ๑) แนวปฏิบัติหรือข้อคิด  ๒) บัญญัติหรือข้อปฏิบัติ  แนวปฏิบัตินั้นหมายถึงข้อพึงพิจารณาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การบริโภค  ส่วนบัญญัติหรือข้อปฏิบัตินั้น เป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ  ข้อกำหนดรวมแล้วก็เปรียบได้กับ “วินัย” ส่วนแนวปฏิบัติเปรียบได้กับ “ธรรม”

แนวปฏิบัติและบัญญัติใหม่ดังกล่าวพึงทำหน้าที่อย่างน้อย ๒ ประการคือ  ๑) กำกับและควบคุมมิให้บุคคลเบียดเบียนผู้อื่นหรือส่วนรวมในลักษณะที่เกินเลยจากศีล ๕ หรือศีล ๕ ครอบคลุมไปไม่ถึง เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อม การปั่นหุ้น การผลิตอาวุธ การค้าขายสิ่งซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และชีวิตอื่น  รวมถึงการเอาเปรียบผู้บริโภค และการบริโภคที่ส่งเสริมให้เกิดการเบียดเบียนกัน  ๒) ป้องกันมิให้บุคคลถูกเอาเปรียบหรือเบียดเบียนจากกลไกหรือระบบใหม่ๆ ในสังคม เช่น สื่อมวลชน บริโภคนิยม  หรือกลไกตลาด เช่น การไม่ไปเล่นหุ้นเยี่ยงการพนัน (เพราะง่ายที่จะกลายเป็น “แมงเม่า”) การมีข้อกำกับในการใช้เครดิตการ์ด การมีข้อพิจารณาหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสพและใช้สื่ออิเล็กโทรนิกส์ อาทิ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ (เพื่อไม่ให้หมกมุ่นจนลืมตน หมดเงินโดยไม่รู้ตัว หรือร้อนรนด้วยความอยาก) เป็นต้น

บัญญัติดังกล่าวมีความสำคัญต่อโลกปัจจุบัน เนื่องจากทุกวันนี้สังคมมีความสลับซับซ้อนมาก จึงมีการเบียดเบียนแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมิใช่การเบียดเบียนระหว่างบุคคลต่อบุคคลอย่างซึ่งๆ หน้า หรือชัดเจน แต่เกิดขึ้นโดยผ่านตัวกลาง เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลไกทางเศรษฐกิจ ระบบตลาด และสถาบันต่างๆ ในสังคม (รวมถึงรัฐบาล)  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การที่เราใช้น้ำและไฟอย่างสิ้นเปลือง สามารถทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยพลัดที่นาคาที่อยู่ เพราะรัฐบาล (ซึ่งอยู่ได้เพราะคะแนนเสียงของเรา) ต้องการใช้ที่ดินเหล่านั้นในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าและผันน้ำให้เราได้ใช้อย่างสะดวก  ทุกวันนี้การกระทำของเราแต่ละคนสามารถส่งผลกระทบถึงชีวิตของคนอื่นได้อย่างง่ายดาย (แม้จะไม่เจตนา) เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนและแน่นแฟ้นนี้เอง  ดังนั้นเพียงแค่การปฏิบัติตามศีล ๕ (ตามความหมายและขอบเขตที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน) ก็ยังมิใช่หลักประกันว่าสังคมจะสงบสุข ผู้คนจะอยู่กันอย่างราบรื่นกลมกลืนกันได้

ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง  หลักธรรมและบัญญัติที่มีความสำคัญสำหรับปัจจุบันมากก็คือที่เกี่ยวกับเงิน ทั้งการหาเงิน การลงทุน และการใช้จ่ายเงิน  เพราะปัจจุบันเงินมีอิทธิพลกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะในการเบียดเบียนผู้อื่น บั่นทอนสังคมและตนเอง  หลักธรรมหลายข้อที่มีอยู่เวลานี้ไม่พอเพียงที่จะเป็นแนวทางสำหรับบุคคลในการเกี่ยวข้องกับเงินได้อย่างถูกต้องเสียแล้ว อาทิเช่น โภควิภาค ๔ ซึ่งระบุว่าให้เอาทรัพย์ครึ่งหนึ่งไปลงทุนประกอบการงาน (อีกส่วนหนึ่งใช้เลี้ยงตน ที่เหลือเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น)

ถึงวันนี้คำสอนเท่านี้ไม่เพียงพอแล้ว หากจะต้องมีข้อชี้แนะต่อไปด้วยว่า ลงทุนอย่างไรถึงจะชอบธรรม  เช่น ไม่ลงทุนในบริษัทค้าอาวุธ ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเอาเปรียบขูดรีดแรงงานเด็ก  ไม่แสวงหาทรัพย์ด้วยการพนันอย่างใหม่ในตลาดหุ้นหรือตลาดค้าเงิน  รวมทั้งไม่ค้ากำไรเกินควร (แม้ผู้ซื้อจะยินยอมก็ตาม) เป็นต้น  เรื่องนี้โยงมาสู่หลักธรรมเรื่องสัมมาอาชีวะ ซึ่งที่ผ่านมามักจะตีความกันอย่างแคบๆ และไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไร  ธรรมว่าด้วยสัมมาอาชีวะก็ดี โภควิภาคก็ดี สามารถเอามากระจายเป็นบัญญัติใหม่ๆ ได้ โดยอาจกำหนดเป็นแนวทางสำหรับเป็นข้อพิจารณา หรือเป็นข้อปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ไม่ถึงกับเป็นการชี้ถูกชี้ผิดอย่างชัดเจนตายตัว

ข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ชี้ถึงความจำเป็นต้องมีหลักธรรมและบัญญัติเกี่ยวกับเงิน เพื่อควบคุมมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือสร้างปัญหาต่อส่วนรวม  ขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักธรรมและบัญญัติเพื่อควบคุมป้องกันตนมิให้ถูกเบียดเบียนด้วยโดยเฉพาะจากระบบหรือสถาบัน  เพราะปัจจุบันเรามีโอกาสถูก “ล้วงกระเป๋า” ได้หลายวิธี  ไม่ว่าโดยผ่านการช็อปปิ้งตามศูนย์การค้า หรือโดยผ่านเครดิตการ์ด (และต่อไปก็จะผ่านอินเทอร์เน็ต)  อันที่จริงพุทธศาสนามีหลักธรรมเรื่องสันโดษอยู่แล้ว แต่ก็เป็นคำสอนอย่างกว้างๆ  โภควิภาคและโภคอาทิยะ [1] ก็ไม่ได้บอกแนวทางการจับจ่ายใช้สอยในยุคบริโภคนิยม  ดังนั้นจึงควรมีบัญญัติใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้เงินเพื่อเสริมรับหรือนำไปสู่หลักสันโดษ  อีกนัยหนึ่งเป็นการนำหลักสันโดษ (ซึ่งเน้นเรื่องจิตใจ) มาจัดวางให้เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับชาวพุทธ (เช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์นำหลักสันโดษมาบัญญัติเป็นสิกขาบทมากมายสำหรับพระ)

ตัวอย่าง “สิกขาบท” หรือข้อปฏิบัติที่เหมาะแก่ชาวพุทธในยุคนี้ ได้แก่ การกำหนดเป็นวินัยแก่ตนเองว่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าต่อเมื่อมีบัญชีรายการสินค้าที่จะซื้อ ไม่พกพาเครดิตการ์ดในวันเสาร์อาทิตย์ จะซื้อของต่อเมื่อของชิ้นเดิมซ่อมไม่ได้แล้ว  นอกจากการกำหนดเงื่อนไขให้แก่ตนเองเพื่อไม่ให้ใช้จ่ายเงินอย่างง่ายดายจนลืมตัวแล้ว  การมีข้อปฏิบัติในทางลดละเพื่อเอื้อให้มีชีวิตที่เรียบง่ายขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมัยนี้เช่นกัน อาทิ การกำหนดว่าจะไม่ซื้อรถยนต์ส่วนตัว หรืองดใช้รถยนต์ส่วนตัวสัปดาห์ละวัน ซึ่งก็คือการประยุกต์อุโบสถศีลหรือศีล ๘ อันมีจุดหมายเพื่อให้เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มาใช้ให้สมสมัยนั่นเอง

ทุกวันนี้สังคมมีความสลับซับซ้อนมาก จึงมีการเบียดเบียนแบบใหม่เกิดขึ้นมากมายซึ่งกระทำโดยผ่านตัวกลาง เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลไกทางเศรษฐกิจ ระบบตลาด และสถาบันต่างๆ ในสังคม

และที่สำคัญอันจะมองข้ามมิได้ก็คือข้อพิจารณาและข้อกำหนดเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนับวันจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่ผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ ไม่ว่า โทรศัพท์มือถือ วีดีโอ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์  ตัวอย่างข้อพิจารณาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ การเตือนตนทุกครั้งที่ใช้โทรศัพท์ว่าจะพูดเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน หรือถามตนว่าเราใช้อินเทอร์เน็ตด้วยวัตถุประสงค์อะไร เพื่อประเทืองปัญญาหรือสนองกิเลส  ขณะเดียวกันก็มีข้อกำหนดชัดเจน เช่น ท่องอินเทอร์เน็ตและดูโทรทัศน์วันละไม่เกิน ๒ ชั่วโมง เปิดคอมพิวเตอร์ต่อเมื่อได้ทำงานบ้านหรือนั่งสมาธิแล้ว ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อพูดจาเพ้อเจ้อหรือไร้สาระแม้จะยังอยู่ในระหว่างโปรโมชั่นก็ตาม เป็นต้น

ข้อพิจารณาดังกล่าว อันที่จริงก็คือ บทพิจารณาปัจจเวกขณ์นั่นเอง เป็นแต่ว่าที่แล้วมา เราพิจารณาเฉพาะปัจจัยสี่ และเดี๋ยวนี้ก็มีแต่พระสงฆ์ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังทำกันอยู่ โดยมีแนวโน้มเป็นพิธีกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรที่จะมีการปรับปรุงให้สมสมัย

นอกจากเงินและเทคโนโลยีแล้ว ข้อพิจารณาและข้อกำหนดสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่นั้นควรครอบคลุมถึงประเด็นอื่นๆ อีก ๘ ประเด็น ได้แก่ ๑) เพศ  ๒) อำนาจและสถานภาพ  ๓) ปัจจัยสี่  ๔) ทรัพย์สิน  ๕) การสื่อสาร  ๖) ความบันเทิง  ๗) ความสัมพันธ์และชุมชน  ๘) สิ่งแวดล้อม  หากพิจารณาวินัยปาฏิโมกข์ของพระแล้วจะพบว่า สิกขาบทหรือศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อ แท้ที่จริงก็คือข้อกำหนดเกี่ยวกับ ๑๐ ประเด็นนี้นั้นเอง  ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีงาม ทั้งในด้านคุณภาพภายในและความสัมพันธ์กับผู้อื่นรวมถึงสังคมวงกว้าง


[1] หมายถึงประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์ ได้แก่  ๑) การเลี้ยงตัว มารดาบิดา บุตรภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้เป็นสุข  ๒) บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข  ๓) ใช้ป้องกันอันตราย  ๔) สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ และบำรุงราชการเช่นเสียภาษีอากร  ๕) อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา