นิทรรศการสมบัติบ้า

มะลิ ณ อุษา 25 กันยายน 2016

เร็วๆ นี้จะมีงานนิทรรศการ

สถานที่จัดงาน คือ ห้องโถงในบ้านดินหลังเล็กๆ ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี งานนี้มีชื่อว่า นิทรรศการสมบัติบ้า

จุดเริ่มต้นอันเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ มาจากบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง ผู้เขียนขอให้คุณพ่อบ้านช่วยทำตู้หนังสือเพิ่มอีกหนึ่งตู้ เนื่องจากหาหนังสือที่ต้องการใช้แต่ละครั้งยากมาก บางส่วนถูกเก็บไว้ในกล่องขนาดย่อม (ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ใบ) และบางส่วนก็วางชิดผนังซ้อนๆ กันจากพื้นจนเกือบถึงขื่อบ้าน

บ้านหลังเล็กท่ามกลางแมกไม้อย่างที่ฝัน กำลังถูกท้าทายด้วยข้าวของประดามีเสียแล้ว

เล็กเกินไป หรือ มากเกินไป

แม้ว่าก่อนย้ายจากบ้านเช่า เราจะทำการ โละครั้งใหญ่ ไปแล้ว มิหนำซ้ำ ทุกๆ สิ้นปีจะมีธรรมเนียม ทำความสะอาดครั้งใหญ่ ช่วยสะสางสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ออกไปแล้วก็ตาม ผู้เขียนก็ยังคงรู้สึกว่า พื้นที่ใช้สอยในบ้านยังเท่าเดิม โดยเฉพาะตอนที่ทำความสะอาดบ้านจะเห็นได้ชัดมาก

มีคำอธิบายที่เดาได้ไม่ยาก แต่กว่าจะมองเห็นก็ใช้เวลาไม่น้อย ว่ากันเป็นปีๆ เลยทีเดียว

อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนแรกถึงธรรมเนียมการสะสางทุกสิ้นปี นั่นหมายความว่า จะมีการสำรวจและเลือกสิ่งของที่ไม่ได้ใช้เพื่อส่งต่ออย่างน้อยปีละครั้ง ในขณะที่เราซื้อของเข้าบ้านเดือนละหลายชิ้น (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว!) เมื่อสมการการไหลเข้ากับไหลออกไม่สัมพันธ์กัน ของที่เหลือจะไปอยู่ที่ไหนได้ ถ้าไม่ใช่ตามซอกมุมของบ้าน

ในช่วงที่กำลังออกแบบตู้หนังสืออยู่นั้น ก็มีเพื่อนส่งบทความเกี่ยวกับกระแสลัทธิจุลนิยม หรือที่เรียกกันว่า Minimalism มาให้อ่าน ช่างเป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีกับสถานการณ์ในบ้านเสียจริงๆ บทสนทนายามบ่ายในวันถัดๆ มา จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธีการด้วยมุมมองแนวคิดใหม่ ส่วนเรื่องตู้หนังสือก็พักไว้ก่อน (แต่ยังไม่ล้มเลิก)

ผู้เขียนได้ค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับลัทธิดังกล่าว อย่างน้อยก็เพื่อหาแรงจูงใจในการจัดการกับข้าวของทั้งหลายเหล่านี้และยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้อ่อนไหว (จริงๆ แล้ว เรียกว่าเป็นความ อยาก น่าจะตรงกว่า) กับสิ่งของที่จะซื้อเข้ามาใหม่ในอนาคต

ลัทธิจุลนิยม หรือ Minimalism เริ่มใช้ในการอธิบายรูปแบบของงานศิลปะของทางฝั่งตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งทัศนศิลป์ ดนตรี งานวรรณกรรม รวมถึงงานออกแบบต่างๆ โดยจะให้ความสำคัญในการนำเสนอสาระที่เป็นแก่นสาร และตัดทอนส่วนที่เป็นรายละเอียดออกไป บางแห่งจึงใช้คำว่า ปอกเปลือก หรือ เปลือย ในการอธิบายแนวคิดดังกล่าว

ส่วนการนำแนวคิดจุลนิยมมาใช้ในการดำเนินชีวิต มีข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นน้อยมาก บางสำนักก็บอกว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุค 60’s ซึ่งเป็นยุคฮิปปี้ มีบรรดานักแสวงหามากมายที่สละละทิ้งทรัพย์สมบัติแล้วออกมาใช้ชีวิตสันโดษ บางสำนักก็ว่ากันไปไกลกว่านั้น

แต่หากจะเชื่อมโยงเทียบเคียงกับวิถีปฏิบัติของนักปราชญ์โบราณทั้งหลาย แนวคิดจุลนิยมก็มีส่วนคล้ายกับการปฏิบัติที่เก่าแก่จนไม่สามารถย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นได้ หากเราเข้าไปศึกษาในกลุ่มชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ชาวฮิบรูโบราณหรือผู้นับถือลิทธิเต๋า ก็จะพบแนวคิดที่ว่าด้วยการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย การปฏิบัติเพื่อเท่าทันความอยากและพึงพอใจในความเต็มอิ่มจากภายใน โดยไม่เป็นผู้ครอบครอง หรือครอบครองแต่เพียงน้อยตามความจำเป็น

เท่าที่ศึกษาและทำความเข้าใจลัทธิจุลนิยม ผู้เขียนมองว่า แนวคิดนี้มีที่มาจากแรงผลักดันอย่างน้อย 3 ประการ

อย่างแรก คือ แรงผลักจากสภาพสังคมบริโภคที่เฆี่ยนให้ผู้คนตะบึงไปข้างหน้าอย่างไม่ลืมหูลืมตา (ทั้งที่ข้างหน้ามีแต่หุบเหว)

อย่างที่สอง อิทธิพลความสุขสงบของผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษเริ่มเป็นที่สนใจ มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าความหมายของชีวิตที่มีความสุขในรูปแบบต่างๆ (ยกเว้นทางวัตถุ) อย่างแพร่หลาย รวมถึงงานวิจัยที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

และประการสุดท้าย เป็นแรงผลักดันที่มาจากภายในปัจเจกบุคคล ที่มาจากการสั่งสมและตกผลึกชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งมักมาจากคำถามที่ว่า ทำไมเมื่อครอบครองสิ่งของเหล่านี้แล้วก็ยังไม่มีความสุข มิหนำซ้ำ ยังยุ่งยากวุ่นวายกับการดูแลรักษา หรือไม่ก็ต้องหาให้ได้มากขึ้น แพงขึ้นเรื่อยๆ อีก

จากกระแส Minimalist ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายถึงแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างเช่น การมีเสื้อผ้ากี่ชุด ข้าวของเครื่องใช้กี่อย่าง มีโทรทัศน์หรือไม่ ในห้องรับแขกมีเฟอร์นิเจอร์กี่ชิ้น ฯลฯ มุ่งเน้นหาคำจำกัดความจากรูปธรรมภายนอกมากกว่าการพูดถึงแนวทางในเชิงของหลักการหรือคุณค่า ดังนั้น ประเด็นที่ถกเถียงกันจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องจำนวนข้าวของ อะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น อย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นจุลนิยม และอย่างไรที่เรียกว่า ไม่เป็นจุลนิยม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่นำแนวคิดเรื่องการดำเนินชีวิตแบบจุลนิยมมาเผยแพร่ในวงกว้างอย่าง Joshua Field Millburn และ Ryan Nicodemus ได้ให้นิยามของจุลนิยมไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขากล่าวว่า จุลนิยมไม่ได้มุ่งเน้นที่การจัดการกับวัตถุสิ่งของ หรือการดำเนินชีวิตเป็นหลัก แต่จุลนิยมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราค้นพบกับอิสรภาพ อิสระจากความกลัว ความวิตกกังวล การโถมทับของกระแสบริโภคนิยมที่เราสร้างขึ้นมาล้อมตัวเราเอง  (จาก http://www.theminimalists.com/monimalism/)

สำทับด้วยคำอธิบายจาก Leo Babuata ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก เซ็น ที่ว่า ความเรียบง่ายคือหนทางของการอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการกระทำอย่างเนิบช้าและรู้สึกตัว… นอกจากนั้น เขายังกล่าวถึง การไม่เป็นเจ้าของสิ่งใด ใช้สิ่งของเท่าที่จำเป็นแต่ไม่เป็นเจ้าของ การสละสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้วให้กับผู้อื่นหรือสาธารณะประโยชน์ แล้วเปิดใจรักที่จะมีเพียงแต่น้อย เท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าความหมายอย่างแท้จริง (จาก http://zenhabits.net/on-minimalism/)

แน่นอนว่า การนำเสนอแนวคิดจุลนิยมท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมอันเชี่ยวกราก ทั้งการยอมรับและการตอบโต้ย่อมจะรุนแรงตามไปด้วย ซึ่งผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอหยิบยกถ้อยคำของสานุศิษย์ของมหาตมา คานธี คือ ริชาร์ด เกร็ก ที่กล่าวถึงแง่มุมของการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยความเต็มใจ (Voluntary Simplicity) ไว้อย่างน่าสนใจ

การต้องสำรวมในบางทิศทาง เพื่อชีวิตจะได้รับความอุดมสมบูรณ์ในอีกด้านหนึ่ง มันเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อย การจัดการชีวิตเพื่อเป้าหมายบางอย่าง จริงอยู่คนแต่ละคนย่อมมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน… ระดับของความเรียบง่ายจึงเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละคนจะต้องจัดการกันเอาเอง (จากหนังสือ ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา เขียนโดย จอห์น เลน แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์)

การจัดแสดงนิทรรศการสมบัติบ้าจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามประเด็นหรือคอนเซ็ปต์ ดังนี้

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มสิ่งของที่ ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ  ซึ่งผู้เขียนคาดว่าจะใช้เวลาในการเตรียมการไม่นานนัก น่าจะมีสิ่งของจัดแสดงกลางห้องโถงประมาณหนึ่งในสามของทั้งหมดที่มี ซึ่งไม่อาจสาธยายได้หมดว่ามีอะไรบ้าง

กลุ่มถัดมาเป็นสิ่งของที่ จำเป็นแต่ไม่สำคัญ  รอบนี้คาดว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการพิจารณา สิ่งที่คิดว่าจำเป็นนั้น เราจำเป็นต้องมีไว้หรือไม่ อย่างไร

กลุ่มที่สามเป็นรอบที่ตัดสินใจยากขึ้นไปอีก เพราะของที่ ไม่จำเป็นแต่สำคัญ  จะเน้นไปที่คุณค่าทางใจมากกว่าประโยชน์ใช้สอย อย่างเช่น ของที่ระลึกในวาระต่างๆ ของสะสมงานศิลปะ เป็นต้น

และ…รอบที่สี่ จะเหลือแต่สิ่งของที่ จำเป็นและสำคัญ  หากเป็นไปได้ ห้องโถงจะเต็มไปด้วยพื้นที่ว่าง มีข้าวของจัดวางอยู่ไม่กี่ชิ้น ทุกชิ้นมีเรื่องราวและร่องรอยของการใช้งานที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ

หมายเหตุ: อาจมีการจัดแสดงสิ่งของในกลุ่มที่สองและสามซ้ำหลายรอบ เพราะไม่อาจตัดใจได้ในช่วงแรกๆ และกำหนดการจัดงานในรอบที่สี่จะแจ้งอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดการจัดแสดงกลุ่มที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นอีกหลายปีข้างหน้า

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน