นิทานเศรษฐกิจพอเพียง

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 30 มีนาคม 2007

นิทานไทยเรื่องหนึ่งเล่าถึงพ่อค้า 2 คน  คนหนึ่งค้าข้าว อีกคนค้าหนังวัวควาย  ทั้งคู่เดินทางรอนแรมไปต่างเมืองเพื่อซื้อสินค้ากลับมาขาย  ระหว่างทางใกล้ค่ำ พบวัดแห่งหนึ่งจึงเข้าไปแนะนำตัวเองและแจ้งกับลูกศิษย์วัดที่พบว่า จะขออาศัยค้างคืนที่วัด  ลูกศิษย์วัดไปกราบเรียนเจ้าอาวาส  หลวงพ่อไม่ขัดข้องและกำชับให้ลูกศิษย์ดูแลผู้ผ่านทางให้ดีตามอัตภาพของวัด  เนื่องจากวัดดังกล่าวเป็นวัดเล็กๆ จึงมีมุ้งหมอนห้องหับที่จะใช้เป็นที่นอนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น  หลวงพ่อสั่งกับลูกวัดว่า ให้จัดที่นอนให้กับพ่อค้าข้าว ส่วนพ่อค้าหนังสัตว์ให้นอนระเบียงด้านนอก พ่อค้าทั้งสองไม่ขัดข้อง  วันรุ่งขึ้นทั้งคู่ก็ออกเดินทางต่อไป

ไม่นานนัก พ่อค้าทั้งสองเดินทางกลับมาอีกครั้งหนึ่งในเที่ยวขากลับ และมาขอพักที่วัดเดิมอีก  ลูกศิษย์เตรียมจัดที่พักให้แบบเดียวกับครั้งแรก  ปรากฏว่าหลวงพ่อกลับสั่งลูกศิษย์ว่า คราวนี้ให้จัดที่นอนให้กับพ่อค้าหนังสัตว์ ส่วนพ่อค้าข้าวให้นอนด้านนอก  ลูกศิษย์วัดแม้จะสงสัยแต่ก็ทำตามสั่ง

เช้าวันรุ่งขึ้น พ่อค้าทั้งสองมานมัสการลาและขอบพระคุณในความเอื้อเฟื้อ พร้อมกับแสดงความชื่นชมว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีความยุติธรรมให้สลับกันนอนลำบากคนจะคืน  หลวงพ่อตอบว่าที่ให้นอนสลับกันลำบากคนละคืนนั้น ท่านมิได้คิดจากหลักของการเฉลี่ยหรือสลับกันลำบาก เพราะไม่ทราบว่าขากลับพ่อค้าทั้งคู่จะเดินทางผ่านทางนี้อีกหรือไม่

ทั้งลูกศิษย์และพ่อค้าต่างประหลาดใจในคำตอบ จึงกราบเรียนถามว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อเอาเกณฑ์อะไรให้ลูกศิษย์จัดที่นอน  ท่านตอบว่าเอาเกณฑ์ของเจตนาในการเดินทาง  ท่านคิดว่าในขาไปซื้อสินค้านั้น พ่อค้าข้าวย่อมคิดอยากให้สถานที่ซึ่งตนจะไปซื้อข้าวนั้น บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ผู้คนเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดี มีข้าวกินเหลือขายไม่อดอยากขาดแคลน ตนเองจะได้ซื้อข้าวกลับไปขายได้  แต่พ่อค้าหนังสัตว์ในขาเดินทางไป ย่อมคิดอยากให้เมืองที่ตนเองไปนั้นมีสัตว์ล้มตายจำนวนมากๆ เช่นเกิดโรคระบาด เพื่อจะได้มีหนังสัตว์จำนวนมากให้ซื้อกลับไปขาย  ดังนั้นพ่อค้าข้าวจึงสมควรได้รับการจัดที่นอนให้ดีกว่าพ่อค้าหนังสัตว์

ในทางกลับกัน เมื่อพ่อค้าทั้งสองเดินทางขากลับ พ่อค้าข้าวย่อมคิดอยากให้บ้านเมืองที่จะไปขายข้าวนั้น เกิดภัยธรรมชาติ ข้าวยากหมากแพง เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เพื่อตนเองจะได้ขายข้าวได้มากและราคาดี  แต่พ่อค้าหนังสัตว์ย่อมอยากให้วัวควายแข็งแรงไม่ล้มตาย เพื่อจะได้ขายหนังสัตว์ได้มาก  ท่านจึงคิดว่าพ่อค้าหนังสัตว์ควรได้นอนสบาย

เมื่อพ่อค้าทั้งสองคนฟังแล้วก็ตอบหลวงพ่อไปตามตรงว่าในใจของตนนั้น คิดอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาจริงๆ คือ คิดแต่รายได้ ผลกำไรของตนเองเป็นสำคัญ และอยากให้สิ่งอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประโยชน์ของตนเอง โดยมิได้นึกถึงประโยชน์และชีวิตของผู้อื่นเลย จึงกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่นอกจากจะให้พี่พักแล้ว ยังให้สติแก่การประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต  คือสอนมิให้คิดเอาแต่ได้หรือเอาแต่ประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง หากจะต้องคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย  และไม่ควรที่จะหาประโยชน์ของตนเองบนความทุกข์ยากของผู้อื่น หรือด้วยความละโมบโลภมากโดยไม่คิดถึงใจเขาใจเรา และประโยชน์ในภายหน้าซึ่งมีร่วมกัน ที่พุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์สูงสุดซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความยั่งยืน สรรพชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนหรือเบียดเบียนกันน้อยที่สุด

การประกอบอาชีพหรือการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเองนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงต้องมีจริยธรรมกำกับหรือหลอมรวมอยู่ในวิธีคิดของบุคคลเสมอไป  มิเช่นนั้นการประกอบอาชีพหรือการทำมาหากินจะสร้างการเบียดเบียนเอาเปรียบคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นในธรรมชาติได้มาก เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นและสิ่งอื่นเป็นอันมาก  ที่สำคัญกว่านั้นคือ มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไปซึ่งหากินตามสัญชาติญาณ คือเมื่ออิ่มแล้วก็พอ และไม่มีความสามารถที่จะสะสมหรือแม้สะสมก็เป็นไปตามความจำเป็น เช่น เพียงพอเพื่อให้อยู่รอดได้ในช่วงหน้าแล้ง–หน้าหนาว  แต่มนุษย์เรามีความสามารถและความรู้ในทางสติปัญญาที่จะสะสม ในขณะเดียวกันก็มีธรรมชาติฝ่ายต่ำ-ฝ่ายสูง คือ มีด้านหนึ่งซึ่งไม่พอเพียง ได้แก่ความโลภอยากได้ไม่สิ้นสุด

แต่ในทางตรงข้าม มนุษย์ก็มีธรรมชาติในด้านดีงาม คือความเมตตากรุณา และสำนึกทางจริยธรรมที่คิดคำนึงถึงผู้อื่น-สิ่งอื่นด้วย  หากได้รับการปลูกฝังอบรมขัดเกลา เรียนรู้จากครอบครัว ชุมชน สังคม ที่มีกฎเกณฑ์จัดระเบียบการเลี้ยงชีพและใช้ทรัพยากรให้พอเพียงแก่ทุกคน เพื่อมิให้มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมากนัก แม้ในกรณีมีความแตกต่างทางความสามารถ สติปัญญา โอกาส ฯลฯ ก็จะใช้อย่างมีสำนึกทางจริยธรรม  คือรู้จักจำกัดการได้-การเอาของตนแต่พอเพียง ไม่คิดเอาเปรียบ มีชีวิตมั่งคั่งเสพสุขบนความเดือดร้อนของผู้อื่น-สิ่งอื่น แม้จะสามารถทำได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ก็ตาม

ไม่ควรคิดเอาแต่ได้ หรือเอาแต่ประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง หากจะต้องคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย

ความพอเพียงของมนุษย์จึงเกิดขึ้นด้วยการเรียนรู้บ่มเพาะส่งเสริมธรรมชาติฝ่ายดีของมนุษย์ ให้มีวิธีคิดและจิตสำนึกมองเห็นถึงผู้อื่น-สิ่งอื่นในชีวิตของเราเป็นเบื้องต้น  และมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งเฉพาะหน้า (ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน) และประโยชน์สูงสุด คือความยั่งยืนของธรรมชาติ (ธรรม) อันเป็นที่พึ่งสูงสุดและสุดท้ายของสรรพชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้  ในขณะเดียวกันก็ต้องเกิดจากสังคมมีกฎกติกาและกลไกที่จะควบคุมหรือจัดระเบียบให้องค์ประกอบทุกระดับทั้งปัจเจกบุคคล ชุมชน ธุรกิจ สังคม รัฐ ฯลฯ มิให้โลภได้โดยไม่สิ้นสุด จนกระทั่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น-สิ่งอื่น รวมถึงตนเองในที่สุดด้วย เมื่อเกิดภัยธรรมชาติจากการผลาญทรัพยากรในระบบนิเวศจากกิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์

กฎเกณฑ์ของสังคมดังกล่าว มิได้คิดจากเกณฑ์เฉลี่ยเหมือนดังที่พ่อค้าในนิทานคิดและเข้าใจ  หากมีฐานคิดที่คำนึงถึงจริยธรรมเป็นหลักสำคัญเบื้องต้นของการจัดการ  ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญที่จะตอบแทนผู้ที่คิดดีคิดชอบอย่างเหมาะสมด้วย เพื่อให้จริยธรรมและความพอเพียงนั้น “กินได้” สามารถบันดาลความสุขอันยั่งยืนได้จริงด้วย  มิใช่เพียงคำพูดหรือแนวคิดลอยๆ