บทภาวนาเพื่อการแปรเปลี่ยนด้านในแห่งชีวิต

ปรีดา เรืองวิชาธร 19 เมษายน 2009

สำหรับผู้ที่ใหม่ต่อการทำสมาธิภาวนา การจะฝึกฝนปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับความมุ่งหมายแท้จริงของสมาธิภาวนาเป็นเรื่องชวนให้สับสนได้ง่าย  บทภาวนาประกอบการทำสมาธิภาวนาข้างล่างนี้เป็นบทพิจารณาง่ายๆ พอที่จะนำไปกล่าวขณะทำสมาธิภาวนา ซึ่งอาจจะเหมาะกับหลายคนที่มีข้อจำกัดไม่สะดวกที่จะไปฝึกฝนปฏิบัติที่วัดหรือสำนักใดโดยตรง หากเพียงต้องการปฏิบัติที่บ้านหรือปฏิบัติร่วมกันกับเพื่อนสนิทหรือคนในองค์กรเดียวกัน โดยอาจเลือกใช้สถานที่แห่งใดก็ได้ที่เงียบสงัดเพียงพอแก่การเจริญสมาธิภาวนา  บทภาวนาประกอบการทำสมาธิภาวนานี้มีความมุ่งหมายเพื่อน้อมนำจิตใจไปสู่ความสงบรำงับและผ่อนคลาย มุ่งเน้นให้รู้ตัวทั่วพร้อมทั้งจิตใจและร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นถึงความจริงของกฎธรรมชาติอันจะทำให้เราสามารถแปรเปลี่ยนจิตใจที่ทุกข์ทนเศร้าหมอง ไปสู่จิตใจที่แช่มชื่นเบิกบาน ไปสู่จิตใจที่เริ่มสลัดคลายเสียซึ่งอาสวะได้ทีละเล็กทีละน้อย

บทภาวนานี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกฝนการทำสมาธิภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้ทำสมาธิภาวนาร่วมกันเป็นกลุ่มก็จักช่วยเสริมบรรยากาศของการทำสมาธิภาวนาให้มีสีสันยิ่งขึ้น โดยอาจให้บางคนทำหน้าที่กล่าวบทภาวนาและเชิญระฆัง  เมื่อการทำสมาธิภาวนาผ่านไปสักช่วงเวลาหนึ่งแล้วพบว่า การกล่าวบทภาวนาไม่จำเป็นต่อการทำจิตใจให้สงบรำงับ หรือถึงขั้นรบกวนการทำภาวนาที่กำลังลงลึก ก็ไม่จำต้องใช้บทภาวนาอีกต่อไป ทั้งนี้ขึ้นกับจริตและความเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดขึ้นของแต่ละคนเป็นสำคัญ  ความในบทภาวนามีดังต่อไปนี้

๑) … (บทเริ่มภาวนา) … ขอเชื้อเชิญพวกเราทั้งหลายได้โปรดวางภาระที่คั่งค้างในใจลงสักพัก ปล่อยวางเรื่องราวในอดีตที่ล่วงผ่านมาแล้ว เรื่องเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เรื่องเมื่อวันวาน หรือแม้เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงนาทีที่ผ่านมา  ปลดปล่อยใจลงสักครู่ให้เป็นอิสระจากเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง … ขอพวกเราทั้งหลายระลึกอย่างตื่นรู้ว่า เราจะขอทำภารกิจสำคัญเพื่อชีวิตจิตใจที่มั่นคงและเป็นสุข ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้

(เสียงระฆัง และนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่ง)

(บทภาวนาเพื่อความสงบรำงับของกายและใจ)

๒) … (เสียงระฆัง) … ปลดปล่อยใจให้เป็นอิสระจากความครุ่นคิดกังวล ขอความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมมาเฝ้าติดตามลมหายใจจากช่องปลายจมูกจนถึงท้อง หายใจเข้า-ออก เนิบช้า ประณีต รับรู้อย่างชัดเจนถึงลมหายใจขณะหายใจเข้า-ออก … พึงระลึกรู้ว่า ภาระหน้าที่สำคัญของเรา ณ บัดนี้ มีเพียงการเฝ้าตามรู้ลมหายใจเท่านั้น… (เสียงระฆัง และนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่ง)

๓) … (เสียงระฆัง) … สังเกตและตระหนักรู้จิตใจในขณะนี้ หากใจกำลังแส่ส่าย ดิ้นรน ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัยในสิ่งใด หรือเซื่องซึมหดหู่ เราเพียงรับรู้ด้วยการทักทายมันด้วยใจที่แย้มยิ้ม แล้วปล่อยวางเรื่องราวนั้นไป … ตระหนักรู้ถึงใจที่เป็นอิสระจากเรื่องราวต่างๆ ในขณะนี้ … ตระหนักรู้ว่า อาการแส่ส่ายดิ้นรนของใจย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นความจริงของธรรมชาติประการหนึ่ง… (เสียงระฆังและนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่ง)

๔) … (เสียงระฆัง) … สังเกตและตระหนักรู้ถึงร่างกายในขณะนี้ หากร่างกายส่วนใดปวดเหน็บ รู้สึกตึงเครียด เราเพียงรับรู้ความรู้สึกของอาการเหล่านั้น ขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อคลายความเจ็บปวด และเพื่อหาท่านั่งที่สมดุลลงตัว … สังเกตและตระหนักรู้ถึงใจที่กำลังเสวยเวทนานี้อยู่ … ตระหนักรู้ว่า อาการเจ็บปวดทางกายย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นี่ก็เป็นความจริงของธรรมชาติประการหนึ่ง… (เสียงระฆังและนิ่งเงียบตามลมหายใจจนจิตใจมีความสงบรำงับบ้างแล้ว จึงเริ่มกล่าวบทภาวนาข้างล่างนี้ต่อไป)

(บทภาวนาเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามและแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ ให้เป็นชีวิตที่เบิกบานและงดงาม)

๕) … (เสียงระฆัง) … ขอเชื้อเชิญพวกเราทั้งหลาย สำรวจลึกลงไปในจิตใจ เพื่อมองหาธรรมชาติภายในที่งดงาม เป็นธรรมชาติภายในที่เราคุ้นเคย แสดงออกได้อย่างมั่นคงและเบิกบาน ขอพวกเรากำหนดรู้ถึงจิตใจหรือการแสดงออกนั้น … ทักทายเขาด้วยใจที่แย้มยิ้ม … ทบทวนความรู้สึกในใจว่าเป็นเช่นใดในขณะที่เราเคยมีจิตใจแบบนั้น หรือได้แสดงออกเช่นนั้น … ซึมซับรับรู้ถึงจิตใจขณะนั้นไว้ …เลื่อนการสำรวจมาสังเกตบรรยากาศของผู้อื่นที่อยู่รายรอบตัวเรา ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร รับรู้ถึงสีหน้าและท่าทางของเขาเหล่านั้น ซึมซับรับรู้ภาพเหล่านั้นไว้ … สำรวจทบทวนและพิจารณาต่อไปว่า จิตใจและการแสดงออกนี้ เกิดขึ้นได้โดยง่ายและมั่นคงเพราะเหตุใด … เมื่อตระหนักรู้ชัดเจนแล้ว ซึมซับรับรู้ไว้… (เสียงระฆังและนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่ง)

๖) … (เสียงระฆัง) … สังเกตและตระหนักรู้ถึงร่างกายและจิตใจในขณะนี้ … ขอเชื้อเชิญพวกเราทั้งหลายสำรวจลึกลงไปในจิตใจ เพื่อมองหาธรรมชาติภายในที่ขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือที่เป็นทุกข์เจ็บปวด เป็นธรรมชาติภายในที่เราคุ้นเคย และแสดงออกได้เสมอ เมื่อเราสูญเสียการระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม … ขอพวกเราตระหนักรู้ชัดถึงจิตใจและการแสดงออกนั้น … ทักทายเขาด้วยใจที่แย้มยิ้มเช่นกัน ทักทายเขาดังกับว่าเขาเป็นมิตรเก่า สหายเก่า ตระหนักรู้แล้วปล่อยวางความรู้สึกนั้นลง … เลื่อนการสำรวจมาสังเกตบรรยากาศของผู้อื่นที่อยู่รายรอบตัวเราในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร รู้แล้วปล่อยวางภาพนั้นลง … สำรวจ ทบทวน และพิจารณาต่อไปว่า จิตใจและการแสดงออกนี้เกิดขึ้นได้โดยง่าย และมีกำลังกร้าวแข็งเพราะเหตุใดหรือ เมื่อตระหนักรู้ชัดแล้ว ซึมซับรับรู้ ไว้ในใจ… (เสียงระฆังและนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่งจนรู้สึกพอใจ)

๗) … (เสียงระฆัง) … พิจารณาในใจว่า ใช่ไหมว่า เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจอยากจะให้ธรรมชาติภายในนี้ เกิดขึ้นมา  แต่เป็นเพราะว่ามีเหตุปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกันขึ้นมา จึงทำให้เราตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทนนั้น…

ใช่ไหมว่า ธรรมชาติของจิตใจที่เป็นทุกข์นั้น เกิดขึ้นเพราะเราหลงยึดมั่นว่ามีตัวเรา ของของเรา ที่จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ถาวร ไม่แปรเปลี่ยน…

ใช่ไหมว่า ธรรมชาติของจิตใจที่เป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะเรารับรู้อย่างผิดพลาดมาตลอดจนหลงยึดมั่นว่ามีตัวเรา ของของเราที่ดำรงอยู่อย่างโดดๆ เป็นอิสระไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น คนอื่นในโลกนี้

ใช่ไหมว่า ด้วยความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้แล จึงทำให้เราหลงยึดมั่นว่า มีตัวเรา มีของของเรา อันเป็นที่ตั้งให้เกิดความเห็นแก่ตัว เกิดความอยากทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา และนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด…

ขอเชื้อเชิญพวกเราทุกคนบอกกล่าวอย่างเป็นมิตรไปถึงภายในใจของทุกคนว่า เราจะพยายามเฝ้าระวังระไวระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ก้าวดำเนินไปสู่เหตุปัจจัยอันจะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ขุ่นมัวหรือเป็นทุกข์เจ็บปวดอีก … ขอเวลาและโอกาสอันดีและเพียงพอในการฝึกฝนเพื่อแปรเปลี่ยนภายในนี้ด้วยเถิด

(เสียงระฆัง และนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่งจนรู้สึกพอใจ)

๘) … (เสียงระฆัง) … ถึงเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลาย … แท้จริงแล้ว ธรรมชาติของความทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ ต่างก็เกิดขึ้นชั่วคราว ตั้งอยู่สักพักแล้วก็ดับไป … เราจะไปลงยึดมั่นถือมั่นว่า มันจักดำรงอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวรได้ละหรือ…

แท้จริงแล้ว สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ต่างก็ปรากฏขึ้นและดำรงอยู่จากการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีตัวตนแท้ถาวร เราจะไปลงยึดมั่นถือมั่นว่า เราจักจับฉวยสิ่งอื่น คนอื่นไว้ครอบครองเพื่อสนองตัวเราไว้ตลอดไปได้ละหรือ…

แท้จริงแล้ว สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แม้ตัวเราเองก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากสิ่งอื่น คนอื่น เราจะไปหลงยึดมั่นถือมั่นว่า เราจักดำรงอยู่อย่างเป็นสุขแท้ในขณะที่คนอื่น สิ่งอื่นกำลังถูกเบียดเบียนทำลายลงได้ละหรือ…

แท้จริงแล้ว เพราะเรากำลังเริ่มประจักษ์ถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งทั้งทางวัตถุธรรมและทางนามธรรมนี้แล เราจึงเริ่มก้าวสู่ประตูแห่งความสงบสุข  ขอสันติภาวะจงบังเกิดขึ้นกับเราทุกคน รวมถึงสรรพชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ด้วยเถิด … (เสียงระฆัง และนิ่งเงียบช่วงเวลาหนึ่งจนรู้สึกพอใจ)


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน