บทเรียนจากชีวิตและงานของท่านพุทธทาสภิกขุ

พระไพศาล วิสาโล 27 พฤษภาคม 2006

๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จุดเปลี่ยนของพุทธศาสนาไทยได้เริ่มขึ้นเมื่อพระหนุ่มวัย ๒๖ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาที่อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี และปักหลักที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ด้วยปณิธานว่าจะ “ช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคซึ่งเราสมมติกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล” นับแต่นั้นสวนโมกขพลารามอันลือชื่อก็ถือกำเนิดขึ้น

พระหนุ่มรูปนั้นชื่อพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ แต่ต่อมาโลกรู้จักท่านในนามพุทธทาสภิกขุ  ท่านและน้องชายคือธรรมทาส พานิช มีอุดมคติร่วมกันว่า ต้องการสร้างสวนโมกข์ให้เป็นสถานที่ส่งเสริมฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมอย่างที่เคยทำในสมัยพุทธกาล โดยเน้นชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และไม่แยกระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ  โดยหวังว่าการกระทำเช่นนั้น “อาจเป็นเครื่องสะดุดตาสะกิดใจ ให้เพื่อนพุทธบริษัทเกิดสนใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม หรือรักการปฏิบัติด้วยตนเองขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย”  ในตอนนั้นท่านคิดเพียงว่า “เราทำตนเป็นเพียงผู้ปลุกเร้าความสนใจ ก็นับว่าได้บุญกุศลเหลือหลายแล้ว”

ท่านพุทธทาสภิกขุมิได้คิดว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญหรือมหาบุรุษที่เกิดมาเพื่อทำภารกิจทางประวัติศาสตร์ เช่น เปลี่ยนแปลงโลก หรือพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน  ท่านเพียงแต่มีสำนึกอย่างชาวพุทธธรรมดาคนหนึ่งซึ่งตระหนักว่าตนมีหน้าที่ต่อพระศาสนา  อย่างไรก็ตามในฐานะปัจเจกบุคคล ท่านเชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวแล้ว ก็สามารถทำสิ่งที่ยากได้ โดยเฉพาะการบรรลุถึงอุดมคติของชาวพุทธ

ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงนายธรรมทาส พานิช ก่อนจะทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในกรุงเทพฯ และกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อสร้างสวนโมกข์ ท่านได้ประกาศความมุ่งมั่นว่า “เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกตอนนี้  ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ…ถึงแม้ว่าเราะได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป  จะอาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างที่สุด เพื่อเราจะได้พบความบริสุทธิ์ในขณะนั้น”

ท่านพุทธทาสภิกขุก่อร่างสร้างสวนโมกข์โดยเริ่มต้นจากศูนย์ คือไปเช่าที่วัดร้าง โดยมีท่านพำนักแต่ผู้เดียว  แต่ด้วยความเพียรอย่างยิ่งยวด และการใช้สติปัญญาอย่างถึงที่สุด โดยมุ่งที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุด  ทั้งๆ ที่ไม่มีวาสนาบารมีอะไรเลย แต่แล้วผลงานของท่านก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการพระศาสนา และก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย

ท่านพุทธทาสภิกขุมีหลักการอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ท่านเชื่อว่าการที่เราจะพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างมีพลัง จำต้องถอยกลับมาก่อน  ดังนั้นเมื่อท่านตั้งใจที่จะขับเคลื่อนธรรมะหรือพระศาสนาไปข้างหน้า ท่านจึงถอยกลับไปที่การประพฤติปฏิบัติสมัยพุทธกาล  ท่านสนใจค้นคว้าว่าพระภิกษุสงฆ์สมัยพุทธกาล มีชีวิตความเป็นอยู่ มีการศึกษาและปฏิบัติกันอย่างไร  จนเกิดแบบแผนความเป็นอยู่ในสวนโมกข์ที่เรียกว่า “ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง”

ขณะเดียวกันในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรม ท่านก็ถอยกลับไปที่พระไตรปิฎกในฐานะแหล่งที่มาสำหรับการเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา โดยถือว่าคัมภีร์อรรถกถามีความสำคัญรองลงมา  นับว่าสวนทางกับแนวทางปริยัติศึกษาในเวลานั้นซึ่งสืบทอดกันมาหลายศตวรรษตามแบบแผนที่มาจากลังกาทวีป  ท่านพุทธทาสภิกขุศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน จนถือได้ว่าพระไตรปิฎกคือครูที่สำคัญที่สุดของท่านทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งต่างจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ทั้งก่อนหน้านั้นและร่วมสมัยเดียวกับท่านที่มีครูเป็นตัวบุคคล

ดูเหมือนว่าครูที่มีความสำคัญที่สุดรองลงมาจากพระไตรปิฎก ในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็คือ “อาจารย์คลำ” หมายถึงการปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลองผิดลองถูก จนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร  ท่านได้ศึกษาปฏิบัติด้วยการทดลองทำหลายวิธี อาทิ การฉันผักอย่างเดียว หรือฉันแต่ของหวาน ไม่ฉันของคาว การอดนอน รวมทั้งการนั่งให้ยุงกัดนานเป็นชั่วโมง  ประสบการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งท่านได้บันทึกไว้ในสมุดส่วนตัว ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในชื่อ อนุทินปฏิบัติธรรม หรือ บันทึกรายวันขณะฝึกฝนตนอย่างเข้มข้นในวัยหนุ่ม

นอกจากการถอยกลับไปที่แบบแผนสมัยพุทธกาลและพระไตรปิฎกแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังถอยกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดคืออำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี แทนที่จะอยู่กรุงเทพฯ ต่อไป  ทั้งๆ ที่ในสายตาของคนทั่วไป กรุงเทพ ฯ คือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งการพระศาสนา  แต่แล้วทุกคนก็ได้ประจักษ์ว่า การที่ท่านถอยกลับมาที่บ้านเกิด และสร้างสวนโมกข์ขึ้นที่นั่น สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปถึงกรุงเทพฯ ได้

ประการสุดท้ายคือ ท่านพุทธทาสภิกขุได้ถอยกลับมาเริ่มต้นที่จิตใจของตนเอง  ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในการศึกษาและพัฒนาจิตใจของตนเอง เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา อวิชชา  ทั้งนี้เพราะท่านเห็นว่าจิตใจนั้นเป็นต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่าง  ท่านพยายามเรียนรู้จิตใจของตนเอง และพยายามฝึกฝนขัดเกลาตนอย่างจริงจังชนิดที่ “อาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างถึงที่สุด”  กล่าวได้ว่าสำหรับท่านแล้ว จิตใจเป็นเป็นสมรภูมิสำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้เพื่อสร้างพื้นฐานให้แก่การฟื้นฟูพระศาสนา  และท่านก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เมื่อถอยกลับไปฝึกฝนถึงต้นตอคือจิตใจ จนกิเลสเบาบาง ความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง และมีปัญญาถึงพร้อมแล้ว ย่อมสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าอย่างสอดคล้องกับหลักธรรมได้  จะว่าไปแล้วนี้ก็ไม่ต่างจากการยิงธนู  ลูกศรจะพุ่งไปข้างหน้าได้ต่อเมื่อน้าวสายธนูมาข้างหลังให้มากที่สุด ยิ่งน้าวมาข้างหลังได้มากเท่าไร ลูกธนูก็จะพุ่งไปข้างหน้าได้ไกลมากเท่านั้น

“ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง”

บทเรียนจากท่านพุทธทาสภิกขุก็คือ ในการมองอนาคตและการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เราจำต้องมองกลับไปยังอดีตและถอยกลับไปยังต้นตอหรือรากเหง้าของตนเอง โดยเฉพาะการกลับไปที่ตัวเอง เพื่อฝึกฝนขัดเกลาตนให้ถึงพร้อมสำหรับภารกิจข้างหน้า  น่าสังเกตว่าทั้งๆ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุสามารถขับเคลื่อนการพระศาสนาของไทยไปข้างหน้าได้อย่างยากที่คนคนหนึ่งจะทำได้  แต่ท่านให้ความสำคัญกับปัจจุบันยิ่งกว่าที่จะสนใจอนาคต  เมื่อบุกเบิกสวนโมกข์ใหม่ๆ ท่านไม่ได้มองไกลหรือวางแผนการระยะยาว  หากตั้งใจเพียง “ทำไปตามมีตามได้ ตามที่จะทำได้” และ “ไม่เคยฝัน ไม่เคยคิด ไม่เคยกะแผนการอะไรมากมาย”  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำไปตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อลงมือทำแล้วก็ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ โดยถือหลักว่า “ทำอะไรต้องให้ดีกว่าใคร” แม้กระนั้นก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในผลงานที่เกิดขึ้น แม้แต่สวนโมกข์ท่านก็พร้อมจะเลิกได้ทุกเวลา

ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นตัวอย่างของพระบ้านนอกคนหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้แก่พระพุทธศาสนาไทย  ถ้าเปรียบเทียบกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ท่านพุทธทาสภิกขุอ่อนด้อยทั้งชาติวุฒิและคุณวุฒิ  ท่านเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่มีอำนาจวาสนาใดๆ ทั้งสิ้น  ขณะที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นทั้งพระโอรสและพระอนุชาของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ๒ พระองค์  อีกทั้งยังได้ครองตำแหน่งสูงสุดในคณะสงฆ์ คือเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช  แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่พุทธศาสนาไทยไม่น้อยไปกว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า แม้จะในลักษณะที่ต่างกัน  นี้หมายความว่า คนเล็กๆ คนหนึ่งหรือไม่กี่คนสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญได้ ถ้าใช้ปัญญาอย่างถึงที่สุดและมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยธรรมฉันทะ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง  แต่มุ่งเอาธรรมะเป็นใหญ่


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา