บุญเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

สมเกียรติ มีธรรม 31 มีนาคม 2001

คติเรื่องการทำบุญของคนร่วมสมัยในขณะนี้มีความคับแคบมาก เหลือเพียงการบริจาคเงินทองและสิ่งของให้กับพระสงฆ์เท่านั้น โดยละเลยการทำบุญต่อส่วนรวมที่เป็นของชุมชนและสังคมไป  ยิ่งคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ด้วยแล้ว ไม่รู้จักการทำบุญเอาเลยก็ว่าได้

ในสมัยก่อนการทำบุญจะเน้นไปในเรื่องทาน และการภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องของการฝึกฝนตนเองในด้านจิตใจ  นอกจากนั้นในด้านสังคมก็ไม่ได้ละเลยทิ้งไป กิจการใดที่เป็นของชุมชน ทุกคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งกำลังทรัพย์และแรงกายแรงใจ  จะปลูกสร้างสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ศาลา อาคารต่างๆ ตลอดไปจนถึงการขุดคลองส่งน้ำ ทำฝายกั้นน้ำ หรือแม้แต่เป็นงานของสมาชิกในชุมชน ทุกคนยินดีร่วมแรงร่วมใจให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แม้จะไม่มีเงินทองสิ่งของก็ตาม

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ในหมู่บ้าน ตอนหัวค่ำมักจะได้ยินเสียงเคาะไม้หรือไม่ก็ตีกลองที่วัด และหรือก็ให้คนไปตะโกนบอกบ้านหลังโน้นทีหลังนี้ที เพื่อที่จะไว้วานเพื่อนบ้านให้มาช่วยงานอยู่เป็นประจำ  พอรุ่งเช้าอีกวันชาวบ้านก็จะมาช่วยกันตามคำขอของผู้นำหมู่บ้านและเจ้าของบ้าน เพื่อปลูกสร้างศาลาอาคารต่างๆ ส่วนผู้เป็นเจ้าภาพก็จะเตรียมน้ำเตรียมท่าข้าวปลาอาหารเลี้ยงต้อนรับอย่างดี  สภาพเช่นนี้ในชุมชนสมัยก่อนมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่เพิ่งเบลอๆ เมื่อรัฐบาลได้จัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา ชุมชนก็เริ่มแตกสลาย ผู้คนไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ ศักยภาพของชุมชนที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันขาดหายไป การประยุกต์คุณค่าต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยก็ไม่เกิดขึ้น ชุมชนจึงไม่สามารถพึ่งตนเองได้  การทำบุญอย่างใหม่ในรูปแบบนี้จึงไม่มีให้เห็นอีก

กระทั่งในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พยายามส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกัน จนเกิดกลุ่มต่างๆ มากมายโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วทั้งประเทศ อาทิเช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มผู้ทำไร่นาสวนผสม กลุ่มเลี้ยงโค-ควาย กลุ่มสมุนไพร กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมีผู้นำชุมชนเป็นบุคคลสำคัญในการรวมกลุ่มกัน เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของตน โดยที่ทุกคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นั่นคือการทำบุญ  เนื่องจากรูปแบบและวิธีการที่คุ้นเคยกันมานานได้เปลี่ยนไป จากเดิมเคยทำบุญกับพระสงฆ์มาเป็นการทำบุญให้แก่ชุมชน จนเราไม่คิดว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เกื้อกูลทั้งประโยชน์ตน ผู้อื่น และสังคม ซึ่งมีผลมากที่สุด เป็นการทำบุญที่ครบกระบวนการ  ดังตำนานพระอินทร์เรื่องนายมฆมาณพที่เสียสละอุทิศตนเพื่อชุมชน โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เขาสร้างถนนหนทาง สร้างศาลาพักร้อนริมทาง ขุดสระน้ำ สร้างสะพาน ด้วยความยินดี และมีความสุข เมื่อสิ้นลมหายใจก็ได้มาเกิดเป็นพระอินทร์อยู่บนสรวงสวรรค์

จากคติในเรื่องนี้ดอกกระมั่ง ที่ทำให้ชุมชนสมัยก่อนนิยมสร้างศาลาพักร้อนตามทางแยกต่างๆ รวมถึงจัดหาน้ำมาไว้ให้ผู้สัญจรไปมาได้ดื่มแก้กระหายกัน กระทั่งปัจจุบันก็พอมีให้เห็นกันอยู่บ้าง  แต่การทำความดีนั้น เพียงแค่ร่วมกันสร้างศาลาอาคารคงไม่พอแก่การแก้ปัญหาในสังคมอมโรคเช่นนี้  สิ่งที่คนในชุมชนควรจะร่วมมือกันในขั้นต่อไปก็คือ การร่วมกันแก้ปัญหาปากท้อง สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงขึ้นตามลำดับ  ดังตัวอย่างของนายมฆะที่ยกมาเบื้องต้น ซึ่งไม่เพียงแต่พัฒนาทางด้านวัตถุเท่านั้น หากทางด้านจิตใจและสังคมก็ได้ยกระดับขึ้นมาให้ไปพ้นเรื่องของวัตถุอีกด้วย  ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายรัฐบาล เมื่อชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ก็ควรให้การสนับสนุน อนุโมทนาสาธุไปด้วย และช่วยส่งเสริมให้กิจการของชุมชนดำเนินไปด้วยดี  ใช่ว่าจะคิดแต่ขัดขวางก่อกวนให้เกิดความแตกแยกอีก

การทำบุญนั้นถ้ามองให้ลึกตรึกให้รอบก็จะเห็นว่า การทำบุญเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม ให้ทุกคนมีสุขภาพจิตดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือกันในกิจการด้านต่างๆของชุมชน  เนื่องจากบุญเป็นเครื่องช่วยชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในตน ให้ทุกคนรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้จักแบ่งปันไม่แก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน ชุมชนก็จะอยู่ร่วมกันด้วยดีมีความสุขจากการทำบุญอย่างใหม่เพื่อส่วนรวมนี้


ภาพประกอบ