ประติมากรรมจำลอง 3 มิติ

จักรกริช พวงแก้ว 29 มีนาคม 2018

นักเรียนญี่ปุ่นสร้างประติมากรรมจำลองด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อป้องกันการโจรกรรม

ที่เมือง Wakayama ประเทศญี่ปุ่น ประติมากรรมทางพุทธศาสนาจำนวน 160 ชิ้น ได้ถูกโจรกรรมไปในระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึง 2011 นักเรียนจากวิชาออกแบบโรงเรียนอาชีวะ Wakayama จึงได้สร้างประติมากรรมจำลองจากของจริงเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นอีก

การสร้างประติมากรรมจำลอง 3 มิติเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการออกแบบ ประติมากรรมจำลองชิ้นแรกคือ Aizen Myoo (รูปปั้นเทพมี 6 แขน) ได้ถูกสร้างขึ้นในปี 2015 โดยใช้เวลา 6 เดือนในการสร้างรูปจำลองนี้  ครูเจ้าของวิชาได้กล่าวว่านักเรียนจะได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ และได้รับข้อแนะนำจากทางวัดเจ้าของรูปปั้น ช่วยให้วัดประหยัดงบประมาณจากการจ้างบริษัทภายนอกหากต้องสร้างรูปปั้นจำลองนี้ขึ้น  ตอนนี้โรงเรียนอาชีวะ Wakayama ได้สร้างประติมากรรมจำลองแล้วจำนวน 25 ชิ้น

ขั้นตอนในการสร้างรูปปั้นจำลองนี้เริ่มจาก ใช้เครื่องสแกน 3 มิติสแกนที่รูปปั้นจริง และในบริเวณที่เครื่องสแกนไม่สามารถทำงานได้ในจุดเล็กๆ เช่นช่องว่างระหว่างนิ้วมือ รอยยับบนผ้า จุดต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการสำรวจและนักเรียนจะทำการสแกนด้วยตนเอง จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งสองส่วนมารวมกันแล้วเริ่มลงมือพิมพ์ 3 มิติ เมื่อได้รูปปั้นแล้วจึงนำมาทาสีและตกแต่งให้เหมือนกับประติมากรรมโบราณต้นแบบ นักเรียนบางคนกล่าวว่ามันเป็นประสบการณ์ที่สุดวิเศษ ที่ทำให้ได้เห็นและสัมผัสประติมากรรมโบราณอายุกว่า 100 ปี

วัดหลายแห่งเลือกที่จะนำรูปปั้นที่ยากแก่การดูแลบำรุงรักษา ส่งไปให้พิพิธภัณฑ์วากายามะดูแลแทนเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการสัมผัสจากผู้เข้าชม เนื่องจากรูปปั้นโบราณที่ทรงคุณค่านั้นเปราะบางและหลายชิ้นสร้างจากแก้ว ดังนั้นการสร้างประติมากรรมจำลอง 3 มิติจึงเป็นทางเลือกที่ดี

กระทรวงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นพบว่ามีรูปปั้นโบราณจำนวน 105 ชิ้นที่ถูกขโมยในปี 2007 – 2009 นับแต่นั้นมาการพิมพ์ประติมากรรมจำลอง 3 มิติก็ได้รับความสนใจที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ตั้งแทนรูปปั้นจริง


ที่มา : https://www.lionsroar.com/students-help-japanese-temples-stop-theft-by-replacing-priceless-buddhist-statues-with-3d-printed-copies/

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา