ประหยัด เพื่อความสุขของชีวิตและสังคม

วิชิต เปานิล 18 มิถุนายน 2005

ทุกครั้งที่น้ำมันขึ้นราคา เรามักต้องมีการรณรงค์ให้ประหยัดไฟฟ้า น้ำมัน กันบ้างพอเป็นพิธี  พอเวลาผ่านไป แม้ราคาน้ำมันจะไม่ลดลง แต่เราก็มักจะเคยชินแล้วก็กลับไปผลาญนำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ กันเหมือนเดิม

ในทางตรงข้ามกับการรณรงค์ให้ประหยัด ภาคธุรกิจต่างใช้เทคนิคการโฆษณาหาทางจูงใจผู้บริโภคกันทุกรูปแบบ ให้เลิกประหยัด หันมาแข่งกันซื้อ แข่งกันกิน หรือมาใช้บริการต่างๆ ในแทบทุกเสี้ยววินาที

คนในภาครัฐเอง นอกจากส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงอยู่กับภาคธุรกิจโดยตรงแล้ว ในเชิงนโยบายการออกมารณรงค์ให้คนประหยัดก็เกรงว่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลง

ทุกวันนี้การประหยัดจึงถูกพูดถึงน้อยลง ส่วนคนที่ประหยัดก็ดูจะหาได้ยากขึ้น ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเยาวชน ดูเหมือนว่าจะแข่งกันกินกันใช้เสียมากกว่า

เมื่อใช้จ่ายมาก ก็ต้องเร่งให้หาเงินให้มากขึ้น บ้างก็ต้องทำงานหนักขึ้นจนไม่มีเวลาให้ตัวเองหรือครอบครัว จนต้องเจ็บไข้ได้ป่วยไปก็มี บ้างก็คิดวิธีการฉ้อฉลคดโกงเพื่อให้ได้เงินมาง่ายๆ บ้างก็กู้หนี้ยืมสิน ส่วนเด็กเยาวชนก็ยอมปล่อยตัวเปลืองกายเพียงเพื่อให้ได้เงินมากินมาเที่ยวไปวันๆ

การไม่รู้จักประหยัดจึงส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกาย ใจ ต่อความอบอุ่นในครอบครัว ต่อวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งความสงบสุขในสังคม ยังไม่รวมถึงการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้มากจนเสียสมดุล เกิดมลภาวะ และขยะจำนวนมหาศาล

การให้ความสำคัญกับการประหยัดในแง่มุมที่เหมาะสมเพียงเรื่องเดียว สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สังคมและโลกนี้ให้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะการประหยัดไม่ได้ช่วยเพียงแค่ให้เรามีทรัพยากรใช้ต่อไปได้นานขึ้น มีขยะและมลพิษลดลง หรือช่วยให้เรามีเวลาส่วนตัวที่จะทำอะไรที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเท่านั้น การประหยัดยังเป็นเครื่องมืออย่างดีในการพัฒนาจิตใจของเราอีกด้วย

แต่กระนั้น การประหยัดหากทำโดยมีทัศนะที่ไม่เหมาะสม นั่นคือประหยัดโดยมีเป้าหมายอยู่เพียงแค่การเก็บสะสมเพื่อให้ตนมีมากๆ หรือประหยัดเพียงแค่ของของตน แต่ของคนอื่นผลาญได้ตามสะดวก ก็อาจนำไปสู่ความล่มจมไม่แพ้กัน

ซึ่งการประหยัดแบบนี้เห็นได้ง่ายๆ จากทัศนะการใช้ของฟรี ไม่ว่าน้ำ ไฟ แม้แต่กระดาษชำระในห้องน้ำ หรือของใช้สาธารณะต่างๆ ถูกใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย หรือไม่ช่วยกันใส่ใจระมัดระวังดูแล ให้ใช้งานได้นานๆ

การประหยัดที่ควรจะบ่มเพาะต้องเป็นไปเพื่อการไม่สะสม เพื่อการปล่อยวาง  การประหยัดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเพราะเห็นคุณค่าในสิ่งนั้นๆ และเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เราประหยัดกับสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

การประหยัดกระดาษอาจเริ่มด้วยเหตุผลเพราะการประหยัดเงิน แต่ควรต้องเชื่อมโยงต่อไปให้เห็นถึงการลดปริมาณขยะ ประหยัดเชื้อเพลิงในการผลิต ประหยัดแรงงานคนทำงาน ประหยัดต้นไม้ในป่า ช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและอื่นๆ

การประหยัดโดยเห็นคุณค่าและความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ช่วยให้เราประหยัดโดยไม่จำกัดว่าเป็นของเราหรือของใคร และยังช่วยให้เรามีสติและรู้จักพอ รู้จักประมาณ ในการกินการใช้สิ่งของ ช่วยฝึกให้เรารู้จักมองออกนอกตัว เห็นความสัมพันธ์ของตัวเราหรือสิ่งที่เราใช้ กับสรรพสิ่ง สรรพชีวิตอื่นๆ ในโลก

การประหยัดเป็นเครื่องมืออย่างดีในการพัฒนาจิตใจของเรา

การประหยัดยังช่วยให้เราละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นของเรา เพราะมองเห็นว่าทุกสิ่งที่เราใช้ล้วนเกาะเกี่ยวสัมพันธ์อยู่กับสิ่งอื่น และสิ่งที่เรามีนั้นอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นมากกว่าเรา ช่วยให้เราเป็นผู้ให้ได้ง่ายขึ้น

ถึงที่สุดแล้วอาจช่วยให้เราพบว่าแท้ที่จริงแล้วสรรพสิ่งต่างๆ เงินทอง สิ่งของ เวลา หรือแม้แต่ตัวเราก็มิใช่ของของเรา

การฝึกมองอย่างพุทธ แม้เรื่องการประหยัดก็เป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่จะช่วยนำความสุขไปสู่สังคม และนำความสงบสู่จิตใจของเราได้ด้วย


ภาพประกอบ