ปริยัติต้องประสานปฏิบัติ

พระไพศาล วิสาโล 10 มีนาคม 2002

เป็นที่รู้กันดีว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมานั้นให้ความสำคัญกับปริยัติศึกษา ขณะที่การศึกษาด้านอื่นๆ ถูกละเลยและบั่นทอนจนเรียวลง กระทั่งเกิดความเข้าใจไปว่าการศึกษาของสงฆ์คือปริยัติศึกษาเท่านั้น

การศึกษาของคณะสงฆ์นั้นจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง  สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการรื้อฟื้นการปฏิบัติหรือการเจริญสมาธิภาวนาให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของสงฆ์  โดยถือว่าสมาธิภาวนานั้นมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฝึกฝนอบรมภิกษุสามเณรเพื่อให้เป็นศาสนทายาทที่ดีเท่านั้น  หากยังเป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตอย่างคฤหัสถ์ด้วย เพราะธรรมชาติของคฤหัสถ์นั้นต้องประสบกับความผันผวนปรวนแปรและการกระทบกระทั่งยิ่งกว่าบรรพชิตด้วยซ้ำ จึงควรรู้วิธีรักษาจิตใจให้สงบเพื่ออยู่อย่างเป็นสุขได้ท่ามกลางความร้อนแรง

สำหรับพระสงฆ์เองยิ่งมีความจำเป็นต้องรู้วิธีเจริญสมาธิภาวนา เพราะต้องอาศัยความสุขจากภายในหล่อเลี้ยงชีวิตพรหมจรรย์  โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมไหลบ่าท่วมท้นทุกหนแห่งไม่เว้นแม้แต่วัดวาอาราม จนยากที่พระเณรจะครองตนให้ถูกต้องตามพระวินัยได้หากไม่มีสมาธิภาวนาช่วยรักษาใจ  ขณะเดียวกันในเมื่อคฤหัสถ์เองทุกวันนี้นับวันจะมีปัญหาทางจิตใจอันเนื่องจากต้องแข่งขันดิ้นรนมากขึ้น พระสงฆ์จึงควรมีประสบการณ์ทางสมาธิภาวนาและความรู้เกี่ยวกับจิตใจ เพื่อสามารถให้คำชี้แนะแก่เขาในการแก้ปัญหาจิตใจอย่างตรงจุด นอกเหนือจากการสงเคราะห์ทางด้านพิธีกรรมหรือการทำบุญตามประเพณี

นอกจากปริยัติจะดำรงคู่ปฏิบัติแล้ว ทั้งปริยัติและปฏิบัติควรที่จะประสานสัมพันธ์กันด้วย  กล่าวคือมีการอบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทั่วไปของสมาธิภาวนา เช่น ให้รู้จุดมุ่งหมายของสมาธิภาวนาแบบพุทธ สามารถแยกแยะได้ว่าแตกต่างจากสมาธิภาวนาของศาสนาอื่นอย่างไร และเห็นความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนา รวมถึงเข้าใจว่ารูปแบบการปฏิบัติที่หลากหลายนั้นมีอะไรที่เป็นจุดมุ่งหมายหรือหลักการร่วมกัน  ความเข้าใจในเชิงปริยัติดังกล่าวจะช่วยให้การเจริญสมาธิภาวนาเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา  หาไม่แล้วการปฏิบัติอาจผิดพลาด ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ปฏิบัติและเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนามิได้มีเฉพาะสมาธิภาวนาเท่านั้น การนำธรรมะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยอย่างหนึ่ง เช่น การนำหลักไตรลักษณ์มาใช้ในการมองความเป็นจริงของโลก เอาหลักสันโดษมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือนำหลักสามัคคีธรรมมาใช้กับหมู่คณะ เป็นต้น  นอกจากนั้นสำหรับพระเณร การปฏิบัติยังรวมถึงการประพฤติให้ถูกต้องตามพระวินัยและข้อวัตร (ที่จริงคฤหัสถ์ก็มีศีลและวินัยที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน แต่ไม่เข้มงวดหรือมากเท่าพระเณร)

การปฏิบัติเหล่านี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของสงฆ์ด้วยเช่นกัน ในด้านหนึ่งปริยัติศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อเสริมการปฏิบัติดังกล่าวด้วย กล่าวคือไม่เพียงแต่สอนให้รู้ว่ามีหลักธรรมสำคัญอะไรบ้างในพุทธศาสนา หรือรู้ว่าหลักธรรมเหล่านี้มีหลักการและจุดมุ่งหมายอย่างไร แต่ยังมีการฝึกฝนให้รู้จักนำหลักธรรมดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ฝึกให้มีทักษะในการคิดและปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักธรรมเหล่านั้น รวมถึงการรู้จักเลือกสรรหลักธรรมมาใช้ให้เหมาะกับสภาพและปัญหาของบุคคลและสังคม

ปัญหาของปริยัติศึกษาในปัจจุบันก็คือแยกขาดจากการปฏิบัติแทบสิ้นเชิง นอกจากไม่มีการบรรจุการเรียนสมาธิภาวนาไว้ในหลักสูตรแล้ว (ยกเว้นในมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่ก็ให้ความสำคัญน้อยมาก) การเรียนการสอนด้านปริยัติ ก็เน้นการท่องจำเป็นหลัก ไม่มีการฝึกฝนให้นักเรียนคิดเป็นหรือรู้จักประยุกต์ใช้ธรรมให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  พระเณรจึงไม่เห็นประโยชน์จากการเรียนเหล่านี้ ได้แต่ท่องจำเพียงเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น  ผลที่ตามมาก็คือนอกจากปริยัติศึกษาจะตกต่ำมาเป็นลำดับแล้ว พระจำนวนไม่น้อยที่สำเร็จออกมาก็ไม่ได้นำหลักธรรมดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังไม่มีความสามารถในการชี้แนะหรือสอนญาติโยมให้รู้จักประยุกต์ใช้ธรรมในชีวิตของตน ได้แต่เทศน์อย่างกว้างๆ อ้างหลักธรรมทั่วไปที่เป็นนามธรรม แต่ขาดตัวอย่างรูปธรรมหรือวิธีการที่จะนำไปใช้ได้  หนักกว่านั้นก็คือไม่มีความมั่นใจที่จะเทศน์สอนธรรมแก่ญาติโยมโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระมหาเปรียญ  ปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดกับวัดในหัวเมืองอีกต่อไป หากพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ  การที่งานหลักของพระสงฆ์ทุกวันนี้เหลือเพียงแค่การประกอบพิธีกรรม ยิ่งทำให้ความสามารถของพระสงฆ์ในการนำธรรมะมาเผยแผ่แก่ญาติโยมลดต่ำลงอย่างมาก

หากการศึกษาของคณะสงฆ์ไม่ได้มีการแก้ไขอย่างน้อยในจุดนี้  อนาคตของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา