ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5: ถอดเทปแนะนำการปฏิบัติ 17 ต.ค. 2563

เครือข่ายพุทธิกา 4 ธันวาคม 2020

ถอดเทปแนะนำการปฏิบัติ

เช้าวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563

ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5


วันนี้เรามาปลุกสติเป็นวันที่ 2 ถามว่าเราปลุกสติทำไม สติสำคัญอย่างไร

สติมีความสำคัญเพราะว่าสติเป็นเครื่องรักษาใจ ไม่ให้กิเลส ไม่ให้อารมณ์ที่เป็นอกุศล หรือพูดรวมๆ คือว่ารักษาใจไม่ให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำ บีบคั้นจิตใจ

สติยังมีความสำคัญอีกตรงที่ว่าเป็นเครื่องกำกับจิตให้มาอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เรากำลังสนใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน อ่านหนังสือ หรือการทำกิจเล็ก กิจน้อย กิจใหญ่ หรืองานที่สำคัญ เราก็อยากจะให้ใจจดจ่อ แต่ถ้าไม่มีสติ ใจก็วอกแวก หรือไหลไปอยู่กับอดีตบ้างอนาคตบ้าง แต่ถ้าเรามีสติ สติจะช่วยพาใจให้กลับมาอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำ กับคนที่กำลังอยู่ข้างหน้าเรา หรือกับอิริยาบถต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน

สติที่จะทำแบบนั้นได้ ต้องเป็นสติที่ไว รวดเร็ว เป็นจิตที่มีกำลัง

สติจะมีคุณสมบัติแบบนั้นได้ เพราะเราใช้เขาบ่อยๆ เหมือนกับกล้ามเนื้อ ถ้าเราใช้กล้ามเนื้อบ่อยๆ กล้ามเนื้อนั้นจะแข็งแรง การปลุกสติ คือการฝึกใช้สติ ซึ่งอาจจะเป็นการเอาสติมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่รายการปลุกสติออนไลน์พยายามชักชวนพวกเราให้ลองทำอย่างนั้นดู หรือบางคนอาจจะใช้วิธีฝึกสติแบบเข้มข้นด้วยการไปเข้าคอร์สปฏิบัติทั้งวันเลย จะใช้วิธีไหนก็ดีทั้งนั้น

วิธีฝึกสติมีหลักง่ายๆ คือ “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” อย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวาน ตัวอยู่ที่บ้าน พาใจกลับมาอยู่ที่บ้าน แน่นอนใจก็อาจจะเผลอไหลไปที่โน้นที่นี่บ้าง เสร็จแล้วก็ระลึกได้ว่าใจลอยแล้วนะ พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัว ตัวที่ระลึกได้คือ “สติ” ถ้าระลึกได้บ่อยๆ สติก็จะไว

“ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” คำว่า “ที่นั่น” ไม่ใช่หมายถึงสถานที่อย่างเดียว เช่น ตัวอยู่บ้าน ใจก็อยู่บ้าน, ตัวอยู่บนรถ ใจก็อยู่บนรถ, ตัวอยู่ที่ทำงาน ใจก็อยู่ที่ทำงาน ไม่ได้เผลอไผลไหลไปอยู่ที่บ้าน คำว่า “ที่นั่น” ยังหมายถึงกายด้วย  การฝึกสติที่สำคัญคือการฝึกสติให้มารู้กาย รู้ว่ากายทำอะไรอยู่ นี้เป็นการเชื้อเชิญใจให้มีบ้านอยู่ กายนี่คือบ้าน ถ้าใจมีบ้าน ใจก็ไม่จรจัด ไม่เหมือนกับคนที่ชอบกระเซอะกระเซิงจนกระทั่งเหนื่อยอ่อน

การฝึกสติคือการฝึกให้ใจกลับมาอยู่กับกาย อันนี่เป็นเบื้องต้น

คำว่า “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” คืออันนี้ ตัวทำอะไรหมายถึงร่างกายทำอะไร ใจก็รู้ รู้ในที่นี้คือ “รู้สึก” เช่น กายเดิน ใจก็รู้ว่าเดิน คือรู้สึกว่ากายกำลังเดิน เวลาเราอาบน้ำ เราใช้มือลูบตัว ถูสบู่ อันนี้มีการเคลื่อนไหวทางกาย ใจก็รู้ คือรู้สึกว่ามือหรือกายเคลื่อนไหว เราฝึกให้ใจกลับมาอยู่ กลับมารู้สึกกับการกระทำของกายอยู่บ่อยๆ แน่นอนปกติใจจะคิดโน้นคิดนี่ กายทำอะไรหรือตัวทำอะไร ใจก็ไม่รับรู้ด้วยเพราะใจลอย เช่น กำลังคิดถึงงานการ กำลังคิดถึงการวางแผนไปเที่ยว ตัวเดินอยู่แต่ใจไม่รับรู้ว่าตัวกำลังเดิน นี่แสดงว่าใจลอย นี่แสดงว่าไม่มีสติ

เราฝึกสติขั้นแรกด้วยการที่ให้ใจกลับมารู้อยู่กับกาย แต่ไม่ได้ถึงกับไปบังคับจิตให้แนบแน่นกับกาย เช่นไปเพ่งที่เท้าหรือไปเพ่งที่มือ แต่ให้รู้รวมๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บที่นอน ล้างหน้า ถูฟัน กินข้าว ก็รู้กาย ใจก็รู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่

เวลาเราทำอะไรด้วยมือ ด้วยแขน ด้วยเท้า หรือด้วยร่างกายแล้ว ใจไม่รู้สึกถึงอาการของกาย นั้นแปลว่าใจลอย แปลว่าขาดสติ

เราฝึกสติด้วยการหมั่นพาใจกลับมาอยู่กับกาย รับรู้การกระทำของกาย จะทำแบบนั้นได้ต้องมีสติ เพราะสติประการแรกช่วยทำให้เรารู้ว่าใจเราลอยนะ ประการที่สอง สติทำให้เราระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน และสติจะพาใจกลับมาอยู่กับกาย เมื่อสติทำแบบนี้บ่อยๆ สติจะไว จะรู้ทัน ไวขึ้นเมื่อเราใจลอย และจะหมั่นพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ก็เกิดความรู้สึกตัว รวมทั้งรู้สึกว่ากายทำอะไร และถ้าเราทำแบบนี้บ่อยๆ ทำบ่อยๆ รู้สึกตัวบ่อยๆ รู้ว่ากายทำอะไร หรือรู้สึกว่ากายกำลังเคลื่อนไหวในขณะที่ทำนั่นทำนี่ ถึงจุดหนึ่งพอใจเราลอยขณะที่เรากำลังเดิน ขณะที่เรากำลังซักผ้า ล้างจาน ความรู้สึกว่ากายที่กำลังซักผ้า ล้างจาน หรือกำลังเดิน มันจะเป็นตัวเตือนจิตให้กลับมามีสติ แทนที่จะใจลอยต่อไป ใจก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ความรู้สึกทางกายจะเป็นตัวเตือนจิตให้มีสติเหมือนเป็นตัวสะกิดใจที่กำลังลอย ฟุ้ง ไปอดีตก็ตาม ไปอนาคตก็ตามให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน คล้ายๆ กับเวลาเราใจลอย คิดโน้นคิดนี่ แล้วมีคนมาแตะไหล่เรา มีคนมาแตะมือเรา แล้วเราก็รู้สึกตัวขึ้นมา ใจที่ไหลลอยไปโน้นไปนี่ ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เราก็ทักทายเพื่อนที่มาแตะมือเรา

การที่เรารู้สึกว่ามีคนมาสัมผัสมือเรา มันช่วยดึงสติกลับมา เพื่อทำให้สติกลับมาครองใจเรา ความรู้สึกทางกายสามารถจะทำแบบนั้นได้เวลาเราฝึกให้รู้กายบ่อยๆ กำลังเดินจงกรมอยู่แต่ใจลอย กำลังล้างจานอยู่แต่ใจลอย สักพักความรู้สึกว่ามือเรากำลังล้าง กำลังถูจาน จะไปเรียกสติ หรือไปสะกิดใจให้กลับมามีสติและกลับมาอยู่กับปัจจุบัน นี่เป็นวิธีการฝึกสติขั้นต้น ที่เรียกว่าให้รู้กายเคลื่อนไหว หรือเห็นกายเคลื่อนไหว ไม่ได้เห็นด้วยตานะ แต่เห็นด้วยใจ รู้สึกด้วยใจ เมื่อไรก็ตามที่ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวมันจะรู้สึกว่ากายทำอะไร แต่ไม่ได้รู้สึกแบบเพ่งนะ มันรู้สึกรวมๆ และเวลาเราทำอะไร แล้วรู้สึกว่ากายทำอะไร นั่นเป็นเครื่องหมายว่าเรารู้เนื้อรู้ตัว หรือมีสติแล้ว

คราวนี้ในการฝึกสติ มีตัวช่วยหรือเทคนิค ที่เป็นตัวช่วยทำให้ใจกลับมาอยู่กับกาย กลับมารู้เนื้อรู้ตัวคือการเตือนใจอยู่เนืองๆ ว่า “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” หรือฝึกอีกวิธีหนึ่งคือฝึกทำทีละอย่าง เวลาเราอาบน้ำ ใจก็อยู่กับการอาบน้ำ เวลาล้างจานใจก็อยู่กับการล้างจาน เวลากินข้าวใจก็อยู่กับการกินข้าว ถ้าทำทีละอย่าง การรู้เนื้อรู้ตัวจะดี นี่เป็นวิธีการฝึกสติที่อยากจะชวนพวกเราลองทำดู เพราะปกติเราทำหลายอย่างพร้อมกัน เช่น อาบน้ำไปด้วยก็คิดนั่นคิดนี่ไปด้วย ถูฟันไปด้วยก็คิดถึงเมนูอาหารที่จะทำให้ลูกกิน ขณะกำลังกินข้าวก็นึกถึงงานที่จะต้องทำตอนสาย เรื่องที่ต้องประชุมกันในตอนเย็น หรือบางทีกินข้าวไปด้วยก็ดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย หรือขณะเดียวกันก็พูดคุยกับคนร่วมโต๊ะด้วย บางคนทำ 3 อย่างพร้อมกันเลย ก็เลยไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวเท่าไร จิตมันแส่ส่าย นี่เป็นวิธีที่บั่นทอนสติและบั่นทอนสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าเราหัดลองทำทีละอย่าง ทำอะไรด้วยใจเต็มร้อย อาบน้ำด้วยใจเต็มร้อย เดินขึ้นบันไดด้วยใจเต็มร้อย สติเราจะเติบโตมากขึ้น แต่ถ้าเราทำอะไรก็ตาม ทำอย่างอื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน ก็ไม่ได้ทำด้วยใจเต็มร้อยแล้ว อาจจะ 50/50 หรือว่า 30/30/30 แบบนี้สติก็ไม่ค่อยได้พัฒนา สมาธิก็ไม่ค่อยมี

วันนี้อยากจะเชิญชวนทุกท่านลองทำอะไรด้วยใจเต็มร้อย คือทำทีละอย่าง ตั้งแต่เก็บที่นอน ถูฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ ทำครัว หั่นผัก เดินขึ้นบันได เดินไปปากซอย ใจก็อยู่กับการทำสิ่งนั้น ใจเต็มร้อย แน่นอนจิตก็ไม่ค่อยจะอยู่หรอก มันจะแว่บไปโน้นแว่บไปนี้ คิดโน้นคิดนี้ เป็นงานเป็นการบ้าง ไร้สาระบ้าง ไม่เป็นไร พอรู้ตัวว่าเผลอ ดึงกลับมา ดึงใจกลับมาอยู่กับกาย มารู้ว่ากายกำลังทำอะไร รู้สึกว่าตัวกำลังเดิน เท้ากำลังขยับ เวลากินข้าว รู้สึกว่ามือกำลังตักข้าวใส่ปาก รู้สึกว่าปากกำลังเคี้ยวอาหาร แต่ไม่ใช่จ้องไม่ใช่เพ่งและไม่มีบริกรรม แค่รู้เฉยๆ รู้รวมๆ รู้ลอยๆ รู้แบบสบายๆ ไม่ต้องถึงกับรู้ชัดๆ ก็ได้ โดยเฉพาะเวลากินข้าวเราจะทำหลายอย่างพร้อมกัน ลองฝึกทำทีละอย่าง วางโทรศัพท์มือถือ และอย่าเพิ่งไปสนใจโทรศัพท์ ให้ใจอยู่กับการกิน แต่แน่นอนใจก็จะแว่บไปโน้นแว่บไปนี่ สติจะเป็นตัวเตือนให้เราระลึกได้ว่าใจลอยแล้ว และสติจะพาใจกลับมาอยู่กับการกินข้าว รับรู้กายเคลื่อนไหวขณะที่กินข้าว ทำบ่อยๆ สติเราก็จะไวและจะมีกำลัง โดยเฉพาะวันๆ หนึ่งเราใช้กายทำโน้นทำนี่เยอะ นอกจากการใช้ความคิด เราใช้กายทำอะไรต่างๆ มากมาย ใช้โอกาสนั้นแหละเป็นเครื่องฝึกสติ ด้วยการให้ใจทำสิ่งนั้นเป็นใจที่เต็มร้อย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือทำทีละอย่าง

ลองฝึกทำทีละอย่างดู อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน เวลาเดินลงบันได ใจก็อยู่กับการก้าวเท้าลงบันได ขึ้นบันไดก็เหมือนกัน เวลาเข้าห้องน้ำ ใจก็อยู่กับการเดินเข้าห้องน้ำ อย่าเพิ่งคิดโน้นคิดนี่ เดี๋ยวจะพลาดพลั้งหกล้ม หัวฟาดพื้น

เช้านี้อาตมาอยากจะเชิญชวนทุกท่านลองปลุกสติ ด้วยการทำทีละอย่าง อาจจะทำเป็นช่วงๆ ก็ได้ หรือว่าทำทั้งวันก็ได้ เช้านี้ขอแนะนำเท่านี้  แล้วมาพบกันอีกครั้งเวลา 17.00 น. สำหรับช่วงตอบคำถาม