ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

ปรีดา เรืองวิชาธร 22 ตุลาคม 2005

ทุกวันนี้ถึงแม้เรากำลังเผชิญโรคร้ายที่น่ากลัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอดส์ มะเร็ง ไข้หวัดนก หรือโรคติดเชื้อจากสัตว์ก็ตาม แต่โรคร้ายที่ร้ายแรงกว่าโรคที่กล่าวมาซึ่งแพร่ระบาดลุกลามไปทุกสังคมแล้วก็คือ โรคทางจิตวิญญาณ ที่คนในสังคมแสดงอาการป่วยไข้ออกมาผ่านการคิด พูด และทำ ในทางแย่ๆ ร้ายๆ ด้วยความคุ้นเคย คุ้นเคยชนิดที่ฝังรากลึกลงในชีวิตและวัฒนธรรมของสังคม กล่าวคือทั้งคิด พูดและทำอย่างเป็นอัตโนมัติโดยแทบไม่เคยสะกิดใจหรือตั้งคำถามเลยว่า คิดและทำแล้วมันมีผลอย่างไรต่อตัวเองและคนอื่น

ตัวอย่างของคนป่วยเป็นโรคนี้ก็อย่างเช่น กลุ่มคนที่อยากร่ำรวยมีชื่อเสียงมีตำแหน่งและอำนาจซึ่งมักจะคิดและทำทุกวิถีทางที่จะได้มา แม้จะทุจริตโกงกินหรือเหยียบย่ำทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ตาม คนกลุ่มนี้ต่างมุ่งแสวงหาสิ่งเหล่านี้อย่างบ้าคลั่งชนิดลืมชีวิตลืมตาย ลืมคิดไปว่าตัวเองจะมีเวลาอีกสักกี่มากน้อยที่จะอยู่กับมัน บางคนเบาลงมาหน่อยก็ตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการซื้อเสพบริโภคอย่างสุดเหวี่ยง เป็นทุกข์ใจเพราะรู้สึกขาดหรือพร่องอยู่ตลอดเวลา

อีกกลุ่มหนึ่งก็จมปลักกับความเจ้าคิดเจ้าแค้นกับคู่กรณี ไม่เปิดใจกว้างให้โอกาสคนอื่นหรือให้โอกาสตัวเองได้ฝึกให้อภัย บางคนเป็นมากถึงกับฝักใฝ่ความรุนแรงตลอดเวลา อยากใช้ความรุนแรงเข้าจัดการความขัดแย้งเพราะมันง่ายและสะใจดี บางคนก็ติดกับดักการคิดหรือมองคนอื่นอย่างตัดสินตายตัวหรือมักมองไปในทางร้ายเป็นเจ้าเรือน คนอีกกลุ่มนหนึ่งมักมาในรูปของความกลัว รู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เช่น กลัวผิดพลาดล้มเหลว กลัวคนอื่นได้ดีกว่า กลัวสังคมตีตราไม่ยอมรับ หรือกลัวความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น โรคที่คิดและทำอย่างคุ้นเคยนั้นมีให้เห็นทุกรูปแบบมีอยู่ทุกตารางนิ้วและมีให้เห็นทุกวัน ใช่หรือไม่ว่าเราท่านต่างเป็นโรคนี้กันไม่มากก็น้อย

ส่วนเหตุปัจจัยของโรคทางจิตวิญญาณนี้นอกจากจะมาจากปัจจัยภายนอก เช่นปัจจัยทางสังคมต่างๆ แล้วยังมาจากปัจจัยภายในที่สำคัญคือ เราขาดภาวะการตื่นรู้ที่จะเท่าทันหรือแยกแยะได้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ดังนั้นเราจึงดำเนินชีวิตไปอย่างแย่ๆ ร้ายๆ ด้วยความคุ้นเคย

ในอานาปานสติสูตรและมหาสติปัฏฐานสูตรจากพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสติไว้ชัดเจนว่า หากเราเจริญสติอยู่เสมอย่อมทำให้เข้าถึงความสุขจากความสงบรำงับ ทำให้คลายความยินดียินร้ายจากทุกสิ่งที่เผชิญ ทำให้เรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะของชีวิต ไม่เผลอไม่ประมาทไปสู่อกุศลธรรม ที่สำคัญที่สุดเป็นประตูแห่งการเกิดปัญญาอันลึกซึ้งจนสามารถถ่ายถอนกิเลสระดับรากเหง้าที่เรียกว่าอาสวะ ซึ่งเป็นกิเลสที่สามารถแสดงออกมาอย่างคุ้นเคยทันทีที่เราถูกกระทบสัมผัส อันได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา

สำหรับการเจริญสติให้แก่กล้าฉับไวนั้น เราจำต้องหาเวลาช่วงหนึ่งหลีกเร้นไปสู่ที่สงบสงัด อยู่กับการฝึกฝนอย่างจริงจังเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ได้ผลอันสมบูรณ์ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการนำหลักการสำคัญมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ

แก่นแกนของอานาปานสติภาวนาก็คือ เราจะฝึกฝนตามรู้ตามศึกษาธรรมในสี่ฐานทุกลมหายใจเข้าออก ซึ่งได้แก่ 1) ฐานกาย คือตามรู้ลมหายใจและร่างกาย  2) ฐานเวทนา คือตามรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น  3) ฐานจิต คือ ตามรู้ความคิดนึกปรุงแต่งของจิต  4) ฐานธรรม คือ ตามรู้ความจริงของสรรพสิ่งต่างๆ

การฝึกฝนสติจากฐานกายในชีวิตประจำวัน

เราสามารถทำได้แทบทุกเวลาโอกาส อย่างเช่น หากเราว่างเว้นจากภารกิจเราควรน้อมสติมากำหนดรู้ลมหายใจที่ช่องปลายจมูก หายใจเข้าออกยาวกว่าปกติพร้อมกับภาวนาในใจว่า ทุกขณะหายใจเข้าออกยาวเราก็รู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังหายใจเข้าออกยาว ฝึกทำดังนี้บ่อยๆ ทุกโอกาสที่เปิด

นอกจากการฝึกตามลมหายใจเข้าออกล้วนๆ แล้ว เราสามารถผสานลมหายใจเข้ากับการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเข้าห้องน้ำ ล้างจาน กวาดบ้าน หรือในอิริยาบถต่างๆ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน โดยฝึกฝนการตื่นรู้ภายในว่าทุกขณะหายใจเข้าออกก็รู้ตัวว่า เรากำลังเคลื่อนไหวทำกิจวัตรนั้น หรือรู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ในอิริยาบถใด หากใจคิดฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอื่น ก็ให้น้อมกลับมาที่ลมหายใจพร้อมกับตื่นรู้ว่าเรากำลังทำกิจวัตรนี้อยู่

การหมั่นน้อมสติมาอยู่ที่ลมหายใจและกิจวัตรจนเกิดความคุ้นเคยใหม่นี้ นอกจากจะช่วยป้องกันหรือชะลอให้เราไม่เข้าไปสู่การคิดและทำแบบอัตโนมัติตามความคุ้นเคยเดิมแล้ว ยังเป็นการสร้างที่พักพิงของจิตให้สงบและมั่นคง ช่วยทำให้กิจวัตรต่างๆ ไม่เป็นสิ่งซ้ำซากจำเจไร้ความหมายอีกต่อไป และบางโอกาสยังเกิดความน่าอัศจรรย์ใจก็ตรงที่เราอาจสัมผัสได้ถึงเสียงภายในอันลึกซึ้งของเรา ซึ่งอาจหมายถึง คำตอบที่เราคิดไม่ออก ความต้องการอันแท้จริงที่ซ่อนเร้น ความคิดสร้างสรรค์ดีๆ เป็นต้น

การฝึกฝนการตื่นรู้ในฐานความรู้สึกและฐานความคิดนึกปรุงแต่งของจิต

ให้ตามรู้เท่าทันตอนที่เรากระทบสัมผัสกับคนหรือเหตุการณ์ใดก็ตาม แล้วทำให้เกิดความรู้สึกสุขหรือทุกข์ขึ้นมา โดยภาวนาในใจว่า ทุกขณะหายใจเข้าออกเราสัมผัสรับรู้ถึงรสชาติความรู้สึกนั้นอย่างซื่อตรง รับรู้ว่าความรู้สึกนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากปัจจัยอะไร และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ต่อจากนั้นทุกขณะหายใจเข้าออกเราก็รับรู้อย่างชัดเจนว่า ความรู้สึกนั้นส่งผลให้จิตเราคิดนึกปรุงแต่งไปอย่างไร รับรู้ว่าจิตกำลังคิดอยากได้อยากเอา จิตคิดขุ่นเคืองโกรธแค้น จิตกำลังคิดฟุ้งซ่าน กังวลหรือกลัว หรือจิตกำลังสงบตั้งมั่นหรือปล่อยวางเป็นอิสระจากอำนาจความรู้สึกนั้น และรับรู้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้จิตคิดปรุงแต่งไปในทางอกุศลหรือเป็นอิสระจากอำนาจของความรู้สึกที่เกิดขึ้น

การฝึกฝนการตื่นรู้ในฐานธรรมหรือความเป็นจริงอันลึกซึ้งของสรรพสิ่ง

เป็นขั้นตอนที่โน้มนำให้เราเข้าสู่ปัญญาอันลึกซึ้ง อันจะช่วยให้เราหลุดพ้นเป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงได้ทีละเล็กทีละน้อย โดยหายใจเข้าออกแต่ละขณะก็ตามรู้ตามศึกษาถึงความปรวนแปรไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ร่างกาย สิ่งแวดล้อม ความรู้สึก ความคิดนึกปรุงแต่ง ฯลฯ  ทุกลมหายใจเข้าออกเราก็รู้ชัดเจนว่า เมื่อเราเข้าไปยึดสิ่งที่ปรวนแปรแล้วเราทุกข์อย่างไร และเมื่อสำเหนียกถึงความไม่เที่ยงอยู่เสมอๆ แล้ว เราคลายความยึดมั่นถือมั่นและเป็นอิสระมากขึ้นอย่างไร

ดังนั้นในชีวิตประจำวันหากเราเผชิญกับสิ่งใดไม่ว่าดีหรือร้าย ให้เรารู้เท่าทันเพื่อน้อมพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งนั้น หากทำดังนี้อยู่เสมอๆ ก็เชื่อได้ว่า เราจะไม่กลับไปสู่ความคุ้นเคยเดิมที่แย่ๆ ร้ายๆ แต่จะเป็นคนใหม่ที่เต็มไปด้วยความคุ้นเคยใหม่ซึ่งคิดพูดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม แม้จะยังไม่บรรลุธรรมขั้นใดก็ตาม


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน