ปาฏิหาริย์แห่งความไว้วางใจ

ปรีดา เรืองวิชาธร 6 พฤศจิกายน 2004

คำเตือน : ข้อเสนอข้างล่างนี้อาจเป็นของแสลงสำหรับกลุ่มองค์กรที่ถืออำนาจเป็นใหญ่ หรือเน้นบรรยากาศขับเคี่ยวแข่งขันสูง

เราท่านที่ทำงานเป็นกลุ่มองค์กรเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่า สภาพอันแสนธรรมดาต่อไปนี้ ทำไมจึงเกิดขึ้นแทบทุกแห่ง และหลายครั้งลุกลามเป็นความขัดแย้งรุนแรงตามมา สภาพที่ว่านี้ก็อย่างเช่น …ทำไมฉันจึงต้องรับผิดชอบงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว ครั้นจะให้คนอื่นแบ่งเบาก็ทำไม่ได้ดังใจ …ทำไมเพื่อนร่วมงานฉันจึงทำงานแบบซังกะตาย ซ้ำยังลังเลไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย …เอ ! ในองค์กรเราทำไมเวลาทำงานร่วมกัน บรรยากาศมันอึดอัด ไม่มีชีวิตชีวายังไงชอบกล เป็นต้น  แน่นอนครับบรรยากาศอันแสนฝืดและไร้พลังนั้น ย่อมเกิดจากหลายสาเหตุที่เชื่อมโยงกัน อาจเป็นด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยน่ารัก หรือเป็นที่ความบกพร่องของระบบงานที่ไม่ชัดเจน หรืออาจมาจากโครงสร้างองค์กรที่ไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การอบรมเรื่องการทำงานเป็นทีม แทบทุกองค์กรต่างเห็นตรงกันว่า รากลึกสำคัญอันหนึ่งซึ่งเรามักคาดไม่ถึง หรือมองข้ามได้ง่ายก็คือ ลึกๆ แล้วเราไม่เชื่อมั่นไว้วางใจกัน  ความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจกันในที่นี้หมายถึง เราไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่นว่า เขาจะทำงานออกมาได้ด้วยดี เวลามอบหมายให้ทำอะไร เรามักมีภาพในใจว่าเขาจะทำได้ไม่ดี  ความไม่เชื่อมั่นในกรณีนี้ มักจะสัมพันธ์กับความไม่เชื่อมั่นว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงเติบโตได้ และสามารถสร้างสรรค์อะไรได้อย่างวิเศษมหัศจรรย์ที่เรามักคาดไม่ถึง หากเขาได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้วยกระบวนเรียนรู้ที่ดีและเพียงพอ  ความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพคนอื่นยังสัมพันธ์กับการไม่ตระหนักในความจริงที่ว่า มนุษย์มีความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกันและวิถีทางในการเรียนรู้ก็แตกต่างกันด้วย แต่ละคนจึงมีจุดดีเด่นต่างกันหรือทำได้ดีในเรื่องที่ต่างกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จริงหรือไม่ว่า ก็เพราะเราไม่เชื่อมั่นศักยภาพคนอื่น ทั้งยังไม่อยากเสียเวลาในการฝึกคนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เราจึงไม่กล้าปล่อยมือให้คนอื่น เลยต้องรับภาระหนักอยู่ฝ่ายเดียว และจริงหรือไม่ว่ายิ่งเราแสดงถึงความไม่วางใจด้วยการไม่ปล่อยมือมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เขาทำงานอย่างอึดอัด ไร้ชีวิตชีวา ไม่กล้าตัดสินใจและยังนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่าย หากต้องถูกตรวจสอบความคืบหน้าและคุณภาพของงาน  ดังนั้นหากเราเชื่อว่า มนุษย์สามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้และเชื่อว่าแต่ละคนสนใจและเรียนรู้แตกต่างกัน เราจะเริ่มตระหนักถึงการให้โอกาสคนเรียนรู้ พร้อมกับสนับสนุนให้เขาทดลองทำในเรื่องที่เขาสนใจและสอดคล้องกับศักยภาพ

คนเราหากได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบงานในระดับที่เหมาะสมกับกำลังความสามารถ หรือได้รับโอกาสทำงานที่สำคัญและท้าทายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั้น เขาย่อมทำด้วยความอิ่มเอมใจเพราะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก  ยิ่งได้ทำในบรรยากาศที่คนอื่นเชื่อมั่นยอมรับ พลังในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มพูนและถูกนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการงานด้วยจิตใจใฝ่สัมฤทธิ์และใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งทำให้วางใจได้ว่างานนั้นจะเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์มีชีวิตชีวา  ขณะเดียวกันเขาจะกล้าตัดสินใจมากขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้ว่าเขาจะทำงานผิดพลาดบ้าง แต่หากได้รับกำลังใจและคำปรึกษาแนะนำในบางคราว ก็จะทำให้เขาแสวงหาทางออกจากปัญหาได้ไม่ยาก  ด้วยเหตุนี้ความไว้วางใจที่คนอื่นมอบให้ ย่อมสัมพันธ์กับการสร้างและรักษาความมั่นใจภายในของเขาด้วยเช่นกัน

เมื่องานเริ่มออกมาดีเป็นที่น่าพอใจกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวเขาเองได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของตน แม้จะยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างก็ตาม เขาย่อมรู้สึกเคารพตัวเอง โดยตระหนักรู้ว่า ตัวเองมีคุณค่าความหมายอย่างไรต่อคนอื่น ความรู้สึกเคารพตัวเองนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้คนคิดและทำอะไรอย่างสร้างสรรค์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม

หากมองในแง่ส่วนรวม เมื่อเห็นคนทำงานอย่างมีความสุขและท้าทายแล้ว กลุ่มองค์กรก็ย่อมวางใจได้ว่า เขาจะรับผิดชอบตัวเขาเองได้ เราแค่เพียงยืนห่างไม่ใกล้ไม่ไกลเพื่อคอยให้กำลังใจและช่วยเหลือยามมีปัญหาเกิดขึ้น  ดังนั้นแต่ละคนก็ย่อมรับผิดชอบงานด้วยความสบายใจ ไม่ต้องระแวงกันว่าคนอื่นจะเบี้ยวงานหรือทำงานกินแรงเรา ที่สุดแล้วงานก็มีแนวโน้มกระจายออกไปไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป มองในอีกแง่หนึ่งก็คือองค์กรได้ใช้ความหลากหลายของคนอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลุ่มองค์กรจะมีปัญหาการใช้เงินค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจลดน้อยลง เพราะแรงจูงใจของเขาไปอยู่ที่ความอิ่มเอมเป็นสุขจากการที่ได้ทำงานที่ตนรักและถนัด ดังนั้น ระบบการให้ค่าตอบแทนอาจไม่จำเป็นต้องมีช่องว่างห่างกันนับเป็นร้อยเท่าพันเท่า ความขัดแย้งในเรื่องอัตราค่าตอบแทนก็จะลดน้อยถอยลงบ้างตามสมควร

มนุษย์มีความสนใจและวิถีทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แต่ละคนจึงมีจุดเด่นหรือทำได้ดีในเรื่องที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตามแม้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกันจะดีวิเศษอย่างไร แต่ก็เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักเพราะมีต้นทุนสูงที่ทุกคนต้องช่วยกันจ่ายเพื่อช่วยกันสร้างขึ้นมาด้วยปัจจัยหลายประการ โดยเริ่มที่ทุกคนต้องกล้าเสี่ยงไว้วางใจคนอื่นก่อน ไม่ว่างานที่มอบหมายจะออกมาสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม ก็เพราะความผิดพลาดล้มเหลวนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่มาคู่กันกับความสำเร็จ  ดังนั้นประเด็นจึงน่าจะอยู่ที่ว่า เวลามอบความไว้วางใจแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา แทนที่เราจะประเมินผลแบบวิจารณ์เพื่อจับผิดหรือโจมตีอย่างไม่มีชิ้นดี เราควรสรุปบทเรียนเพื่อช่วยทำให้ทุกคนมองเห็นปัญหา สาเหตุและทางออกแล้วร่วมกันแก้ไข  การประเมินผลที่มุ่งโจมตีทำลายเครดิตกันมักนำไปสู่สภาพเครียดกดดันและมักจะฆ่าทำลายความคิดสร้างสรรค์ของคนในที่สุด

อย่างไรก็ตาม จิตใจที่กล้าเสี่ยงนั้นก็จำต้องมีปัจจัยหนุนเสริมอื่นๆ อีกคือ กลุ่มองค์กรต้องให้โอกาสและเวลาในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะแก่สมาชิกอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งวางระบบติดตามความเคลื่อนไหวงานด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร นอกจากนี้กลุ่มองค์กรควรสร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อต้องการให้รู้จักกันในด้านฝีมือและทักษะเท่านั้น แต่เพื่อช่วยทำให้มองเห็นนิสัยใจคอหรือจุดอ่อนจุดแข็งซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจและเกื้อกูลกัน  ทั้งนี้การสร้างสรรค์บรรยากาศการทำงานร่วมกันที่ดีจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างมีคุณภาพก็ต่อเมื่อ ทุกคนมีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึงรับฟังกันด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง รับฟังด้วยใจที่ตระหนักรู้ว่า ตัวเรากำลังมีกำแพงหรืออุปสรรคอะไรบางอย่างที่ปิดกั้นการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นหรือไม่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้การสร้างความไว้วางใจดูจะมีต้นทุนสูงอยู่บ้าง แต่หากผลที่เกิดขึ้นเริ่มงอกงามก็น่าจะคุ้มค่ากับบางอย่างที่ลงแรงไป สำคัญแต่ว่าเราจะอดทนอดกลั้นรอผลพิสูจน์ได้นานสักเท่าใด


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน