ฝึกปล่อยวาง

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 6 พฤศจิกายน 2016

ในเวิร์คชอป “เป็นมิตรกับความตาย” เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2559 มีผู้ถามพระไพศาล วิสาโล วิทยากรอบรมดังกล่าวว่า ชั่วขณะที่เราใกล้ตายควรทำอย่างไรจึงจะจากไปอย่างสงบ

พระไพศาลสรุปรายละเอียดที่ช่วยให้ตายดีเหลือเพียงคาถา 2 ข้อ นั่นคือ “นึกถึงพระ” และ “ละทุกสิ่ง”

“นึกถึงพระ” หมายถึงการน้อมนึกถึงพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งจะช่วยให้คลายความหวาดกลัวความวิตกกังวล จิตใจเป็นกุศล การตายขณะน้อมนึกถึงสิ่งดีงาม ย่อมไปสู่ภพภูมิที่ดี หรือไปสู่สุคตินั่นเอง

ส่วนคนที่ไม่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านให้นึกถึงคุณงามความดีที่ตนเคยทำ โดยเฉพาะความดีที่ทำเป็นประจำ เช่น การบริจาคทาน การช่วยเหลือผู้อื่น ความสำเร็จที่ตนภาคภูมิใจ การระลึกถึงความดีเหล่านี้ จะช่วยให้จิตใจอิ่มเอมเบิกบาน ไม่ทุรนทุราย ไม่หวาดกลัวโลกหน้า

ส่วนคาถาอีกข้อ คือ “ละทุกสิ่ง” หมายถึงการปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือ ทั้งเกียรติยศ เงินทอง บุคคลอันเป็นที่รัก ปล่อยวางจากร่างกายที่ตนใช้งานมาทั้งชีวิตและความเจ็บปวดทรมานที่กำลังเสพเสวย ปล่อยวางความดีความชั่วในอดีตที่เคยทำมา ปล่อยวางความกลัว กังวล ความรู้สึกผิด และเหล่าอารมณ์อื่นๆ ปล่อยวางจากความอยากไปสวรรค์ อยากไปสุคติภูมิ ปล่อยวางความกลัวโลกหน้า สุดท้ายคือการปล่อยวาง “ตัวกู” และ “ของกู”

“ละทุกสิ่ง” ในช่วงขณะก่อนตายนี้เอง คือสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า นาทีทอง ในนาทีก่อนจากไปร่างกายจะแสดงทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า แสดงความเสื่อมสลายของสังขารอย่างชัดแจ้ง หากผู้ใกล้ตายมีสติรู้ตัว ฉวยโอกาสพิจารณาสัจธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า ย่อมสามารถตายพร้อมกับความรู้แจ้งความเป็นจริงของธรรมชาติ การตายครั้งนั้นย่อมเป็นการตายดีในมุมมองของพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด กล่าวคือ ตายอย่างสะอาด (ปลอดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง) สว่าง (ตายพร้อมกับปัญญารู้แจ้งในสัจธรรม) และสงบ (ตายอย่างนุ่มนวล หมดจด งดงาม)

คาถา 2 ข้อ ที่จะช่วยให้คนใกล้ตายสามารถจากไปอย่างสงบ คือ “นึกถึงพระ” และ “ละทุกสิ่ง”

อย่างไรก็ตาม คาถาทั้งสองข้อ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหยิบฉวยในวินาทีสุดท้ายของชีวิตโดยปราศจากการสั่งสมและเตรียมตัว โดยเฉพาะการปล่อยวาง “ตัวกู” และ “ของกู” เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

“เราจะฝึกปล่อยวางตัวกูได้อย่างไรเจ้าคะ” ผู้เข้าร่วมอบรมท่านหนึ่งถามวิทยากร

พระไพศาลอธิบายว่า การปล่อยวาง “ตัวกู ของกู” เป็นเรื่องที่ยากขึ้นกว่าอดีต เพราะสังคมวันนี้ให้ความสำคัญกับปัจเจกมากขึ้น เห็นได้จากการดูหนัง ฟังเพลง เราดูคนเดียว ทำอะไรคนเดียว เที่ยวคนเดียวมากกว่าทำร่วมกับคนอื่น ปรากฏการณ์การถ่ายรูปเซลฟี่ การบอกเล่าเรื่องราวของตนผ่านโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับตัวกูมากขึ้น

การปล่อยวาง “ตัวกู ของกู” จึงอาจเริ่มฝึกฝนด้วยการงดเว้นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง ลดละการเซลฟี่ ลดการอัพเดตสเตตัสเพื่อหวังยอดไลค์ เวลาโพสต์อะไรแล้วถูกคอมเม้นท์ ถูกตำหนิก็ไม่ถือโทษโกรธเคือง

การฝึกปล่อยวางอีกวิธีหนึ่งคือการบริจาคทาน ซึ่งมิใช่การสละทรัพย์สินสิ่งของเท่านั้น แต่คือการสละวางจากความยึดถือเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือการปล่อยวาง “ของกู” นั่นเอง ยิ่งเราฝึกให้สิ่งของที่เรารักและหวงแหนมากเท่าใด ก็ยิ่งช่วยฝึกปล่อยวางมากขึ้นเท่านั้น การให้ทานที่หวังผลตอบแทนมากกว่าเดิม เช่น บริจาคทานยี่สิบบาทแต่หวังถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ท่าทีเช่นนี้ไม่ถือเป็นการฝึกปล่อยวาง

การให้อภัยถือเป็นการฝึกปล่อยวางขนานเอก เพราะโดยไม่รู้ตัว การผูกโกรธก็คือการยึดติดถือมั่นแบบหนึ่ง ยึดติดว่าฉันถูก เธอผิด ยึดติดหลักการเงื่อนไขบางอย่างไว้โดยไม่รู้ตัว เช่น ฉันจะไม่ให้อภัยหากเธอไม่มาขอโทษฉันก่อน ฉันจะไม่ติดต่อเสวนากับเธออีกต่อไป  การให้อภัยคือการฝึกละวางความโกรธแค้น ความไม่พอใจ รวมถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น การให้อภัยยังช่วยให้จิตใจโปร่งโล่ง ไม่ต้องแบกภาระทางใจเมื่อยามที่เราใกล้ตายอีกด้วย

การเจริญมรณานุสติ เป็นอุบายหนึ่งที่ช่วยฝึกฝนการปล่อยวางเช่นกัน เราอาจระลึกว่าเราอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้เราอาจหลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีก การเดินทางครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของเรา อาหารมื้อนี้อาจเป็นมื้อสุดท้ายของเรา คนที่เราเจอครั้งนี้ เราอาจไม่มีโอกาสได้เจอเขาอีกแล้ว เป็นต้น การระลึกเช่นนี้จะทำให้เราได้ทบทวนว่าเรามีความพร้อมที่จะตายหรือไม่ หากไม่พร้อม เรายังมีสิ่งใดค้างคาใจและจำเป็นต้องปล่อยวาง

ความสูญเสีย เป็นโอกาสฝึกฝนการปล่อยวางเช่นกัน ทุกครั้งที่เงินหาย ของใช้ชำรุด คนรู้จักเสียชีวิต เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงอันเป็นธรรมดาโลก ท่าทีที่เราพึงทำคือการยอมรับว่าความสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยอมรับว่าการตายคือการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของมนุษย์

ใช่หรือไม่ว่า ในโมงยามแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่นี้แหละ คือโอกาสแห่งการฝึกปล่อยวางที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของพสกนิกรชาวไทย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher