พร้อมรับความสูญเสีย

พระไพศาล วิสาโล 1 เมษายน 2012

ชีวิตคนเราล้วนวนเวียนอยู่กับเรื่องได้-เสีย  มีเรื่องได้-เสียเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตทั้งในทางดีและทางร้าย ทั้งนี้เพราะสุขหรือทุกข์ของคนเราล้วนขึ้นอยู่กับได้หรือเสีย  ถ้าได้ก็มีความสุข แต่หากเสียก็มีความทุกข์

ได้คือสุข เสียคือทุกข์ นี้คือสมการชีวิตที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี  แต่สมการนี้แปลกตรงที่ ตามตรรกะแล้ว เวลาได้สิ่งหนึ่งมาแล้วสูญเสียสิ่งนั้นไป สุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา น่าจะเท่ากัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับของชิ้นเดียวกัน  แต่ในความเป็นจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่  เราสังเกตไหมว่า สิ่งๆ เดียวกันนั้นเวลาเราได้มา ความสุขที่เกิดขึ้นมักจะน้อยกว่าความทุกข์เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป

แดเนียล คาเนแมน (Daniel Kahneman) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ กับคณะ ได้ทำการทดลองจนได้ข้อสรุปว่า การสูญเสียสิ่งหนึ่งไปนั้นทำให้เรามีความทุกข์เป็นสองเท่าของความสุขเมื่อได้มันมา  การทดลองอย่างหนึ่งที่เขาทำขึ้นก็คือ แบ่งนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับถ้วยกาแฟซึ่งประทับตรามหาวิทยาลัย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นได้แต่เพียงยืนดูถ้วยกาแฟ  จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการซื้อขายกัน การซื้อขายนั้นไม่ได้ใช้เงินจริงๆ เพียงแต่ตอบคำถามว่า “จำนวนเงินเท่าใดที่คุณยินดีจะขายหรือซื้อถ้วยกาแฟ”  ผลปรากฏว่า เจ้าของพร้อมสละถ้วยกาแฟหากได้เงินเป็นสองเท่าของจำนวนที่ผู้ซื้อยินดีจ่าย  การทดลองนับสิบๆ ครั้งให้ผลสรุปทำนองเดียวกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความไม่อยากสูญเสียถ้วยกาแฟนั้นมีมากเป็นสองเท่าของความอยากได้ถ้วยกาแฟ ดังนั้นหากต้องสูญเสียถ้วยกาแฟไปฟรีๆ จึงมีความทุกข์เป็นสองเท่าของความสุขเมื่อได้ถ้วยกาแฟนั้น

การทดลองอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตั้งโจทย์ว่า หากมีการเสี่ยงโชคด้วยการโยนเหรียญ ถ้าออกก้อยต้องเสีย ๑๐๐ เหรียญ แต่ถ้าออกหัวจะได้…..เหรียญ  ถามว่าต้องเติมเงินในช่องว่างนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่คุณถึงจะยอมเล่น? คำตอบของคนส่วนใหญ่อยู่ราวๆ ๒๐๐ เหรียญ แต่ก็มีบางคนที่แม้ออกหัวได้ ๒๐๐ เหรียญก็ยังไม่ยอมเล่น ทั้งๆ ที่มีโอกาส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะได้ ทั้งนี้ก็เพราะไม่อยากเสีย ๑๐๐  เหรียญนั่นเอง

การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนเรากลัวความสูญเสียและพยายามหลีกเลี่ยงมันให้ไกล เว้นแต่มีสิ่งแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า (คือดีกว่าหรือมากกว่า)  ไม่ว่าทำอะไรก็ตามถ้าโอกาสเสียกับได้มีเท่าๆ กัน เราจะไม่ทำเลยถ้าเลือกได้  ทั้งนี้ก็เพราะการสูญเสียนั้นทำให้เรามีความทุกข์มากกว่าความสุขที่ได้สิ่งเดียวกันนั้นมา (นี้กระมังเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงจดจำคนที่ขโมยหรือโกงเงินเราได้แม่นยำหรือยาวนานกว่าคนที่ให้เงินเราในจำนวนเท่าๆ กัน)

มองตามตรรกะ ความสุขที่ได้จากเงิน ๑๐๐ บาท กับความทุกข์ที่เสียเงิน ๑๐๐ บาท น่าจะเท่ากันหรืออยู่ในระดับเดียวกัน แต่ทำไมความทุกข์ที่เสียเงิน ๑๐๐ บาทจึงมากกว่าความสุขที่ได้เงิน ๑๐๐ บาท  คำตอบจะเห็นชัดมากขึ้นเมื่อย้อนกลับไปที่การทดลองเกี่ยวกับถ้วยกาแฟ  ตอนที่ยังไม่ได้ถ้วยกาแฟมานั้น ผู้คนไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะซื้อมัน จึงมักให้ราคาที่ไม่สูงนัก  แต่เมื่อได้ถ้วยกาแฟมาแล้ว ผู้คนไม่อยากเสียมันไป ดังนั้นจึงตั้งราคาสูง  ถามว่าทำไมถึงไม่อยากเสียมันไป เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะเมื่อได้มันมาแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกยึดมั่นว่ามันเป็น “ของฉัน” ความยึดมั่นดังกล่าวนี้เองทำให้เราทุกข์เมื่อต้องสูญเสียมันไป  ตรงข้ามกับตอนที่ยังไม่ได้มันมา ยังไม่มีความยึดมั่นสำคัญหมายว่ามันเป็น “ของฉัน” ดังนั้นเมื่อได้มันมาความดีใจจึงไม่มากเท่ากับความเสียใจยามที่ต้องสูญเสียมันไป  ด้วยเหตุผลเดียวกัน เงิน ๑๐๐ บาทที่ได้มากับเสียไป แม้จำนวนเท่ากัน แต่ความรู้สึกผูกพันต่อเงินสองก้อนนั้นไม่เท่ากัน  ตอนที่ยังไม่ได้มันมานั้น เงินจำนวนนั้นไม่ใช่ของฉัน  แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็เกิดความยึดมั่นทันทีว่าเป็นเงินของฉัน เมื่อต้องเสียมันไป จึงเกิดความเสียดายหรือเป็นทุกข์ขึ้นมาในระดับที่มากกว่าความดีใจตอนที่ได้มันมา

การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ถ้วยกาแฟ อีกกลุ่มหนึ่งได้ช็อกโกแลตแท่งใหญ่ ซึ่งมีราคาเท่ากับถ้วยกาแฟ  การสอบถามความเห็นก่อนการทดลองทำให้ทราบว่านักศึกษาแต่ละคนชอบของสองอย่างไม่เท่ากัน  เมื่อเริ่มการทดลองหลายคนได้สิ่งที่ตนเองชอบน้อยกว่า แต่เมื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนจากถ้วยกาแฟเป็นช็อกโกแลต หรือกลับกัน ปรากฏว่ามีเพียงหนึ่งในสิบที่ขอเปลี่ยน

นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคนเราไม่ชอบการสูญเสีย ถึงแม้ว่าตอนที่ยังไม่ได้มานั้น อาจจะชอบไม่มากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วก็ไม่อยากเสียมันไป แม้จะเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ชอบมากกว่าก็ตาม  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพอได้มันมาก็เกิดความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของฉันทันที จึงไม่อยากเสียมันไป

เมื่อได้สิ่งใดมาแล้ว คนเราจะเกิดความรู้สึกยึดมั่นว่ามันเป็น “ของฉัน” ความยึดมั่นนี้เราทำให้ทุกข์เมื่อต้องสูญเสียมันไป

ความรังเกียจและพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียนั้น เป็นสัญชาตญาณที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ มันช่วยให้เราหวงแหนและปกป้องทรัพย์สมบัติซึ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดของเรา อีกทั้งยังทำให้เราไม่หลงใหลสิ่งใหม่ๆ จนยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินทองข้าวของที่มีอยู่  แต่บางครั้งมันก็เป็นโทษต่อตัวเรามิใช่น้อย  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ นักเล่นหุ้นที่รู้ทั้งรู้ว่าหุ้นในมือของตนนั้นราคาตกลงเรื่อยๆ  แต่ก็ไม่ยอมขายเพราะกลัวขาดทุน และหวังว่าราคามันจะดีขึ้นในที่สุด ผลก็คือถือหุ้นตัวนั้นจนกลายเป็นขยะคามือ ซึ่งทำให้เขาขาดทุนยิ่งกว่าเดิม  เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่ทำกิจการจนขาดทุนอย่างหนักแต่ไม่ยอมเลิกเพราะเสียดายเงินที่ลงไป กลับกู้เงินซ้ำเล่าซ้ำเล่ามาค้ำจุนกิจการที่ไม่มีอนาคต ด้วยความหวังล้มๆ แล้งๆ ว่ามันจะดีขึ้น สุดท้ายเขาก็เป็นหนี้ท่วมหัวจนล้มละลาย

ความกลัวสูญเสียบางครั้งจึงทำให้เราตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากคนที่กอดหีบสมบัติที่กำลังจมน้ำ ด้วยความหวังว่าจะกู้มันขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ในยามนั้นการปล่อยหีบสมบัติเป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้สูญเสียน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวสูญเสียครอบงำจิตใจจนขาดสติหรือบดบังปัญญา  ดังได้กล่าวแล้วว่าความกลัวสูญเสียนั้นมีข้อดี อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่นิ่งนอนใจ พยายามหาทางป้องกันและรักษาทรัพย์สมบัติที่มี  แต่ความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความสูญเสียพลัดพรากนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียพลัดพรากไปได้ตลอด ดังนั้นเมื่อถึงคราวต้องสูญเสียพลัดพราก จึงควรรู้จักทำใจยอมรับความจริง  การไม่ยอมรับความจริงเพราะกลัวหรือรังเกียจความสูญเสียนั้น นอกจากทำให้เราทุกข์ใจจนอาจกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือล้มป่วยแล้ว ยังอาจผลักให้เราก่อปัญหาหนักกว่าเดิม เช่น ทำให้เกิดความสูญเสียหนักขึ้น

การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตนนั้น ช่วยให้ใจไม่ถูกครอบงำด้วยความกลัวสูญเสีย อย่างน้อยก็ทำให้ไม่เผลอทำให้ปัญหาเลวร้ายลง  สติยังช่วยให้ได้คิดหรือเกิดปัญญา สามารถไตร่ตรองด้วยเหตุผลหรือข้อเท็จจริง จนเห็นโทษของการหวงแหนปกป้องทรัพย์สมบัติอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น ทำให้นักลงทุนเห็นชัดว่า การขายหุ้นที่กำลังตกตอนนี้แม้จะขาดทุนแต่ก็ยังดีกว่าการถือไว้ในมือไปเรื่อยๆ หรือทำให้นักธุรกิจเห็นชัดว่าเลิกกิจการตอนนี้ดีกว่ามัวกู้หนี้มาต่ออายุกิจการอย่างไร้อนาคต  สติและปัญญาช่วยให้เราเห็นว่าการกอดหีบสมบัติที่กำลังดิ่งลงน้ำนั้น ในที่สุดย่อมลงเอยด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและหีบสมบัติ

แผนภาพแสดงถึงความไม่สมดุลกันระหว่าง ‘ความสุข’ จากการได้รับ และ ‘ความทุกข์’ จากการสูญเสีย

อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวแล้วว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวความสูญเสีย ก็คือ ความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า ความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู”  ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ความกลัวสูญเสียครอบงำใจ นอกจากการใช้สติและปัญญารับมือกับเหตุการณ์แล้ว  การทำใจให้คลายความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็เป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าเรายึดติดถือมั่นในทรัพย์สินน้อยลง ความกลัวสูญเสียก็จะน้อยลงตามไปด้วย

วิธีหนึ่งที่ช่วยลดความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็คือ การให้ทานหรือสละทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้อื่นหรือส่วนรวม  ถ้าเราคิดแต่จะเอา ไม่ยอมให้ ความยึดมั่นในตัวกูของกูย่อมเพิ่มมากขึ้น  แต่เมื่อคิดจะให้ ทีแรกจะมีแรงต้านทานอันเกิดจากความยึดติดถือมั่น แต่เมื่อให้บ่อยๆ ความยึดติดถือมั่นในทรัพย์สมบัติก็จะลดลง โดยเฉพาะการให้ที่ไม่หวังประโยชน์เข้าตัวเลย หากมุ่งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวมล้วนๆ  แต่ถ้าให้เพราะอยากร่ำรวยอยากถูกหวยแล้ว อย่างที่ผู้คนมักอธิษฐานเวลาทำบุญ ความยึดมั่นในทรัพย์มีแต่จะพอกพูนขึ้น

ผู้ที่ให้เป็นนิจ ไม่ว่าให้แก่ผู้เดือดร้อน นักบวช หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เมื่อถึงคราวที่ต้องสูญเสียทรัพย์ด้วยเหตุจำเป็น ก็พร้อมจะเสียโดยไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงชนิดที่ก่อให้เกิดโทษ  ขณะเดียวกันก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นกับมันอย่างเต็มที่  หากจำเป็นต้องเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะหรือชีวิต ก็พร้อมจะทำ ไม่เผลอเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาทรัพย์ เช่น ในยามที่ถูกโจรปล้นจี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง การไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์ว่าเป็น “ของกู” ทำให้เราเป็นนายมัน ไม่ใช่มันเป็นนายเรา  ตรงกันข้าม การยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นของเรา มีแต่จะทำให้เรากลายเป็นของมันไป

การหมั่นระลึกถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรายึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ น้อยลง เพราะตระหนักได้ว่าไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องจากเราไป ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวทั้งนั้น  ยิ่งระลึกถึงความจริงที่ว่า เราเกิดมามือเปล่า และเมื่อสิ้นลม เราก็ต้องจากไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นจึงเป็นเสมือนกำไร หากสูญไปจนหมดก็แค่เท่าทุน ไม่อาจเรียกว่าขาดทุนหรือสูญเสียด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นของเราตั้งแต่แรก  การระลึกเช่นนี้ยังกระตุ้นให้เราหมั่นให้ทานหรือสละทรัพย์ให้ผู้อื่น ไม่คิดจะเก็บเอาไว้กับตัวเอง เพราะรู้ว่าตายแล้วก็เอาไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว

นอกจากการให้ทานและระลึกถึงความไม่เที่ยงแล้ว การหมั่นมองตนจนเห็นใจที่ยึดมั่นในตัวกูของกูอยู่เนืองๆ ก็ช่วยให้เราเป็นอิสระเหนือทรัพย์มากขึ้น และไม่กลัวการสูญเสีย  จะว่าไปแล้วการยึดติดถือมั่นว่ามี “ตัวกู” นี้แหละเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่แห่งตัวตน  ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป จึงกลายเป็นการกระทบตัวกู ทำให้ความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูลดน้อยถอยลง หรือถึงกับรู้สึกว่าตัวกูถูกคุกคาม  การทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย จึงมิใช่เป็นแค่การปกป้องทรัพย์สมบัติที่ยึดมั่นว่าเป็นของกูเท่านั้น หากยังเป็นการปกป้องตัวกูหรือความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูด้วย

เป็นเพราะหวงแหนตัวตน ผู้คนจึงหวงแหนทรัพย์สมบัติและอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรสักอย่างที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรืออยู่กับเราไปตลอด ร้ายกว่านั้นก็คือ ตัวตนที่หวงแหนนั้นแท้จริงหามีไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองด้วยอวิชชา  เมื่อใดที่เราเห็นชัดด้วยปัญญาว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูก็ดับไปเอง  ถึงตอนนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป ไม่ว่าความสูญเสียทรัพย์ หรือแม้แต่ความสูญเสียชีวิต  ไม่ว่าความผันผวนปรวนแปรใดๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป  จะได้หรือเสียก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะจิตอยู่เหนือการได้และเสียอย่างสิ้นเชิง

แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น เราก็ควรฝึกใจให้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อประสบความสูญเสีย โดยไม่มัวหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความสูญเสียอย่างหลับหูหลับตา


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา