พลิกเปลี่ยนความขัดแย้งสู่สันติภาวะ

ปรีดา เรืองวิชาธร 20 กันยายน 2009

โลกเราในยามนี้ไม่ว่าจะเป็นมุมใดของโลก กำลังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงเข้าระงับความขัดแย้ง เสียงจากประชาชนทั่วทุกมุมโลกล้วนอยากให้สงครามน้อยใหญ่ยุติเสียที อยากให้ประเทศมหาอำนาจถอนกำลังทหารออกจากประเทศต่างๆ อยากให้บรรดาบรรษัทค้าอาวุธตระหนักถึงหายนะจากสงครามและเลิกค้าอาวุธเสียที น่าเศร้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างร่ำร้องถึงสันติภาพแต่ผู้นำประเทศกลับฝักใฝ่สงครามและความรุนแรงเสียเอง  เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐกับทุน ซึ่งมีโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมเป็นตัวหนุน ก็ยังมีให้เห็นดาษดื่นจนผลิดอกออกผลมาเป็นความขัดแย้งร้าวลึกของกลุ่มคนสีต่างๆ ไม่จำต้องกล่าวถึงความขัดแย้งในองค์กร เครือข่าย ในชุมชนเดียวกันว่า บัดนี้ความขัดแย้งได้ปรากฏตัวครอบคลุมไปเกือบทุกแห่งหน

จริงๆ แล้ว ลำพังความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญของมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน เพียงแต่เราทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับมันอย่างปกติสุข ความขัดแย้งมันอาจจะไม่น่าสะพรึงกลัว หากเรามีเครื่องมือหรือกลไกในการระงับความขัดแย้งจนไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง  ดังนั้น ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้แต่ก็สามารถทำให้สลายยุติลงได้ โดยไม่จำต้องสูญเสียเลือดเนื้อ หากทุกคนร่วมมือกันด้วยการขานรับเรียกร้องให้ใช้ปฏิบัติการสันติวิธีทุกรูปแบบเข้าระงับความขัดแย้ง  วิธีการระงับความขัดแย้งที่ใช้ได้ผลวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับใดก็ตาม ก็คือ การใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง วิธีการนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้บ่อยมากเวลามีข้อพิพาทในคณะสงฆ์ หรือเกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐที่กำลังดำเนินไปสู่สงคราม

สาระสำคัญประการแรกของกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอยู่ที่ ผู้ทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ย (ซึ่งมักจะเป็นกลาง มีความเที่ยงธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย) ต้องทำให้คู่ขัดแย้งมองเห็นประเด็นแห่งความขัดแย้งชัดเจน สามารถแยกแยะได้ว่า ประเด็นไหนเป็นความขัดแย้งหลักชั้นแรก ประเด็นไหนเป็นความขัดแย้งที่งอกเงยเกิดซ้อนขึ้นมาในชั้นหลัง และแต่ละประเด็นสัมพันธ์กันอย่างไร  ในกรณีที่เป็นความขัดแย้งที่มีผลกระทบกว้างขวางกว่าระดับบุคคล เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือระหว่างชาติ เป็นต้น ก็จำต้องให้ผู้อื่นหรือสังคมวงกว้างได้รับรู้ประเด็นขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมาด้วย

ดังนั้นการทำให้ปมความขัดแย้งที่ซับซ้อนหลายประเด็นชัดเจนเข้าใจง่ายนั้น จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ไกล่เกลี่ยต้องศึกษาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำมาสู่การแสวงหาข้อตกลงที่เหมาะสมยุติธรรมร่วมกันในท้ายที่สุด  ทั้งนี้ข้อตกลงควรยืนบนหลักการที่ถูกต้องดีงาม ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม

ในแง่พุทธ วิธีในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ยังมีสาระสำคัญอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ กระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งควรทำให้คู่ขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นรากเหง้าแห่งความขัดแย้งอย่างตระหนักรู้ ซึ่งพอจะแบ่งกว้างๆ ได้ ๒ ส่วนคือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก

รากเหง้าที่เป็นปัจจัยภายใน

หมายถึง เหตุปัจจัยภายในของคู่ขัดแย้งที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ลงตัว อาจหมายถึง ความต้องการหรือความเห็นที่แตกต่างกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่าจะก่อปัญหาเป็นปมขัดแย้งร้ายแรงขึ้นมาได้ แต่หากความต้องการหรือความเห็นใดๆ ถูกธรรมที่เป็นอกุศลเข้าครอบงำแล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นเมื่อใดแล้ว จากความขัดแย้งธรรมดาก็สามารถกลับกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงลุกลามไปได้ อกุศลธรรมที่มักจะมีอำนาจในการปรุงแต่งความขัดแย้งให้ขยายตัวรุนแรงขึ้นมีหลายชุดหลายตัว แต่ที่สำคัญน่าสำเหนียกไว้ในใจเสมอ ได้แก่

๑) ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง (ตัณหา)

ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้อยากเอาในทางวัตถุหรือผลประโยชน์ที่นำมาสนองปรนเปรอตนเองอย่างเกินเลย จนทำให้ตนเองและผู้อื่นทุกข์ยากเดือดร้อน (กามตัณหา) ความทะยานอยากนี้รวมถึงความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรือไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่อย่างเกินเลยเช่นกัน (ภวตัณหาและวิภวตัณหา) เช่น อยากเป็นมหาเศรษฐีที่มีชื่อเสียง หรือไม่อยากเป็นคนยากจน เป็นต้น

ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย มีความทะยานอยากมากเกินควร ก็ย่อมนำไปสู่การขัดแย้งได้โดยง่าย

๒) ความถือตัว สำคัญตนว่าเหนือหรือด้อยกว่าผู้อื่น (มานะ)

ความสำคัญตนที่ว่านี้ยังหมายถึง การติดยึดในสถานภาพทางสังคมหรือหัวโขนที่ตนเองสวมอยู่ อาการติดยึดในหัวโขนอย่างรุนแรงมักจะทำให้แต่ละฝ่ายไม่ยอมอ่อนข้อให้หรือยอมรับฟังกันอย่างลึกซึ้งไม่ได้  มานะหรือความถือตัวปรากฏให้เห็นได้ชัดเจน ดังเช่น เจ้านายสำคัญตนว่าเหนือกว่าลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐสำคัญตนว่ามีสถานภาพเหนือว่าชาวบ้าน หรือผู้นำประเทศมหาอำนาจสำคัญตนว่าประเทศตนเองมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ดังนั้นหากตนเองต้องพ่ายแพ้เพลี่ยงพล้ำในข้อพิพาทให้กับผู้ที่ตนเองรู้สึกด้อยกว่าจึงถือเป็นการเสียหน้า เป็นต้น

๓) ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นความเชื่อของตน (ทิฏฐิ)

เป็นอกุศลธรรมข้อหนึ่งที่ทำให้การฟังเสียงกันและกันมีข้อบกพร่อง ซึ่งย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดซึ่งกันและกันได้อย่างลึกซึ้ง และทำให้การแสวงหาข้อตกลงที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นได้โดยยาก การยึดมั่นถือมั่นในความเห็นตนมักจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการปิดกั้น การแสวงหาความจริง ความถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น การเรียนรู้เติบโตของบุคคลจึงหยุดนิ่งอยู่กับที่ไปอย่างน่าเสียดาย

อกุศลธรรมทั้ง ๓ ข้อนี้ รวมเรียกว่า ปปัญจธรรม ๓ เป็นอกุศลธรรมที่เป็นตัวการทำให้เรื่องหรือประเด็นไขว้เขวออกไปจากความเป็นจริง เป็นอุปสรรคต่อระบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง ซึ่งย่อมก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงตามมา ทั้งยังทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทิศทางตรงไปตรงมาด้วย

รากเหง้าที่เป็นปัจจัยภายนอก

หมายถึง กฎ กติกา เงื่อนไข โครงสร้างองค์กรหรือโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเปิดช่องเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่ากระทำการใดๆ กับผู้ไร้อำนาจเพื่อตักตวงประโยชน์และสั่งสมความมั่งคั่งไว้ที่ตน ความอยุติธรรมจากเงื่อนไขหรือโครงสร้างต่างๆ ดังกล่าวนี้ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่าย  ตัวอย่างของปัจจัยภายนอก ได้แก่ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมรวมถึงการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายด้วย โครงสร้างองค์กรหรือโครงสร้างสังคมที่ไม่กระจายอำนาจ กฎกติกาขององค์กรที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบ รวมถึงระบบการสื่อสารที่บกพร่องไร้ประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกยังรวมถึง ปัจจัยเสริมให้ความขัดแย้งลุกลามขยายตัว ทั้งในแง่ทำให้ประเด็นความขัดแย้งขยายตัวซับซ้อนขึ้น และในแง่ทำให้ขยายผลกระทบไปสู่วงที่กว้างขึ้น ตัวอย่างปัจจัยเสริมความขัดแย้งที่มองเห็นได้ง่าย ได้แก่ คนรอบข้างของคู่ขัดแย้งที่ไม่ปรารถนาดี ได้โหมกระพือความขัดแย้งโดยกล่าวความเท็จ หรือปรารถนาดีแต่จับประเด็นผิดมาสื่อสาร สื่อมวลชนที่ไร้จริยธรรมบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นต้น

วิธีการระงับความขัดแย้งที่ใช้ได้ผลวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับใด ก็คือ การใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ ระหว่างการทำกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง หากผู้ไกล่เกลี่ยทำให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักรู้ถึงกิเลสวาสนาอันเป็นปัจจัยภายใน พร้อมกับได้เรียนรู้ที่จะมีสติรู้เท่าทันกระบวนการเกิดขึ้นของกิเลส รวมถึงการประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลาอำนาจกิเลสวาสนาภายในให้ลดน้อยถอยลง ก็จะทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมบรรเทาเบาบางหรือระงับไปได้ ทั้งยังทำให้ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จักไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย

ยิ่งหากได้สรุปบทเรียนจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แล้วเอื้อเฟื้อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแสวงหาทางออกเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎกติกา หรือโครงสร้างสังคมให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความสมานฉันท์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงไม่บังเกิดขึ้นมากมายอย่างที่เห็นกันในขณะนี้  ทั้งนี้ก็เพราะการแก้ไขความขัดแย้งลงลึกไปถึงการแก้ไขระดับรากเหง้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จึงจะทำให้ความขัดแย้งนั้นลดลงได้แท้จริง

และหากทำได้ดังนี้ก็เท่ากับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคลและสังคมด้วย ถือเป็นการพลิกเปลี่ยนพลังด้านลบให้เป็นพลังสร้างสรรค์  ในทางปฏิบัตินั้นกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งจะทำได้สมบูรณ์เต็มที่เพียงใดนั้น ก็ขึ้นกับสถานการณ์และเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ผู้ไกล่เกลี่ยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะร่วมมือกันทำได้มาน้อยเพียงใด


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน