พุทธศาสนากับการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ

พระไพศาล วิสาโล 1 มกราคม 2006

ปรับปรุงจากการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสวนดอก เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เวลานี้คนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้นำประเทศวาดหวังให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเติบโต ๘% หรือ ๑๐% ขึ้นไปยิ่งดี  หลายคนอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหลายๆ อย่าง ไม่ว่าเป็นศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางแฟชั่น ศูนย์กลางสารสนเทศ ศูนย์กลางการดูแลรักษาสุขภาพ ฯลฯ  แต่เราไม่ได้นึกถึงมิติอื่นๆ เลยว่าประเทศของเราควรจะเป็นอย่างไร

 

ความเสื่อมถอยทางปัญญาและคุณธรรม

เวลานี้สถานการณ์ของประเทศไทยในหลายด้านกำลังน่าเป็นห่วงมาก  ในขณะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ๖% – ๗% ในขณะที่เรามีตึกที่สูงใหญ่ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คนไทยกลับติดเหล้าเป็นอันดับ ๑ ในเอเชีย มากกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเมืองหนาว  เรากินเหล้าสูงเป็นอันดับ ๕ ของโลก เรามีการฆ่ากันตายสูงกว่าอังกฤษถึง ๑๐ เท่า ทั้งๆ ที่เราอ้างว่าเราเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ  อังกฤษนั้นมีคนเข้าวัดน้อยลงเรื่อยๆ แต่การฆ่ากันตายน้อยกว่าประเทศไทยมาก แค่ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศไทยเท่านั้น

ในแง่ปัญหาจิตใจ เราก็มีปัญหามากเช่นกัน  คนไทยเวลานี้เป็นโรคจิตกันประมาณ ๒ ล้านคน นี่เป็นตัวเลขเมื่อปี ๒๕๔๐ ตอนนี้อาจเพิ่มเป็น ๓ ล้านคนแล้วก็ได้  เรามีการฆ่าตัวตาย ๑๒ คนต่อแสน ไล่ๆ กับอเมริกา แต่ต่ำกว่าญี่ปุ่นนิดหน่อย  ที่น่าสนใจคือเมื่อปี ๒๕๓๖ คนไทยฆ่าตัวตาย ๓ คนต่อแสน  แต่ว่าไม่ถึงสิบปี เราฆ่าตัวตาย ๑๒ คนต่อแสน สูงเป็น ๔ เท่าตัว

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น ก็คือ เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ  มีตัวเลขระบุว่า ๑ ใน ๔ ของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๒๔ ปี มีปัญหาสุขภาพจิต  ๑ ใน ๔ พ่อแม่แยกทางกัน  ๔ ใน ๑๐ หรือ ๔๐% ติดอบายมุข ชอบเที่ยว สูบบุหรี่ การพนัน  เรามีโสเภณีเด็ก หรือผู้ที่ขายบริการทางเพศ ร้อยละ ๔๐ ของโสเภณีที่เป็นผู้ใหญ่

ในแง่คอรัปชั่นเราก็ติดอันดับโลก  เมื่อ ๒ ปีก่อนประเทศไทยมีความโปร่งใสน้อยที่สุด ติดอันดับที่ ๓๓ ดีกว่ารัสเซีย เวเนซูเอล่า โคลัมเบีย ไนจีเรีย คาเมรูน เท่านั้น แต่แย่กว่าฟิลิปปินส์ ไม่ต้องพูดถึงสิงค์โปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม  นี่คือสภาพที่น่าเป็นห่วง

สติปัญญาของเด็กไทยก็กำลังตกต่ำลง  ได้มีการทำศึกษาระยาว มีการติดตามเด็กไทยมากว่า ๑๐ ปี แล้วพบว่าเด็กไทยเมื่อมีอายุมากขึ้น ไอคิวเริ่มลดต่ำลง  คือตอนอายุ ๑ – ๕ ขวบ มีไอคิวเฉลี่ย ๙๐ แต่พออายุ ๖ – ๑๐ ขวบ ปรากฏว่าไอคิวเหลือ ๘๐ กว่าๆ คือต่ำกว่ามาตรฐาน  ครั้นพอสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ปรากฏว่านักเรียนมัธยมปลายมากกว่า ๙๐% สอบได้คะแนนไม่ถึง ๕๐ คะแนนของแทบทุกวิชา ไม่ว่าวิชาภาษาไทย วิชาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์  โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ๑ – ๒ นักเรียน ๙๕ % สอบได้ไม่ถึง ๕๐ คะแนน  นี่คือสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรามองเห็นอนาคตของประเทศไทยได้ไม่ยาก

 

สัมมาพัฒนากับมิจฉาพัฒนา

ทุกวันนี้เราพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจตลอดเวลา เราคุยอวดว่าเศรษฐกิจของเรากำลังเติบโตแซงหน้าประเทศต่างๆ รัฐบาลเองก็พูดแต่ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเรากำลังเจริญอย่างโน้นอย่างนี้  แต่ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก สวนทางกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ  เวลานี้เราพัฒนาแต่ในทางเศรษฐกิจ  ส่วนมิติทางสังคม วัฒนธรรม คุณธรรม สิ่งแวดล้อม เราถอยหลังไปยิ่งกว่าเดิม  มันเป็นอนาคตที่ไม่สมประกอบ เพราะว่าสุขภาวะที่ดีในทางพุทธศาสนา ต้องประกอบไปด้วย ๔ ส่วน ได้แก่  ๑) สุขภาวะทางกาย หรือกายภาวนา คือมีปัจจัย ๔ ไม่อดอยากหิวโหย มีสิ่งแวดล้อมที่อำนวยต่อชีวิตที่ดีงาม  ๒) สุขภาวะทางสังคม หรือศีลภาวนา คือการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เต็มไปด้วยการเบียดเบียนหรือก่อเวรต่อกัน  ๓) สุขภาวะทางจิต หรือจิตภาวนา คือมีการมีจิตที่ผาสุก มีสมรรถภาพและคุณภาพที่ดี รวมทั้งมีจริยธรรมด้วย  ๔) สุขภาวะทางปัญญา หรือปัญญาภาวนา คือการมีปัญญาที่พัฒนา คิดเป็นและคิดชอบ สามารถแก้ทุกข์ได้

ชีวิตและสังคมที่ดีงามต้องประกอบไปด้วยความเจริญทั้ง ๔ ส่วนนี้อย่างได้ดุลกัน  แต่ว่าเมืองไทยตอนนี้กำลังพุ่งไปทางเศรษฐกิจอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ว่ากลับถอยหลังมากขึ้นในแง่ของสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม  ในสภาพเช่นนี้ ถ้าจะคิดถึงการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศไทย เราต้องคิดถึงการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างได้ดุลหรือพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ศีล จิต และปัญญา  การศึกษาที่มีคุณค่าจะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างครบทั้ง ๔ ส่วน  ประเทศเรามีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน สามารถที่จะเป็นแรงบันดาลใจ หรือขับเคลื่อนให้การพัฒนาเดินไปสู่แนวทางที่ว่าได้ หรือทำให้เกิดการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและคุณธรรม เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยความเจริญในทุกมิติ

ปัญหาก็คือการพัฒนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและคุณธรรม  ทุกวันนี้เราเอาเงินหรือความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง  เรากำลังกระตุ้นให้เกิดโลภะ อาศัยโลภะเป็นแรงดึง และอาศัยความทุกข์เป็นแรงผลัก  เดี๋ยวนี้รัฐบาลบอกว่าคนไทยต้องเป็นหนี้ถึงจะรวย  ทำไมต้องเป็นหนี้ เพราะถ้าเป็นหนี้แล้วจะอยู่ไม่สุข นอนไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาทำงานหาเงินไม่หยุดหย่อน ไม่งั้นบ้านจะหลุดจำนอง รถจะถูกยึด  นี่เรียกว่าถูกผลักด้วยความทุกข์ นั่นคืออุบายของทุนนิยม  เขาบอกว่าคุณต้องมีหนี้เยอะๆ คุณจะอยู่สบายๆ ไม่ได้  จะมานั่งเล่นนอนเล่น หรือมาฟังอภิปรายแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ก่อให้เกิดรายได้งอกเงย  คุณต้องไปทำมาหากินจะได้มีเงินมาจ่ายหนี้ แล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญ  ส่วนที่ว่าเอาโลภะเป็นแรงดึง ก็คือเอาวัตถุมากระตุ้นให้คนเกิดความอยาก เช่น อยากได้รถคันใหม่ ได้รองเท้าคู่ใหม่ หรืออยากได้ใบหน้าที่ขาวกว่าเดิม เส้นผมยาวสลวยกว่าคนอื่น  พออยากได้ก็เลยต้องตั้งหน้าตั้งตาหาเงินไปซื้อ  คนทุกวันนี้ถูกทุนนิยมล่อหลอกทั้งดึงทั้งผลักให้กลายเป็นเครื่องจักรหาเงิน นี่คือการพัฒนาที่สมควรเรียกว่ามิจฉาพัฒนา

ทุกวันนี้ลองสังเกตดูเรานิยมใช้วัตถุเป็นตัวล่อตลอดเวลา  เมื่อปีที่แล้วมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพแห่งหนึ่งมีปัญหาว่านักศึกษาหญิงชอบแต่งตัวโป๊ ไม่สุภาพ ผู้บริหารปรึกษากันว่าจะทำยังไงดี  สุดท้ายก็มีข้อสรุปว่าจะให้รางวัลคือสร้อยเพชรแก่นักศึกษาหญิงที่แต่งตัวสุภาพ นี่คือการเอาวัตถุเป็นตัวล่อ  ที่จริงสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาควรเป็นสถาบันทางสติปัญญา ควรพยายามกระตุ้นให้ผู้คนเกิดปัญญาเพื่อเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ใช่กระตุ้นให้คนเกิดความโลภ หรือเอาความโลภมาเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีแบบนี้ควรเป็นเรื่องของภาคธุรกิจมากกว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา

เดี๋ยวนี้ถ้าอยากจะให้ใครทำอะไร ผู้คนมักนิยมใช้วิธีกระตุ้นให้เกิดความโลภ  เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เคยคิดชักชวนประชาชนให้มาลงคะแนนเสียงกันเยอะๆ โดยจะให้รถเบนซ์เป็นรางวัล  เมื่อตอนที่เริ่มรณรงค์พับนกสันติภาพก็มีคนเสนอว่าให้มีการชิงโชคเพื่อจะได้กระตุ้นให้คนพับนกเยอะๆ ถ้าจับสลากได้นกของใครได้ก็ให้รถยนต์หรือบ้านไปเลย อะไรทำนองนี้  ยังดีที่วิธีการเหล่านี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด  แต่อย่างน้อยมันก็บ่งชี้ทัศนคติของคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันว่า จะทำอะไรก็คิดแต่การกระตุ้นหรือล่อด้วยวัตถุตลอดเวลา แทนที่จะเอาฉันทะหรือสติปัญญามาเป็นแรงผลักดันให้คนทำสิ่งที่ถูกต้อง

กระบวนการทางปัญญาในเมืองไทยในเวลานี้อ่อนมาก และสิ่งนี้ปรากฏแม้กระทั่งในวงการสงฆ์  พระสงฆ์หลายท่านออกมายอมรับว่าเดี๋ยวนี้พระเณรไม่มีแรงจูงใจในการเรียน  ปัญหาในเมืองไทยมันมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าเหตุปัจจัยประการหนึ่งก็คือความอ่อนแอทางด้านกระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาที่สำคัญ  นี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเมืองไทย เพราะว่าเราไม่นิยมใช้กระบวนการทางปัญญาในการขับเคลื่อนสังคม หรือกระตุ้นให้คนทำอะไรด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยความโลภ

 

สร้างสรรค์ปัญญาแบบพุทธ

กระบวนการทางปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  พระพุทธศาสนาเน้นมากในเรื่องกระบวนการการเรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนานั้นเริ่มต้นตั้งแต่การได้ใกล้ชิดกับกัลยาณมิตรหรือสัตบุรุษ เมื่อใกล้ชิดก็ได้สดับฟังสิ่งที่ดีงาม จนเกิดโยนิโสมนสิการตามมา และนำไปสู่ธรรมมานุปฏิบัติ หรือการปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม  ทั้งหมดมี ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ

ประเด็นแรกเริ่มต้นด้วยได้ใกล้ชิดบุคคลที่ดีงาม  แล้วเกิดสุตะ คือการฟังรวมทั้งการอ่าน  แล้วเกิดการคิดที่ถูกต้อง  จากนั้นจึงนำไปสู่การปฏิบัติ  และเมื่อได้ปฏิบัติก็เกิดการเรียนรู้มากขึ้น  เมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่มีกระบวนการการเรียนรู้ แต่เราเรียนรู้ไปในทางที่ผิด กระบวนการเรียนรู้ทุกอย่างกำลังมุ่งไปสู่การกระตุ้นกิเลสเพื่อให้มีการบริโภคมากขึ้น  เวลานี้เด็กไทยรู้หมดเลยโทรศัพท์มือถือมีกี่ยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมีกี่รุ่น ทำอะไรได้บ้าง รู้หมด  นี่เป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่รับใช้ระบบบริโภคนิยม มุ่งการเสพเสวยเพื่อสนองกิเลส  แต่กระบวนการการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีแทบจะขาดหายไป หรืออ่อนแรงลงมาก

ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ การศึกษาที่มีเป้าหมายดีงามมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้เท่าไหร่ แต่ไปเน้นหนักเรื่องการสอน  หัวใจของการศึกษานั้นไม่ได้อยู่ที่การสอน แต่อยู่ที่การเรียนรู้  หลายคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูสอน  ใครเคยติดตามรายการ “แฟนพันธุ์แท้” บ้าง พวกที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ทีมลิเวอร์พูล หรือแฟนพันธุ์แท้ทศกัณฑ์ หรือแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง  คนเหล่านี้ไม่มีครู แต่เรียนรู้ด้วยตนเอง เขาศึกษาเรื่องเหล่านี้จนชำนาญ แต่คนเหล่านี้เป็นส่วนน้อย  เวลานี้เราเน้นการสอนหรือการพูดมากกว่าการกระตุ้นการเรียนรู้  ขอให้สังเกตว่าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงเทศนาอย่างเดียว บ่อยครั้งพระองค์ใช้วิธีกระตุ้นให้คนคิดเองด้วยการตั้งคำถาม หรือย้อนถามกลับไป บางทีก็ทรงชี้แนะให้เขาคิดจากประสบการณ์จริงๆ  อย่างกรณีพระรูปหนึ่งซึ่งหลงใหลนางสิริมา ซึ่งตอนหลังตายแล้วถูกนำไปไว้ที่ป่าช้า เมื่อศพเริ่มจะเน่า พระองค์ได้พาพระรูปนั้นไปดูนางสิริมา  จากเดิมที่หลงใหลผู้หญิง พระรูปนั้นได้กลายมาเป็นโสดาบันโดยที่พระองค์ไม่ได้เทศนา เพียงแต่ทรงชี้ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจากศพของนางสิริมา ซึ่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่มีคนต้องการอยากเข้าหา แต่พอกลายเป็นศพกลับไม่มีใครเอา

การเรียนรู้จากของจริงเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ใช้เพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรม  ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างแบบนี้เยอะมาก แต่ว่าปัจจุบันเราเน้นการสอนเสียเยอะ เน้นที่การสอนครูมากกว่าเน้นที่การเรียนรู้ของเด็ก  พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธการสอน เพียงแต่ต้องการบอกว่าการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษา  ส่วนที่สำคัญที่สุดของการศึกษาคือการเรียนรู้  การสอนอาจไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ได้ หากสอนแบบยัดเยียดหรือไม่สร้างฉันทะให้แก่ผู้เรียน  ขณะที่การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีผู้สอน  ขอให้สังเกตดูว่าเด็กๆ เขาเรียนรู้อะไรต่ออะไรมากมายโดยไม่ต้องมีครูสอน เขาเชี่ยวชาญเรื่องโทรศัพท์มือถือ หรือเกมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องมีใครสอนเลย แต่เรียนรู้เองโดยอาจอาศัยข้อมูลที่ป้อนจากสื่อหรือโฆษณา  ที่จริงสื่อในปัจจุบันมีบทบาทมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก แต่ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง คือเป็นการเรียนรู้ที่ตอบสนองกิเลสหรือบริโภคนิยม

คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีงาม โดยมีปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน และนี่คือโจทย์สำคัญสำหรับผู้เกี่ยวของกับการศึกษา  เวลานี้เราไปเน้นเรื่องการศึกษาแบบในระบบมาก จนเข้าใจไปว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หากอยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ  คณะสงฆ์สมัยหนึ่งก็ไปเน้นตรงนี้มาก จนกระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ไม่เข้าใจพระอาจารย์มั่น  ว่าพระอาจารย์มั่นไม่ได้เรียนสูง ไม่ได้เรียนในระบบ ทำไมถึงมีความรู้ทางธรรมเยอะ  คงจำได้ว่าสมัยหนึ่งพระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์ถูกกีดกันและรังเกียจจากผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์มาก โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน  ท่านมองว่าพระป่าสายพระอาจารย์มั่นเป็นพระจรจัดไม่อยู่เป็นหลักแหล่งตามระเบียบคณะสงฆ์ พระป่าเหล่านี้จะถูกท่านขับไล่ออกจากเขตการปกครองของท่านอยู่เป็นประจำ แต่ตอนหลังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เกิดเกิดศรัทธาในพระอาจารย์มั่น

 

ปัญญาหาได้จากทุกหนแห่ง

ในการพบปะคราวหนึ่ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ถามพระอาจารย์มั่นว่า ทำไมพระอาจารย์มั่นจึงมีความรู้ทางธรรมเยอะทั้งๆ ที่ไม่ได้จบเปรียญ  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านจบประโยค ๙ ท่านเข้าใจว่าความรู้ทางธรรมต้องได้จากการเรียนนักธรรมบาลีเท่านั้น ท่านไม่เข้าใจว่าพระอาจารย์มั่นรู้ธรรมได้อย่างไร  พระอาจารย์มั่นตอบว่า “สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกย่อมหญ้า” นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้นั้นไม่ได้เกิดจากการสอนเสมอไป แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  ถ้าเรียนรู้เป็น ก็สามารถศึกษาได้จากทุกสิ่งรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือป่าเขาอย่างที่พระอาจารย์มั่นเป็นแบบอย่าง

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้มาก คือเห็นว่าคนเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและสามารถเรียนรู้ได้จากทุกสิ่ง  สรรพสิ่งสามารถสอนเราเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ย้ำว่าเราควรรู้จักฟังเสียงต้นไม้พูด ฟังก้อนหินสอนธรรมะ แม้กระทั่งความเจ็บไข้ก็สามารถทำให้เราเกิดปัญญา ท่านอาจารย์พุทธทาสชอบพูดว่า “ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาดขึ้น”  จะเห็นได้ว่าทุกอย่างรอบตัวเราและที่เกิดขึ้นกับเราสามารถสอนธรรมให้เราได้หมด แม้กระทั่งความเจ็บไข้และความตาย  ถ้าเราเข้าใจและมีวิธีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง เช่น มีโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด เราก็สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา  แม้กระทั่งจากความทุกข์ ความล้มเหลว ทุกอย่างสามารถเป็นครูได้หมด ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ หรือแมลงตัวเล็กๆ

ปัญหาก็คือตอนนี้กระบวนการเรียนรู้ของไทย นอกจากจะอ่อนแล้ว ยังพาไปในทางที่ไม่ถูกต้อง คือกระตุ้นตัณหา ส่งเสริมบริโภคนิยม แถมยังเก่งในทางสนองกิเลสอีกด้วย  เดี๋ยวนี้เราเก่งมากในเรื่องทุจริต ไม่ว่าในวงราชการ ธุรกิจ หรือในวงการศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีการโกงข้อสอบกันอย่างแพร่หลาย และกำลังแทรกซึมไปถึงวงการสงฆ์   คำว่า คอรัปชั่น ยังเป็นคำที่ยังอ่อนและแคบ เพราะมีความหมายแค่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นการทุจริตเฉพาะเรื่องเงินทองหรือทรัพย์สิน  แต่ทุจริตเป็นคำที่กว้างกว่า เพราะกินความไปถึงการโกงข้อสอบหรือการโกงในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน  ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าเราเก่งในเรื่องการเรียนรู้เพื่อสนองกิเลสด้วยวิธีที่เหนื่อยน้อยที่สุด แต่ไม่ได้ใช้ฉันทะหรือปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน  เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการศึกษา เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่โลภะหรือตัณหา  เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งศึกษาจากความจริงโดยไม่จำกัดที่ตำรา เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งบวกและลบ ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว  ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี

การศึกษาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ว่ามานี้ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย  เพราะฉะนั้นจึงควรมีการสำรวจพรมแดนแห่งความรู้ โดยศึกษาวิธีการการเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ  หลายชุมชนถึงแม้ชาวบ้านไม่มีความรู้สูงเมื่อวัดจากการศึกษาในระบบ แต่เขามีกระบวนการการเรียนรู้ที่ดี  อย่างกรณีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของท่านอาจารย์สุบิน ปณีโต หรือเครือข่ายการเรียนรู้ของคุณประยงค์ รณรงค์ ที่เพิ่งได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา  นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้อีกหลายแห่งที่น่าศึกษาหรือทำการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองและในชนบท ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา

ตามหลักพุทธศาสนา กระบวนการเรียนรู้ต้องอาศัยปัจจัย ๒ อย่าง ปัจจัยภายในคือ โยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างถูกต้อง หรือรู้จักคิด  ปัจจัยภายนอกคือ ปรโตโฆสะ ซึ่งก็หมายถึงครอบครัว ชุมชน กัลยาณมิตร หรือสื่อมวลชน  ทุกวันนี้สื่อมวลชนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลยิ่งกว่าครอบครัวหรือชุมชน ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าศึกษาว่าทำอย่างไรสื่อถึงจะส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ดี

 

เทศน์เท่านั้นยังไม่พอ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาว่าการสอนหรือการเทศนาในปัจจุบันมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดต่อการเรียนรู้ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย  ทุกวันนี้เรามักพูดกันว่าพระต้องเทศน์ให้มากขึ้นผู้คนถึงจะศีลธรรม บางทีก็มีการเสนอแนะว่าควรนิมนต์พระไปเทศน์ให้รัฐมนตรีหรือ ส.ส.ฟัง จะได้ไม่คอรัปชั่น  เราชอบคิดว่าการเทศน์การสอนเท่านั้นถึงจะทำให้คนมีศีลธรรม แต่เราไม่เคยศึกษาหรือศึกษากันอย่างจริงจังเลยว่า การสอนหรือการเทศน์ในเวลานี้สามารถยกระดับศีลธรรมคนได้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะในสภาพที่สื่อมวลชนและสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลในทางตรงข้าม  ถ้าศึกษากันจริงๆ เราอาจพบว่าสื่อในกระแสหลักนั้นมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้หรือวิธีคิดของคนไทยมาก ในขณะที่การสอนในโรงเรียนหรือการเทศน์ตามวัดกลับมีอิทธิพลน้อยมาก

ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรม ในพระสูตรที่ชื่อว่ากูฏทันตสูตรนั้นพราหมณ์ได้แนะพระราชาว่าถ้าจะแก้ปัญหาโจรผู้ร้าย ต้องจัดหาทุนประกอบการให้แก่ผู้เป็นพ่อค้าที่ขยันหมั่นเพียร จัดสรรเบี้ยหวัดและอาหารให้แก่ข้าราชการที่มีอุตสาหะ และจัดหาพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรที่ขยันขันแข็ง  เมื่อพระราชาปฏิบัติตาม ไม่นานโจรผู้ร้ายก็หายไป ศีลธรรมกลับคืนมา ประชาชนอยู่อย่างสงบสุข ไม่ต้องปิดกลอนประตู  ขอให้สังเกตว่าไม่มีการพูดถึงการเทศนาสั่งสอนเลย  แต่เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหาอะไรเราก็นึกแต่ว่าจะต้องเทศนาสั่งสอนให้มากขึ้น ไม่เคยนึกเลยว่าจะมีวิธีอะไรอีกบ้างที่ช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเอง โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวสนับสนุน  เรื่องนี้น่าจะมีการศึกษาศึกษาอย่างจริงจังว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ใช้อยู่ได้ผลแค่ไหน และทำอย่างไรถึงจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดทั้งฉันทะและปัญญา

ประเด็นที่ ๒ คือเรื่องการพัฒนาจิตสำนึก  การเรียนรู้ในพุทธศาสนานั้นแยกไม่ออกจากการพัฒนาจิตสำนึก  จิตสำนึกที่พึงปรารถนานั้นบางคนเรียกว่า “จิตใหญ่”  คำถามก็คือทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดจิตใหญ่ เช่น เกิดเมตตาและขันติ  คนไทยสมัยก่อนเขาไม่ได้ผ่านการศึกษาในระบบมากนัก ไม่มีการเรียนการสอนศีลธรรมอย่างเป็นแบบแผนเหมือนกับปัจจุบัน แต่เขาก็มีเมตตาและขันติมาก

มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์เล็กๆ แต่น่าสนใจ  ปีนี้ครบ ๒๐๐  ปีของหมอบรัดเลย์  หมอบรัดเลย์เป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน เข้ามาประเทศไทยในรัชกาลที่ ๔  หมอบรัดเลย์เป็นคนที่เอาวิชาการแพทย์สมัยใหม่และการพิมพ์มาเผยแพร่ในเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ทำการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ด้วย  วิธีหนึ่งที่หมอบรัดเลย์ทำคือการไปสอนศาสนาตามบ้านคน  มีอยู่คราวหนึ่งหมอบรัดเลย์ไปประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูปในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็โจมตีการนับถือพระพุทธรูปไปด้วย ระหว่างที่โจมตีนั้นเจ้าของร้านก็นั่งฟังอยู่เฉยๆ  หมอบรัดเลย์พูดไปพูดไปก็เหนื่อยเพราะอากาศร้อนมาก  เจ้าของร้านพอเห็นหมอบรัดเลย์เหนื่อยก็เชิญเข้ามาในร้านและหาน้ำให้กิน เสร็จแล้วก็ถามหมอบรัดเลย์ว่า “ทำไมจึงพูดอย่างนั้น”

เราลองนึกภาพดูว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน หมอบรัดเลย์คงจะโดนเจ้าของร้านไล่ตะเพิดเอา หรือไม่ก็โดนผู้คนกลุ้มรุมทำร้ายไปแล้ว คงจะไม่มีใครนั่งฟังเฉยๆ แถมชวนมานั่งพักเหนื่อยในร้าน  แต่ว่าคนสมัยก่อนเขามีขันติธรรมมาก มีคนมาจ้วงจาบพระพุทธรูปเขาก็ยังไม่โมโหโกรธา แถมยังมีน้ำใจ เชิญให้เข้ามากินน้ำ  แต่ไม่ใช่ว่าเขาวางเฉยหรือเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของหมอบรัดเลย์ เพราะหลังจากชวนมากินน้ำแล้วก็ซักถามอย่างสุภาพว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น  ผมคิดว่านี่คือจิตวิญญาณของชาวพุทธ คือมีเมตตาและขันติธรรม  แม้จะไม่เห็นด้วยกับใครก็ไม่ใช่ไปโจมตี ไปทำร้าย หรือไปทุบตีเขา  คุณธรรมดังกล่าวคนไทยสมัยก่อนเรียนมาจากไหน ทั้งๆ ที่ไม่มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนวิชาศีลธรรม ไม่มีตำราสอนศีลธรรมให้อ่าน แต่เขาเรียนมาจากวิถีชีวิต  สิ่งนี้ทำให้พุทธศาสนาของเมืองไทยเข้มแข็ง  หมอบรัดเลย์แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับพุทธศาสนาเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชาวพุทธไทยไม่ต้องลุกขึ้นมาด่า ไม่ต้องโจมตี หรือประท้วง แต่ตอบโต้ด้วยเมตตาและขันติธรรม  นี่คือจิตที่ใหญ่  คำถามก็คือจิตใหญ่นี้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่น่าศึกษาศึกษาว่ามีกระบวนการอะไรบ้างที่จะสร้างเมตตาธรรมและขันติธรรมให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

 

แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ประเด็นที่ ๓ เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งมาก  สังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระหว่างบุคคล ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน  กรณีภาคใต้เป็นตัวอย่าง  แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ยังมีปัญหาระหว่างชาวเขากับชาวเมือง ปัญหาระหว่างชาวเขากับคนพื้นราบ ปัญหาระหว่างคนในเมืองกับชนบท ปัญหาเรื่องการแก่งแย่งทรัพยากร ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์จะมีมากขึ้น  ทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะมีพลังหรือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี  ที่จริงเรามีหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้เยอะ  น่าจะมีการทำศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี  ไม่ใช่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยของฆราวาสและของสงฆ์เท่านั้น แต่ลงไปถึงระดับโรงเรียนด้วย  ในสหรัฐอเมริกามีโครงการแก้ไขความขัดแย้งตามโรงเรียนต่างๆ ถึง ๕,๐๐๐ กว่าโรงเรียน  ไม่ใช่แค่สอนหรือเรียนเท่านั้น แต่ยังมีการฝึกนักเรียนมาเป็นอาสาสมัครเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในหมู่นักเรียนด้วยกัน โดยไม่ต้องพึ่งครูหรือผู้ใหญ่

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะว่าจะช่วยลดความรุนแรงในสังคมได้มาก  เมืองไทยตอนนี้เราคิดแต่เรื่องการใช้ความรุนแรงตลอดเวลา  พระพุทธเจ้าสอนว่าเวรต้องระงับด้วยการไม่จองเวร แต่ทุกวันนี้เราพูดว่าแรงมาต้องแรงไป บ้ามาต้องบ้าไป ตาต่อตา ฟันต่อฟัน  แล้วประเทศของเราจะเป็นอย่างไรถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ต่อไปเราอาจจะเป็นอย่างศรีลังกาถ้าเรายังคิดแบบนี้  และพระเราหลายรูปก็ไปส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงเสียด้วย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร  ในพระไตรปิฎกหรือในชาดกมีสอนเรื่องนี้เยอะมาก เช่น ชาดกเรื่องขันติวาทีดาบส  ขันติวาทีเป็นดาบสที่พระราชาอิจฉา จึงสั่งตัดมือตัดแขนตัดขา  ขันติวาทีดาบสแทนที่จะโกรธ กลับถวายพระพรให้เจริญยิ่งยืนนาน  นี่ขันติธรรมและเมตตาธรรมตามหลักพุทธศาสนา แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยสอนเรื่องนี้กันแล้ว

มีหลักการทางพุทธศาสนามากมายที่สามารถนำมาใช้แก้ความขัดแย้งได้  จอห์น แมคคอนแนล เป็นฝรั่งชาวอังกฤษ เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งผมช่วยเป็นบรรณาธิการ คือ ศาสตร์และศิลป์แห่งการแก้ไขความขัดแย้ง  เขาเอาหลักปฏิจจสมุปบาทมาประยุกต์ให้เป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการแก้ไขความขัดแย้ง  เราน่าจะมีการศึกษาเชิงปฏิบัติการว่าจะนำเอาหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในการเรียนหรือการส่งเสริมกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีได้อย่างไร  ไม่ว่าในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือในวัด  ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ สังคมไทยจะเคลื่อนไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์ที่ภาคใต้จะรุนแรงมากขึ้น  ในที่สุดเราก็อาจจะเป็นอย่างศรีลังกาที่สู้รบกันมา ๒๐ ปีแล้วก็ยังไม่เลิก

 

ฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เป็นพลังทางปัญญาและคุณธรรม

ประเด็นสุดท้าย คือการศึกษาเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา เรื่องนี้จำเป็นมากเลย  เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าการศึกษาของสงฆ์ก็ดี การปกครองของสงฆ์ก็ดี มีปัญหามาก รวมทั้งความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ตกต่ำลงมาก  สถานการณ์ของพุทธศาสนาในเวลานี้ถ้าพูดอย่างสรุปก็คือ พุทธศาสนาไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจในทางปัญญาและศีลธรรมได้  เดี๋ยวนี้เวลาจะรณรงค์ให้คนไทยทำความดี จะต้องอ้างในหลวง คือบอกให้คนไทยทำความดีเพื่อในหลวง ปลูกป่าก็เพื่อในหลวง ต่อต้านยาเสพติดก็เพื่อในหลวง แต่ว่าเคยมีไหมที่รณรงค์คนไทยให้ทำความดีเพื่อพระพุทธเจ้า  ถ้าทำความดีเพื่อในหลวง คนไทยทำ แต่ถ้าจะทำความดีเพื่อพุทธศาสนา ไม่ค่อยมีใครอยากทำเท่าไหร่  อย่างน้อยก็ไม่เห็นมีใครรณรงค์ให้คนไทยทำความดีเพื่อพุทธศาสนาหรือเพื่อพระพุทธเจ้า  เศรษฐกิจพอเพียงพระพุทธเจ้าตรัสมานานแล้ว พระสงฆ์ก็พูดมานานแต่สังคมไทยไม่มีการเขยื้อนขยับ  แต่พอในหลวงพูดเศรษฐกิจพอเพียง สังคมไทยขยับ เพราะในหลวงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในทางจริยธรรม  ปลูกป่าก็ต้องปลูกป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ มีไหมปลูกป่าเพื่อพุทธศาสนา  เมืองไทยนี้ถ้าไม่มีในหลวง ก็แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ความดีได้

ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าการทำดีเพื่อในหลวงเป็นเรื่องไม่ดี การทำความดีเพื่อในหลวงเป็นเรื่องดี แต่ว่าสังคมไทยควรมีแรงบันดาลใจจากหลายแห่งที่จะกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี  พุทธศาสนามีพลังที่จะแรงบันดาลใจให้คนทำความดีได้ แต่พลังดังกล่าวกำลังจะหมดไปจากสังคมไทย  เดี๋ยวนี้เวลาทำบุญเราไม่ได้ทำบุญเพื่อพุทธศาสนา แต่เราทำบุญเพื่อตัวเอง เพื่อให้รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง  ทีนี้จะทำอย่างไรพุทธศาสนาถึงจะกลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำความดี ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำความดีเพื่อในหลวง  เมืองไทยโชคดีที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดี  แต่ว่าเราต้องมีมากกว่านั้น เราต้องมีแรงบันดาลใจจากหลายๆ แหล่ง และแหล่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือพุทธศาสนา  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่จะมีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นพลังในทางปัญญาและคุณธรรมอีกครั้งหนึ่ง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา