พุทธศาสนาบนทางแพร่ง

พระไพศาล วิสาโล 20 พฤศจิกายน 2005

ศาสนาที่แท้ย่อมเปี่ยมไปด้วยพลังในการบันดาลใจให้ผู้คนทำความดี  เพราะไม่เพียงเข้าถึงธรรมชาติด้านดีของมนุษย์ได้เท่านั้น แต่ยังหล่อเลี้ยงและดึงเอาคุณงามความดีออกมา ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  ขณะเดียวกันก็ทำให้ธรรมชาติด้านร้ายของมนุษย์อ่อนแรงลง หรือยากที่จะทำร้ายใครได้

ความดีที่ศาสนาบันดาลให้เกิดขึ้นได้นั้น  มิได้หมายถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเกื้อกูลผู้อื่นหรือช่วยเหลือส่วนรวมด้วย  ในอดีตพุทธศาสนาเป็นพลังสำคัญที่สุดในการบันดาลใจให้คนไทยทำความดี  เช่น  มีน้ำใจต่อเพื่อนบ้าน อ่อนโยนต่อธรรมชาติ และเสียสละเพื่อส่วนรวม  ทั้งนี้โดยมีแนวคิดเรื่องบุญกุศลเป็นตัวนำ  คนภาคใต้เมื่อทำนาก็พร้อมแบ่งปันให้ผู้อื่น ไม่หวงข้าวในนา ดังมีคติว่า “นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน”  คนภาคเหนือ เมื่อเห็นเพื่อนบ้านคนใดยากจน ก็พากันนำข้าวของที่จำเป็นไปวางไว้ใกล้บ้าน แล้วจุดประทัดให้สัญญาณ ถือว่าเป็นการทอดทำบุญอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ทานทอด”

การร่วมแรงร่วมใจอย่างยิ่งใหญ่ของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ภาคเหนือในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ภายใต้การนำของครูบาศรีวิชัย โดยไม่พึ่งรัฐเลยนั้น  เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดถึงพลังของพุทธศาสนาในการบันดาลใจให้ผู้คนทำความดีเพื่อส่วนรวม  แต่น่าคิดว่าทุกวันนี้พุทธศาสนาที่นับถือในเมืองไทยยังมีพลังบันดาลใจดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

มีใครสังเกตหรือไม่ว่า ในปัจจุบันเวลามีการรณรงค์เรียกร้องให้คนไทยทำความดีเพื่อสังคมหรือส่วนรวม  เราจะนึกถึงใครเป็นอันดับแรก ถ้าไม่ใช่ในหลวง  เช่น  ถ้าจะเชิญชวนคนมาปลูกป่าก็ต้องประกาศว่าเป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ  เวลารณรงค์แก้ปัญหายาเสพติด ก็ต้องชูคำขวัญว่า “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด”  จะรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ก็ต้องอ้างพระบรมราโชวาทของในหลวง  วันเฉลิมพระชนมพรรษา มักเป็นโอกาสสำคัญที่จะเชิญชวนให้คนไทยทำความดีในลักษณะต่างๆ โดยที่บ่อยครั้งการทำความดีนั้นก็ถูกกระตุ้นโดยพระองค์เอง  ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากทรงมีกระแสพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม รุ่งขึ้นก็จะมีการขานรับและเรียกร้องให้คนไทยทั้งประเทศเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ เช่น ลดการสูบบุหรี่ในเยาวชน ลดการใช้เสียงที่อึกทึก สร้างสันติภาพในภาคใต้ ฯลฯ

ข้อที่น่าคิดก็คือ ทุกวันนี้มักไม่ค่อยมีการอ้างพระสงฆ์หรือนึกถึงพุทธศาสนาเวลาจะเชิญชวนให้ผู้คนทำความดีเพื่อส่วนรวม  จริงอยู่คนไทยไม่ได้นับถือศาสนาพุทธอย่างเดียว ที่นับถือศาสนาอื่นก็มีไม่น้อย  แต่นั่นคงไม่ใช่สาเหตุสำคัญ เพราะแม้ในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน เวลาจะเชิญชวนกันทำความดีเพื่อผู้อื่น ก็หาได้ปรารภพุทธศาสนาหรืออ้างบุญกุศลเหมือนเมื่อก่อนไม่

กล่าวได้ว่าพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ในเวลานี้อ่อนพลังลงมากในการบันดาลใจให้ผู้คนทำความดีเพื่อผู้อื่นหรือส่วนรวม  พลังดังกล่าวกลับอยู่ที่ตัวบุคคล เช่น ในหลวงและในบางกรณีก็อยู่ที่คนเล็กๆ ในสังคม  ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ไม่กี่วันหลังเกิดเหตุสึนามิ  ผู้คนจำนวนนับร้อยนับพันพากันเดินทางไปยังวัดย่านยาว ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะต้องมาใกล้ชิดศพ  แต่แล้วก็กลับมากินนอนและทำงานท่ามกลางศพขึ้นอืดและเน่าเหม็นนับพันๆ ศพนานเป็นอาทิตย์ บางคนก็นานเป็นเดือน  อะไรเป็นเหตุผลให้คนเหล่านั้นเสียสละถึงปานนั้น  ส่วนใหญ่ตอบว่าลงไปวัดย่านยาวเพราะหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์  หมอพรทิพย์เป็นแรงบันดาลใจให้คนเหล่านั้นซึ่งอาจมีถึงร้อยละ ๘๐ ทีเดียว

คำถามก็คือหากคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมรณรงค์เชิญชวนให้ผู้คนลงไปช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ หรือช่วยพาศพกลับบ้าน จะได้รับการตอบสนองจากคนไทยหรือชาวพุทธมากน้อยเพียงใด

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าพุทธศาสนาไร้พลังอย่างสิ้นเชิงในการบันดาลใจให้ผู้คนทำความดี  พุทธศาสนายังเป็นแรงบันดาลใจให้ทำความดีได้ไม่น้อย  แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นความดีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง เช่น บริจาคเงินสร้างโบสถ์วิหาร  หาไม่ก็เป็นความดีเพื่อชีวิตที่เป็นสุข เช่น ลดละอบายมุข  หรือเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ตนเอง เช่น ทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม เป็นต้น  แต่ความดีที่เป็นการก้าวออกไปเอื้อเฟื้อเจือจานผู้อื่นนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะว่าไปนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของพุทธศาสนาอย่างเดียว หากยังเกิดกับศาสนาอื่นๆ ด้วย  ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ ศาสนาเกือบทุกศาสนาที่นับถือในโลกทุกวันนี้กำลังถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจให้ทำร้ายผู้อื่นในนามของความดีและสิ่งสูงสุด  ดังเห็นได้จากสงครามระหว่างศาสนิกต่างศาสนา ในอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงไอร์แลนด์เหนือ  ที่น่าสนใจก็คือศาสนิกที่จับอาวุธทำร้ายกันนั้น ถือว่าตนปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด  จำนวนไม่น้อยปฏิบัติศาสนกิจเช่นคารวะพระเจ้าเป็นประจำ อีกทั้งยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย  นิตยสารไทม์ เคยสัมภาษณ์อาสาสมัครชาวอิรักคนหนึ่งที่รอถูกเรียกตัวให้ไปเป็นมือระเบิดพลีชีพ  ชีวิตประจำวันและวัตรปฏิบัติของเขาที่เล่าให้ฟังไม่ต่างจากศาสนิกอื่นๆ ที่เคร่งครัด  แต่สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือความพร้อมที่จะตายเพื่อจุดระเบิดทำลายชีวิตผู้อื่นให้ได้มากที่สุด

คนที่กล้าสละชีวิตตนเองด้วยความเต็มใจนั้น ย่อมต้องมีแรงบันดาลใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง  สำหรับคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก แรงบันดาลใจของเขาได้มาจากศาสนา  สิ่งที่น่าวิตกก็คือทุกวันนี้ศาสนาสามารถบันดาลใจให้ผู้คนยอมตายเพื่อปลิดชีวิตผู้อื่นได้  แต่ดูเหมือนจะไร้พลังในการบันดาลใจให้ผู้คนยอมสละชีพเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น

ศาสนานั้นควรเป็นพลังในทางสันติภาพ แต่พลังดังกล่าวกำลังอ่อนแรง  เมื่อทั่วโลกลุกขึ้นมาประท้วงคัดค้านสหรัฐมิให้ส่งกำลังทหารไปทำสงครามในอิรักเมื่อปี ๒๕๔๖  ปรากฏว่าองค์กรที่เป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวนั้นส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่มิใช่ศาสนา

เมื่ออิสราเอลส่งทหารปิดล้อมเมืองรามุลเลาะในปาเลสไตน์เมื่อปี ๒๕๔๕  ผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก  ปรากฏว่ามีผู้คนจากหลายประเทศเล็ดรอดเข้าไปเมืองเพื่อเอาตัวเข้าไปขวางกั้นทหารและรถถังของอิสราเอล โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่หาได้ประกาศตนเป็นศาสนิกในศาสนาใดไม่

ศาสนิกที่ทำงานเพื่อสันติภาพนั้นมีอยู่ แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ที่นิยมกระทำกันคือการประชุมเพื่อสันติภาพ ตรงข้ามกับศาสนิกที่ใช้ความรุนแรง  ฝ่ายหลังนั้นพร้อมที่จะตาย แต่เป็นการตายเพื่อฆ่าผู้อื่น

อันที่จริงศาสนาสามารถเรียกร้องความเสียสละของผู้คนจนพร้อมตายเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่นได้  เมื่อชาวอินเดียต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษนั้น  ศาสนิกทั้งฮินดูและมุสลิมภายใต้การนำของคานธียอมถูกทุบตีและยอมตายโดยไม่คิดตอบโต้ด้วยความรุนแรง  เมื่อสงครามเวียดนามขยายตัว ชาวพุทธจำนวนมากถึงกับเผาตัวเองเพื่อเรียกร้องให้โลกช่วยยุติสงคราม  ในทำนองเดียวกันเมื่อคนดำเรียกร้องสิทธิจากคนผิวขาวเมื่อ ๔๐ ปีก่อน พวกเขาได้อาศัยแรงบันดาลใจจากคริสต์ศาสนาในการต่อสู้อย่างสันติแม้จะถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและถึงตาย

แม้ปัจจุบันอาจเป็นการเรียกร้องมากเกินไปที่จะให้พุทธศาสนาเป็นพลังบันดาลใจให้คนไทยยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น  แต่อย่างน้อยก็ขอให้พวกเราช่วยกันป้องกันและทัดทานไม่ให้พุทธศาสนาถูกใช้เพื่อสนับสนุนความรุนแรง หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนยอมตาย (หรือกระตุ้นให้ผู้อื่นไปตาย) เพื่อทำลายชีวิตของผู้อื่น

ที่แล้วมามีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย แต่มิได้กระทบกับพุทธศาสนาโดยตรง  ตรงกันข้ามกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  พระหลายรูปถูกฆ่า ส่วนวัดก็ถูกเผา จนยากที่พุทธศาสนาหรือชาวพุทธจะอยู่นิ่งเฉยได้  วันนี้พุทธศาสนากำลังมาถึงทางแพร่งว่าจะก้าวไปทางใด  จะเป็นพลังบันดาลใจเพื่อสันติภาพและสันติวิธี  หรือถูกใช้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนใช้ความรุนแรงมากขึ้น  คำตอบนั้นอยู่ที่ชาวพุทธเองว่าจะยึดมั่นในหลักธรรมเพียงใด หรือยอมปล่อยให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตจนเห็นความรุนแรงเป็นสรณะ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา