พุทธศาสนาเพื่อการจัดระเบียบสังคม

สมเกียรติ มีธรรม 12 มกราคม 2002

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้หยิบยกเอาเรื่องการจัดระเบียบสังคมมาดำเนินการกับสถานบันเทิงที่เปิดบริการเกินเวลากฎหมายกำหนด ก็อดไม่ได้ที่ต้องพูดถึงการจัดระเบียบสังคมตามนัยแห่งพุทธศาสนา แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นรากฐานสำคัญในการจัดระเบียบสังคมไทย ซึ่งต้องทำกันต่อไปจนกว่าจะมีปัญหาน้อยลงหรือหมดปัญหา

พุทธศาสนานั้น แท้จริงเป็นศาสนาแห่งการศึกษาพัฒนามนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบศานติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงจัดวางระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่ให้มีความบรรสานสอดคล้องกัน  หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ใช้ในการจัดระเบียบสังคมก็คือ พระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ช่วยป้องกัน ส่งเสริม และกำราบผู้ดื้อด้านในสังคม ไม่ให้ประพฤติตนนอกลู่นอกทาง  ดังจะเห็นได้จากคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นชุมชนที่พระพุทธองค์ทรงจัดตั้งขึ้นมานานถึง ๒๕๔๔ ปี และเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ได้ยาวนานที่สุดแม้ในทุกวันนี้ ก็เพราะพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้เป็นแบบอย่างของชุมชนในอุดมคติ ที่จัดระเบียบสังคมครอบคลุมวิถีแห่งชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านสังคม (ศีล) สติปัญญา หรือแม้ว่าในด้านสิ่งแวดล้อม พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงละเลยไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฝึกฝนพัฒนาตนเองทางด้านสมาธิและปัญญา ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่สัปปายะถึงจะพัฒนาสมาธิและปัญญาให้งอกงามได้

ด้วยเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงบัญญัติวินัยขึ้นมา หรือที่เรียกว่า สิกขาบท ซึ่งมีทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ  ในบรรดา ๒๒๗ นั้น พระพุทธองค์ไม่เคยบัญญัติสิกขาบทข้อไหนเป็นกรอบไว้ก่อนที่จะมีปัญหาในหมู่สงฆ์ ทุกข้อล้วนแต่บัญญัติขึ้นมาหลังจากเกิดปัญหา เพื่อให้ชุมชนได้ศึกษาข้อผิดพลาดที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม  แต่ถ้ายังมีภิกษุสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ชุมชนก็ลงโทษตามระเบียบที่พระพุทธองค์วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้สละสิ่งของ หรืออยู่กรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดความผิดของตน ตลอดจนอัปเปหิออกไปจากหมู่สงฆ์ เป็นผู้แพ้แก่การประพฤติพรหมจรรย์ ล้วนเป็นหลักธรรมที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อความสงบเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์

พุทธศาสนานั้น แท้จริงเป็นศาสนาแห่งการศึกษาพัฒนามนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบศานติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

แต่กระนั้นก็ตามในหมู่ภิกษุสงฆ์ ก็ยังคงมีผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอยู่ร่ำไป ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว การประพฤติผิดพระธรรมวินัยแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และหลายครั้งหลายคราคณะสงฆ์ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยได้  ระเบียบของชุมชนที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ในสมัยพุทธกาล จึงกลายเป็นพิธีกรรมที่ไม่สามารถป้องกัน ส่งเสริม และกำราบภิกษุผู้ดื้อด้านในสังคมปัจจุบันได้  และนับประสาอะไรในสังคมคฤหัสถ์ที่จัดระเบียบสังคมเพียงควบคุมสถานบริการ และห้ามเด็กเที่ยวผับเที่ยวบาร์จะแก้ปัญหาได้ เมื่อเขาไม่สามารถทำอย่างหนึ่งอย่างใด เขาก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เหมือนกับภิกษุสงฆ์สมัยพุทธกาล ประพฤติผิดพระธรรมวินัยพิศดารมากขึ้น ห้ามอย่างหนึ่งก็เปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง  ยิ่งเด็กรุ่นใหม่หูตาไวหลักแหลม ระเบียบสังคมที่พยายามจัดกันในขณะนี้ จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ นอกเสียจากคิดใหม่ทำใหม่พร้อมๆ กันไปทุกด้าน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทุกด้านของการพัฒนามนุษย์แต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นในสังคมพุทธกาลหรือปัจจุบันก็ตาม มักจะมีปัญหาคล้ายกันเสมอ

ดังวิกฤตการณ์ในสังคมปัจจุบัน ก็แทบไม่แตกต่างจากสมัยพุทธกาลมากนัก  ทางด้านการเมืองรัฐกลับมีอำนาจและรวมอำนาจมากขึ้น  ทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีพวกเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากมาย จนทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกไปทุกที ขณะเดียวกันพวกเศรษฐีก็มีเกียรติยศมีอิทธิพลมากขึ้นแม้ในรัฐบาล  ทางด้านสังคม ลัทธิบริโภคนิยมกลับมีอำนาจครอบงำผู้คนอย่างเหลือคณานัป  ทางด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายจนไร้ดุลยภาพ  ทางด้านสุขภาพโรคร้ายต่างๆ ก็คุกคามชีวิตผู้คนอย่างรุนแรง

สภาพสังคมเช่นนี้ในปัจจุบัน มีความละม้ายคล้ายกันกับสมัยพุทธกาลมาก จะแตกต่างกันแต่เพียงรายละเอียด และความรุนแรงของปัญหาเท่านั้น ซึ่งสมัยพุทธกาลยังไม่ซับซ้อนและรุนแรงนัก ขณะที่ปัจจุบันปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงและซับซ้อนมาก และยากที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดได้  การจัดระเบียบสังคมแต่เพียงห้ามเยาวชนเที่ยวผับเที่ยวบาร์หรือว่าจัดสถานบันเทิงใหม่นั้น จะแก้ปัญหาเยาวชนและสังคมโดยรวมได้จริงหรือ ยิ่งจัดระเบียบสังคมที่ส่งเสริมต่อการศึกษาด้วยแล้ว เห็นจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย

การที่พระพุทธองค์จัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ โดยแยกออกไปจากสังคมคฤหัสถ์นั้น ก็เพื่อต้องการสร้างชุมชนใหม่ให้เป็นแบบอย่างแก่สังคมสมัยนั้นที่กำลังยุ่งเหยิง โดยวางระบบระเบียบใหม่ นับตั้งแต่ในด้านปัจจัยสี่ คือ น้ำ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบสังคมในเชิงกายภาพ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระดับปัจเจกบุคคลในชุมชน อันเป็นการจัดระเบียบสังคมที่มุ่งอรรถประโยชน์ทั้ง 3 คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เบื้องหน้า และประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นสังคมที่ทุกคนปรารถนา  หากแต่มาจัดระเบียบสังคม โดยห้ามเยาวชนเที่ยวผับเที่ยวบาร์อย่างในขณะนี้ คงไม่มีสังคมในอุดมคติ ที่ดำเนินวิถีชีวิตอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติให้เราได้สัมผัสกันเป็นแน่

ด้วยเหตุนั้นการจัดระเบียบสังคมที่ขาดอุดมคติและวิธีคิดอย่างพุทธนั้น ทำให้โอกาสที่จะจัดระเบียบสังคมเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนเป็นไปได้ยาก ยิ่งปราบปรามเข้มงวดกวดขันเท่าใด โดยไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่สังคมแล้ว ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่วาดหวังไว้ก็อย่าหมายว่าจะทำสำเร็จได้ นอกเสียจากจัดระเบียบสังคมทั้งหมดใหม่พร้อมกันไปอย่างเป็นองค์รวม


ภาพประกอบ