ภาระของลูก

สุวีโร ภิกขุ 27 กันยายน 2009

พ่อเรานะ ทุกวันนี้เขายังพยายามกำหนด ตัดสินอะไรๆ ทุกอย่างในบ้านเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้อะไรๆ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว พอเราขัดก็โกรธหาว่าเถึยงบ้าง ไม่เชื่อฟังแกบ้าง...”

จริงๆ แล้วแม่ของหนูน่าจะเป็นคนที่มีความสุขมากๆ เป็นคนแก่ที่หลายคนเห็นแล้วต้องอิจฉา สุขภาพก็ถือว่าดีมากสำหรับคนวัยนี้ ลูกๆ ทุกคนก็ประสบความสำเร็จในชีวิต มีครอบครัวที่เป็นสุข หลานๆ ก็เรียนกันเก่งๆ แต่แม่กลับไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต ชอบคิดเล็กคิดน้อย อิจฉาคนโน้น เคียดแค้นคนนี้ ทั้งที่เรื่องราวนั้นผ่านไปแล้วหลายสิบปี อิจฉากระทั่งคนใช้ หาว่าเราห่วงคนใช้มากกว่าแก…

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย ที่เพื่อนๆ มาบ่นเรื่องภาระในการดูแลพ่อแม่ให้ฟัง อาจเป็นเพราะช่วงวัยของพวกเราด้วยที่ตอนนี้พ่อแม่ต่างก็เริ่มดูแลตัวเองไม่ค่อยไหว ทำให้เราต้องมีเวลาให้ท่านมากขึ้น

หลายคนอึดอัด ทำตัวไม่ถูก รู้สึกว่าเป็นภาระที่ใหญ่หลวง แต่ก็ยังยินดีที่ได้ดูแลและรู้ว่าเป็นหน้าที่ของตน อาจมีบางครั้งที่รู้สึกว่าพ่อแม่เรียกร้องเกินเหตุ บ้างก็น้อยใจที่พี่น้องคนอื่นไม่มาช่วยแบ่งเบาภาระนี้บ้างเสาร์อาทิตย์ก็ยังดี บางคนก็สงสารที่พ่อแม่ยังไม่ยอมปล่อยวางทั้งๆ ที่ควรจะมีความสุขได้แล้ว

ลูกที่ดีหลายคนเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจเพราะอยากดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อแม่ท่านสักที ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดที่ไม่ได้ทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ รู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน หรือยุ่งกับภาระของพ่อแม่จนแทบไม่มีเวลาให้กับลูก ทั้งยังเป็นภาระให้สามีหรือภรรยาที่ต้องมาร่วมรับผิดชอบพ่อแม่เราด้วย ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เลยเครียดไปหมด

เรื่องนี้ซับซ้อนเกินกว่าที่จะสรุปและโทษกันง่ายๆ ว่า คนสมัยนี้ไม่มีความอดทน ไม่มีความกตัญญู พ่อแม่ของตัวเองก็ยังเลี้ยงไม่ได้ สมัยก่อนเขาเลี้ยงพ่อแม่กันจนตายก็ไม่เคยเห็นมีใครเขาบ่นกัน

เป็นเพราะสังคมยุคนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าในอดีต ชีวิตคนก็ซับซ้อนขึ้นตามมา การเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เคยเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของคนที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ทำงานในไร่ในสวน กลับกลายเป็นเรื่องที่มากเรื่อง เป็นเรื่องที่เป็นภาระทันที เมื่อทุกวันนี้เราอยู่ในครอบครัวเดี่ยวทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก

ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของลูกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของตัวพ่อแม่ด้วย และเกี่ยวพันกับอาชีพการงาน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งสภาพของสังคมยุคนี้ที่ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ถ้าเราคิดว่าสังคมไทยจะต้องเจริญก้าวหน้าพัฒนาไปเป็นสังคมบริโภคเต็มรูปแบบอย่างประเทศตะวันตก ผู้สูงอายุในอนาคตก็ต้องพร้อมที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างโดดเดี่ยวกันสองคน หรืออยู่คนเดียวในสถานพักฟื้นคนชราแบบฝรั่งเขาด้วย ต้องปล่อยให้ลูกๆ เขามีอิสระทำงานแข่งขันอยู่ในสังคมให้เต็มที่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่ต้องดูแลพ่อแม่อยู่ในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะความขัดแย้งของความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตในสังคมแบบเก่ากับสังคมแบบใหม่

เราไม่ควรมองเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นผลที่เกิดขึ้นแน่ๆ เมื่อเลือกที่จะพัฒนาไปตามแนวทางนี้ ไม่ต่างจากปัญหาความเครียด ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

นี่เป็นผลกรรมที่เราต้องยอมรับ เป็นกรรมร่วมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมช่วยกันสร้างไว้ ถึงเราไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับเขา แต่เราก็หลีกเลี่ยงผลที่เกิดขึ้นได้ไม่มากนัก

แม้เราคิดว่าการเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยเรา แต่ ณ จุดนี้ คงช้าเกินไปกว่าที่จะทำอะไรเพื่อให้วัฒนธรรมนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ อะไรๆ ที่คิดว่าจะสร้างจะทำเพื่อรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ ต่างก็จะถูกมองว่าเป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมไปเสียทั้งหมด

เช่นเดียวกับเมื่อเรายินดีที่จะรับการแพทย์ยุคใหม่มาแก้ปัญหาความเจ็บป่วย เราก็ต้องยอมรับภาระในการดูแลสุขภาพที่มีมากขึ้น ยิ่งถ้านำมาดูแลผู้สูงอายุก็ต้องพร้อมที่จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องอาหารการกิน การออกกำลัง และความเป็นอยู่อื่นๆ ซึ่งแน่นอนด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะทุกโรคได้กลายเป็นโรคเรื้อรังไปหมด ครั้นพอจะเอาการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ ก็ดูติดขัด ไม่สะดวกไปทุกอย่าง

สิ่งที่ทุกคนทำได้ดีที่สุดขณะนี้ ก็คือการเตรียมตัวเตรียมใจไว้เพื่อรอรับสถานการณ์ที่จะมาถึง

ท่านที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกคอยดูแลอยู่อย่างดีขณะนี้ต้องถือว่าโชคดีมาก เราควรต้องเข้าใจภาระในชีวิตของลูกที่ต่างจากเราในอดีตมาก อย่าไปคาดหวังให้เขามาดูแลเราเหมือนกับตอนที่เราดูแลพ่อแม่ และควรทำตัวให้เป็นภาระต่อลูกให้น้อยที่สุด

คนที่ยังพอดูแลตัวเองได้ตอนนี้ ก็ต้องรีบวางแผนในชีวิตไว้ให้ดีว่าจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต คิดในทางร้ายไว้ก่อนว่าถ้าลูกเขาไม่พร้อมที่จะดูแลเรา เราจะอยู่อย่างไร

คนที่เป็นลูกเอง ก็ควรตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการดูแลพ่อแม่ ตอบแทนพระคุณที่ท่านเลี้ยงดูเรามา มองให้เห็นคุณค่าเห็นความสำคัญของการเลี้ยงดูพ่อแม่ วางแผนไว้ให้ดีว่าในอนาคตถ้าท่านดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะช่วยดูแลท่านอย่างไรจึงจะดีต่อท่านที่สุด การได้พูดคุยเรื่องนี้กันไว้ก่อนก็ช่วยบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง

สังคมยุคนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าในอดีต ชีวิตคนก็ซับซ้อนขึ้นตามมา เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูพ่อแม่ในยุคที่เราอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว และทำงานออฟฟิศเป็นหลัก

ส่วนผู้ที่กำลังมีปัญหาในการดูแลพ่อแม่อยู่ขณะนี้ คงต้องมาทบทวนทำความเข้าใจปัญหาให้ดี แม้ปัญหาส่วนหนึ่งจะอยู่ที่ตัวพ่อแม่ แต่ที่เป็นอย่างนั้นท่านไม่ได้มีเจตนาแกล้งเรา ต้องไปโทษตัวก่อปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคือระบบสังคมที่เราและพ่อแม่เราเลือกใช้ชีวิตอยู่ เพราะมันบังคับให้เราวิ่งอยู่ตลอดเวลา บีบให้พ่อแม่เราทำงานหนักจนไม่มีเวลาเตรียมเรื่องนี้ ทั้งพี่และน้องของเราก็อยู่ในสภาวะเดียวกัน

หากเราพูดคุยให้ท่านยอมรับหรือปรับตัวไม่ได้ ก็ควรถือเอาเรื่องนี้เป็นโจทย์ เป็นข้อสอบของชีวิตข้อที่ยากที่สุดอีกข้อหนึ่งที่เราจะต้องทำ เมื่อทำผ่านไปได้เราจะได้ความทรงจำและประสบการณ์ดีๆ อีกมากมาย รวมทั้งเป็นบุญกุศลที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าเราจะได้รับในอนาคตเมื่อเราเองแก่ตัวไป

โจทย์ยากๆ อย่างนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่นำมาใช้ในการปฏิบัติธรรม เพราะช่วยให้เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการคิดการปรุงแต่งของจิตใจจนทำให้เราทุกข์มากกว่าที่ควรจะทุกข์ และทำให้เห็นความยึดติดถือมั่นทั้งของตัวเราเองและของพ่อแม่เราได้อย่างชัดเจน

ชาวพุทธเราถือว่าชีวิตเป็นเรื่องของการศึกษา ไตรสิกขาคือแนวทางการพัฒนาชีวิตที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเลือกที่จะเรียนรู้ชีวิตแล้ว โจทย์ข้อนี้จะนำปัญญาที่ล้ำลึกมาให้กับเราได้ ไม่แพ้การต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย หรือความตายเลยทีเดียว

แทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ความเครียดในการดูแลพ่อแม่ แค่เราถอยออกมาเป็นผู้ดูและเรียนรู้เจ้าความทุกข์นั้น เราก็จะเห็นการปรุงแต่งของจิตใจเรา การปรุงแต่งก็จะสั้นลง ความทุกข์ก็จะลดลงทันที

แล้วเราจะมัวจมอยู่กับความทุกข์ในการที่ได้ทำสิ่งดีๆ นั้นกันทำไม


ภาพประกอบ