ภูมิต้านทานชีวิต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 18 ธันวาคม 2016

“ไม่รักชีวิตหรือ ทำไมทำแบบนี้”

“ไม่รักตนเองก็สงสารพ่อแม่บ้าง  ฆ่าตัวตายมันบาปนะ”

ข้างต้นคือ ตัวอย่างมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่อคนคิดฆ่าตัวตาย  ข้อมูลสถิติในเรื่องนี้คือ ผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย แต่อัตราความสำเร็จจะน้อยกว่า เนื่องด้วยการฆ่าตัวตายของผู้ชายจะมีความรุนแรงมากกว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อใครคนหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตนเองเช่นนี้

เมื่อใครคนหนึ่งเผชิญความทุกข์ ความเศร้าที่รุมเร้าจิตใจรุนแรง จนกระทั่งพฤติกรรมมีความผิดแปลก เช่น อารมณ์ความรู้สึกแปรปรวน ไร้เรี่ยวแรง ไร้กำลังใจที่จะดำเนินชีวิต โลกรอบตัวเป็นเสมือนสีดำ นี่คือส่วนหนึ่งของอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า  เมื่อความทุกข์ ความเศร้า ความเจ็บปวดในจิตใจรุมเร้า จนหลายครั้งความคิดและการกระทำที่ต้องการฆ่าตัวตายก็อาจจะเข้ามา และหากรุนแรงมากขึ้น ไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที การฆ่าตัวตายก็อาจจะเกิดขึ้น

กรณีวรรณกรรม “โรมิโอ จูเลียต” โศกนาฎกรรมฉากจบคือ จูเลียต ฆ่าตัวตายเพราะความเข้าใจผิด คิดว่าโรมิโอยอดรักของตนตายแล้ว  แล้วเมื่อโรมิโอพบว่าจูเลียตยอดรักของตนฆ่าตัวตาย โรมิโอจึงตัดสินใจขอตายจริง โดยฆ่าตัวตายตามจูเลียต

โรมิโอตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เนื่องด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าการฆ่าตัวตายของจูเลียตเป็นเรื่องจริง

อารมณ์ชั่ววูบหรือแรงบีบคั้น ทำให้คนทั้งคู่ตัดสินใจหาทางออกให้กับตนเองเช่นนี้  การหาทางออกโดยการทำลายชีวิต จะโดยอารมณ์ชั่ววูบหรือโดยการเจ็บป่วยจากโรคซึมเศร้า สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ การฆ่าตัวตาย คือวิธีรับมือกับความทุกข์แสนสาหัสที่เข้ามา เป็นการกระทำภายใต้ภาวะความไม่ปกติสุขของผู้กระทำ

มุมมองจิตบำบัดชี้ว่า “อาการซึมเศร้า” นั้นคือวิธีรับมือกับความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในจิตใจ  แท้จริงพวกเขารักชีวิตมาก รักมากทะนุถนอมมากจนเลือกหนทางทำลายชีวิต เพื่อชีวิตไม่ต้องอดทนแบกรับความทุกข์ทรมานในจิตใจอีกต่อไป  ความหมายนี้จึงหมายถึง “ตัวความรู้สึก” (ทุกข์ เจ็บปวด) ใหญ่โตกว่าตัวเรา ดังนั้นด้วยสภาพเช่นนี้ ตัวเราจึงมีสภาพไร้ทางเลือก ไร้อำนาจการปกป้องตนเอง

หนทางการช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าที่คิดฆ่าตัวตายเหล่านี้ หรือกับบุคคลที่กระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ คือ การช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถคืนสู่ความเข้มแข็ง คืนสู่ความตระหนักรู้ในคุณค่า ในความหมายชีวิต คืนสู่แก่นแท้ในตนเองว่า “เราคือใคร”

ภาวะชีวิตที่ได้เชื่อมโยง ได้ค้นพบแก่นแท้คุณค่าชีวิต “เราคือใคร” ช่วยให้ผู้ป่วยได้พบขุมทรัพย์ในตนเอง ได้พบความสามารถในการอยู่ร่วมกับความทุกข์ทรมานเจ็บปวด โดยที่ความทุกข์เจ็บปวดนั้นไม่สามารถทำร้ายตัวเรา หรือกัดกินตัวเรา  กล่าวโดยเปรียบเทียบ กระบวนการเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยก็คือ การคืนหรือสร้างความสามารถให้ผู้ป่วย “มีภาวะชีวิตที่ใหญ่กว่าตัวความรู้สึก” (ทุกข์ เจ็บปวด) ให้ชีวิตมีศักยภาพ ความสามารถ และความเข้มแข็งมากกว่าตัวความรู้สึก

แท้จริงพวกเขารักชีวิตมาก จนเลือกหนทางทำลายชีวิต เพื่อไม่ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานในจิตใจ

ระบบความสัมพันธ์เชิงวัฎจักรในโลกนี้  มีผู้ล่าและเหยื่อ  มีฤดูกาลของความงอกงาม ตายจากไป แล้วงอกงามขึ้นใหม่  มีระบบชีวิตที่มีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย  สมดุลธรรมชาติในจิตใจก็เช่นกัน มีทั้งความสุข ความทุกข์ การอยู่รอด และการเติบโต  และเพื่อที่เราแต่ละคนจะอยู่รอดและเติบโตงอกงาม บททดสอบชีวิตที่เข้ามาท้าทายชีวิตเราเป็นระยะๆ คือ  เรามีความสุข แล้วความทุกข์ก็จะเข้ามา  มีคนชื่นชม รักใคร่ สรรเสริญ แล้ววันหนึ่งก็พบว่ามีคนนินทา กล่าวร้ายตัวเรา  มีความสมหวัง ผิดหวังเข้ามา

โลกธรรม ๘ อันประกอบด้วย  ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาว่าร้าย ทุกข์  เป็นสิ่งที่เข้ามาในระบบชีวิตและระบบความสัมพันธ์  ผ่านเข้า จากไป แล้วก็ผ่านเข้ามาอีก

ชีวิตที่ปราศจากการเรียนรู้ การฝึกฝนเพื่อเข้าถึงและยอมรับความจริงของชีวิต ชีวิตที่ติดจมกับความไม่รู้ จึงหมายถึง “ชีวิตที่ปราศจากภูมิคุ้มกัน”  และเมื่อปราศจากภูมิคุ้มกันชีวิต ชีวิตที่เป็นอยู่ก็จะมีแต่การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การเบียดเบียนที่ก่อผลกระทบทางลบ และสร้างสิ่งเลวร้ายต่อๆไป

เรามีความสุขแล้วความทุกข์ก็เข้ามา มีคนชื่นชมรักใคร่แล้วก็มีคนนินทา ผ่านเข้ามาแล้วจากไป แล้วก็ผ่านเข้ามาใหม่

การสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับตนเอง จึงเป็นพันธกิจของชีวิตที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนตั้งแต่เด็ก เป็นเนื้อหาวิชาชีวิตที่ต้องศึกษาเรียนรู้

ครูคนแรกคือ พ่อแม่ คือแบบอย่างการเรียนรู้สำคัญที่จะส่งมอบวิชาชีวิตเพื่อเด็กๆ ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันชีวิต เช่น เรียนรู้รับผิดชอบในการกระทำ ความคิด ความรู้สึกของตนเอง  เรียนรู้ที่จะคบหากัลยาณมิตร ดูแลมิตรภาพความสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่จะใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น

พร้อมๆ กับการเรียนรู้เพื่อมีความสามารถที่จะตอบรับ หรือปฏิเสธสิ่งที่เข้ามากระทบชีวิตได้เหมาะสม ตามกาลเทศะ และบริบทเรื่องราว

พร้อมกับการเรียนรู้ตนเอง เข้าใจตนเองถึงทัศนคติ ความเชื่อ ระบบคุณค่า  อบรมศึกษาตนเองเพื่อสร้างความสามารถให้ตนเองมีทัศนคติที่ดีดีต่อชีวิต ต่อสังคม และบุคคลรอบข้าง

ผ่านการศึกษาเรียนรู้ อบรมตนเอง จึงหมายถึงการได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต ภูมิคุ้มกันที่ช่วยเราเป็นอิสระจากโลกธรรม ๘ ได้ จากความทุกข์ เจ็บปวด ที่รุมเร้าชีวิต

Resilience ศัพท์อังกฤษนี้มีความหมายคือ การมีความสามารถคืนสู่สภาพเดิมยามเมื่อพบสถานการณ์ยากลำบาก  การมีภูมิคุ้มกันชีวิตคือ การช่วยให้เรามีความสามารถเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก โดยที่เรายังคงรักษาความมั่นคงภายใน ความสุขภายในได้  แม้สถานการณ์ยากลำบากจะรุนแรงเพียงใด ชีวิตก็ยังสามารถคืนสู่ความมั่นคงภายในได้

แม้โลกทุกวันนี้ก้าวหน้าด้วยวิทยาการต่างๆ แต่ชีวิตเราทุกคนล้วนมีบททดสอบเข้ามาเสมอๆ และด้วยการเรียนรู้ในการข้ามผ่านข้ามบททดสอบ ก็จะช่วยเสริมสร้างภุมิคุ้มกันชีวิต

ในช่วงเวลาที่ผ่านไป การได้สำรวจ ใส่ใจ และดูแลภูมิคุ้มกันชีวิต คือ พันธกิจชีวิตที่เราต้องดูแล


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน