มอดสอนธรรม

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 16 มิถุนายน 2013

มีผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษในโรงเรียน แล้วกลับมาเล่าอย่างขันขื่น

ท่านถามนักเรียนว่า พวกเธอรู้ไหมข้าวมาจากไหน

นักเรียนตอบว่า มาจากห้าง

ขันแต่ขมก็ตรงที่คำตอบของนักเรียนไม่ถูกต้อง  แต่คนถามจะบอกว่าผิดก็ไม่ได้ เพราะข้าวที่พวกเขากินอยู่ในแต่ละมื้อ พ่อแม่ของเขาซื้อมาจากในห้างจริงๆ

และเป็นความจริงว่าเด็กๆ ตามโรงเรียนในเมืองนั้น คงมีน้อยนักที่เคยเห็นเคยสัมผัสต้นข้าว  จึงย่อมเป็นไปได้ยากที่พวกเขาจะเชื่อมโยงไปได้ว่า ข้าวแต่ละเม็ดนั้นมาจากนา

ยังไม่ต้องพูดให้ไกลไปถึงว่า ข้าวพวกนั้นผ่านอะไรมาบ้าง ดิน น้ำ ฤดูกาล แสงแดด หยาดเหงื่อแรงงานชาวนา  และยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง  ทั้งหลายนี้อย่าว่าแต่เด็กๆ  แม้แต่พวกผู้ใหญ่บางทีก็หลงลืม

แต่สำหรับคนที่เคยสัมผัสท้องทุ่ง เคยปลูกข้าวกินเองมาบ้าง และโดยเฉพาะเคยเห็นการทำเกษตรแผนใหม่เพื่อการพาณิชย์ด้วยแล้ว  จะสุดแสนโหยหาข้าวปลาที่ปลอดสารพิษ  แต่ในสถานการณ์ที่ระบบตลาดถูกกำหนดโดยพ่อค้ารายใหญ่  ก็ไม่ง่ายนักกับการที่จะหาซื้อสินค้านอกกระแส  ข้าวปลอดพิษไม่ได้มีที่ทางวางขายในห้างทั่วไป

ยิ่งตามตลาดในถิ่นชนบทด้วยแล้ว  หากไม่ใช่คนที่ปลูกข้าวกินเอง ก็สุดแท้แต่ว่าพ่อค้าจะหาข้าวสารที่ไหนมาขายให้

จึงเมื่อคุณธวัชชัย โตสิตระกูล  มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรงสีชุมชน  ขนเอาข้าวอินทรีย์จากชาวนาที่กุดชุม ยโสธร มากระจายไว้ตามจุดที่เขามีเครือข่าย ให้ญาติมิตรคนใกล้ตัวได้ซื้อหาไปกิน  ผมถึงรู้สึกขอบคุณและเห็นว่าเป็นการกระทำที่สร้างบุญกุศลอย่างยิ่ง

เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธี “ฉลาดทำบุญ” ที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงใดมาก  แต่เป็นกุศลกรรมอย่างยิ่ง

ชาวนากลุ่มหนึ่งที่ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร  รวมตัวกันทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี  ผมเคยพบกับบางคนในกลุ่ม เขาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาทำถึงขนาดว่าไม่ยอมให้น้ำจากนาคนอื่นที่เป็นเกษตรเคมี ไหลเข้ามาในที่นาตน เพราะกลัวข้าวของเขาจะปนเปื้อนสารเคมี  พวกเขาพึ่งปุ๋ยและการปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติทั้งสิ้น

เกี่ยวข้าวแล้วก็ปล่อยให้แห้งจนหมดความชื้นตามธรรมชาติ  สีกันเองในโรงสีชุมชน  แล้วบรรจุถุงขายในนามสหกรณ์โรงสีข้าวชุมชน ตราทุ่งรวงทอง

ผมได้กินข้าวสารตราทุ่งรวงทองครั้งแรกก็จากที่คุณธวัชชัยนำมาแพร่ไว้ที่เครือข่ายพุทธิกา ในซอยอรุณอมรินทร์ ๓๙  ข้าวสารหอมมะลิ ชั้น ๑  การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวหอมมะลิ ของกรมการค้าภายใน  บรรจุถุง ๕ กิโลกรัม ถุงละไม่ถึง ๒๐๐ บาท

ยิ่งกว่าราคาที่ถูกกว่าข้าวหอมมะลิตามท้องตลาดโดยทั่วไปแล้ว คุณภาพความอร่อยของข้าวกุดชุม ก็ไม่ด้อยไปกว่าข้าวหอมมะลิในแหล่งอื่นใด

กล้าพูดอย่างนี้เพราะผมเป็นคนชอบซื้อข้าวสารมาหุงกินเอง  เจอข้าวสารที่ไหนว่าดีก็มักต้องซื้อมาลอง  ช่วงหน้าข้าวใหม่นาปี นาปรัง มักไม่เคยพลาด  เอาหมดทั้งข้าวกล้อง ข้าวขาว ข้าวมันปู ข้าวสังข์หยด ข้าวดอย ฯลฯ

ช่วงนี้ก็มีทั้งข้าวมันปู ข้าวกล้อง ข้าวขาว (ขอไม่ระบุแหล่ง) และข้าวสารปลอดสารพิษ ตราทุ่งรวงทอง จากกุดชุม วางเรียงกันอยู่ในครัว

วันนี้ผมเพิ่งพบว่ามีแมงมอดยกฝูงมาขอแบ่งข้าวสารกินบ้างแล้ว  แต่หลังจากไล่สำรวจข้าวสารไปจนครบทั้ง ๔ ถุง ๔ ชนิด  ก็นึกเป็นห่วงตัวเองขึ้นมามากกว่าหวงข้าวสาร

เชื่อไหม…มอดทั้งฝูงลงกินแต่ข้าวกุดชุมเท่านั้น!

ข้าวสารที่ชาวเมืองส่วนใหญ่กินกันอยู่ในทุกวันนี้ แม้แต่มอดก็ยังไม่อยากแตะเลยรึนี่

เขียนเล่ามาทั้งหมดนี้มิใช่ด้วยเจตนาโฆษณาแฝงแต่อย่างใด แต่ด้วยความรู้สึกเอหิปัสสิโก ขอบอกต่อจากการที่ได้พบว่าดีแล้ว  อยากให้ผู้บริโภคทั้งหลายได้ลองดู

และเข้าใจว่านี้การบอกต่อในเรื่องที่ดีๆ อย่างนี้ก็คงเป็นการฉลาดทำบุญอย่างง่าย เช่นที่คุณธวัชชัยทำอยู่เช่นกัน

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ