มานะและความสุขกับเกมในสมาร์ทโฟน

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 9 กันยายน 2012

ในสมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต (tablet) นั้น เจ้าของจะสามารถโหลดแอ็พ (ย่อมาจาก Application) หรือโปรแกรมมาใช้งานได้  และโปรแกรมที่มีอยู่หลากหลายนั้นก็จะมีเกมมากมายให้ดาวน์โหลด เกมหลายเกมเป็นที่นิยม มีผู้โหลดมาเล่นหลายล้านคนทั่วโลก

เช่นเกมที่ชื่อ Angry Bird ที่ผู้เล่นต้องยิงหนังสติ๊กที่มีกระสุนเป็นนก ใส่หมูเขียวจอมตะกละให้หมูต้องพินาศไป ยิ่งถล่มมาก ก็ยิ่งได้คะแนนมาก  ขณะนี้มีเกมประเภทดังกล่าวให้เล่นอีกมาก ผมเองก็เพิ่งโหลดเกมลักษณะนี้มาเล่น สนุกมากทีเดียวครับ เล่นติดต่อกันได้ถึงสามสี่ชั่วโมงโดยไม่เบื่อ ทำเอาปวดตาปวดหัวไปเลยทีเดียว

เหตุที่ผมและอีกหลายๆ คนกลายเป็นคนติดเกมชั่วขณะ เพราะเกมได้ให้ความสุขและความสำเร็จ ที่ยากจะได้รับในชีวิตจริง ซึ่งต้องอาศัยความอดทน ทุ่มเททั้งเวลาและแรงกายแรงใจ  แต่ในเกมนั้น ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถเข้าถึงความสุขเช่นนี้ได้  แต่ก็เป็นความสุขที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ความสุขในการเล่นเกมนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?  บทความชิ้นนี้เสนอมุมมองเกี่ยวกับความสุขและสิ่งที่แฝงอยู่ในเกมมือถือออนไลน์

ภารกิจที่ง่าย แต่ท้าทาย  

เกมในสมาร์ทโฟนมักจะมีตัวละครที่ต้องปฏิบัติภารกิจบางอย่างให้บรรลุ  แต่ภารกิจเหล่านั้นก็ง่ายแสนง่าย เช่น เก็บเหรียญให้มาก พาวัตถุให้ถึงที่หมายให้เร็วที่สุด กลิ้งหินลงท่อ ทำลายล้างให้พินาศไปเพื่อให้ผ่านเป้าหมายในแต่ละด่าน  ระหว่างเล่นก็จะได้รับคะแนนตามที่กำหนด  ที่น่าสนใจคือการผ่านภารกิจก็มักมีระดับความเก่ง คือ ระดับ “พอผ่าน” กับระดับ “ยอดเยี่ยม”  บางครั้งแม้บรรลุภารกิจระดับพอผ่านแล้วก็ยังไม่พอใจ ต้องกลับไปเล่นใหม่เพื่อทำให้ได้ถึงระดับยอดเยี่ยม ให้ได้ดาวหรือเหรียญเยอะๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี

กลับมาพิจารณางานในชีวิตจริง  ลักษณะของภารกิจที่ง่ายแต่ท้าทายนี้ยากที่จะพบเจอในชีวิตประจำวัน มีแต่งานที่ง่ายแต่น่าเบื่อ หรือยากเกินไปจนเครียดหรือกดดัน  ในชีวิตจริงหากทำงานผิดพลาดก็จะถูกตำหนิ ต่อว่า หรือถูกลงโทษ  แต่สำหรับเกมนั้นผู้เล่นมีแต่ความสุขเพราะไม่ถูกลงโทษ เล่นแล้วมีแต่คำชมเชย และรางวัล

ความหลากหลายของรางวัล 

ความสุขจากการได้รางวัลจะถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นตลอดเวลา  เหรียญ คะแนน เวลา ดวงดาว คำชื่นชม เป็นสิ่งที่ผู้เล่นเก็บเกี่ยวได้ตลอดเวลาที่เล่นเกม  เหรียญหรือคะแนนนั้นก็ไม่ได้มีอยู่ลอยๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปแลก “พลัง” หรือ “ความสามารถ” ขั้นสูงขึ้นเพื่อผ่านภารกิจที่ท้าทายขึ้นไปอีก เช่น กระโดดได้สูงขึ้น ทำลายล้างได้มากขึ้น ได้โอกาสมากครั้งขึ้น ตัวคูณคะแนนที่มากขึ้น ฯลฯ  เหรียญในเกมนั้นจะอยู่ในเกมที่ต้องใช้ความสามารถ แต่สำหรับผู้เล่นที่ต้องการความสะดวก ก็สามารถซื้อเหรียญ อาวุธ ความสามารถในเกมด้วย “เงินจริง” อันเป็นช่องทางหารายได้ของผู้พัฒนาเกม

น่าสนใจที่แต่ละเกม ยังมีถ้วยรางวัลที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจในเกม แต่เป็นรางวัลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเล่น เช่น เก็บคะแนนได้มาก (มากกว่าระดับ “ยอดเยี่ยม” เข้าไปอีก) เคลียร์เกมได้หลายรอบ เล่นเกมไม่ต่ำกว่าห้าชั่วโมงในหนึ่งวัน  ถ้วยรางวัลนี้จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเกม  แต่เป็น “ความภูมิใจ” ไม่ต่างกับการสะสมถ้วยรางวัลไว้บนตู้โชว์ในห้องนอนโดยไม่มีใครรู้

ตัวตนที่ถูกเปรียบเทียบ 

คะแนนในเกมยังจะถูกโพสต์ออนไลน์ไปในโลกอินเตอร์เน็ตที่เกมเชื่อมต่ออยู่ หรือโพสต์บนเว็บสังคมออนไลน์เพื่อแข่งขันกับเพื่อนของเราที่เล่นเกมเดียวกัน และยังแข่งขันได้กับผู้เล่นของทั้งโลก  ดังจะเห็นว่าเกมในสมาร์ทโฟน มันจะมีปุ่มแชร์ ทั้งในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์  นอกจากนี้ในเกมมักจะมีภารกิจที่ให้ผู้เล่นโพสต์ว่าตนกำลังเล่นเกมนี้อยู่หรือ “ชอบ” เกมนี้ซึ่งเป็นช่องทางการโปรโมทเกม

ผมเองเล่นเกมจนบรรลุภารกิจในเกมจนหมดแล้ว แต่เกมก็ยังบังคับให้เริ่มต้นเล่นใหม่อีก  เพราะเป้าหมายไม่ใช่แข่งกับความท้าทายในเกมเสียแล้ว แต่เป็นการแข่งขันคะแนนกับเพื่อนและคนอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบว่าใคร “เก่ง” กว่ากัน  แต่ละเกมมักจะ “จัดลำดับ” เรากับเพื่อนคนอื่นๆ ว่าใครเป็นที่หนึ่ง และเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่  ดังที่ผมเคยเห็นเพื่อนคนหนึ่งอุทานด้วยความตกใจว่า “เป็นไปไม่ได้” เมื่อเห็นเพื่อนอีกคนโพสต์คะแนนสูงเสียดฟ้าในเกมที่ตนเล่นอยู่  ไม่กี่นาทีต่อมา เพื่อนคนนี้ก็เล่นนั้นอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเอาชนะเพื่อนคนนั้น

ทั้งความท้าทายในเกมที่ผ่านพ้นมาได้ รางวัลที่เก็บสะสม และอันดับที่ดีกว่าคนอื่น เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นเกิดความสุข เพราะมีสิ่งที่มาพะเน้าพะนอตัวตนของผู้เล่นให้เกิดความรู้สึกว่า “กูเก่ง”  และสำหรับโลกออนไลน์ได้เพิ่มเติมความรู้สึกว่า “กูเก่งกว่าคนอื่น”

ในทางพุทธศาสนาเรียกสภาวะที่เกิดขึ้นนี้ว่า “มานะ” หรือการแข่งดี  หากเป็นเกมในสมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต  มานะจะเกิดขึ้นเฉพาะวงที่เล่นเกมด้วยกัน  อาจเล่นด้วยกันหรือต่างคนต่างเล่น แล้วมาจับกลุ่มพูดคุยว่าใครเล่นเกมถึงไหน ได้คะแนนเท่าไหร่  แต่สำหรับยุคออนไลน์  มานะจะถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นตลอดเวลาจากภาพการเปรียบเทียบจัดอันดับในเกมหรือเว็บออนไลน์ที่มีขึ้นแทบจะโดยอัตโนมัติหากเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

การไต่เต้าขึ้นสู่อันดับต้นๆ ในการจัดอันดับ ผู้เล่นต้องฝึกฝนทักษะในเกมมาก และต้องใช้เวลาในเกมมากเช่นกัน  แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะความสามารถบางอย่างในเกมก็สามารถใช้เงินจริงซื้อได้เพื่อย่นระยะเวลา  ดังนั้นมีมานะมาก ยิ่งเสียเวลามาก และอาจเสียเงินมากขึ้นไปด้วย  ผู้เล่น นอกจากจะเล่นด้วยความเพลิดเพลินแล้ว ก็ควรสังเกตตัวเองในขณะเล่นว่าถูกมานะครอบงำอยู่หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจากการเล่นเกมมากเกินไป

โชคดีที่ผมอยู่ต่างจังหวัด ทำให้อินเตอร์เน็ตช้า  มิฉะนั้นผมคงเห็นว่าผมอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับเพื่อน และคงเสียเวลาอีกหลายชั่วโมงหรือหลายวัน เพื่อทำอันดับของผมให้ดีขึ้นกว่านี้

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher