มารยาทมาตรฐานอเมริกัน (วันนี้)

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 26 มิถุนายน 2004

ข่าวเอบีซีของสหรัฐฯ รายงานว่า คนอเมริกันส่วนมากในขณะนี้ รู้สึกว่าสังคมของตัวเองนั้นกำลังตกอยู่ในสภาพ “ไร้มารยาท” หยาบกระด้างเพิ่มมากขึ้นจนน่าวิตก  โดยผลการสำรวจบอกว่า มากกว่า ๑ ใน ๓ ของประชาชนจำนวน ๑,๐๐๐ คนที่สำรวจนั้น มีนิสัยหยาบกระด้างขาดแคลนมารยาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการสำรวจเดียวกันในปี ๒๐๐๒ และ ๒๐๐๑  ตัวอย่างที่พบบ่อยแบบทั่วไป คือ การเดินชนไหล่กันโดยไม่มีคำขอโทษในชั่วโมงรีบเร่ง หรือลูกค้าผู้รีบร้อนมักแวดใส่คนขายของ ทั้งๆ ที่ตัวเป็นลูกค้าเพียงคนเดียวในร้าน (จะรีบไปไหน…จะรีบไปไหน?)

หลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า คนอเมริกันยิ่งแล้งมารยาทและขาดน้ำใจกันมากขึ้น  ยกตัวอย่าง บรรดานักช็อปปิ้งในเมืองฟลอริดาเหยียบผู้หญิงคนหนึ่งหมดสติ เพื่อจะกรูเข้าไปซื้อของราคาพิเศษในช่วงลดกระหน่ำของห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ท และภาพวิดีโอบันทึกการผลักไสอย่างชุลมุนระหว่างนักช็อปทั้งหลายในสาขาที่หลุยเซียน่า  โดยสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้สรุปกันว่ามาจากขาดการอบรม สภาพเศรษฐกิจ และการอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป หรืออย่างที่เขาสรุปรวมว่ามาจากสังคมที่มีแต่ “ฉัน” อันสะท้อนถึงการขาดความเคารพในผู้อื่นอันเป็นแก่นแท้ของมารยาท  และเสียงบ่นของคนอเมริกันเวลานี้ คือ อาการดังกล่าวมักพบมากใน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” (Young Generation) พันธุ์ X Y Z ทั้งหลาย เพราะกลุ่มนี้มักเชื่อว่าพวกตนนั้นมี “สิทธิ์” ในทุกๆ เรื่อง

เมื่อย้อนกลับมามองบ้านเราเอง สถานการณ์นี้คงมิได้แตกต่างกันนัก คือยังคงตามความเสื่อมโทรมของสังคมอเมริกันมาอย่างกระชั้นชิด เช่นเดียวกับปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยุวอาชญากร ความรุนแรงทางเพศ การหย่าร้าง การอยู่แบบตัวใครตัวมัน ยาเสพติด ฯลฯ เพราะเราพัฒนามาในทิศทางเดียวกัน คือการไปสู่สังคมแบบปัจเจกนิยม บริโภคนิยมสูงสุด สรรพสิ่งจึงอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบตัวฉันเป็นศูนย์กลาง พูดแบบภาษาชาวบ้านคือ “เห็นแก่ตัว” นั่นเอง มารยาทที่ถดถอยลงของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของ “มารยาท” ในความหมายแท้จริงเสียก่อน เพราะคำดังกล่าวได้ถูกทำให้เสียหาย (ยับเยิน) ด้วยการบิดเบือนของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าการกระทำแบบใดมีมารยาทหรือไม่มีมารยาท หรือสุภาพ-ไม่สุภาพ เพื่อยกสถานะของกลุ่มตนเองให้สูงกว่า เหนือกว่าผู้อื่น  เช่น การกำหนดว่า ไพร่ ชาวนาชาวไร่เป็นผู้ไม่มีมารยาท แต่เจ้า ข้าราชการ ชาวเมือง เป็นผู้มีมารยาท  การสวมใส่รองเท้าแตะอันเป็นความปกติของชาวบ้าน เมื่อเข้าสถานที่ราชการในยุคหนึ่งจึงถือเป็นความไม่มีมารยาท ไม่สุภาพ

แก่นแท้ของของมารยาทนั้น คือ ความเคารพและใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่น เกรงว่าการกระทำของเราจะไปทำให้เขาขัดข้องไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เดือดร้อนจากเราเป็นต้นเหตุ  ในทางกลับกัน มารยาทก็เป็นการกระทำของเราเพื่อให้คนอื่นรู้สึกสุขกายสุขใจ รู้สึกดีๆ ได้ด้วยเหมือนกัน  เช่น เราจะไม่แซงคิวคนอื่นเพราะคนอื่นเขามายืนรอนานกว่าเรา ลำบากกายกว่าเรา  เราจะไม่กินอาหารมูมมามเพราะเราอาจเอาเปรียบกินมากกว่าคนอื่น และเสียสุขภาพของเราเอง (เคี้ยวไม่ละเอียด อาหารไม่ย่อย ฯลฯ) และยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่สะอาด จึงไม่เจริญตา  เช่นเดียวกับการพูดจาด่าทอไม่เจริญหูผู้ฟัง ไม่ส่งเสริมความงอกงามใน “ธรรม” ของผู้อื่นซึ่งล้วนเป็นปุถุชนที่ยังต้องการความสะอาดกาย วาจาเป็นฐานของการพัฒนาใจ  เช่นเดียวกัน การไหว้ทักทายผู้อื่น การพูดจาน่าฟัง เป็นการเอื้อให้ผู้อื่นสบายใจเพราะเรา  หรือการรู้จัก “ขอบคุณ ขอโทษ-ขออภัย ไม่เป็นไร ฯลฯ” แสดงถึงความรู้สึกสำนึกต่างๆ ของเราที่มีต่อผู้อื่น เหล่านี้ล้วนเป็นกุศลกรรมทางหนึ่งที่เราทำให้แก่ผู้อื่น

ในขณะเดียวกัน เราเองก็ได้ขัดเกลากาย วาจา ใจ ของเราให้สะอาด ลดตัวตนลงมา มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเห็นความสำคัญของผู้อื่น  ดังนั้น มารยาทที่แท้จึงเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนามนุษย์ทั้งปัจเจกและสังคม ให้มีความตระหนักรู้ในการจัดความสัมพันธ์เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี เป็นรูปแบบหนึ่งของจริยธรรมทางสังคม  การสอนมารยาทจึงควรสอนวิธีคิดด้วย มิใช่สอนเพียงรูปแบบ วิธีการ

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับมารยาทในความหมายที่กล่าวมา จะพบว่าในข้อธรรมเช่นสังคหวัตถุ 4 จะมี “ปิยวาจา” เป็นองค์ประกอบหนึ่ง คือการจะอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนั้น ละเลยวาจาไม่ได้ แม้ในวัตรปฏิบัติหรือพระวินัยหลายข้อก็มีขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้มีมารยาทอันงามในอริยบทต่างๆ เพื่อส่งเสริมความงอกงามในธรรมของภิกษุเองและคฤหัสถ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ผู้ฝึกฝนมารยาทในความหมายนี้ จึงเป็นผู้ขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้มีความประณีต มีสติ มีความละเอียด สำรวมตน เมื่อทำบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นนิสัย ย่อมเอื้อต่อการพัฒนาตนเองเพื่อการเข้าถึงธรรม เพราะได้รับการขัดเกลากาย วาจา ใจให้สะอาด เป็นเงื่อนไขเอื้อแก่การพัฒนาต่อไปสู่ความสว่าง-สงบได้ง่าย

การฝึกฝนเด็กและคนทั่วไปในสังคมให้มีมารยาท จึงมิใช่เพียงเพื่อยกระดับตนเองเข้าสู่สังคมชนชั้นสูง มิใช่ความดัดจริตเสแสร้ง-ฉาบฉวย มิใช่เป็นไปเพื่อแบ่งแยกกลุ่มชน (ชั้นสูง-ไพร่) มิใช่การกระทำที่ต้องไปเสียเงินเสียทองเข้าสถาบันที่ไหนฝึกให้แต่อย่างไร  แต่อยู่ที่การฟื้นฟูความเข้าใจในแก่นแท้ของมารยาทและจริยธรรมให้ถูกต้องเป็นสำคัญ


ภาพประกอบ