รวยออกอย่างนั้นฝึกงานไปทำไม?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 10 เมษายน 2004

น้องอิ๊งลูกสาวคนเล็กของท่านนายกฯ และเด็กนักเรียนนักศึกษาอีกหลายหมื่นคน ลงทะเบียนขอทำงานในช่วงปิดภาคการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่า เพื่อฝึกฝนเด็กไทยให้รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ให้เอาแต่แบมือขอเงินพ่อแม่ใช้จนเคยตัวติดเป็นนิสัย นั่นคือรัฐบาลอยากให้เยาวชนเห็นคุณค่าของเงินและรู้จักพึ่งพาตนเอง จะได้ไม่คอยรอแต่ว่าเมื่อไรรัฐบาลจะเอื้ออาทรแจกเงิน แจกที่ดิน หมวกกันน็อค ฯลฯ อันไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทย

การส่งเสริมให้ใครก็ตามตระหนักในคุณค่าของเงินนั้น เป็นสิ่งที่ดีและควรช่วยกันสนับสนุน โดยเฉพาะกับเยาวชนซึ่งยังหาเงินเองไม่ได้ (หรือแม้หาได้แล้ว-รวยแล้วก็ตาม) การได้ทำงานหาเงินด้วยตนเอง เชื่อกันว่ามีผลต่อการใช้เงินด้วย เพราะหากเงินได้มายากกว่าการแบมือขอ ทำให้การใช้ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี จึงเป็นการเอื้อให้เกิดโอกาสของการฝึกนิสัยอดออมให้ตามมาได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งหากได้ทำบ่อยเข้าจนกลายเป็นความเคยชิน ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้จักใช้ทรัพย์และรักษาทรัพย์อย่างฉลาด รวมทั้งเกิดคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดีตามมาอีกหลายอย่างด้วยจากการอดออม

อย่างแรกคือ รู้จักวางแผนการใช้จ่าย คือบริหารทรัพยากรเงิน เวลา ความต้องการของตนเองให้สอดคล้องไปด้วยกันได้ อย่างที่สองคือ ได้เรียนรู้จักความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งของที่อยากได้ ในขณะที่เงินและเวลายังไม่อำนวย รวมไปถึงการรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ฯลฯ อุปนิสัยของประชากรแบบนี้ต่างหากที่ประเทศ “พัฒนา” แล้วต้องการ มิใช่บุคคลที่พร้อมจะกู้หนี้ยืมสิน เอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน (แล้วค่อยไปชักดาบเอาข้างหน้า)

ดังนั้น เมื่อสอนให้ตระหนักรู้คุณค่าของเงินแล้ว ก็จำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การรู้จักอดออมด้วย มิฉะนั้นการขยันหาเงินเพราะเห็นค่าของเงิน ก็อาจจะเป็นการเห็นค่าในทางเอื้อให้เอามาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายได้ง่ายขึ้น เป็นคนรออะไรไม่ได้ อดทนอดกลั้นไม่เป็น อยากมีเหมือนคนอื่นๆ กระทั่งอาจนำไปสู่การหาเงินด้วยวิธีการใดก็ได้ (ค้ายา ขายบริการทางเพศ ลักขโมย โตขึ้นก็คอร์รัปชั่น ฯลฯ) เพื่อหาเงินมาสนองความต้องการที่ควบคุมไม่ได้นั้น เช่นจ่ายไปกับการเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่หรือซื้อเวลามา “เมาท์” ตามแรงกระหน่ำของโฆษณา (ค่าแรงฝึกงานประมาณอย่างคร่าวๆ ตามที่ลูกสาวนายกฯ ได้รับ สามารถซื้อเวลาเมาท์ได้ชั่วโมงเศษ หากซื้อนมกล่องเสริมสุขภาพก็ได้กว่าโหล)

แต่จุดมุ่งหมายของการฝึกงานที่สำคัญยิ่งไปกว่าการเห็นคุณค่าของเงินและการอดออม คือการได้ฝึกฝนให้มีทัศนะ (ทิฐิ) ที่ถูกต้องต่อคุณค่าความหมายของงาน นั่นคือการทำงานไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ “เงิน” อย่างล้วนๆ เท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าด้านอื่นซึ่งมีค่ากว่าเงินมากมายนัก ในทางพุทธศาสนานั้น เราทุกคนทำงานมิใช่เพียงเพื่อประกอบสัมมาอาชีวะเลี้ยงตนเองให้รอด ไม่เป็นภาระของผู้อื่นเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญกว่านั้น คือ งานเป็นเครื่องมือและกระบวนการสำคัญของการขัดเกลาตัวตน (อัตตา) ของมนุษย์อย่างสำคัญด้วย เพราะการทำงานร่วมกับคนอื่นที่มีจริตนิสัย ความคิด ทัศนะ ฯลฯ แตกต่างกัน จะต้องอาศัยการปรับตัวปรับใจมาก เป็นโอกาสของการลดตัวกูของกู

หรือกล่าวเฉพาะตัวบุคคลผู้นั้นเอง การทำงานเอื้อให้เราได้พบศักยภาพของตนเอง รู้ว่าตนเองนั้นชอบ-ไม่ชอบ ถนัด-ไม่ถนัดในงานแบบไหนอย่างใด เพื่อทำงานให้สอดคล้องกับฉันทะ (ความชอบ) ของตนเอง เพราะความสามารถของบุคคลจะพัฒนาได้ดีหากมีฐานอยู่บนความพอใจในสิ่งที่ทำ เนื่องจากทำให้เกิดความขยันขันแข็ง เอาใจใส่ และตรวจสอบไตร่ตรองปรับปรุงงานที่ทำอย่างสม่ำเสมอ ตามหลักอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) นำไปสู่ความสำเร็จของงานในที่สุด การค้นพบฉันทะและศักยภาพของตัวเรา จึงเอื้อให้บุคคลพัฒนาความสามารถได้มากและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวเราเองและผลงานที่สร้างขึ้นมา อันจะไปเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคมด้วย

งานเป็นเครื่องมือสำคัญในการขัดเกลาตัวตน เพราะการทำงานร่วมกับคนอื่นที่มีจริตนิสัยและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะต้องอาศัยการปรับตัวปรับใจมาก ซึ่งเป็นโอกาสของการลดตัวกูของกู

การฝึกงานจึงควรเอื้อให้เยาวชนได้เรียนรู้เพื่อทดสอบใจและศักยภาพในตัวของเขา ว่าใจจริงแล้วงานที่ทำแล้วชอบคืองานอะไร นิสัยใจคอและความสามารถของตนเองเหมาะสมกับงานที่อยากทำหรือไม่ บางคนอาจชอบงานบริการที่ได้พบปะผู้คนมากๆ บางคนชอบงานเบื้องหลัง บางคนชอบงานคิดสร้างสรรค์ บางคนชอบงานคำนวณ และอีกหลายคนชอบงานฝีมือ ฯลฯ คนที่ไม่ชอบงานพบปะผู้คนแล้วต้องไปเป็นหมอรักษาโรค หรือเป็นพนักงานให้บริการก็อาจจะหน้างอ เสียงเขียวได้ง่าย ฯลฯ

การค้นพบศักยภาพและความชอบของตนเอง แล้วได้พัฒนาตนเองในงานนั้น ย่อมเปิดทางให้บุคคลทำงานอย่างมีความสุขใจ อิ่มเอมใจ เกิดกุศลจิตที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตได้มากกว่างานที่ทำด้วยความจำใจ โดยงานที่ว่านี้อาจจะมิใช่งานที่สร้างเงินมากๆ แต่การเลือกงานที่ว่านี้ย่อมดีกว่าการทำงานที่ได้เงินมากๆ แต่ต้องทำด้วยความกล้ำกลืนฝืนทน เครียด ทุกข์กันทุกวัน เสียคุณภาพชีวิต ก่อโรคร้ายมิใช่หรือ แน่นอนว่าในสังคมที่ให้เงินเป็นตัวตัดสินคุณค่าของงานย่อมตอบว่าไม่ใช่ เพราะผู้คนจำนวนมากในเวลานี้ทำงานกันด้วยความทุกข์ทรมานเพื่อให้ได้เงินมา แล้วไปหาความสุข แทนที่จะเลือกทำให้งานที่ทำนั้นเป็นความสุขอยู่ในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการค้นหาศักยภาพตนเองดังกล่าวมา การจะพบสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดจะต้องมิใช่ทำกันอย่างฉาบฉวย หากต้องอาศัยความอดทนในการทำงานนั้นๆ ด้วย มิใช่พบอุปสรรคก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากต้องใช้ความอดทนในการเรียนรู้และทดลองอย่างจริงจังด้วยในช่วงเวลาที่ยาวพอ มิเช่นนั้นบุคคลผู้นั้นจะกลายเป็นคนจับจด เปลี่ยนการทดลองไปเรื่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่าไม่ชอบ-ไม่ใช่ โอกาสของการฝึกฝนตนเองก็จะกลับกลายเป็นลดน้อยไปได้ เพราะขาดความอดทน  ในทางกลับกัน การอดทนทำงานที่ไม่ชอบได้ โดยไม่ทุกข์กับมันมากนัก บุคคลก็จะได้พิสูจน์งานนั้นจนแน่ใจแล้วว่าชอบหรือไม่ชอบ คุณค่าที่ยิ่งกว่านั้น คือคนผู้นั้นจะแกร่งขึ้น จากการได้ฝึกฝนความอดทนและควบคุมใจของตนเองได้มากขึ้น เกิดคุณภาพใหม่ของวุฒิภาวะทางอารมณ์และสติปัญญา

การฝึกงานและการทำงานจึงเป็นกระบวนการฝึกฝนวุฒิภาวะของมนุษย์ด้วย มิใช่มีเป้าหมายเกี่ยวกับเงินทองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ต้องถามว่ารวยออกอย่างนั้น ทำไมยังต้องฝึกงานอีก ว่าแต่ผู้ใหญ่ทั้งหลายได้สอนเด็กให้เห็นคุณค่าของ “งาน” ที่ไปเกินกว่า “เงิน” กันแล้วหรือยัง?


ภาพประกอบ