รอยทางที่ขาดหาย…จากพระแม่น้านาง ถึงอิฐก้อนแรกสามเณรีธัมมนันทา

สุภาพร พงศ์พฤกษ์ 21 กรกฎาคม 2001

กลับจากกรุงเทพฯ หนนี้ เล่าให้แม่ฟังว่า ลูกสาวได้ไปกราบท่านสามเณรี  จริงๆ ดิฉันใช้คำว่า “พระผู้หญิงน่ะแม่”  แม่ก็บอกว่า “ไม่มี มีไม่ได้ ผู้ชายถึงจะเป็นพระได้ เป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่ชี”  ต้องยืนยันกันว่า “ก็ไปกราบมาแล้ว ท่านอยู่นครปฐมอยู่วัด (วัตร) ทรงธรรมกัลยาณี”  แม่ยังคงค้างอยู่ในใจ “ผู้หญิงบวชเป็นพระ ก็ไม่สมบูรณ์”

แม่ผู้เปี่ยมศรัทธาในบวรพุทธศาสนาคิดได้อย่างทันสมัยทีเดียว เป็นพระได้ไม่สมบูรณ์  ว่าไปตามความเชื่อที่แม่มีมา แม่เกิดสมัยที่ ลูกสาวคนโตจะต้องเสียสละไม่ได้เรียน

สังคมบอกต่อๆ กันมาอย่างนี้ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ผู้หญิงที่เลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาก็ต้องเป็นแม่ชีเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นอุบาสิกาที่เพียรไปวัด ฟังธรรม และหนักแน่นในการทำบุญ  สังเกตไหมคะว่าที่วัดเราจะเห็นอุบาสิกามากกว่าอุบาสก  ท่านอาจารย์โกศิล ภิกษุแกนนำธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำ ท่านได้ไปจำพรรษาที่นิวซีแลนด์ ก็มีข้อสังเกต “แรกๆ ก็คิดว่าเป็นเฉพาะสังคมไทย ที่ผู้หญิงไปวัดมากกว่า และที่ผู้ชายน้อย เพราะผู้ชายสามารถที่จะบวชเป็นพระได้  แต่ที่นั่นก็เหมือนกัน ผู้หญิงสนใจปฏิบัติธรรมมากกว่า”

อีกอย่างคือในประวัติศาสตร์สังคมไทย ๗๐๐ ปีมานี้ ไม่เคยมีการบวชพระผู้หญิงอย่างถูกต้องตามขนบประเพณี ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกกรณีของ “สามเณรี สตรีผู้พี่สาระ และสามเณรีสตรีจงดีผู้น้อง” บุตรีของท่านนรินทร์กลึงที่ได้รับการบรรพชาเมื่อ ๑๑ ม.ค. ๒๔๗๑

ในประสบการณ์ทำงานในแวดวงชาวพุทธระหว่างประเทศ ดิฉันได้เห็นความหลากหลายของวัตรปฏิบัติที่ต่างไปตามประเพณี ดิฉันเคยขอให้ผู้ชาย ถวายน้ำชาแด่องค์ตัวแทนท่านทะไลลามะ  ด้วยความเคยชินในประเพณีเถรวาท องค์ตัวแทนผู้เบิกบานจึงร้องบอกว่า “แล้วผู้หญิงไม่เท่าผู้ชายหรือไร”  ได้พบกับพระภิกษุณี หลายต่อหลายวัฒนธรรมทั้งเอเซียและตะวันตก แต่ทุกรูปเป็นมหายาน

บ้านเราไม่นับว่าภิกษุณีในสายมหายานเป็นพระ แม้ว่าท่านจะถือศีลมากกว่าพระภิกษุและความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมของท่านไม่มีที่ติ วัตรปฏิบัติงดงาม

ผู้หญิงไทยหลายต่อหลายท่าน เมื่อบังเกิดความเลื่อมใสในพระธรรม ใคร่จะเข้ารับการบรรพชาเดินทางตรงเข้าถึงธรรม ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพุทธานุญาตแด่พระแม่น้านางมหาประชาบดีแต่ครั้งพุทธกาล จึงต้องออกจากสังคมไทย เพื่อเข้ารับการบรรพชาในสายมหายาน ที่ไต้หวันบ้าง อเมริกาบ้าง หรือในฝรั่งเศส

ภาพวาดพระพุทธประวัติ ตอนพระนางปชาบดีโคตมีทูลขอบวชเป็นพระภิกษุณี

กัลยาณมิตรรุ่นน้องของดิฉัน ท่านได้ตัดสินใจเข้ารับบรรพชาเป็นสามเณรี เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ในสายมหายาน สังฆะของท่านติช นัท ฮันห์ (อาจารย์เซ็นผู้ทำให้ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ โด่งดังไปทั่วโลก) ในฝรั่งเศส  ท่านจบตรีจากมหิดล และโทจากอเมริกา ทำงานเพื่อคนยากไร้ในลาวอยู่หลายปี และรอจนครอบครัวพร้อมที่จะให้เธอออกจากเพศครองเรือน จึงได้บวช

การทำให้การบรรพชาของผู้หญิงเป็นประเด็นสาธารณะ ที่เราควรถามตัวเราเองในฐานะของอุบาสกและอุบาสิกา “ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร” อย่าให้คำตอบจำกัดอยู่กับพระเท่านั้น เพราะเราก็มีหน้าที่ในฐานะหนึ่งในพุทธบริษัท

หากจะบอกว่าเราไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์มาก่อน นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการด้านพุทธท่านก็แย้งได้เช่นกันว่า สังคมไทยก็ไม่เคยมีภิกษุสงฆ์มาก่อน

ภิกษุณีธัมมนันทา ภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของประเทศไทย

สถานการณ์สังฆะของเราก็ไม่ต่างไปจากสังคมเถรวาทอื่นๆ เช่นศรีลังกา ที่สังฆะได้ย่อหย่อนอ่อนแอมีบทบาทที่นอกรอยทาง (พระเล่นการเมือง)  จึงไม่น่าแปลกใจในท่ามกลางการโต้แย้งเช่นเราในเรื่องบริบูรณ์หรือไม่ กระนั้นการบรรพชาของภิกษุณีสงฆ์ก็บังเกิดขึ้นปีละสองครั้ง จนบัดนี้ศรีลังกามีพระผู้หญิง ๒๐๐ กว่ารูป และการบวชเป็นทศศีลมาตา (ถือศีล ๑๐) ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ  ท่านสามเณรีเล่าให้ฟังว่า “วัดที่อาตมาไปปฏิบัติในศรีลังกา เป็นวัดที่ทำงานกับชุมชน และฆราวาสก็มากันมากมาย มาให้การสนับสนุนภิกษุณี”

โครงสร้างของสังฆะที่เรียวรีสึกกร่อนลงไปเรื่อยๆ ยิ่งอ่อนแอลง จนพุทธศาสนาเมืองไทยในสายตาของศาสนิกชนโลก เรากลายเป็นพุทธศาสนาของการเรี่ยไรทำบุญ [Making Merit Buddhism] สร้างโบสถ์ยิ่งใหญ่ ยิ่งได้บุญเยอะ เป็นบริโภคนิยมในปริมณฑลแห่งจิตวิญญาณ

ทุกครั้งที่มีการบรรพชา (บวชเพื่อบรรลุธรรม) นั้นหมายถึงว่ามีพุทธสาวก และพุทธสาวิกาที่ปวารณาตนว่าจะเป็นกำลังเสริมสร้างให้สังฆะเข้มแข็งขึ้น  พระผู้หญิงอาจไม่เคยมีในสังคมไทย แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีในสังฆะแต่ครั้งพุทธกาล  และการแบ่งว่าเป็นมหายานหรือเถรวาท ก็มาแบ่งในภายหลังตามวัฒนธรรมต่างหาก แต่เสมือนเส้นแบ่งนั้นจะเป็นเส้นแบ่งถาวรในใจของเรา

รอยทางที่ขาดหายไป … จึงอยู่ที่เรา อุบาสกและอุบาสิกาที่จะเข้ามามีบทบาทในการรังสรรค์สังฆะให้ถึงพร้อม ตามวิสัยทัศน์แห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ฝากธรรมไว้กับพุทธบริษัท ๔ … ในบัดนี้ … มีผู้มาสืบสานรอยทางที่เคยขาดหาย …

และเชื่อมั่นในรากฐานคุณงามความดี  หากแม่ได้พบท่านสามเณรี แม่ก็จะกราบท่านได้อย่างสนิทใจ ร่วมอนุโมทนาที่ท่านสามเณรีเป็นผู้อุทิศตน เป็นอิฐก้อนแรกบนรอยทางที่ขาดหาย


ภาพประกอบ