ระยะห่าง ระหว่างชีวิต

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 8 ธันวาคม 2013

ในเมืองใหญ่ ผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ใกล้กัน  เพียงชั่วประตูห้อง แต่ละห้อง ขังใครบางคนไว้อย่างโดดเดี่ยว  เพียงแค่แผ่นพาร์ทิชั่น ก็ขังแต่ละคนไว้ในคอกของการทำงาน  แม้เพียงยืนเคียงแทบหัวไหล่ชนกัน แต่ช่องว่างเพียงไม่กี่นิ้ว ก็ขังงานในหน้าที่ที่วิ่งมาบนสายพานในโรงงาน อย่างที่ไม่อนุญาตให้ใครคนนั้นได้มีคนข้างๆ เป็นเพื่อน  ถนนหนทาง ช่องว่างเพียงน้อยนิด ก็ขังแต่ละคนไว้ในรถยนต์ส่วนตัวอย่างมิดชิด  บนพาหนะสาธารณะอย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ยิ่งหนักหนากว่า ใครหลายคนอยู่ชิดติดกัน มีเพียงเนื้อผ้าบางเบาที่กั้นกันไว้ หรืออาจจะเบียดชิดจนเนื้อหนังสัมผัสกัน ก็เป็นได้

การอยู่ร่วมหลอมหลวมของผู้คน ทำให้เราบอกไม่ได้ชัดถึงความใกล้-ไกลกัน  ที่ใกล้อาจห่างไกลในความสัมพันธ์  ที่ไกลห่าง บางทีกลับรู้สึกใกล้ชิด ด้วยโฉมหน้าใหม่ของการสื่อสาร ที่เปิดให้ใครต่อใครเข้ามาล่วงรู้ความเป็นส่วนตัวทุกกระเบียดนิ้ว แต่ไม่แน่ใจว่านั่นคือความใกล้ชิดหรือไม่

ความใกล้ ไกล ระหว่างมนุษย์ทุกคน มีผลทั้งต่อสัมพันธภาพ และจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด

เรา  ควรใกล้ชิด หรือห่างเหิน วางระยะกับคนรอบตัวเราสักแค่ไหนดี

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกชีวิตล้วนมีระยะห่างระหว่างชีวิตที่ตัวเองจะรู้สึกปลอดภัย และปลอดโปร่งด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์

ลองสังเกตว่า หมา แมว แม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคน แต่สำหรับคนที่มันไม่รู้จักมักคุ้น มันก็ไม่ได้ยอมให้มาจับหัวดึงหางเล่นได้ง่ายๆ  สัตว์โลกย่อมมีสัญชาตญาณการปกป้องตัวเองทั้งนั้น แม้แต่แมลงสาบที่มีหนวดเป็นเหมือนเรดาร์ คอยจับความเคลื่อนไหวรอบๆ ตัว ถ้ามีอะไรไม่น่าไว้ใจก็จะได้เผ่นได้ทัน เป็นต้น

แต่สำหรับคนเราถึงจะมีสมอง กลไกการทำงานที่ซับซ้อน ทำให้มีความสามารถในการหลบหลีกเภทภัยต่างๆ ได้เยี่ยมยอดแล้ว สัญชาตญาณการปกป้องตัวเองก็ยังคงจำเป็นอยู่นั่นเอง ลองดูข้อมูลที่มีผู้ศึกษาไว้นะคะว่า…

มนุษย์เราอนุญาตหรือยอมให้เฉพาะคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง เพื่อนสนิท คนรัก เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเราได้ถึง 45 เซ็นติเมตร หรือระยะน้อยกว่านั้น ถือเป็นระยะประชิด หรือเอื้อมมือไปถึงเลยก็ว่าได้ จึงต้องเป็นคนที่ไว้วางใจ  ส่วนถ้าเป็นคนแปลกหน้า ในกรณีที่เป็นแพทย์ พยาบาล บุคลลากรที่ต้องทำหน้าที่รักษาเรายามป่วยไข้ หรืออาชีพบางอย่างเช่น ช่างแต่งหน้า ทำผม ช่างตัดเสื้อ ซึ่งหากเป็นผู้มีมารยาทอันดี การเข้าใกล้ใครที่เราไม่คุ้นเคย ก็จะมีท่าทีการบอกกล่าว ขออนุญาต  ระยะห่างกันเพียง 45 เซ็นติเมตร เป็นระยะสงวนสำหรับคนใกล้ชิด และจะรู้สึกว่าถูกคุกคามทันทีที่มีการล่วงล้ำเข้ามาในระยะ 45 เซ็นติเมตรนี้ ของคนที่เราไม่ไว้วางใจ

ส่วนถ้าเป็นแค่คนรู้จัก เพื่อนที่ยังไม่สนิท มนุษย์เราก็จะยอมให้เข้าใกล้ได้ในระยะ 1.5 เมตร ถึง45 เซ็นติเมตร จะเห็นว่านี่คือระยะที่คนปกติจะทักทายกัน จับมือ สวัสดี หรือโค้งคำนับ ฉะนั้นธรรมเนียมการทักทายของบางชนชาติ ที่ต้องเข้าใกล้กันมากกว่าระยะนี้ บางคนจึงรู้สึกไม่สะดวกใจ เช่น การโอบกอด สัมผัสแก้ม สัมผัสจมูก หรือแค่สัมผัสมือ บางคนก็รู้สึกขัดเขิน

สำหรับการติดต่อกันอย่างค่อนข้างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม เจรจาธุรกิจ สัมภาษณ์งาน เราก็จะมีระยะให้คนที่เราต้องติดต่อด้วยเข้าใกล้ได้ในช่วง 1.5 เมตร ถึง 3.7 เมตร ฉะนั้นในวงประชุมที่ต้องนั่งกันน้อยกว่าระยะ 1.5 เมตร ก็จะรู้สึกอึดอัดได้

สุดท้าย ระยะห่างตั้งแต่ 3.7 เมตร ขึ้นไป เป็นระยะสำหรับการปรากฎตัวในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่สาธารณะ บรรยาย แถลงข่าว

นี่เป็นหมุดหมาย ระยะใกล้-ไกล ที่เขามีการศึกษากันว่า มนุษย์เรามีระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นแค่ไหนในทางกายภาพ เพื่อปกป้องตัวเองจากคนอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความซับซ้อนของมนุษย์ ทำให้เรามีกลไกปกป้องตัวเองมากมายอย่างนึกไม่ถึง

นักจิตวิทยาศึกษาการทำงานของสมอง ส่วนที่เรียกว่า “ลิมบิก” (Limbic) สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก จะมีการสั่งการที่เป็นกลไกการปกป้องตัวเอง และแสดงออกมาด้วยการใช้ท่าทางอย่างที่เราเองก็ไม่ทันได้รู้ตัว  เช่น เมื่อคุยกับคนแปลกหน้าที่เรายังไม่ไว้วางใจนัก จะมีการยกมือขึ้น อาจจะอยู่ในท่ากอดอก หรือถือสิ่งของอย่างแก้วเครื่องดื่มไว้บริเวณอก หรือถือเอกสารหนังสือไว้ในระดับอก ท่าทางเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น เพราะมีท่อนแขนหรือสิ่งของคอยกำบัง  อีกตัวอย่างหนึ่ง ระหว่างที่นั่งสนทนาพูดคุยอยู่กับใคร หากมีเรื่องที่เราไม่สบายใจในสิ่งที่กำลังได้ยิน เราจะปิดเปลือกตาลงช้าๆ หรือยกมือขึ้นลูบ หรือสัมผัสตัวเองส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจจะเป็นมือ แขน นั่นเป็นการแสดงออกถึงการปลอบโยนตัวเอง ในสิ่งที่กำลังไม่สบายใจ หรือไม่ต้องการรับรู้ในสิ่งที่กำลังได้ยิน

นี่เป็นอีกหนึ่งกลไกทางธรรมชาติ ในการปกป้องตัวเองทางกายภาพที่ละเอียดอ่อนจนเราไม่รู้สึกตัว แต่มนุษย์เราก็ยังมีความพยายามในการปกป้องตัวเองในแบบอื่นอีก  และมีการวิจัยว่าในวงประชุม ยิ่งประชุมนานๆ ไอคิวและไอเดียในการคิดสร้างสรรค์งานอาจหดหาย  นั่นเป็นเพราะในที่ประชุมหลายๆ แห่งกลายเป็นเวทีสำแดงตัวตน ต่างคนต่างนำเสนอความคิดเห็นที่เอาตัวเองเข้าไปผูกโยง หากความคิดอ่านถูกปฏิเสธ ก็จะรู้สึกว่าตัวตนของตัวเองถูกปฏิเสธไปด้วย  การประชุมติดตามงาน ก็ยิ่งต้องปกป้องตัวเองมากขึ้น ด้วยการยกเหตุปัจจัยต่างๆ นานา ที่เป็นเหตุให้งานไม่เป็นไปตามแผน  การที่ผู้คนเผชิญหน้ากันในวงประชุม จึงอาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันทางความรู้สึกได้

น้อยครั้ง ที่จะเห็นว่าการพบปะกันในที่ประชุม จะเป็นการสร้างบรรยากาศ ความรู้สึกแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับ เคารพในกันและกันอย่างแท้จริง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ต่างคนได้แสดงตัวตน และยอมรับความอ่อนด้อย ผิดพลาด จุดอ่อนของกันและกัน  หากว่าการประชุมยังไม่สามารถดำเนินไปบนวิถีทางแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับกันและกัน และฟังกันอย่างลึกซึ้ง การประชุมก็อาจทำให้กระบวนการทำงานถดถอย คนจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่าการประชุมทำให้เสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์และน่าเบื่อ

กลไกปกป้องตัวเอง พบได้บ่อยในที่ประชุม เช่น การปกป้องความคิดของตนเวลามีคนไม่เห็นด้วย หรือการยกเหตุผลขึ้นมาอธิบายว่าทำไมงานที่รับผิดชอบจึงไม่เป็นไปตามแผน

ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล การที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับใครสักคน เป็นสิ่งที่ทำให้กลไกลทางธรรมชาติในโหมดปกป้องตัวเองตื่นตัว และพร้อมจะทำหน้าที่  หากเราไม่ทันรู้สึกตัว ก็อาจทำให้กลไกปกป้องตัวเองทำงานมากเกินไป จนอาจกลายเป็นการข่มขู่ คุกคามผู้อื่นอย่างลืมตัว ซึ่งอาจจะเป็นแค่ท่าที ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงคำพูด หรือการกระทำบางอย่าง

ความขัดแย้งอึดอัดขัดใจระหว่างกัน บางทีเกิดจากการที่เราปล่อยให้กลไกปกป้องตัวเองทำงานมากเกินไปก็เป็นได้  ไม่มีอะไรจะแก้ไขได้ดีเท่ากับการมีสติ คอยตรวจสอบการรู้ตัวของตัวเองอยู่เสมอๆ ยิ่งการรู้ตัวได้ละเอียดเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรารู้ทัน

รู้กระทั่งว่า คำพูดของใครบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ทำให้เราสั่นไหว สั่นคลอนความเชื่อมั่น  แค่รู้ให้ทัน ก็จะหยุดความคิดปรุงแต่งที่จะทับถมตัวเอง หรือคิดหาทางตอบโต้ด้วยการพูด หรือกระทำบางอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง  แค่รู้สึกในใจ “อ๋อ ! นี่ฉันกำลังหวั่นไหว หวาดหวั่น ที่เขาไม่เห็นด้วยกันฉันสินะ” นี่คือการรู้ทันตัวเองแล้ว และอดยิ้มให้ตัวเองไม่ได้ว่า นี่ไง เราพอมีสติ รู้ทันความรู้สึกตัวเองบ้างแล้ว

ในขณะที่มีสติ รู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็อาจจะนำไปสู่การเห็นใจ และเข้าใจกลไกการปกป้องตัวเองของคนอื่นที่เราสัมพันธ์ด้วยก็ได้ และนี่จะนำมาซึ่งการลดความขัดแย้ง ไม่ว่าเราจะมีระยะห่างระหว่างกันมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ