รู้จักพลังชีวิต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 4 พฤศจิกายน 2007

ชีวิตของเราแวดล้อมด้วยพลังงาน พลังชีวิตในตัวเราทำงานและขับเคลื่อนชีวิตโดยตลอด  การคลอดเป็นเวลาที่ธรรมชาติเตรียมพร้อมให้แม่และลูกต้องทำงานร่วมกัน แรงขับจากมดลูกของแม่ขับเคลื่อนให้ทารกตัวน้อยค่อยๆ ปรากฏตัวเพื่อมีชีวิตใหม่เป็นของตัวเอง แต่เจ้าตัวน้อยก็ต้องเปล่งเสียงร้องไห้ให้ดังที่สุดเพื่อสูดลมหายใจเฮือกแรกแห่งชีวิตให้ได้ เพื่อชีวิตได้ขับเคลื่อนต่อไป  ทั้งการขับเคลื่อนจากมดลูกของแม่ และการร้องไห้ สูดลมหายใจของเจ้าตัวน้อย คือ การใช้พลังแห่งชีวิต  มันเป็น “พลังรุก” เป็นพลังเพื่อที่ให้เราได้มีชีวิต ดำรงชีวิต อยู่รอด เพื่อที่จะสร้างสรรค์และนำพาสิ่งต่างๆ มายังโลก มายังผู้คนที่แวดล้อม และนำพาตัวเองไปข้างหน้า

ชีวิตของเราแวดล้อมด้วยพลังนี้มาโดยตลอด “เราต้องทำให้ได้” “มัน…ต้องเป็นแบบนี้” “ก้าวร้าวเกินไปแล้ว” หรือ “ลุกขึ้น ทำอะไรสักอย่าง”

การสร้างสรรค์ คือ ตัวอย่างหนึ่งของพลังรุกในตัวเราที่ถูกนำมาใช้เพื่อลงมือกระทำบางสิ่งเพื่อบ่งบอก สื่อสาร ถ่ายทอดความเป็นตัวเรา สิ่งที่เราคิด รู้สึก สิ่งที่เชื่อ ค่านิยม สิ่งที่ปรารถนาให้ปรากฏสู่สังคม ให้คนรอบข้างได้รับรู้ผลงานการสร้างจากสิ่งที่เรารักและให้คุณค่า  พลังรุกสามารถถูกใช้ในทางตรงข้าม คือ การทำลาย กำจัด ลดเลิก ดังเช่นเมื่อเราโกรธ เกลียดสิ่งใด ปฏิกิริยาตอบโต้ก็จะมุ่งทำร้าย ทำลายสิ่งที่ทำให้เราโกรธ  ทั้งการสร้างสรรค์และการทำลายอาจดูตรงข้าม แต่ก็เป็นด้านตรงข้ามของเหรียญเดียวกัน เพราะการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการทำลายสิ่งเก่า สิ่งที่ค้างคา เพื่อให้สิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นและงอกงามขึ้นมาแทนที่ได้

การตายทำให้เรารู้จักอีกลักษณะหนึ่งของพลังชีวิต มันเป็นพลังความสามารถของการแบกหาม อดทน อดกลั้น น้อมรับ ยอมจำนน สวามิภักดิ์ ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเต็มใจรับ  ช่วงเวลาที่การตายเริ่มทำงาน ก็คือ จุดเริ่มของการแตกสลายของธาตุต่างๆ ในร่างกาย  ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ  เราจะรู้สึกถึงลมหายใจที่เริ่มติดขัด เบาลง ขาดห้วง กระหายน้ำ ผิวพรรณซีด แห้งเหี่ยว  ดวงตาและสติสัมปชัญญะเริ่มพร่าเลือน  และไม่ว่าเราจะต่อสู้ ยื้อยุดกับความตายอย่างใด ธรรมชาติก็บังคับให้เราต้องค่อยๆ ยอมรับความตายในที่สุด รวมทั้งความทุกข์ทรมานจากโรคภัย ความแก่ชราที่รุมเร้า  และหากเรายอมรับไม่ได้ ความโกรธ ผิดหวัง เศร้าซึม เครียด ก็พร้อมจะโบยตีให้เราต้องยอมรับในที่สุด

พลังรุกมีพลังงานมากเพียงใด พลังรับก็มีพลังไม่ด้อยไปกว่า เพราะสายน้ำตกที่รุนแรงก็มาจากสายน้ำนิ่งๆ ไหลเอื่อยๆ หลายสายมารวมกันเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่  การปล่อยวางและการยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหมายถึงการต้องสละสิ่งที่หวงแหน สิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ สิ่งมีค่า บุคคลที่เรารัก ความสุข ฯลฯ  พร้อมกับการปล่อยวางและการยอมรับก็คือประตูสู่อิสรภาพเพื่อเราสามารถยอมรับกับความจริงได้ และเมื่อยอมรับได้ ชีวิตเราก็ไม่ต้องผูกติดกับความเท็จ ไม่ต้องเครียด โกรธขึ้ง เศร้ากับความผิดหวัง เสียใจ

“ปล่อยวางบ้าง” “ใบไม้เมื่อแก่จัด มันก็ต้องหลุดจากขั้ว” หรือ “เราทำอะไรไม่ได้หรอก ยอมรับเสียเถอะ” ฯลฯ  เหล่านี้คือ คำพูดหรือท่าทีของพลังรับที่มุ่งให้เราสามารถ “ยอมรับ” บางสิ่งบางอย่างได้  การยอมรับเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเยียวยาความทุกข์ทางจิตใจ ถือเป็นก้าวแรกของการนำพาให้เราหลุดพ้นความทุกข์ทางจิตใจ  ผู้ป่วยใกล้ตายหรือญาติมิตรผู้ป่วยใกล้ตายที่รับรู้ว่าตนเองหรือบุคคลที่รักกำลังต้องจากไปด้วยโรคร้าย หรือมีเหตุให้ต้องตายจากไป  ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือ  1) การปฏิเสธ  “มันไม่จริง” “เข้าใจผิดแหละ” “มันไม่มีอะไรหรอก” ฯลฯ  2) การต่อรอง  “ล้อกันเล่นหรือเปล่า” “มันอาจไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้นหรอก” “ขอเวลาอีกสักหน่อยเถอะ” “ทำใจดีๆ ไว้ เดี๋ยวก็หาย”  3) เศร้าซึม  “ทำไมต้องเป็นเรา” “ไม่ยุติธรรมเลย” “เรื่องบ้าๆ แบบนี้เกิดกับเราได้อย่างไร”  และ 4) การยอมรับ  “มันถึงคราวแหละ” “มันก็แบบนี้แหละ ชีวิต” ฯลฯ  จนกว่าเราจะยอมรับได้ เมื่อนั้นจิตใจเราจึงสามารถสัมผัสสันติสุขของชีวิตภายในจากการปล่อยวางสิ่งที่ยึดติดได้

การยอมรับเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเยียวยา เพื่อนำพาให้เราหลุดพ้นความทุกข์ทางใจ

พลังชีวิตในรูปแบบสำคัญสุดท้าย คือ พลังประสาน  พลังนี้อาศัยพลังรุกและพลังรับเป็นฐานการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนชีวิต เช่น ความเมตตา กรุณา ที่ประกอบด้วยพลังรุกของการมอบสิ่งที่ดี คือ ความรัก ความปรารถนาดี การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ  พร้อมกับพลังรับที่เราสามารถยอมรับในความเป็นตัวตนของอีกฝ่าย ยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ไม่หนีหาย พร้อมรับกับความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้น  พลังประสานเป็นสิ่งที่มาจากการเรียนรู้ถึงการประสานของพลังรุกและพลังรับให้พอดี เช่น หากความก้าวร้าวมากเกิน จนขาดความอ่อนโยน หรือ อ่อนโยนมากเกิน จนขาดความเข้มงวด เอาจริง ต่างล้วนทำให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ทั้งสิ้น  พลังประสานจึงต้องอาศัยสติปัญญาเป็นตัวกำกับ

การรู้จักพลังชีวิตเหล่านี้ ผู้เขียนมีทัศนะว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรารู้จักท่วงทำนองและจังหวะชีวิตว่า แต่ละช่วงของชีวิต เราได้ใช้พลังแต่ละลักษณะอย่างไรบ้าง  ในแต่ละช่วงชีวิต พลังใดมีบทบาทต่อชีวิตของเรามากที่สุด  พลังรุก เราใช้กับเรื่องใด เหมาะสมหรือไม่ เพื่อวัตถุประสงค์ใด  พร้อมกับพลังรับ ถูกใช้ไปอย่างไร เพื่อที่เราสามารถอยู่กับความจริงในเรื่องใด หรือถูกใช้ไปเพื่ออยู่กับความโง่เขลาหรือความเท็จ เราสามารถให้พลังรับช่วยเราปล่อยวางกับเรื่องใด และสิ่งใด

และเพราะเราคือเจ้าของชีวิต พลังชีวิตถูกใช้อย่างไร จึงขึ้นกับสติปัญญาของเจ้าของชีวิต  เส้นทางของการใช้พลังชีวิตอย่างสร้างสรรค์เพื่อนำพาชีวิตไปสู่ความดีงาม จึงเป็นเส้นทางของแต่ละคนที่ต้องขีดเขียนด้วยตนเอง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน