ลืมแค้น แล้วกันไปเถอะ

Phastory 13 กันยายน 2009

หญิงม่ายชาวปาเลสไตน์บอกว่า “การลืม แม้จะยังไม่อาจให้อภัยได้ แต่เป็นเพียงหนทางเดียวที่พวกเธอจะดำรงสติสัมปชัญญะได้ อดีตอาจเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ทว่ามันก็ทำให้คนเราเสียสติได้ด้วย เพราะมันนำพาเราไปสู่การล้างแค้น” ตอนหนึ่งจากหนังสือชื่อ Revenge: A Story of Hope โดย ลอร่า บลูเมนเฟลด์ ในชื่อภาษาไทย “ข้ามฝั่งแค้น การเดินทางแห่งความหวัง”

“น้องชายผมไม่เคยพบผู้ชายคนนั้นเลย” อิมาดพูด “ไม่มีอะไรเป็นการส่วนตัว ดังนั้นจึงไม่มีการแก้แค้น” แต่สำหรับฉันแล้ว การยิงกันถือเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าผู้ชายคนที่น้องชายอิมาดพยายามฆ่าเป็นพ่อของฉัน

ทำไมจึงมีความแค้น? มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง? แล้วเมื่อไหร่จะหายแค้น? ผู้ใดจะตอบได้?  หากคุณเคยอ่านนิยายจีนกำลังภายใน คงพอจะเห็นเค้าลางของความแค้นที่เกิดขึ้นในยุทธจักรได้ไม่ยาก คำพูดประเภท “แค้นนี้ต้องชำระ” “ล้างแค้นสิบปีไม่สาย” น่าจะผุดขึ้นมาเป็นตัวอักษรบอกเล่านิยายเรื่องนั้นเรื่องนี้ในความทรงจำอยู่บ้าง “ลูกผู้ชายฆ่าได้หยามไม่ได้” วาจาเหล่านี้คงผ่านตามาแล้วทั้งนั้น แล้วถ้าเป็นลูกผู้หญิงล่ะ แค้นนี้จะชำระอย่างไร?

หากจะลองสรุปรวบรวมเอาเอง ความแค้นน่าจะมีสาเหตุให้เกิดขึ้นได้เป็นข้อๆ ดังนี้ คือ

๑. การถูกดูหมิ่นเกียรติหรือศักดิ์ศรี กระทั่งถูกกระทำให้รู้สึกอัปยศอดสู  ดังตัวละครเช่น จ้าววังบุปผา หญิงงามสะคราญโฉมผู้มีวรยุทธเป็นอันดับหนึ่งในยุทธจักร นางแค้นใจยิ่งนักที่กลับพ่ายรัก เพราะกังปัง (บิดาของเซียวฮื้อยี้) ตัดรอนนาง และไปมีใจให้กับสาวใช้ในวังของนางเอง  หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง งักปุกคุ้งเดือดดาลคั่งแค้น รู้สึกอับอายเสียหน้าเป็นอันมาก เพราะเหล็งฮู้ชงผู้ศิษย์สามารถใช้เพลงกระบี่ที่เหนือกว่าอาจารย์ ทำลายดวงตาคนชุดดำจนพวกมันทั้งหมดตาบอด (นิยายเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร)

๒. คนในครอบครัวหรือบุคคลที่เรารักถูกกระทำหยามเหยียด ถูกให้ร้ายหรือโดนทำร้าย และอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังที่ปรากฎในชีวิตของลิ้มเพ้งจื้อ กลายเป็นกำพร้า สิ้นเนื้อประดาตัว บ้านช่องถูกรื้อค้นทำลายเสียหาย บิดามารดาตลอดจนบ่าวไพร่ถูกสังหารหมดภายในคืนเดียว เพียงเพราะผู้อื่นต้องการแย่งชิงคัมภีร์กระบี่ปราบมาร (นิยายเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร)  หรืออีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับราชสีห์ขนทอง เมื่อภรรยาถูกข่มขืนและถูกสังหารพร้อมกับลูกชาย รวมทั้งบ่าวไพร่ บ้านแตกสาแหรกขาด ไฟแค้นจึงสุมอกจนกลายเป็นคนคลุ้มคลั่ง (นิยายเรื่อง ดาบมังกรหยก)

๓. การถูกหลอกลวงโดยคนที่เราไว้ใจ ในกรณีของราชสีห์ขนทองก็สามารถรวมเข้าไว้ในข้อนี้ได้ด้วย เพราะผู้ที่ทำลายเขาทั้งชีวิตคือ อาจารย์ของเขาเอง  และอีกหนึ่งตัวอย่างของ นางจิ้งจอกหยก ที่ถูกลูกศิษย์หลอกลวงจนถูกธาตุไฟเข้าแทรก วรยุทธฝึกฝนไปไม่ก้าวหน้า ส่วนเช็งผู้ศิษย์กลับกลายเป็นผู้เยี่ยมยุทธเหนือกว่าอาจารย์ เช็งจึงเป็นทั้งญาติสนิท (เปรียบลูกศิษย์เป็นญาติ) และศัตรูในคนๆ เดียวกัน (ภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon)

๔. ทัศนะความเชื่อ วิถีปฏิบัติตัว พฤติกรรมในสังคม ที่ส่งผลต่อความรู้สึกชิงชัง รังเกียจ และเกลียดชัง  แม่ชีมิกจ้อไม่ขอรับการช่วยเหลือจากเตียบ่อกี้เพราะเขาเป็นประมุขพรรคมาร พวกเราฝ่ายธรรมะจะไม่ขอยอมอยู่ร่วมโลกกับชนชั้นอธรรมอันต่ำช้าอย่างเด็ดขาด และนางในฐานะอาจารย์จึงสั่งสอนให้จิวยี้เฮียกผู้ศิษย์ใช้เสน่ห์หลอกลวงเตียบ่อกี้ เพื่อหวังยึดครองคัมภีร์เก้าอิมกับตำราพิชัยยุทธที่ซุกซ่อนอยู่ในดาบฆ่ามังกร ความแค้นเคืองของชนชั้นอาจารย์ถ่ายทอดมายังศิษย์รุ่นหลัง ก่อเป็นห่วงโซ่ของความแค้นที่มีอันจะรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไปเรื่อยๆ (นิยายเรื่อง ดาบมังกรหยก)

เมื่อได้อ่านเรื่องราวในนิยายแต่ละบทแต่ละตอน เรา (ผู้อ่าน) จึงได้รู้เห็นการเปลี่ยนแปลงจิตใจของตัวละครสำคัญผ่านการบอกเล่า การเผชิญประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ ไปจนกระทั่งตัวละครเหล่านั้นค่อยๆ แปรเปลี่ยนอุดมการณ์ทัศนะความเชื่อที่เขายึดมั่น ความต้องการแก้แค้นจะได้รับการคลี่คลาย และลดทอนความรู้สึกเคืองแค้น ผูกโกรธ และอยากเอาชนะ กลายเป็นเสียงพูดหนึ่งอันหนักแน่นบอกว่า “ก็แล้วกันไปเถอะ”

จะมีชนชาวยุทธจักรที่สามารถพูดวลีปลดปล่อยภาระหนักอึ้งในใจออกมาได้สักกี่คนกัน สำหรับบางคนแม้ไม่พูดบอกออกมาก็รู้ได้ว่าเป็นอยู่อย่างนั้นเสมอ เตียบ่อกี้เติบโตในเกาะร้างกับบิดาเตียชุ่ยชัว (ฝ่ายธรรมะ) มารดาฮึงซู่ซู่ (ฝ่ายอธรรม) และบิดาบุญธรรมราชสีห์ขนทอง ชีวิตในวัยเด็กจึงไม่ต้องมารับรู้เรื่องราวบุญคุณความแค้นในยุทธจักร แต่เมื่อกลับเข้าสู่ยุทธจักรพร้อมบิดามารดา ต้องประสบกับเหตุการณ์สืบเนื่องผันผวนมากมาย กระทั่งบิดามารดาฆ่าตัวตายตามกันไป ถึงกระนั้นเขาก็มิได้คิดแค้นผู้ใด ได้แต่แค้นใจตนเองที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวช่วยอะไรทั้งสองไม่ได้เลย

เมื่อเติบใหญ่ เตียบ่อกี้กลายบุคคลสำคัญที่ช่วยประสานความเข้าใจ และช่วยเหลือยับยั้งมิให้เหตุการณ์รบราฆ่าฟันอันเลวร้ายบานปลายใหญ่โต ดังมีตอนหนึ่งที่องค์หญิงเตี๋ยเมี่ยงปลอมตัวเป็นเตียบ่อกี้ นำพาองครักษ์ผู้มีฝีมือวิชาร้ายกาจยิ่งนักขึ้นบู๊ตึ๊ง หวังก่อกวนและยุยงสร้างสถานการณ์ให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคมารกับฝ่ายธรรมะรุนแรงยิ่งขึ้น  ปรมาจารย์เตียซำฮงซึ่งเป็นอาจารย์ปู่ของเตียบ่อกี้ในตอนนั้นสำเร็จวิชาไทเก๊กแล้ว จึงสอนเคล็ดวิชาไทเก๊กให้หลานบ่อกี้ (แปลงโฉมเป็นนักพรตน้อย) สิ่งที่อาจารย์ปู่ย้ำแก่หลานศิษย์ผู้นี้มิใช่ถามว่าจำได้รึยัง แต่เป็น “ลืมแล้วรึยัง” พอหลานบ่อกี้ตอบว่า “ลืมหมดแล้ว” ท่านปู่ก็หัวเราะชอบใจบอกว่า “ดี…ดี…ดี”

ความต้องการแก้แค้นได้รับการคลี่คลาย กลายเป็นเสียงพูดอันหนักแน่นว่า “ก็แล้วกันไปเถอะ”

หลักสำคัญของวิชาไทเก๊กไม่ได้ฝึกฝนเพื่อการเอาชนะ หรือต้องการห้ำหั่นประหัตประหาร ทว่าแก่นของมันกลับเป็นการสร้างสมดุลย์ภายในของตัวผู้ฝึกเอง  ความสมดุลย์อ่อนแข็ง ร้อนหนาวจะเกิดขึ้นได้เมื่อภายในรู้จักการปล่อยการวาง จนสภาพจิตใจมีความเป็นกลางนั่นล่ะจึงจะเข้าสู่สมดุลย์ รู้ตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่เก็บไม่เอาอะไรมาคิดจำใส่ใจ เพราะลืมไปแล้วนั่นเอง

การลืมเป็นขณะหนึ่งๆ ในชีวิต เป็นหนทางสู่วันข้างหน้า (อนาคต) นักเศรษฐศาสตร์เพื่อนของลอร่า บลูเมนเฟลด์เปรียบสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นทุนที่จมลงไปแล้ว ดังนั้นหากเราต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต มูลค่าในปัจจุบันของอนาคตนั้นจะต้องสร้างกำไรสุทธิสูงสุดด้วย นั่นก็หมายความว่า การลืมจะช่วยตัดช่องทางการขาดทุนออกไป และเพื่อให้ชีวิตกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วหรือมีสมดุลย์ จิตใจเราจะต้องเรียนรู้ที่จะลืม หากจะว่าไปแล้วทุกๆ ขณะจิต ใจมันลืมได้เองอยู่แล้ว ภายในพริบตาเดียวมันก็เปลี่ยนไป แล้วก็เปลี่ยนอีก เป็นอยู่เช่นนั้นเอง ธรรมชาติให้ช่องทางการลืมมากับเรา แต่เป็นเราเองนี่แหละที่ยอมขาดทุน เพราะเลือกที่จะไม่ลืม

จากประสบการณ์มากมายของเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้ายในทุกแห่งหน ทำให้ลอร่าค้นพบว่า “ผู้คนต่างไปเป็นคนละคน เมื่อเรามีโอกาสได้รู้จักกับพวกเขาอย่างใกล้ชิด” ซึ่งเป็นประโยคเดียวกันกับที่โอมาร์ คาทิป (มือปืน) ผู้ที่จ่อยิงเดวิดพ่อของลอร่าเขียนไว้ในจดหมายส่งให้เธอ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นการแก้แค้นยังคงดำเนินต่อไปตามวิถีทางในแบบของลอร่า ที่ไม่ใช่ทั้งวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือหันแก้มอีกข้างให้ตบ หากแต่หมายถึงวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงจิตใจของศัตรู หรือของตัวเราเอง


ภาพประกอบ