วัดไตในถิ่นตน

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 15 ธันวาคม 2013

ทุกวันนี้คนไทยเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคนไต หรือคนไทใหญ่ แต่ในฐานะคนต่างด้าวที่เข้ามาขายแรงงานในเมืองไทย โดยเหมารวมไปว่ามาจากประเทศพม่า

แต่ในสำนึกของชาวไตเองพวกเขามีประเทศชาติ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิต  มีผืนแผ่นดินของตน ซึ่งได้ถูกพม่าผนวกเข้าครอบครองเมื่อ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง

ประเทศไต-แผ่นดินของชาวไทใหญ่ คือดินแดนส่วนที่เป็นรัฐฉานของสหภาพพม่าในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาอันอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ พื้นที่เพาะปลูก และการปศุสัตว์

ด้วยหลากหลายเงื่อนไข ทั้งโดยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ประชากรเป็นชนต่างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลเพื่อกอบกู้ชาติคืน ทำการให้พัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่รัฐฉานเป็นไปอย่างล่าช้า  ประกอบกับการควบคุมปราบปรามพลเมืองที่ถูกหวาดระแวงจากทางรัฐบาล ทำให้คนไทใหญ่จำนวนมากละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่อง ส่วนหนึ่งหลบหนีเข้าไปอยู่ป่า  อีกส่วนใหญ่เข้ามาขายแรงงานในเมืองไทย

รัฐฉานคล้ายเป็นบ้านเมืองที่ถูกทิ้งร้าง ด้วยคนในพากันหลบหนีออก ขณะที่คนนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่มานานแล้ว ยกเว้นแต่ที่เป็นเขตท่องเที่ยวในบางเมืองเท่านั้น

 

แผนที่แสดงอาณาเขตรัฐฉาน (Shan) ในประเทศพม่า

ต้นเดือนนี้ผมเพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปถึงใจกลางรัฐฉานกับผู้นำระดับสูงของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ซึ่งก่อนนี้แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปเหยียบแผ่นดินตนโดยเปิดเผย  กระทั่งภายหลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังรัฐฉาน (Shan State Army) กับรัฐบาลพม่าเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ คนในป่าจึงสามารถออกมาปรากฏตัวในเมือง แต่สำหรับคนต่างชาติพื้นที่รัฐฉานส่วนใหญ่ยังถือเป็นเขตต้องห้ามโดยคำสั่งรัฐบาลสหภาพพม่า

รัฐฉานแต่เดิมเคยประกอบไปด้วย ๓๓ แว่นแคว้นที่เป็นอิสระในตน ซึ่งหลายเมืองก็เป็นที่คุ้นหูคุ้นเคยของคนไทย  ต่อมาชื่อหัวเมืองเหล่านั้นถูกลบลืมด้วยระบบรูปแบบการปกครองใหม่ที่รวบรัฐฉานเข้าเป็น ๓ ภาค กำหนดชื่อจังหวัดใหม่ หัวเมืองสำคัญแต่เดิมอาจอยู่ในฐานะอำเภอหรือหมู่บ้านเท่านั้น

เราเริ่มต้นเข้าสู่รัฐฉานที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐนี้  จากนั้นก็ไต่ตามทางทางหลวงหมายเลข ๔ เข้าไปทางตะวันออก ซึ่งตามระเบียบทางการพม่าจะให้เข้าไปได้เพียงถ้ำช้าง ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวนอกสุดของเมือง  แต่ด้วยบารมีของผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ทำให้เราสามารถผ่านเข้าเขตเมืองป๋อน ที่คนไทยคงพอคุ้นชื่อ  จากนั้นเดินทางต่อไปถึงเมืองดอยแหลม และเมืองปางโหลง  ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยสนธิสัญญาสำคัญที่สุดฉบับหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสหภาพพม่า และทำให้ไทใหญ่เสียเมือง ได้มีการลงนามกันที่เมืองนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐

แต่อย่างที่เล่าแล้ว ตอนหลังชื่อบ้านนามเมืองดั้งเดิมก็ถูกแปลงแปรไปโดยรัฐบาลพม่า ปัจจุบันดินแดนประวัติศาสตร์ทั้งหมดนี้ถูกรวมเข้าเป็นจังหวัดใหม่ชื่อ ดอยแหลม รวมทั้งเมืองลายค่า ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไปจากเมืองปางโหลง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีหอเจ้าฟ้า (เจ้าเมือง) ที่ยังอยู่รอดมาได้ด้วยอุบายของชาวเมือง

ทิวเขาแดนลาว พื้นที่ทางธรรมชาติของรัฐฉาน มองจากฝั่งท่าขี้เหล็ก

อดีตหัวเมืองสำคัญอย่างเมืองลายค่า มองจากปัจจุบันอาจเทียบได้กับหมู่บ้านหนึ่งของเมืองไทยในชนบทเท่านั้น  เพียงแต่เป็นหมู่บ้านที่มีครบ วัด วัง ทรัพยากร วัฒนธรรม ฯลฯ  โดยเฉพาะวัดที่ดูว่ายังคงมีบทบาทและความสำคัญต่อผู้คนท้องถิ่นอยู่มาก

เมืองลายค่ามีวัดพลาหลวง เป็นวัดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ทางด้านหัวเวียง ใกล้กันเป็นเจดีย์ม่วยต่อ ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างมาแต่ยุคเจ้าฟ้า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ทำนองเดียวกับพระมหามัยมุนี ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งคนที่ไปกราบไหว้จะต้องขึ้นไปปิดทองบนองค์พระพุทธรูป แต่ขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงต้องใช้วิธีฝากแผ่นทองคำเปลวไปกับผู้ชาย

แถวหัวเวียงมีบึงน้ำจืดใหญ่ชื่อ หนองคำ ฟากหนองด้านนอกเป็นที่ตั้งวัดอีกแห่ง กับหมู่เจดีย์ที่สะท้อนถึงความศรัทธาในพุทธศาสนา เจดีย์บางองค์ประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างและเทพพนม ให้ผู้มาเยือนได้วนนับกันเล่นๆ ว่ามีอย่างละเท่าใด  ในโถงใต้ฐานเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปยุคโบราณที่เล่ากันว่าชาวเมืองบนบานสิ่งใดก็จะได้ตามความประสงค์

ก่อนนี้วัดหนองคำเคยเป็นที่ตั้งฐานของทหารพม่า ห้องพระพุทธรูปจึงถูกปิดล็อคกุญแจอย่างหนาแน่น  เพิ่งได้ถูกเปิดออกอีกครั้งก็เมื่อมีแขกมาเยือน

จะเป็นด้วยระบบการศึกษาที่ยังจำกัดแคบหรือด้วยความมีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนาก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงเป็นอยู่ในวัดแถบรัฐฉานคือ ในแต่ละวัดมีพระเณรจำนวนมาก บรรยากาศการศึกษาเล่าเรียนตามวัดวาแต่ละแห่งดูคึกคักอย่างกับในโรงเรียนกินนอน จะต่างก็แต่ในโรงเรียนพระปริยัติศีล-ธรรมจะถูกให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าความรู้

เณรในรัฐฉาน

กับอีกเรื่องสำคัญที่ถือเป็นพลังของศาสนาในรัฐฉาน

อย่างที่รู้ พม่าทำทุกวิถีทางที่จะลบรอยประวัติศาสตร์ไทใหญ่ แล้วใส่ความเป็นพม่าลงในแผ่นดินฉาน ทั้งในแง่วัดวาสถาปัตย์ ชื่อบ้านนามเมือง วัฒนธรรม รวมทั้งการอพยพคนพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

กรณีหนึ่งที่เป็นบาดแผลสะเทือนใจคนไตคือการที่รัฐบาลพม่าทุบรื้อหอคำ หรือวัง ของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง  เอาที่ทำโรงแรม

คนท้องถิ่นอาจมองเห็นแนวโน้มว่าหอคำเมืองลายค่าก็คงต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน พวกเขาจึงชิงไหวตัวก่อน ยกหอคำเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ มีพระมาจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียน เป็นวัดใหม่ที่ดูโอ่อ่าอีกแห่งของเมืองนี้

และเป็นรูปธรรมของข้อธรรมที่ว่า ธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก


เครดิตภาพ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ