“วัตถุนิยมการศึกษา” เราจะเรียนกันไปถึงไหน?

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 4 พฤศจิกายน 2012

เสาร์อาทิตย์ เป็นวันเรียนกวดวิชาแห่งชาติ  ย่านสยามเรื่อยไปจนถึงแยกพญาไท คราคร่ำไปด้วยเด็กนักเรียนนอกเครื่องแบบ บ้างมาเป็นกลุ่ม บ้างมาเดี่ยว บ้างมากับพ่อแม่ผู้ปกครอง และบ้างบางคนมากับคนรับใช้ คนขับรถ นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่จ้างครูมาสอนที่บ้าน หรือสอนกันในร้านไก่ทอด กระทั่งใต้ร่มไม้ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง

มหกรรมการเรียนหนังสือในวันหยุด ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าจันทร์ถึงศุกร์ เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนอย่างที่ควรจะเป็นเลยหรือ การเรียนพิเศษ เรียนกวดวิชา กลายเป็นความจำเป็นพอๆ กับที่คนสมัยนี้ต้องกินวิตามินเสริมจะได้รู้สึกมั่นใจ ไม่ขาดพร่อง และทัดเทียมคนอื่น

ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก และถูกทำให้เป็นธุรกิจการศึกษาเพื่อตอบสนองทุนนิยม ยิ่งเรียนยิ่งไม่รู้ ยิ่งเรียนยิ่งอวิชชา (ไม่รู้อะไรคืออะไร) ยิ่งเรียนยิ่งทุกข์

หนุ่มสาวจำนวนมากขวนขวายเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่กลับรู้สึกว่างเปล่า การศึกษาที่เรียนมาตั้งแต่จำความได้ ไม่อาจทำให้เป็นคนเต็มคน การไขว่คว้าหาเรียนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มวิทยฐานะจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่หลายคนกลับเลือกเดินลงไปจากสายพานการศึกษาในระบบ

หนุ่มวิศวะจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ พบว่าอาชีพวิศวกรไม่ใช่คำตอบของชีวิต  เขาเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยการพาตัวเองไปลองเรียนรู้ทำความรู้จักกับตัวตนข้างในของตัวเองที่ได้ละเลยมานาน ทุกอย่างที่ได้ทำผ่านมาล้วนอยู่บนความคาดหวังและความต้องการของคนอื่นทั้งสิ้น  ชายหนุ่มเริ่มแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองและพบว่า การเรียนรู้ด้านใน มีความลึกซึ้งและตอบโจทย์ชีวิตมากกว่า เขาได้รู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของตัวเองคืออะไรกันแน่ ในที่สุดเขาเลือกเดินออกจากบริษัทธุรกิจเอกชนด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ เพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ที่จะได้รู้จักความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเองอย่างลึกซึ้ง

ทุกวันนี้เขามีความสุข และอิ่มเอมทุกครั้งที่การทำหน้าที่เป็นกระบวนกร (นักฝึกอบรมเพื่อความเข้าใจในเรื่องด้านใน) เขาได้มีส่วนชี้แนะให้ผู้คนในยุคสมัย ได้เห็นตัวเอง เพื่อนำพาไปสู่การปรับตัวปรับใจให้อยู่ร่วมกับความแปลกแยกทั้งต่อตัวเอง และคนรอบข้าง เป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในใจคน เพื่อเกื้อกูลต่อสัมพันธภาพอันซับซ้อนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง พ่อแม่กับลูก คู่รัก เพื่อนกับเพื่อน

หลังจากทิ้งงานวิศวะ มาจับงาน “กระบวนกร” อย่างจริงจัง จนแน่ใจว่านี่คือเส้นทางที่สอดคล้องกับชีวิตตัวเอง จึงได้ไปเรียนต่อยังสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่มีความกว้างไกลในทุกๆ ศาสตร์ความรู้

นักโปรแกรมเมอร์หญิงไทยอีกคน ทำงานอยู่ซิลิคอนวัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา มานานปี  จะว่าไปนั่นคือชีวิตที่คนในสายอาชีพเดียวกันกับเธอใฝ่ฝัน ระหว่างที่หน้าที่การงานกำลังไปได้ดี ก็มีเหตุฉุดให้เธอหลุดออกมาจากวงโคจรนั้น แล้วหันหาสิ่งที่เป็นคุณค่าและความหมายของการมีชีวิต เธอหันมาศึกษาเรื่องด้านใน และพาตัวเองไปสู่สถาบันการศึกษาในด้านนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่เธอได้เรียนรู้ ทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น และเมื่อเห็นตัวเองชัด ก็ย่อมเห็นโลกทั้งใบต่างไปจากเดิม

จากโปรแกรมเมอร์ทำงานทำเงิน มาเป็นนักฝึกอบรมที่ช่วยคลายปมความขัดแย้งของผู้คนในยุคสมัย เธอใช้ทักษะความนิ่งของจิตใจ สืบค้น ด้วยการตั้งคำถามให้เจ้าของเรื่องมองเห็นปัญหาของตัวเองอย่างถ่องแท้ เพื่อนำไปสู่การเยียวยาตัวเองและการคลี่คลายสถานการณ์ชีวิต ที่ไม่ใช่แค่การบ่นระบายทุกข์ให้เพื่อนรับฟังอย่างผิวเผิน แต่คือการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยินถึงความต้องการที่แท้จริง ที่เป็นคุณค่าของตัวเอง แต่กลับถูกกดทับอยู่ภายใน ยอมรับเถอะค่ะว่า สังคมที่กำลังป่วยไข้ เรากำลังต้องการคนทำหน้าที่เช่นนี้

เรื่องราวชีวิตของบุคคลทั้งสอง ที่ดูเหมือนว่าอยู่บนยอดของสายพานการศึกษาในระบบ แต่กลับต้องทบทวนตัวเองอย่างหนัก และตีกลับไปสู่การเรียนรู้แห่งตนในแบบใหม่ นั่นยังไม่นับรวมผู้ที่จบการศึกษาในด้านหนึ่ง แต่ไปเติบโตหรือข้ามไปอยู่ในวิชาชีพอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาเลย นี่คือภาพฟ้องว่า การศึกษาที่เป็นอยู่ยังไม่อาจตอบโจทย์สำคัญของชีวิตได้

หนุ่มสาวจำนวนมากขวนขวายเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่กลับรู้สึกว่างเปล่า

ในการแสดงปาฐกถา ๕๐ ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพระไพศาล วิสาโล ว่าด้วยเรื่อง “ศิลปศาสตร์กับการพัฒนามนุษย์” ทำให้คิดย้อนกลับถึงปรัชญา “ศิลปศาสตร์” หรือ Liberal Arts แท้จริงคือสิ่งใดกันแน่

“ศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts เป็นศาตร์สำหรับเสรีชน…”

เพียงต้นประโยคของการแสดงปาฐกถา ก็ทำให้คิดถึงปรัชญาของ “ศิลปศาสตร์” ที่ว่า เป็นศิลปวิทยาสำหรับความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะเป็นการเรียนความรู้ทางด้านภาษา วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญาศาสนา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น

ไม่แน่ใจนักว่า นักศึกษา “ศิลปศาสตร์” รุ่นแล้วรุ่นเล่า และรุ่นล่าสุดจากทั่วทุกสถาบัน จะมีความเข้าใจ เข้าถึงปรัชญาการศึกษา Liberal Arts มากน้อยเพียงใด

พระไพศาล พาย้อนกลับไปถึงยุคกรีกโบราณ Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ คือวิชาสำหรับเสรีชน คนชั้นสูง หรือผู้ดี ที่จะไปเป็นชนชั้นนำของสังคม เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญาอย่างสูง และเป็นวิชาที่ยกระดับจิตใจของผู้เรียน ศิลปศาสตร์ไม่ได้เป็นวิชาเพื่ออาชีพการงานหรือหาผลตอบแทนทางวัตถุ แต่เป็นวิชาที่เป็นไปเพื่อประเทืองปัญญา ในสมัยยุโรปยุคกลาง Liberal Arts จะเรียนวิชาไวยากรณ์ วรรณคดี ตรรกศาสตร์ วาทะศิลป์ เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรี ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการเรียนวิชาชั้นสูงต่อไป

ศิลปศาตร์ ในปัจจุบัน ที่สืบทอดปรัชญาการศึกษา Liberal Arts มาจากทั้งยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีหลักสูตรความรู้ครอบคลุมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และวิชาเฉพาะด้าน เช่น จิตวิทยา สถิติ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาการเฉพาะด้านในสายอื่นๆ

ความมุ่งหมายของการศึกษาแบบ “ศิลปศาสตร์” นอกจากจะเป็นพื้นฐานให้การศึกษาเฉพาะด้านแล้ว ยังเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ ทำให้ผู้เรียนมีความรอบรู้ มีทัศนคติกว้างขวาง รู้จักใช้วิจารณญาณในการคิดวิเคราะห์ มีความเข้าใจ มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม

ฟังดูแนวคิดปรัชญาการศึกษาแบบ “ศิลปศาสตร์” ที่พระไพศาล นำมาแสดงนั้น เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ในการพัฒนามนุษย์ พัฒนาสังคมอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าในโลกทุนนิยมอย่างทุกวันนี้ วิชาความรู้ถูกทำให้เป็น “วัตถุนิยมทางการศึกษา”

คณะศิลปศาสตร์ ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อรับใช้การประกอบวิชาชีพ จึงไม่แน่ใจว่า หากต้องการร่ำเรียนวิชาการสำหรับเสรีชน ชนชั้นนำ ตามแนวทางปรัชญาการศึกษาแบบ “ศิลปศาสตร์” จะเรียนได้ที่สถาบันการศึกษาใดได้บ้าง

ความรู้ และทัศนคติการมองโลกของคนที่ถูกสร้างมาจาก “วัตถุนิยมทางการศึกษา” ทำให้เป็นคนที่มีความรู้เฉพาะด้าน ที่ขาดการเชื่อมโยง มีจิตสำนึกเฉพาะหมู่พวก เราจึงเห็นสังคมสมัยใหม่มีความขัดแย้งสูง โดยเฉพาะสัมพันธภาพระหว่างชนชั้น แต่กลับไม่มีวุฒิภาวะในการแก้ปัญหา

หากการศึกษาในระดับสูงสำหรับปัญญาชน ได้มีพื้นภูมิการศึกษาตามแนวปรัชญาของ “ศิลปศาสตร์” ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะทำให้บุคคลากรที่เป็นผลผลิตของการศึกษา มีความชัดเจนแห่งตนมากกว่าที่เป็นอยู่ เราอาจจะได้เห็นหนุ่มสาวในวัยทำงานได้มีความสุขกับชีวิตการงานที่สอดคล้องกับศัยกภาพ และในวิถีทางที่เขาและเธอปรารถนา ทั้งยังสามารถชี้นำและหาทางออกให้แก่สังคมอย่างมีปัญญา


ภาพประกอบ

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ