วิสัยทัศน์ชาวพุทธเพื่อชีวิตในสังคมสมัยใหม่

ปรีดา เรืองวิชาธร 21 ธันวาคม 2008

ในทางพุทธศาสนานั้น ชีวิตจะเป็นสุขหรือไร้ทุกข์ (ใจ) นั้น จำต้องพัฒนาหรือดำเนินชีวิตให้เข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายแห่งชีวิตที่พึงปรารถนาหลากด้านหลายมิติสัมพันธ์กัน จึงจะนำไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขแท้ยั่งยืนยิ่งขึ้น  ชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไร้ซึ่งจุดหมายก็เป็นดั่งเรือที่ลอยล่องไปในห้วงมหาสมุทรอย่างไร้ทิศทาง  ประโยชน์หรือจุดหมายแห่งชีวิตจึงเป็นเสมือนภาพพิมพ์เขียวของชีวิต ที่เราต้องคอยชำเลืองมองเพื่อตรวจสอบขณะที่ชีวิตกำลังดำเนินในแต่ละวัน มันจะทำหน้าที่คอยยึดโยงปัจจัยต่างๆ ที่เรามีเพื่อหลอมรวมทุ่มเทกระทำไปสู่ทิศทางที่เราปรารถนา ทั้งยังทำหน้าที่ควบคู่กับสติเพื่อคอยเตือนให้เราระลึกรู้อยู่เสมอว่า วันคืนที่กำลังล่วงเลยไปนั้น เรากำลังทำสิ่งใดอย่างเลื่อนลอยอยู่หรือไม่ ถือเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ประโยชน์หรือจุดหมายแห่งชีวิตหากจะกล่าวในบริบทสมัยใหม่นี้ ก็คือ วิสัยทัศน์แห่งชีวิตหรือภาพฝันแห่งชีวิต

ในทางพุทธศาสนานั้นมองว่า ชีวิตจะเป็นสุขหรือไร้ทุกข์ได้จริงแท้นั้น ก็เพราะการขวนขวายปฏิบัติตนให้เข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายแห่งชีวิตที่พึงปรารถนา ซึ่งครอบคลุมประโยชน์ทุกด้านทุกมิติของชีวิต ดังนั้น เราจำต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ทุกด้านอย่างสมดุล  พุทธศาสนาได้แบ่งประโยชน์แห่งชีวิตไว้ 3 ระดับ ดังนี้

1) ประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกกัตถะ)

เป็นประโยชน์ชีวิตเบื้องต้นหรือเป็นเรื่องในระดับชีวิตประจำวัน ได้แก่ การแสวงหาทรัพย์สินวัตถุเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอและแสวงหาโดยสุจริต รวมถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียงทางสังคมต่างๆ  เป็นประโยชน์ในด้านที่แทบทุกคนต่างให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษจนดูจะละเลยหรือมองข้ามประโยชน์ในด้านอื่นไป  จริงอยู่ การมีปัจจัยดำรงชีพอย่างเพียงพอนั้นย่อมก่อให้เกิดความสุขกับชีวิต ซึ่งเป็นความสุขที่อิงอาศัยวัตถุ แต่หากเราเฝ้าทุ่มเทแสวงหาหรือทะยานอยากจะมีทรัพย์สินวัตถุให้เสพปรนเปรอมากมายไม่สิ้นสุด ความสุขจากการมีวัตถุก็จะลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ และกลับกลายมาเป็นความทุกข์กังวลไปแทน ก็เพราะเราต้องเสียเวลามากมายในการแสวงหามันมา ต้องเคร่งเครียดจากการแย่งชิงแข่งขัน ต้องวิตกกังวลเพราะต้องดูแลรักษามันเป็นต้น  ตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมถึงเกียรติยศชื่อเสียงก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ดังนั้น หากเรารู้จักหยุดรู้จักพอเสียบ้าง ก็จะทำให้เราเข้าถึงความสุขอันเนื่องจากจิตใจที่ไม่แส่ส่ายดิ้นรนแสวงหาอยู่ตลอดเวลา เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกไม่ขาดหรือพร่องหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขอันเนื่องจากความรู้สึกไม่จน  อีกด้านหนึ่งนั้นทรัพย์สินต่างๆ ที่เราหมายจะครอบครองให้อย่างเกินเลยไป ก็จะกระจายไปสู่ผู้ที่ยากไร้ขาดแคลนจำนวนมาก

ครอบครัวที่ใส่ใจดูแลกันอย่างเพียงพอก็เป็นอีกด้านหนึ่งในประโยชน์ระดับนี้ หลายครอบครัวเป็นทุกข์จากสภาพครอบครัวกำลังแตกสลาย ก็เพราะให้ความสำคัญกับการแสวงหาทรัพย์สินและชื่อเสียงมากเกินไป จนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใส่ใจสร้างความอบอุ่นรักใคร่ในครอบครัว จึงเกิดปัญหายาเสพติด มั่วสุมทางเพศและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญของประโยชน์ระดับนี้ ก็คือ การใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งยังเป็นการเกื้อกูลผลด้านจิตใจให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งมีพลัง

ประโยชน์ปัจจุบันถือเป็นวิสัยทัศน์ชีวิตขั้นต้น ที่เราพึงขวนขวายทำให้บรรลุถึง เป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดความสุขในระดับที่ยังต้องพึ่งพิงวัตถุ (สามิสสุข) เสียส่วนใหญ่ ซึ่งแม้จะสำคัญกับชีวิต แต่พุทธศาสนายังต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ในอีก 2 ระดับ เหนือขึ้นไปอีก คือ

2) ประโยชน์เบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ)

เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตด้านในหรือเป็นคุณค่าของชีวิตที่สูงขึ้นไป เป็นหลักประกันชีวิตภายหลังเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ได้แก่ ความเจริญงอกงามของชีวิตจิตใจ ด้วยการประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ตนและส่วนรวม ซึ่งนอกจากจะหมายถึง การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจแล้ว ยังหมายถึงการเสียสละกำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา และจิตใจ เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม  หากจะกล่าวในบริบทสังคมยุคนี้ก็น่าจะเน้นถึงการที่เราได้รวมกลุ่มกันทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม เพราะการทำให้ประชาชนทั่วไปรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จะเป็นพลังที่ทำให้สังคมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยไม่จำต้องรอพึ่งอำนาจจากรัฐถ่ายเดียว เพื่อนำไปสู่โครงสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็นโครงสร้างที่เอื้อเฟื้อให้คนส่วนใหญ่ไม่ยากไร้ขาดแคลน และก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างคนในสังคม

นอกจากการประกอบคุณงามความดีเพื่อส่วนรวมแล้ว ประโยชน์ในระดับนี้ยังเน้นถึงการทำจิตใจให้สงบรำงับ เป็นความสุขจากความสงบ (นิรามิสสุข) ซึ่งประณีตกว่าความสุขจากการอิงอาศัยวัตถุ นั่นก็คือ การหมั่นเจริญสมาธิภาวนา เพื่อบำรุงหล่อเลี้ยงจิตใจให้สงบมั่นคงเป็นสุขอยู่เสมอ  ประโยชน์ในระดับนี้โดยรวมแล้วถือเป็นประโยชน์ที่เลยขั้นยึดติดในวัตถุ โดยหันมาสละกำลังและเวลาเพื่อคุณงามความดีแทน ชีวิตที่เข้าถึงความสุขระดับนี้จึงมีคุณภาพลึกล้ำมากกว่าชีวิตที่เสวยสุขจากวัตถุเพียงด้านเดียว

3) ประโยชน์ขั้นสูงสุด (ปรมัตถะ)

เป็นประโยชน์ขั้นสุดท้ายที่ชีวิตควรเข้าถึง คือความสามารถในการหยั่งรู้สภาวะของสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมของสรรพสิ่งว่า มันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนให้เราเข้ายึดมั่นถือมั่น จิตใจจึงเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของการยึดมั่นถือมั่น  บุคคลที่เข้าถึงประโยชน์ขั้นนี้ ย่อมเข้าถึงความสุขที่จริงแท้ เพราะจิตใจเป็นอิสระจากการบีบคั้นกดดัน เป็นการอยู่อย่างไร้ทุกข์แท้จริง ดังนั้นชาวพุทธที่ประเสริฐนั้นก็ควรขวนขวายใส่ใจปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงประโยชน์ระดับนี้  การปฏิบัติเพื่อบรรลุประโยชน์ ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประจักษ์แจ้งถึงความจริงของสรรพสิ่งตามที่กล่าวมา ทั้งนี้ก็จำต้องอาศัยการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงประโยชน์ใน 2 ระดับข้างต้นนี้เป็นพื้นฐานด้วยเป็นสำคัญ

ประโยชน์ทั้ง 3 ระดับหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “วิสัยทัศน์แห่งชีวิตแบบพุทธ” ซึ่งพุทธศาสนาล้วนให้ความสำคัญทั้งสิ้น พวกเราที่เป็นชาวพุทธควรให้เวลาอย่างสมดุลและเพียงพอต่อการทำประโยชน์ทั้ง 3 ระดับให้ถึงพร้อม เนื่องเพราะประโยชน์ทั้ง 3 ระดับล้วนเกื้อกูลสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  จากนี้ไปก็หวังว่าเราจะให้ของขวัญปีใหม่ด้วยการสรุปบทเรียนชีวิตเพื่อปรับปรุงในสิ่งที่ผิดพลาดพลั้งเผลอ และลองจินตนาการสร้างวิสัยทัศน์แห่งชีวิตให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอาศัยหลักการข้างต้นนี้ เพื่ออาศัยเป็นพิมพ์เขียวแห่งชีวิตในการดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทางในโลกอันสับสนวุ่นวายนี้


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน