ศัตรูที่แท้จริง

พระไพศาล วิสาโล 18 เมษายน 2010

เหตุการณ์ร้ายแรงเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ถนนราชดำเนินกลาง เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาล นปช. และชาวไทยทั้งมวล ทุกคนเป็นผู้แพ้  หากความพินาศในวันนั้นเรียกว่าชัยชนะ มันก็คือชัยชนะของความโกรธเกลียดนั่นเอง

ในขณะที่ทุกคนพากันชี้นิ้วกล่าวโทษผู้อื่น ตัวการที่แท้จริงกลับถูกมองข้ามและยังคงลอยนวลอยู่ได้ นั่นคือความโกรธเกลียด  ความโกรธเกลียดผลักไสให้เรากลายเป็นศัตรูที่มุ่งจองเวรกัน  ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งโกรธเกลียดมากเท่าใดก็ยิ่ง ชี้นิ้วส่งเสียงประณามผู้อื่นดังมากเท่านั้น จนลืมไปว่าความโกรธเกลียดในใจเราได้ผลักดันให้เรามีส่วนในการทำร้ายกันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ความโกรธเกลียดไม่เพียงทำร้ายผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นโทษต่อตัวเราเองด้วย  เมื่อใดก็ตามที่ปล่อยให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจ นิสัยใจคอและพฤติกรรมของเราก็จะเปลี่ยน  จากคนที่มีน้ำใจ พูดจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยน ก็กลายเป็นคนจิตใจแข็งกระด้าง พูดจาหยาบคาย และกราดเกรี้ยว  สาวสวยเสียงหวาน ทันทีที่โกรธเกลียด ก็พลันมีสีหน้าดุร้าย ส่งเสียงกระโชกโฮกฮาก พร้อมจะด่าทอผู้อื่น ลงมือทำร้ายผู้คน หรือสะใจกับการที่เขาถูกทำร้าย  เป็นเพราะความโกรธเกลียดนี้แหละที่ทำให้คนซึ่งเคยมีไมตรีต่อกัน กลายเป็นศัตรูที่ห้ำหั่นกัน ทุบตีหรือประหัตประหารกันได้อย่างเลือดเย็น ทำให้คนที่เคยเป็นเพื่อนบ้านกัน กลายเป็นปรปักษ์ที่กลุ้มรุมทำร้ายหรือประชาทัณฑ์จนเขาตายคาเท้า  กล่าวอีกนัยหนึ่งมันทำให้เรากลายเป็นยักษ์มารไปโดยไม่รู้ตัว

จริงอยู่เขาอาจเป็นคนชั่วคนเลว โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ แต่การทำกับเขาเช่นนั้น กลับทำให้เราห่างไกลจากความเป็นมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าเขา  ในขณะที่เราเห็นเขาเป็นเดรัจฉาน การกระทำเช่นนั้นกลับลดตัวเราเองให้ต่ำเท่าเขา หรืออาจต่ำยิ่งกว่าเขาเสียอีก  ความโกรธเกลียดทำให้เราไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันมันก็มักผลักดันให้เราทำลายความเป็นมนุษย์ของตนไปพร้อมๆ กัน

บรรยากาศการจุดเทียนและวางพวงมาลัยบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากคืนวันที่ 10 เมษายน

บางครั้งเขาไม่ได้ทำร้ายใครเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะเขามีความเชื่อทางการเมืองหรืออุดมการณ์ต่างจากเรา หรือเพียงเพราะเขาใส่เสื้อคนละสีกับเรา  นั่นก็มากพอที่เราจะเห็นเขาเป็นคนเลว เพราะสรุปล่วงหน้าแล้วว่า ความเชื่อ อุดมการณ์ หรือเสื้อสีนั้น มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ นิยมเผด็จการเท่านั้นที่สมาทานหรือสวมใส่กัน  แม้เราไม่รู้จักเขา แต่เพียงเพราะเขาสังกัดกลุ่มก้อนหรือสถาบันที่เราไม่ชอบ นั่นก็มากพอแล้วที่เราจะตราหน้าว่าเขาเป็นคนเลว  แม้โดยเหตุผลเราจะรู้ว่าเพียงแค่มีความเชื่ออย่างนั้น ไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนเลวได้  แต่ในระดับของอารมณ์ การที่เขาสมาทานอุดมการณ์ที่เราไม่ชอบ หรือสังกัดกลุ่มก้อนที่เราเกลียด มันก็มากพอแล้วที่จะทำให้เราชิงชังเขา เพราะอยู่คนละพวกกับเรา  และดังนั้นจึงเห็นเขาเป็นคนเลวได้ไม่ยาก ก็ในเมื่อเรายืนอยู่ฝ่ายที่ถูกต้องเป็นธรรม เขาซึ่งอยู่คนละพวกกับเราก็ต้องเป็นฝ่ายอธรรมอย่างแน่นอน

แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อเขาเป็นฝ่ายอธรรม เราซึ่งเป็นฝ่ายธรรมย่อมมีความชอบธรรมที่จะจัดการเขาอย่างไรก็ได้ เหตุผลก็คือคนเลวอย่างนี้จะปล่อยให้อยู่รกโลกไปทำไม  ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะด่าว่าเขาด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุดเท่าที่จะสรรหามาได้ พร้อมจะใส่ร้ายป้ายสี โกหกหลอกลวง หรือทำร้ายเขา  แต่ยิ่งเราทำเช่นนั้นกับคนที่เราติดป้ายว่า “เลว” มากเท่าไร เราก็กลับกลายเป็นคนเลวเสียเอง อาจเลวยิ่งกว่าเขาก็ได้  ใช่หรือไม่ว่า “เทพ” ที่พร้อมจะใช้วิธีการใดก็ได้เพื่อจัดการกับ “มาร” ในที่สุดแล้วลงเอยด้วยการกลายเป็น “มาร” เสียเอง  จะว่าไปแล้ว เส้นแบ่งระหว่างเทพกับมารนั้นบางมาก เพียงแค่เผลอให้ความโกรธเกลียดครองใจ เทพก็กลายเป็นมารได้ง่ายๆ  มีผู้กล่าวอย่างน่าฟังว่า เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับอสูรร้าย จงระวังว่าเราจะไม่กลับกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง

ความโกรธเกลียดเมื่อเกิดขึ้นกับใคร มันจะผลักคนอื่นให้อยู่ห่างจากเรา โดยเฉพาะคนที่เราโกรธเกลียด แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสามีหรือภรรยาของเรา เป็นพี่น้องของเรา หรือแม้แต่เป็นพ่อหรือลูกของเรา  ยิ่งเป็นคนที่ห่างไกลกันอยู่ก่อนแล้ว มันยิ่งผลักเขาไปให้ไกลกว่าเดิม  แต่น่าแปลกว่ายิ่งห่างไกลกันเพราะความโกรธเกลียด ทั้งสองฝ่ายกลับมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง มีนิสัยใจคอคล้ายกัน มีมุมมองคล้ายกัน มีพฤติกรรมคล้ายกัน ราวกับเป็นกระจกเงาของกันและกัน  กล่าวคือต่างมองเห็นว่าฉันถูก แกเลวเหมือนกัน ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายเหมือนกัน กราดเกรี้ยวเหมือนกัน  รวมทั้งลอกเลียนแบบการกระทำเหมือนกัน เช่น ใส่ร้ายป้ายสี หรือใช้วิธีการเดียวกัน (บุชและบินลาเดน แม้จะอยู่ขั้วตรงข้ามกัน แต่กลับมอง คิด และทำคล้ายกัน เช่น กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นมารเหมือนกัน เชื่อว่าพระเจ้าอยู่ข้างตนเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างโจมตีซึ่งกันและกันว่าฆ่าผู้บริสุทธิ์ แต่แล้วก็ต่างทำอย่างเดียวกัน เป็นแต่ใช้อาวุธและยุทธวิธีต่างกันเท่านั้น)

น่าแปลกตรงที่ยิ่งเราโกรธเกลียดใคร เราก็ยิ่งทำตัวเหมือนเขา เจริญรอยตามเขา หรือเอาเขาเป็นครู  ทั้งๆ ที่เราเห็นว่าเขาเลว ชั่ว แต่สิ่งที่เราทำกับเขานั้น ทำให้เราไม่ต่างจากเขาเลย  ยิ่งเราประณามเขาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก็ยิ่งกลายเป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นได้รู้ว่าเรามีนิสัยอย่างไร  ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเราคิดจะเล่นงานคนอื่น สุดท้ายเรากลับเล่นงานตัวเอง  ยิ่งเราพยายามทำร้ายคนอื่น เรากลับทำร้ายตัวเอง  นั่นเป็นเพราะเราปล่อยให้ความโกรธเกลียดครองใจ จนไม่เพียงรุ่มร้อนดังถูกไฟเผาลนเท่านั้น  หากยังทำลายภาพพจน์ ลดความเป็นมนุษย์ในตัว และสร้างวิบากกรรมอีกมากมาย ทำให้จมอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งการจองเวร ที่ผลักให้อยู่ในความทุกข์จนยากจะไถ่ถอนออกมาได้

การเคลื่อนขบวนทั่วกรุงเทพมหานคร

ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา มีความกลัวและความใฝ่ฝันเช่นเดียวกับเรา  แต่เรามักจดจ่อหรือติดอยู่กับ “ยี่ห้อ” ที่ประทับบนตัวเขา (เช่นไพร่ อำมาตย์ พันธมิตร นปช. ตำรวจ ทหาร) หรือกลุ่มก้อนที่เขาสังกัด จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา  เราจดจ่ออยู่กับสีเสื้อที่เขาสวมใส่ จนไม่สามารถมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังเสื้อเหล่านั้น  การมองเช่นนี้ ทำให้เราเห็นเขาเป็นคนละพวกกับเรา  ยิ่งเป็นพวกที่เราเกลียดด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายที่จะต้องกำจัด มีการประณามเขาด้วยถ้อยคำต่างๆ ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา  ยิ่งความเป็นมนุษย์ของเขาถูกลดทอนมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกสูงส่งในทางจริยธรรมกว่าเขา และดังนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะทำร้ายเขา

“ยุคมิคสัญญี” อันหมายถึงยุคที่ผู้คนทำร้ายกันอย่างโหดเหี้ยมนั้น เกิดขึ้นเมื่อเรามองเห็นซึ่งกันและกันเป็นเนื้อ (มิค) แทนที่จะเห็นกันและกันเป็นมนุษย์  เราไม่ต้องรออีกหลายกัปกัลป์กว่ายุคมิคสัญญีจะบังเกิด เพราะทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคมิคสัญญีอยู่แล้ว เนื่องจากผู้คนไม่ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน  จะพ้นจากยุคมิคสัญญีได้ต่อเมื่อเรามองให้พ้นยี่ห้อ อุดมการณ์ หรือมองทะลุสีเสื้อจนเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

สิ่งสำคัญในวันนี้มิใช่การขอคืนพื้นที่หรือชิงพื้นที่กลับคืน อย่างที่ทำมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากได้แก่การคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กันและกัน คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนเสื้อเหลือง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนเสื้อแดง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ทหารตำรวจ เมื่อนั้นเราจึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ

เราจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ก็ต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์ และเปิดใจรับฟังกัน แทนที่จะสวมหัวโขนเข้าหากัน หรือเลือกฟังแต่สิ่งที่ยืนยันอคติดั้งเดิมของตน  หลักธรรมที่สำคัญประการหนึ่งในยามที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงก็คือ “สัจจานุรักษ์” นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง  ขณะเดียวกันก็ตระหนักหรือเตือนตนอยู่เสมอว่าความคิดเห็นของอีกฝ่ายอาจถูกต้องเป็นจริงก็ได้  ถ้ามีสัจจานุรักษ์ เราก็จะยินดีรับฟังคนอื่นมากขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ในขณะที่ทุกคนพากันชี้นิ้วกล่าวโทษผู้อื่น ตัวการที่แท้จริงกลับถูกมองข้ามและยังคงลอยนวลอยู่ได้ นั่นคือความโกรธเกลียด

ในยามที่เกิดความขัดแย้ง ทุกฝ่ายมักจะยืนยันว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก คู่กรณีหรือฝ่ายตรงข้ามต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด ดังนั้นจึงไม่พร้อมที่จะฟังคู่กรณีเลย  อย่าว่าแต่คู่กรณีระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงเลย แม้แต่ระหว่างคนที่รักกัน เช่น สามีกับภรรยา พ่อกับลูก เวลาขัดแย้งกันแล้ว มีใครฟังกันบ้าง ที่ไม่มีใครฟังกันก็เพราะเชื่อมั่นแล้วว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง  เป็นเพราะไม่ฟังกันใช่ไหม ผลก็คือทะเลาะวิวาทกันหนักขึ้น

แม้แต่คนที่รักกัน เรายังเปิดใจฟังอีกฝ่ายยากมาก ยิ่งกับคนที่เกลียดชังกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งเปิดใจฟังกันยากขึ้น  แต่เพราะไม่เปิดใจฟังกัน จึงยิ่งมั่นใจว่า “ฉันถูก” “แกผิด”  คำถามก็คือเราแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นฝ่ายถูก (หรือดี) ร้อยเปอร์เซ็นต์ และอีกฝ่ายผิด (หรือเลว) ร้อยเปอร์เซ็นต์  เราแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้รับเกี่ยวกับตัวเขานั้นถูกต้องเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้นเกิดจากความเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ได้ล้วนๆ  ทำไมเราถึงแน่ใจอย่างนั้นในเมื่อเราไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดความเห็นของเขาเลย เพราะสรุปตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาเลวเขาชั่วเขาผิด

คำสอนของพระพุทธองค์ในกาลามสูตรนั้นสำคัญมากในยามนี้ เพราะจะช่วยเตือนให้เราไม่หลงเชื่อเพียงเพราะ “ฟังตามกันมา” หรือเพียงเพราะ “ตรรกะ การอนุมาน การคิดตรองตามแนวเหตุผล หรือเพราะเข้าได้กับความคิดของตน” หรือเพียงเพราะ “มองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้” หรือเพียงเพราะ “ผู้พูดเป็นครูของเรา” (คือน่าเชื่อถือ) เท่านั้น  ถ้าเชื่อเพียงเพราะเหตุดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าสิ่งที่ตัวเองได้ยินหรือรู้มานั้น (รวมทั้งความคิดเห็นที่สรุปจากข้อมูลดังกล่าว) เป็นความจริงถูกต้องแน่นอน

การให้อภัยหรือแผ่เมตตาให้อีกฝ่ายอาจเป็นเรื่องยาก (ทั้งๆ ที่มันเป็นผลดีต่อจิตใจของเราเอง) แต่อย่างน้อยเราควรรับรู้เขาตามที่เป็นจริง  ในเมื่อเราทุกคนปรารถนาความเป็นธรรม เราจึงควรให้ความเป็นธรรมแก่เขา (และแก่ตนเอง) ด้วยการมองเห็นเขาอย่างที่เขาเป็น  แต่จะทำเช่นนั้นได้อย่างไรหากเรามีอคติอันหนาแน่น  ต่อเมื่อรู้เท่าทันอคติ เปิดใจรับฟังเขา และไม่ปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ เราถึงจะเห็นผู้อื่นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง  เมื่อนั้นเราจะพบว่าแท้ที่จริงมนุษย์หาใช่ศัตรูของเราไม่ ความโกรธเกลียดต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา