ศาสนาบริโภคนิยม

พระไพศาล วิสาโล 11 กันยายน 2004

ศาสนาอะไรที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วทั่วโลก? คำตอบคือ ศาสนาบริโภคนิยม  เวลานี้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ในป่าลึก บนเขาสูง หรือขั้วโลกใต้ จะเห็นร่องรอยของบริโภคนิยมในทุกที่ เรียกได้ว่าไม่มีที่ไหนที่บริโภคนิยมเข้าไปไม่ถึง แม้ไม่มีถนน ก็อาศัยสัญญาณดาวเทียมเป็นสื่อเผยแพร่  ในหลายแห่งสถานที่ที่เป็นตัวแทนของศาสนาบริโภคนิยมมีจำนวนมากกว่าวัดวาอารามเสียอีก เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีวัดไม่ถึง ๕๒๐ วัด แต่มีผับ บาร์ คาราโอเกะและสถานเริงรมย์เกือบ ๑,๓๐๐ แห่ง ยังไม่นับศูนย์การค้าและแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ

ศาสนาทุกศาสนามีหน้าที่เบื้องต้นคือให้ความมั่นคงทางจิตใจ ทุกวันนี้ผู้คนเข้าหาบริโภคนิยมไม่ใช่แค่ต้องการความสุขทางกายเท่านั้น หากยังเพราะต้องการความมั่นคงทางจิตใจเช่นกัน หลายคนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อได้สะพายกระเป๋ายี่ห้อดังหรือขับรถราคาสิบล้าน นักเรียนนักศึกษารู้สึกว่าตัวเองด้อยหากไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือไม่เคยเข้าร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดัง

ความมั่นคงในจิตใจที่ลึกไปกว่านั้นเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย บริโภคนิยมก็ให้สัญญาแก่เราเช่นเดียวกันว่าชีวิตของเราจะมีคุณค่าและความหมายถ้าครอบครองวัตถุสิ่งเสพมากๆ โดยเฉพาะสินค้ายี่ห้อดัง  มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีเข็มมุ่งหรือมีเป้าหมาย เป้าหมายที่ว่าก็คือชีวิตนี้เราต้องรวยให้ได้ อย่างน้อยต้องมีคฤหาสน์ มีรถราคาสิบล้าน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยมุ่งมั่นเรียนอย่างเต็มที่เพราะตั้งเป้าว่าจบแล้วต้องรวย

ลึกลงไปกว่านั้น เรายังต้องการตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืน สมัยก่อนความเชื่อเรื่องชาติหน้า ทำให้คนเราไม่กลัวตายเพราะเชื่อว่าตายแล้วก็ต้องเกิดใหม่ ตัวตนไม่ได้ขาดสูญ  แต่เมื่อผู้คนไม่ค่อยเชื่อเรื่องชาติหน้าแล้ว ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะกลัวว่าตายแล้วจะดับสูญ สัญชาตญาณส่วนลึกไม่สามารถยอมรับได้ว่าตัวตนจะต้องสิ้นสุดที่ชาตินี้  ด้วยเหตุนี้เองจึงเอาประเทศชาติมาเป็นสิ่งทดแทนชาติหน้า ประเทศชาติได้กลายเป็นตัวตนใหม่ที่เชื่อว่าจะคงอยู่เป็นนิรันดร์แม้เราจะตายไปแล้ว  การมีประเทศชาติทำให้เราเชื่อว่าตายไปแล้วตัวตนของเรายังไม่ขาดสูญ เพราะมีชาติทำหน้าที่สืบต่อตัวตนของเราต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงยอมตายเพื่อประเทศชาติได้ ทำให้ไม่กลัวตาย แต่ระยะหลังคนเริ่มเสื่อมศรัทธาในชาติ ชาตินิยมเริ่มอ่อนพลังลง ถ้าเช่นนั้นจะมีอะไรมาเป็นสิ่งที่สืบต่อตัวตนได้

คนจำนวนไม่น้อยเอาบริษัทมาเป็นตัวตนแทน จึงยอมตายเพื่อบริษัท ทุ่มเททำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อบริษัทโดยไม่สนใจลูกเมีย อย่างในญี่ปุ่น คนเหล่านี้ยอมตายเพื่อบริษัท ทุกเช้าจะมีการเข้าแถวร้องเพลงเชิดชูบริษัท แต่คนไทยเรายังไปไม่ถึงขั้นนี้ จึงเอาอย่างอื่นมาแทน เช่นเอาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลมาสำหรับสืบต่อตัวตนแทน ทำให้เรายอมตายเพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

แต่เมื่อลัทธิปัจเจกนิยมมีอิทธิพลมากขึ้น คนนึกถึงตัวเองมากขึ้น ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลหรือครอบครัวก็เริ่มคลายความศักดิ์สิทธิ์ ก็เอาชื่อเสียงของตัวเองมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวแทน ดังมีคำขวัญว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง” ทางออกอีกทางหนึ่งก็คือหันไปเอาวัตถุมาเป็นสิ่งที่สืบต่อตัวตนแทน  เพราะวัตถุนั้นมีลักษณะอาการที่มั่นคง ยั่งยืน บัญชีเงินในธนาคาร รถยนต์ หรือคฤหาสน์ ล้วนให้ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่มั่นคง ถ้าเอาตัวตนไปผูกติดกับสิ่งนี้ ตัวตนของเราก็จะดูมั่นคงไปด้วย และอาจรู้สึกไปถึงขั้นว่ามันจะสืบต่อตัวตนของเราให้เป็นนิรันดร์ได้  ตรงนี้เป็นแรงผลักดันลึกๆ ที่ทำให้ผู้คนนับถือบริโภคนิยม มันเป็นแรงผลักดันอย่างเดียวกับที่ทำให้ผู้คนเข้าหาศาสนา เป็นแรงผลักดันที่ลึกมากจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นแรงผลักดันทางจิตวิญญาณ

บริโภคนิยมให้สัญญาแก่เราว่า ชีวิตของเราจะมีคุณค่าและความหมายถ้าได้ครอบครองวัตถุสิ่งเสพมากๆ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมาย คือชีวิตนี้เราต้องรวยให้ได้

ศาสนาทุกศาสนาต้องมีพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บริโภคนิยมก็มีพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน พิธีกรรมประจำสัปดาห์ก็คือการเข้าศูนย์การค้าทุกเสาร์อาทิตย์แทนการเข้าวัด เทศกาลลดราคาหรือลดแลกแจกแถมเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของบริโภคนิยม เช่นเดียวกับเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ วาเลนไทน์ เทศกาลนี้มาถึงเมื่อใดผู้คนเป็นไปช็อปปิ้งกัน ถ้าไม่ไปก็จะรู้สึกกระสับกระส่ายไม่เป็นสุข

พิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของศาสนาบริโภคนิยมคือ พิธีกรรมคอนเสิร์ต เวลานี้หนุ่มสาวไปคอนเสิร์ตเหมือนกับที่คนสมัยก่อนร่วมพิธีทางศาสนาที่วัด เวลาหนุ่มสาวไปฟังคอนเสิร์ตจะเกิดความรู้สึกที่เรียกได้ว่าเป็น “ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ” นั่นคือความรู้สึกปีติ และลืมตัวตน เหมือนกับว่าตัวตนได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับฝูงชน ทำให้รู้สึกโปร่งเบาอย่างยิ่ง ความทุกข์ทั้งหลายมลายหายไป เพราะไม่มีตัวตนให้ห่วงพะวงอีกต่อไป นี้คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่งที่ไม่ต่างจากเวลาได้ร่วมพิธีทางศาสนาท่ามกลางคนหมู่มาก

คนเราเมื่อลืมตัวตนหรือเอาตัวตนไปฝากไว้กับฝูงชนแทน จะไม่กลัวตาย ใครที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือร่วมคอนเสิร์ต จะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน นี่คือสภาวะหรือประสบการณ์ที่สามารถจัดได้ว่าเป็น “ประสบการณ์ทางศาสนา” มันทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากตัวตนเดิมที่คับแคบ กลายมามีมีตัวตนใหม่ที่มั่นคงและใหญ่กว่าเดิม ทำให้เกิดสภาวะที่อบอุ่น มั่นคง เบาสบาย คอนเสิร์ตจึงเป็นพิธีกรรมทางศาสนาของคนรุ่นใหม่ที่กำลังมาแทนที่พิธีกรรมทางศาสนาของคนรุ่นเก่า

แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบริโภคนิยมคืออะไร สมัยก่อนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุ สมัยนี้ต้องเป็นลายเซ็นดารา ยิ่งเป็นดารานอกยิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหญ่ แม้แต่กางเกงชั้นในของดาราฟุตบอลอย่างเบ็คแคมที่ยังไม่ได้ซัก ใครๆ ก็อยากได้ เวลาเขามาเมืองไทยหรือไปเมืองจีน เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของเขาในโรงแรมมีคนแย่งกันประมูล ยอมจ่ายเงินเป็นหมื่นเป็นแสน สิ่งของเหล่านี้ให้ความรู้สึกทางจิตใจแก่คนรุ่นใหม่ไม่ต่างจากที่ชานหมากหรือน้ำบ้วนปากของเกจิอาจารย์ชื่อดังมีสำหรับคนเฒ่าคนแก่  ของใช้พวกนี้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปได้ก็เพราะคนรุ่นใหม่เห็นดาราเหล่านี้ไม่ต่างจากพระเจ้า พอนักดนตรีวงเอ็กซ์แจเปนฆ่าตัวตาย (ภายหลังเชื่อกันว่าเป็นอุบัติเหตุ) วัยรุ่นญี่ปุ่นหลายคนก็ฆ่าตัวตายตามเหมือนกับพลีชีพเพื่อพระเจ้า

บริโภคนิยมเป็นศาสนาใหม่ที่กำลังมีอิทธิพลกว้างขวางและฝังรากลึก มันคือคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาดั้งเดิมทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย  ที่น่ากลัวก็คือมันกำลังบ่อนเซาะศาสนาเหล่านี้อย่างถึงรากถึงโคน จนสามารถเอาศาสนาต่างๆ มาเป็นร่างทรงของมันได้  แต่ความสำเร็จของมันกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็เกิดจากความล้มเหลวอ่อนแอของศาสนาเหล่านี้นั่นเอง ถ้าไม่ปรับตัวให้เข็มแข็งก็ไม่มีวันที่จะชนะศาสนาบริโภคนิยมได้เลย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา