สังฆะเพื่อสังคม

พระไพศาล วิสาโล 26 มกราคม 2002

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นพระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการสงเคราะห์ช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่กับการเทศน์การสอนและการสวดเท่านั้น  พระสงฆ์เหล่านี้จำนวนไม่น้อยทำงานสงเคราะห์ชุมชนด้วยความคิดริเริ่มของท่านเอง มิใช่เพราะการชักนำของหน่วยงานรัฐ หรือเพื่อสนองนโยบายรัฐดังบางโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์  ท่านเหล่านี้ได้พบเห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านรอบวัด หลายท่านได้เริ่มช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกิจกรรมพื้นๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์เด็กในวัด การอบรมเยาวชน  ต่อมาก็ขยับขยายไปสู่การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ เช่น ทำโครงการฝึกอาชีพ ธนาคารข้าว ธนาคารควาย สหกรณ์ร้านค้า  บ้างก็สงเคราะห์ชาวบ้านทางด้านสุขภาพอนามัย เช่น ส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้าน ให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย หรือรักษาผู้ป่วยเอดส์  ขณะที่หลายท่านส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง

พระสงฆ์เหล่านี้ได้ทำให้สังคมไทยตระหนักว่า พระนั้นไม่ได้มีบทบาทเฉพาะพิธีกรรมหรือในกำแพงวัดอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากท่านยังมีศักยภาพมากกว่านั้น และอันที่จริงบทบาทที่ท่านทำในชุมชนก็มิใช่สิ่งใหม่  จริงอยู่พระสงฆ์ไทยแต่ก่อนย่อมไม่รู้จักธนาคารข้าว ธนาคารควาย แต่เป็นธรรมดามากที่การพัฒนาหมู่บ้านในอดีต เช่นการขุดบ่อน้ำ ตัดถนน จะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำชุมชนควบคู่กับผู้นำทางจิตใจ  แต่บทบาทดังกล่าวได้เลือนหายไปในเวลาต่อมาเนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐมาทำหน้าที่แทน  พระสงฆ์ที่เรียกว่าพระนักพัฒนาในปัจจุบันจึงมิได้ทำอะไรนอกเหนือจากการรื้อฟื้นบทบาททางสังคมของพระสงฆ์กลับมา โดยการปรับปรุงให้สมสมัย

สิ่งหนึ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก็คือการเข้าไปมีบทบาทในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต่างจากพระสงฆ์สมัยก่อนที่บทบาทดังกล่าวมีไม่บ่อยนัก  ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง กิจกรรมต่างๆ ของชุมชนจัดที่วัด ชาวบ้านจึงเป็นฝ่ายเข้าวัด มากกว่าที่พระจะเป็นฝ่ายออกไปหาชาวบ้าน  แต่ปัจจุบันกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนเกิดขึ้นนอกวัดเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พระสงฆ์จำนวนมากยังติดอยู่กับภาพเดิมว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงรอให้ชาวบ้านเข้าวัดแต่ฝ่ายเดียว  พระสงฆ์กลุ่มใหม่นี้กลับเป็นฝ่ายออกไปหาชาวบ้าน ในแง่นี้จึงถือได้ว่าเป็นการปรับบทบาทของวัดอย่างสำคัญ

คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของพระสงฆ์กลุ่มใหม่นี้ ก็คือการชี้ให้เห็นว่า “โลก” กับ “ธรรม” ไม่ได้แยกจากกัน  ธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่เฉพาะวัด หรือจำกัดเฉพาะการจำศีลหลับตาทำสมาธิเท่านั้น  หากยังสามารถปฏิบัติได้ท่ามกลางกิจกรรมทางโลกหรือโดยใช้กิจกรรมทางโลกเป็นสื่อ  ดังที่พระสุบิน ปณีโต ผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ทั่วจังหวัดตราด ได้ชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า การนำเงินมารวมกันเพื่อให้เพื่อนบ้านที่กำลังเดือดร้อนมีโอกาสกู้เอาไปใช้ก่อนนั้นเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง มิใช่ว่าบุญจะต้องทำที่วัดหรือกับพระเท่านั้น  ขณะเดียวกันในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ชาวบ้านยังได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมหรือฝึกฝนตนในเรื่องของความซื่อสัตย์และความไว้วางใจกัน อันเป็นธรรมที่สำคัญต่อชีวิตและชุมชน  ในทำนองเดียวกันพระครูพิพัฒนโชติ ผู้นำจัดตั้งธนาคารชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ในจังหวัดสงขลา ก็ได้ใช้ธรรมเป็นเครื่องประสานกลุ่ม โดยทุกกลุ่มที่ร่วมโครงการดังกล่าวได้ถือเอาศีล 5 และธรรมในหมวดมงคล 38 มาเป็นวินัยและหลักการของกลุ่มอีกด้วย โดยมีการประชุมพบปะและทำกิจกรรมของกลุ่มรวมทั้งการกู้ยืมและฝากเงินกันในวันพระหลังจากการทำบุญและประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว ทำให้วันพระมีความหมายทั้งทางโลกและทางธรรม

พระสงฆ์ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะพิธีกรรมหรือในกำแพงวัดอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากท่านยังมีศักยภาพมากกว่านั้น

พัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระสงฆ์ที่ทำงานชุมชนก็คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันและเป็นหลักในการทำกิจกรรมชุมชน  พระสงฆ์ที่เรียกว่าพระนักพัฒนารุ่นแรกๆ นั้น ในการจัดทำโครงการต่างๆ ท่านจะเป็นทั้งผู้ตัดสินใจและผู้บริหาร โดยชาวบ้านเป็นเพียงผู้ช่วยสนองงานหรือเป็นฝ่ายรับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว  การเป็นผู้นำในลักษณะนี้ทำให้โครงการทั้งหลายขึ้นอยู่กับท่านผู้เดียว โดยชาวบ้านไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ดังนั้นเมื่อท่านเกิดมีอันเป็นไปหรือวางมือ โครงการก็มักสิ้นสุดลง  แต่ในระยะหลังมีพระสงฆ์จำนวนมากขึ้นที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้กระตุ้นชักชวนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันจัดทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง โดยท่านเป็นเพียงที่ปรึกษา ให้ข้อคิดความเห็นในการทำงาน หรือช่วยประสานให้เกิดความสมานสามัคคีในกลุ่ม  ตัวอย่างชัดเจนคือ สภาลานวัดตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพระครูสุนทรกิจจานุโยค เป็นประธาน แต่กิจกรรมต่างๆ จัดทำโดยคณะกรรมการซึ่งแบ่งความรับผิดชอบกันเป็นฝ่ายๆ และมาจากชาวบ้านทั้งหมด  ทางภาคเหนือพระครูพิทักษ์นันทคุณแห่งจังหวัดน่านก็เป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชนหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยพระสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

การรวมกลุ่มชาวบ้านในลักษณะนี้ นอกจากจะแบ่งเบาภาระของพระสงฆ์แล้ว ยังเป็นการศึกษาที่สำคัญสำหรับชาวบ้าน  เพราะกระบวนการกลุ่มเอี้อให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้มากขึ้น  ข้อมูลและความรู้ลอยๆ ที่เกิดขึ้นจะมิใช่สิ่งที่เหินห่างจากชีวิตและสภาพแวดล้อมของเขาดังที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาหรือสื่อมวลชน หากสามารถนำมาใช้ได้กับความเป็นจริงรอบตัวเขา  การเรียนรู้ดังกล่าวเมื่อผนวกกับความไว้วางใจที่เพิ่มพูนขึ้นจากทำกิจกรรมร่วมกัน จะสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านมากขึ้นในการแก้ปัญหาของชุมชนที่ยากและใหญ่กว่าเดิม นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน

แม้ว่า บทบาทของพระสงฆ์เหล่านี้ยังเป็นบทบาทในระดับปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ แต่หากพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก้าวเดินไปในทิศทางดังกล่าว คณะสงฆ์จะเป็นพลังทางจริยธรรมที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา