สัจจะวาจา

นาม ไร้นาม 2 กรกฎาคม 2017

ตอนเด็กๆ เรามักได้รับคำมั่นสัญญามากมาย จากพ่อ แม่ ปูย่าตายาย ครูบาอาจารย์ หรือกระทั่งญาติพี่น้อง หรือบางเรื่องอาจจะไม่ถึงกับเป็นคำมั่นสัญญาจริงจังนัก แต่ก็มีคำพูดที่พวกเขารับปากเราต่างๆ นานา อย่างเช่นว่า ถ้าทำนี่สำเร็จ จะให้นั่น หรือถ้าทำตัวแบบนี้ จะได้นั่น อะไรก็ว่าไป  หลายคนอาจได้รับตามสัญญา แต่บางคนก็ผ่านประสบการณ์ไม่ดีคล้ายกัน คือ คำพูดเหล่านั้น บางครั้งก็เพียงเป็นแต่คำพูด เพื่อให้เราทำบางอย่าง โดยพวกเขาก็ไม่ได้ทำตามที่พูด หรือบางครั้งพวกเขาก็อ้างเหตุผล กลับคำ หรือเพิ่มเงื่อนไขเอาดื้อๆ ก็มี บางครั้งเราเองก็หลงลืมอารมณ์เหล่านั้นไปว่า ในขณะนั้นเรารู้สึกอย่างไร

เมื่อเราโตขึ้น เข้าสู่วัยทำงาน เราก็มักได้ฟังคำของเจ้านายบ้าง รุ่นพี่บ้าง ว่า เราจะได้ทำนั่นทำนี่ หรือถ้าเราทำสิ่งนี้สิ่งนั้นสำเร็จ เราก็จะได้นั่นได้นี่ มากมายสารพัด  หลายครั้งที่เราพบว่า คำพูด หรือคำมั่นสัญญาเหล่านั้นเป็นเพียงแค่การพูดออกไปอย่างนั้นเอง หรือพูดเพราะพวกเขาต้องการบางอย่างจากเรา

ช่วงวัยรุ่นที่ผมได้รับคำมั่นสัญญามากมาย และไม่ได้สิ่งที่พวกเขาสัญญาไว้ ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกันนะ เราจะโตไปด้วยการมีถ้อยคำมากมายที่ทำให้คนคล้อยตาม ทำให้คนเชื่อ เต็มไปด้วยคำมั่นสัญญา แล้วพร่ำพูดว่าตัวเองไม่เคยโกหก พูดจริงทำจริง แล้วเราก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการหลอกตัวเองไปวันๆ แบบที่เราประสบมา หรือเราจะเปลี่ยนมัน

หลายครั้งที่ได้ยินคนพูดว่า อย่าไปใส่ใจมาก ก็แค่คำพูด นั่นคือสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปในชีวิตหรือไม่ คือ เมื่อเราถูกหลอกมาแต่เด็กจนโต จนเราคุ้นเคยกับการถูกหลอกนั้น หรือคนที่หลอกอาจจะไม่ได้ตั้งใจหลอกก็ตาม  พอเราชินชากับมันมากๆ วันหนึ่งเราก็กลายเป็นคนแบบนั้น เรากลายเป็นคนที่พูดอะไรออกไป แล้วก็กลับคำมันหน้าตาเฉย โดยไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อย เพราะมันก็แค่คำพูด  ใช่ว่า หลายคนทำไปโดยไม่รู้ตัว หลายคนทำไปเพราะความเคยชิน หลายคนทำไปเพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย  ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้คนทั้งหลายกลับสอนลูกหลายให้พูดความจริง ให้พูดจาดี ให้รักษาคำพูด ในขณะที่ตัวเราเองกลับหลอกเขาอยู่เสมอ บางคนก็หนักหนาถึงขั้นหยาบคายตลอดเวลา

พอเราชินชากับมัน เราก็กลายเป็นคนแบบนั้น โดยไม่รู้สึกผิด

เราจะให้สิ่งนี้ดำรงอยู่ และเป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลาน หรือเราจะเปลี่ยนมัน แล้วเรื่องนี้มันสำคัญพอที่เราจะให้ความใส่ใจหรือ  อาจมีหลายความเห็นที่ต่างออกไป แต่หากมองให้ลึกลงไป ก็ให้ความรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย นั้นคือถ้อยคำเป็นหนึ่งในศีลห้าข้อ ตามบทบัญญัติทางพุทธศาสนา

หากเราแปลเอาความหมายให้เข้าใจได้ง่าย ในหลักปฏิบัติห้าข้อนั้นมีอะไรบ้าง เราสามารถแยกออกมาเป็น หลักแห่งความเมตตา เห็นความเป็นธรรมชาติของชีวิต เห็นคุณค่าของชีวิต เลยไปถึงเห็นชีวิตที่เท่าเทียมกันของผู้คน และสัตว์โลก นี่ข้อหนึ่ง

ข้อสอง คือหลักปฏิบัติ ที่ว่าถึงความไม่เห็นแก่ตัว เห็นโอกาสของผู้อื่นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ การไม่เอาเปรียบ และช่วงชิงโอกาสในการใช้ชีวิตของผู้อื่น และการเลี้ยงชีวิตอย่างสุจริต ด้วยสัมมาอาชีวะ

ข้อสาม คือหลักปฏิบัติที่ทำให้เราเคารพผู้อื่น ตั้งมั่นอยู่ในความสำรวมในอารมณ์

ถึงข้อสี่ คือหลักปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับคำพูดของตัวเอง มันทำให้ชีวิตของเรามีค่า เมื่อเราพูดความจริง หรือพูดสิ่งที่เหมาะควร และเคารพในสิ่งที่ตัวเองพูดออกไป

ส่วนข้อห้านั้น คือหลักการดำรงชีวิตอย่างมีสติ แจ่มใส นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ อาจเป็นการตีความในแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการตีความศีลแบบอื่น นั่นก็ว่ากันไป แต่ในที่นี้เรากำลังกล่าวถึง คำพูด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในห้าหลักการดำเนินชีวิต ซึ่งมันมีความหมายว่า เมื่อมันเป็นหนึ่งในห้า มันจึงเป็นสิ่งสำคัญ และมันสำคัญเพราะมันเกี่ยวโยงกับผู้อื่น มีผลต่อชีวิตของผู้อื่น และรวมถึงตัวเองด้วย

และคำพูดมันก็ยังแสดงออกถึงการตั้งใจมั่น ถ้าหากมันเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองด้วยแล้ว มันก็คือการอธิษฐาน เป็นอธิษฐานบารมี แม้บางเรื่องจะยังทำไม่ได้ในทันที แต่การย้ำเตือนตนบ่อยๆ ก็ทำให้เราสามารถเข้าถึงความตั้งใจนั้นได้ในวันหนึ่ง

และสิ่งที่เกิดผลชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อถ้อยคำของเราเป็นสัจจะวาจา เราก็เป็นคนที่เชื่อถือได้ ว่ากันในส่วนสำคัญกับเด็กๆ ด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลโดยตรง ขณะที่เราอยากให้เด็กเชื่อถือ แต่เรากลับคำบ่อยๆ เด็กก็ขาดความเชื่อถือ นั่นเพราะคำพูดของเราไม่มีค่า นั่นก็กลายเป็นมรดกถึงเขาโดยไม่รู้ตัว  แต่หากคำของเราเป็นสัจจะวาจาแล้ว เขาก็เชื่อถือ และมันก็จะกลายเป็นมรดกถึงเขาเช่นเดียวกัน


ภาพประกอบ