สัจธรรมในยามเล่น

มะลิ ณ อุษา 13 มกราคม 2013

“ฉันคิดว่าบางทีคนเราควรจริงจังกับการเล่น และบางทีก็ควรเล่นๆ ในเรื่องจริงเสียบ้าง

ไม่ว่า ณ ขณะนี้คุณจะอายุเท่าไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าคุณต้องเคยผ่านประสบการณ์การเล่นในวัยเด็กมาบ้าง หากลองย้อนกลับไปทบทวนถึงช่วงเวลานั้น ฉันก็เชื่ออีกว่า จะต้องมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของคุณเป็นแน่แท้ และไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่จะมีหยดน้ำใสๆ เอ่อคลอด้วย เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่พอนึกย้อนกลับไปถึงการเล่นในช่วงวัยเด็กทีไร ก็อดไม่ได้ที่จะต้องหวนนึกถึงการเล่นที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น!

อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว และฉันก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะชวนคุณมาขุดค้นหาปมในวัยเด็ก ฉันจะชวนคุณมาทบทวนเรื่องของเล่นและการเล่นในชีวิตของเราต่างหาก

มีกวีบทหนึ่งที่ฉันชอบมาก ชื่อว่า ของเล่น* รจนาโดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร เป็นบทกวีที่ว่าด้วยความสุขของเด็กน้อยในยามที่เกลือกกลิ้งอยู่ท่ามกลางดงฝุ่น ก้อนหิน และกิ่งไม้หัก ในขณะที่ผู้ใหญ่สาละวนอยู่กับตัวเลขในบัญชี การสะสมแท่งเงินแท่งทองและของเล่นราคาแพง บทกวียังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า ผู้ใหญ่มักดิ้นรนค้นหาแต่วัตถุที่ไม่มีวันจะได้ครอบครองอย่างแท้จริง แต่เขาก็ยังทุ่มเทเวลาและแรงพลังทั้งหมดให้กับมัน และหลงลืมไปว่า มันเป็นเพียงการละเล่นอย่างหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง

ก้อนหินและกิ่งไม้ในมือของเด็กน้อย อาจจะกลายเป็นคฤหาสน์และป้อมปราการ เขาจะสร้างมันอย่างประณีตบรรจง แต่เมื่อมันพังทลายลงไป เขาก็เพียงแค่ลุกขึ้นไปเล่นอย่างอื่นแทน

ฟ่อนเงินและรถยนต์คันหรูในมือของผู้ใหญ่ เมื่อได้มาพร้อมกับการสลักชื่อว่าตนเป็นผู้ครอบครอง เขาจะเฝ้าทะนุถนอมมันเป็นอย่างดี และเมื่อสูญเสียไป เขาจะฟุบหน้าร้องไห้ ทุ่มโทษโชคชะตาหรืออะไรก็ตามแต่ และเปลี่ยนชื่อตัวเองว่าเป็นผู้ล้มละลาย หมดสิ้นแรงพลังที่จะสร้างสรรค์ใดๆ ต่อไปได้อีก

เด็กๆ อาจมองอย่างงุนงงว่า ทำไมผู้ใหญ่จึงไม่ยอมเปลี่ยนของเล่น เพราะเมื่ออันหนึ่งพัง เขาก็สามารถไปเล่นอย่างอื่นได้

การเล่นของเด็กสอนปรัชญาชีวิตให้กับผู้ใหญ่อย่างหลักแหลมและแจ่มชัดเสมอมา แต่อาจเป็นเพราะเราหลงลืมหรือยุ่งจนไม่มีเวลาพอที่จะมองเห็น

เคยมีตลกร้ายที่เล่าขานสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยว่า พอเด็กๆ เล่นด้วยกัน ทะเลาะกัน ลงท้ายด้วยใครสักคนหัวโนหรือฟกช้ำ ตกเย็นก็ยกนิ้วโป้งให้กันก่อนกลับบ้าน คนเป็นพ่อแม่ก็เดือดเนื้อร้อนใจ และเพื่อปกป้องลูกของตัวเองจึงลงเอยด้วยการตำหนิเพื่อนของลูกว่าเป็นเด็กไม่ดีบ้างล่ะ ขี้โกงบ้างล่ะ หรือเล่นแรงบ้างล่ะ ลุกลามจนกลายเป็นผู้ใหญ่โกรธกัน ในขณะที่พอถึงเช้าวันใหม่พวกลูกๆ ก็เดินมาเกี่ยวก้อยคืนดี แล้วก็คิดหาเกมสนุกๆ เล่นกันต่อไป แต่ผู้ใหญ่กลับบาดหมางกันไปเสียแล้ว มิหนำซ้ำยังห้ามเด็กๆ พบกัน ห้ามเล่นด้วยกันอีกต่างหาก

นั่นเป็นเพราะว่าผู้ใหญ่เราไม่ยอมทำให้เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเป็นเรื่องเล่นๆ เราคร่ำเคร่งเพ่งโทษและตัดสินคนอื่นหรือแม้กระทั่งตัวเองอยู่เสมอ การยอมรับความผิดพลาดจึงทำได้ยากกว่าเด็กๆ หลายเท่านัก ซึ่งตัวการสำคัญก็คือ ตัวกู ของกู นั่นเอง ทำนองว่าลูกของฉันเจ็บ ฉันก็เจ็บ ลูกของเธอผิด เธอก็ต้องผิดด้วย

และไม่เพียงแต่ลูกเท่านั้นหรอกที่เราเผลอเติมความเป็นเจ้าของต่อท้ายลงไป ยังมีแฟนของฉัน สามี/ภรรยาของฉัน บ้านของฉัน รถของฉัน สมาร์ทโฟนของฉัน ลูกน้องของฉัน หมาแมวของฉัน ฯลฯ มิหนำซ้ำยังสำคัญมั่นหมายว่า นี่คือของของฉันจริงๆ

นอกจากเราจะไม่ยอมเป็นผู้เล่นในเกมชีวิตแล้ว เรายังไม่ให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กๆ อีกด้วย เราปล่อยให้เครื่องจักรกลที่ไร้หัวจิตหัวใจมาขโมยจินตนาการและโอกาสที่เด็กๆ จะได้สัมผัสกับการเล่นตามธรรมชาติไปจนแทบหมดสิ้น ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่จะหาเงินมาซื้อของเล่นราคาแพงที่สามารถสร้างเสริมพัฒนาการของลูกได้ ก็เกิดประโยชน์ไม่มากนัก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายสมบัติล้ำค่าที่ติดตัวของเด็กๆ มาตั้งแต่เกิดลงทีละน้อยๆ จนแทบไม่เหลือหลอ

ในมุมที่ขัดแย้งกัน ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับเด็กๆ ในฐานะอะไร เราย่อมคาดหวังที่จะให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง ดี มีความสามารถ มีจิตใจที่อ่อนโยน และเฉลียวฉลาด ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว เราก็คาดหวังต่อไปอีกว่าโรงเรียนจะเป็นคนจัดการให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ผู้ปกครองมีหน้าที่หาเงินมาจ่ายค่าบริการเหล่านี้เท่านั้น

ฉันเข้าใจเหตุผลของคนที่เป็นผู้ปกครองทั้งหลาย เห็นใจคุณครู และสงสารเด็กๆ แต่ก็ไม่ชื่นชมและไม่สนับสนุนขบวนการดังกล่าวแม้แต่น้อย การส่งเด็กๆ ไปอยู่ในโรงเรียนที่เน้นด้านวิชาการเร็วเกินไป จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของเด็กตามธรรมชาติ การเร่งให้เด็กท่องจำคำศัพท์ต่างๆ ก่อนการลงมือเล่นตามจินตนาการ มีความอันตรายพอๆ กับการจับลูกสิงโตแรกเกิดมาเลี้ยงไว้ในกรง แล้วป้อนด้วยเศษขนมปังทั้ง 3 มื้อ พอโตเต็มวัยก็เปิดประตูกรงให้ออกไปหาอาหารในป่าเอง และคาดหวังว่ามันจะกลายเป็นเจ้าป่าที่สง่างามและสมบูรณ์แบบ

เพราะเราใช้ชีวิตที่ถอยห่างออกจากธรรมชาติและความเรียบง่าย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงผลิตขึ้นจากสารประกอบเคมีและระบบอุตสาหกรรม ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้รับแต่สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง ภาพ รส และสัมผัส ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการมีประสบการณ์ที่ผ่านการปรุงแต่งหรือทำเทียม สติปัญญาจึงเติบโตในพื้นที่ที่จำกัด มิพักต้องพูดถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณหรือญาณทัสนะด้วยซ้ำไป

ผู้ใหญ่เราไม่ยอมทำให้เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเป็นเรื่องเล่นๆ เราคร่ำเคร่งเพ่งโทษและตัดสินคนอื่นหรือแม้กระทั่งตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งตัวการสำคัญก็คือ ตัวกู ของกู นั่นเอง

อาจดูเหมือนเป็นบทความที่เต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลย โปรดอย่าลืมว่า นี่ก็เป็นการเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้น!

หากคุณเริ่มเห็นว่าทำไมเราจึงควรจริงจังกับการเล่นขึ้นมาบ้างแล้ว เราอาจเริ่มต้นเป็น “ผู้เล่นมือสมัครเล่น” ในโอกาสที่ “วันเด็ก” เวียนมาถึงนี้ก็ได้ เริ่มจากการพาเด็กๆ ออกไปเล่นข้างนอก ท่ามกลางทุ่งหญ้าหรือหาดทราย สายลม และแสงแดด แล้วมองดู (แต่อย่าให้เขารู้ตัว) ว่า “ผู้เล่นมือโปร” นั้นเขาเล่นกันอย่างไร

ฉันขอเดาว่า ทุกครั้งที่คลื่นซัดปราสาททราย หรือสายลมหอบกระท่อมใบหญ้าของพวกเขาพังลง พวกเขาจะหัวเราะแล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง สำหรับฉัน นี่คือนาฏกรรมการแสดงธรรมที่งดงามและบริสุทธิ์ที่สุดอีกฉากหนึ่งเลยทีเดียว


หมายเหตุ: ของเล่น (Plaything) เป็นกวีบทหนึ่งในบทกวีเรื่อง “ศิศ” ซึ่งหมายถึง “เด็กๆ” ที่ท่านรพินทรนาถ ฐากูรรจนาไว้เมื่อคราวที่อยู่เป็นเพื่อนลูกสาวคนที่สองที่รักษาตัวในสถานพยาบาลบนภูเขา ภายหลังได้มีการแปลบางส่วนเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า “The Crescent Moon” และถอดความออกมาเป็นภาษาไทยโดย ปรีชา ช่อปทุมมา ในชื่อ “จันทร์เสี้ยว”

ภาพประกอบ: Prawny from Pixabay

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน