สัมมาอาชีวะสำหรับสังคมสมัยใหม่

ปรีดา เรืองวิชาธร 28 พฤษภาคม 2005

แม้การประกอบอาชีพจะมิอาจแยกจากการได้เงินค่าตอบแทนได้เลย กล่าวคือ ทำอาชีพการงานก็ย่อมต้องมีค่าตอบแทน แต่สำหรับสังคมสมัยใหม่นั้นมุ่งสนใจค่าตอบแทนมากกว่าจะสนใจเนื้อตัวกิจการงานที่ทำ คนทั่วไปต่างมุ่งสนใจราคาค่างวดที่จะได้รับมากกว่าที่จะสนใจว่าการประกอบอาชีพนั้นจะถูกต้องดีงามหรือไม่เพียงใด ทำแล้วจะส่งผลกระทบเลวร้ายอย่างไรต่อตนเองและสังคม  ดังนั้นอาชีพในสังคมสมัยใหม่หลายอาชีพจึงควรถูกตั้งคำถามว่าอันตรายต่อสังคมมากน้อยเพียงใด ดังเช่นการค้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การเก็งกำไรจากการค้าเงิน ธุรกิจสื่อบันเทิงยั่วยุต่างๆ ธุรกิจเกมส์คอมพิวเตอร์ที่มุ่งให้เกิดความรุนแรง รายการทีวีที่มุ่งปลุกเร้าให้คนเกิดความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ในทางพุทธศาสนานั้นสัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพชอบ นอกจากจะหมายถึงการเลี้ยงชีวิตด้วยอาชีพที่สุจริตและถูกต้องดีงามแล้ว ยังครอบคลุมถึงหลักการแสวงหาทรัพย์และท่าทีต่อการใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องด้วย ดังนี้

1. ทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นของการพัฒนาชีวิต

พุทธศาสนามองเป้าหมายของการประกอบอาชีพโดยมุ่งเน้นให้มนุษย์ทุกคนมีปัจจัยสี่เพียงพอเพื่อการดำรงชีวิต หาได้ให้ความสำคัญกับความร่ำรวยหรือการสะสมวัตถุอย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ไม่ แต่จะสรรเสริญคนร่ำรวยทรัพย์ที่มาจากการลงทุนลงแรงด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยสุจริตธรรม และเป็นผู้ใช้จ่ายทรัพย์ไปในทางที่ดีงาม ก่อเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เรียกได้ว่านิยมยกย่องความเป็นคนดีมีประโยชน์เหนือความมีทรัพย์

ในแง่ผู้ปกครองหรือรัฐ ต้องดูแลไม่ให้มีคนขัดสนในปัจจัยสี่ ดังนั้น สภาพทางเศรษฐกิจของสังคมใดที่ยังมีคนยากจนขาดแคลนปัจจัยสี่อยู่มาก แม้จะปรากฏว่ามีคนร่ำรวยมหาศาลอยู่มากหรือมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง พุทธศาสนาก็หาได้สรรเสริญไม่ แต่กลับถือว่ารัฐหรือผู้ปกครองยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านการเศรษฐกิจ

ยิ่งเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยมากขึ้นๆ ในขณะที่ความร่ำรวยของพวกเขานั้นส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้คนในสังคมส่วนใหญ่เกิดความยากจนขาดแคลน เกิดความทุกข์ทรมานด้วยแล้ว พุทธศาสนาเห็นว่านั่นยังมีการปฏิบัติผิดต่อทรัพย์ การแสวงหาและการใช้ทรัพย์นั้นยังไม่เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยแก่มนุษย์ตามวัตถุประสงค์ของมัน เพราะทรัพย์เป็นเพียงเครื่องอำนวยให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี เป็นสุขไม่ขาดแคลนเดือดร้อน เป็นเป้าหมายระดับกายภาพอันเป็นบาทฐานเพื่อให้มนุษย์พัฒนาตนก้าวไปถึงการพัฒนาระดับจิตใจและระดับปัญญาต่อไป

ดังนั้น หากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว จำต้องมีการปรับเปลี่ยนวางระบบการแสวงหาและใช้ทรัพย์ใหม่ให้ถูกต้องชอบธรรม หรือในสังคมสมัยใหม่หมายถึงการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ หาไม่แล้วความยากจนขาดแคลนของสังคมอันเนื่องจากช่องว่างทางเศรษฐกิจที่กำลังถ่างกว้างยิ่งขึ้นทุกที จะนำไปสู่อาชญากรรมในทุกรูปแบบรวมถึงการทำร้ายเบียดเบียนกันด้วยความรุนแรงในที่สุด โดยเฉพาะในสังคมหรือประเทศที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติโดยโครงสร้างเศรษฐกิจอันฉ้อฉลมีทุจริตธรรมเป็นพื้นฐาน

อาชีพในสังคมสมัยใหม่หลายอาชีพควรถูกตั้งคำถามว่าอันตรายต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การมีปัจจัยสี่อย่างเพียงพอหรือมีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์จึงไม่ใช่จุดหมายที่จบลงในตัว ความพรั่งพร้อมทางวัตถุถือเป็นเพียงปัจจัยเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาคุณภาพจิตใจและปัญญา  เมื่อมนุษย์เห็นความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาชีวิตในด้านที่ดีงามลึกซึ้งยิ่งขึ้นแล้ว การมุ่งแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอจากการประกอบอาชีพด้วยความวุ่นวายกังวลใจก็ไม่สู้สำคัญมากนัก แต่กลับจะให้เวลาไปกับการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา ซึ่งจะทำให้เข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่าความสุขชนิดที่ขึ้นต่ออำนาจของวัตถุ  ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถเข้าถึงความเป็นอิสระจากการเป็นทาสของวัตถุนิยมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังสามารถแบ่งปันวัตถุหรือทรัพย์ที่ตนมีให้กับผู้อื่นที่ขาดแคลน และรู้สึกเป็นสุขจากการได้แบ่งปันทรัพย์นั้นด้วย  นอกจากนี้เมื่อเราเป็นอิสระจากอำนาจของวัตถุมากเท่าใด เรายิ่งจะทุ่มเทพลังความสามารถและเวลาให้กับการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่ดีงามแก่สังคม  เมื่อคนในสังคมต่างเกื้อกูลประโยชน์ที่ดีงามกันมากขึ้นแล้ว สังคมส่วนรวมก็จะเกิดความเรียบร้อยเป็นสุข อันเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้บุคคลเกิดความพร้อมที่จะพัฒนาประโยชน์ตนในด้านจิตใจและปัญญา ดังนั้นประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ร่วมของสังคมจึงสัมพันธ์กันด้วยเหตุนี้

2. ให้คุณค่าต่อการประกอบการที่เกื้อกูลชีวิตและสังคม

ในแง่ของคุณค่าของการผลิตหรือการประกอบอาชีพ พุทธศาสนาติเตียนการประกอบการที่นำไปสู่การเบียดเบียนทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำลายความดีงาม คุณภาพจิตและสติปัญญาของมนุษย์ หรือส่งเสริมให้มนุษย์เกิดความโลภ โกรธ หลง รวมถึงการทำลายล้างธรรมชาติแวดล้อม แต่พุทธศาสนาจะสรรเสริญการประกอบอาชีพที่เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม ทั้งด้านกายภาพและความงอกงามทางจิตใจและปัญญาเป็นสำคัญ

สำหรับสัมมาอาชีวะในทางปฏิบัตินั้นควรเริ่มที่ตัวเราก่อน ด้วยการตั้งคำถามกับการประกอบอาชีพหรือการแสวงหาทรัพย์ของเราเอง พร้อมกับตั้งคำถามกับธุรกิจประกอบการต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมว่าเข้าข่ายของสัมมาอาชีวะหรือไม่ ก่อให้เกิดผลดีงามหรือทำลายสังคมมากน้อยเพียงใด  หากเป็นไปได้ควรมีการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้จนเกิดความชัดเจน พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อตั้งคำถามหรือร่วมเคลื่อนไหวกรณีที่มีการประกอบมิจฉาอาชีวะทั้งระดับธุรกิจรายย่อยไปจนถึงระดับบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ก่อให้เกิดหายนภัยแก่ชีวิต สังคม และธรรมชาติ  สำหรับกลุ่มทุนหรือบรรษัทเอกชนที่ตระหนักถึงผลกระทบ ควรจะมีการรวมกลุ่มหรือโยงใยเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปัน อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการประกอบธุรกิจ ไปจนถึงการร่วมผลักดันเพื่อปรับเปลี่ยนการประกอบการที่สอดคล้องตามหลักการแห่งสัมมาอาชีวะ


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน