สามด้านของชีวิต (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 21 พฤศจิกายน 2010

ข่าวสังคมครึกโครมในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมาคือ การพบศพเด็กทารกและเศษซากเนื่องจากการทำแท้งร่วมกว่า ๒๐๐ ศพในวัดแห่งหนึ่ง  ผู้ต้องหาคือสัปเหร่อบอกเล่าว่า มาจากการว่าจ้างของคลีนิครับจ้างทำแท้งประมาณ ๕ แห่งที่ว่าจ้างให้ทำลายซากศพทารก  น่าเศร้าสลดที่หลายชีวิตต้องจบลงก่อนเวลาอันควร  แต่ละชีวิตมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน พร้อมกับมีเหตุปัจจัย และองค์ประกอบมากมายในการนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางที่พึงปราถนา  ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ชี้ประเด็นสำคัญว่าทุกชีวิตเกิดมาเพื่อ “มีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ” เจ้าของในความหมายของตัวเราซึ่งมีกายและใจเป็นองค์ประกอบ ไม่ใช่เจ้าของในความหมายของการถือครอง  กล่าวให้ง่ายขึ้นและเป็นรูปธรรมสักหน่อยคือ มีชีวิตที่  “เป็นประโยชน์และสงบเย็น”

แต่การมีชีวิตเพื่อวัตถุประสงค์นี้ นอกเหนือจากมิติชีวิตด้านยาว คือ การมีสุขภาพที่แข็งแรง และยืนยาว ไม่จบชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคภัยหรืออุบัติเหตุที่ไม่พึงควร  พร้อมกับมิติชีวิตด้านกว้าง คือ ด้านสัมพันธภาพกับคนรอบตัว ชุมชนและสังคม  รากฐานชีวิตสำคัญ คือ มิติชีวิตด้านลึก เปรียบได้กับตึกอาคารสูงที่ต้องการรากฐานแข็งแรงมั่นคง ยิ่งหากตึกอาคารนั้นสูงเสียดฟ้าเพียงใด เสาเข็มหรือฐานรากก็ต้องลงลึก หนักแน่น และมั่นคงมากเพียงนั้น  แต่สำหรับชีวิตแบบเราๆ ท่านๆ การลงลึกนี้หมายถึงอะไร  พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ให้กุญแจคำตอบสำคัญคือ “ ชีวิตลุ่มลึกได้ก็เพราะมีปัญญาฉันใด  จิตใจกว้างขวางได้ก็เพราะมีเมตตาฉันนั้น  ปัญญาและเมตตาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์”  เมตตาและปัญญา คือฐานรากของชีวิต ปัญญาในฐานะความรู้ ความเข้าใจในความจริง และธรรมะ  และเมตตาในฐานะความรัก ความกรุณาที่มาจากใจ อันเป็นความปรารถนาที่ให้ทุกชีวิตมีความสุข ไม่เบียดเบียนทำร้ายต่อกัน

“ปัญญาและเมตตาเป็นสิ่งสำคัญมากที่เติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์”

ตัวเราในฐานะจุดตั้งต้นของปฏิสัมพันธ์  เรามีตัวเรากับผู้อื่น ผู้อื่นทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เราต้องเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์  พร้อมกับเรามีโลกภายในที่เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดนึก แรงจูงใจต่างๆ อยู่ภายในตัวเรา  เท่าๆ กับเรามีโลกภายนอก คือ สิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติ สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่เราพึ่งพิงและอาศัยอยู่  หากจัดแบ่งคู่ความสัมพันธ์ก็จะได้ ๔ คู่สัมพันธ์ คือ  ๑) ตัวเรากับโลกภายใน  ๒) ตัวเรากับโลกภายนอก  ๓) ผู้อื่นกับโลกภายใน  และ ๔) ผู้อื่นกับโลกภายนอก  แต่ละคู่ความสัมพันธ์ คือพื้นที่ชีวิต คือดินแดนความรู้ ความเข้าใจที่นำพาชีวิตไปสู่เป้าหมายชีวิตที่เป็นประโยชน์และสงบเย็นได้  แต่ละดินแดนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับดินแดนอื่น

ตัวเรากับโลกภายใน

เริ่มต้นที่ตัวเรากับโลกภายใน สุข ทุกข์เกิดขึ้นที่ตัวเรากับโลกภายใน  เรารับผิดชอบการกระทำของเราเองโดยมีโลกภายใน คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นทั้งแรงผลักดันและตัวรับผลการกระทำ  พร้อมกันนี้โลกภายในก็เป็นตัวขับเคลื่อนบุคลิกภาพ ท่าทีชีวิต  ณ ดินแดนนี้การบ้านข้อสำคัญคือ การฝึกฝนภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพของจิต ทั้งการฝึกสติ การฝึกสมาธิ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ ความเท่าทันตนเอง

ผู้อื่นกับโลกภายใน

จากการสัมผัสโลกภายใน ทำให้เราเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ว่า โลกภายในของคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร สุขหรือทุกข์อย่างไร จากการที่เรามีโลกภายในเหมือนกัน คือ ปรารถนาความสุข หลีกเลี่ยงความทุกข์  พร้อมกับที่เราสามารถรับคำขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัยและเมตตาผู้อื่นได้จากฐานคิดของโลกภายในด้วยกัน  ช่องทางสำคัญในการที่เราจะรับรู้ผู้อื่นและความเป็นไปในโลกภายในของพวกเขา คือ การฟัง การรับรู้ การสังเกต  ยามที่เรารับฟัง รับรู้ สังเกต  เรากำลังเปิดรับสัญญาณ สื่อ และสาร รวมถึงความหมายของสารและสื่อนั้นให้เข้ามาในตัวเรา เพื่อตีความหมาย ทำความเข้าใจ  แน่นอนว่าเราจะสามารถรับรู้และตีความ หรือทำความเข้าใจสิ่งที่เข้ามาในตัวเราได้ ย่อมหมายถึงความพร้อมในตัวเรา ความพร้อมในการเข้าถึงและทำความเข้าใจ หากระดับของความพัฒนาไม่เท่าเทียม ย่อมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เหมือนกับคนสองคนที่ต่างประสบการณ์ ต่างชุดความคิด ย่อมยากที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันได้

ตัวเรากับโลกภายนอก

พร้อมกันนี้ ดินแดนของโลกภายนอกที่มีต่อตัวเรา ก็สามารถเป็นภาพสะท้อนให้เราสามารถรับรู้ตัวเราจากมุมมองของโลกภายนอก จากคนอื่น  บ่อยครั้งที่ภาพสะท้อนหรือผลกระทบจากโลกภายนอก จากคนอื่น ช่วยให้เราพบความจริงบางอย่างที่เราอาจไม่รู้ตัว หลงลืม ละเลย หรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  พร้อมกับที่ตัวเราก็สามารถกระทำบางสิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อโลกภายนอก  ดังเช่นในการรับรู้ของตนเองมองว่า ตนเองเป็นคนมีเมตตา ชอบช่วยเหลือ  แต่ในสายตาผู้อื่น ภาพสะท้อนอาจกลับกลายเป็นจุ้นจ้าน ก้าวก่าย  จากความเมตตากลับกลายเป็นการเบียดเบียนได้จากการหลงผิด หรือความไม่รู้ตัว ไม่เท่าทันตนเอง

ผู้อื่นกับโลกภายนอก

ฐานความรู้ดินแดนสุดท้าย คือ ผู้อื่นกับโลกภายนอก  ดินแดนนี้ดูห่างไกลจากตัวเรา แต่ในความจริง ตลอดชีวิตของการศึกษาที่เป็นอยู่มุ่งทุ่มเทความรู้ในเรื่องนี้มาก วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ คือเนื้อหาความรู้สำคัญที่เรามุ่งศึกษาและใช้ทำงานประกอบอาชีพ  แน่นอนความรู้นี้ช่วยให้เราอยู่รอดในสังคม แต่ความรู้นี้ไม่มีประโยชน์เลย หากปราศจากความรู้ในดินแดนที่สำคัญคือ การรู้จักตนเองและเข้าใจตนเองผ่านดินแดนความรู้ตัวเรากับโลกภายใน

ชีวิตที่หยั่งรากลึก ต้องอาศัยการบ่มเพาะและหยั่งรากลึก  ดินแดนความรู้ทั้งสี่ช่วยให้เราเข้าถึงตนเอง พร้อมกับสานสัมพันธ์ผู้อื่นและโลกรอบตัวด้วยความเมตตาและปัญญา  ภารกิจนี้อาจดูหนักหนา แต่รางวัลชีวิตคือ การมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์  และนั่นหมายถึงการบรรลุภารกิจชีวิตที่ไม่มีเรื่องค้างคา ซึ่งน่ายินดีและเพียงพอแล้วกับชีวิตในโลกใบนี้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน