สำนึกที่ต้องสร้าง

บุญรักษา 26 มีนาคม 2005

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ดูเหมือนจะเป็นสุภาษิตที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ เพราะวิธีการนี้ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการถ่ายทอดบทเรียนแห่งความรุนแรงให้แก่เด็กในทางอ้อม

หากวิธีการที่โบราณสอนเราในการเลี้ยงดูลูกหลานไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เน้นเรื่องสิทธิของคนมากกว่าเรื่องของหน้าที่ แล้วคำถามหนึ่งที่น่าคิดคือ เราจะสอน ตักเตือนหรือลงโทษเด็กอย่างไรเมื่อเขากระทำความผิด

อย่างกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังในสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อเด็กวัยสิบขวบขโมยของในร้านค้าแห่งหนึ่ง และถูกคุมขังในห้องขังที่สถานีตำรวจระยะหนึ่ง กระแสความคิดของคนในสังคมต่อการจัดการความผิดของเด็กคนนี้แตกแยกเป็นหลายทาง หลายคนว่าควรสั่งสอนให้เด็กหลาบจำโดยการส่งเข้าสถานพินิจ คนอีกจำนวนไม่น้อยมองว่าแค่แม่ของเด็กจ่ายค่าปรับ ร้อยเท่าของมูลค่าของที่เด็กลักไป คือประมาณสามพันกว่าบาท ก็น่าจะเพียงพอ ยอมความกันได้ และการที่เจ้าทุกข์จะเอาเรื่องเด็กถึงที่สุดนั้นเป็นการกระทำที่ไร้ความเมตตาต่อเด็ก

การกระทำผิดหลายอย่างในสังคมไม่ใช่แค่การกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่เป็นการทำผิดและละเมิดทางศีลธรรมด้วยทั้งสิ้น เช่น การลักทรัพย์ การก่อการวิวาท การทำร้ายผู้อื่น หรือแม้กระทั่งความประมาทในการขับรถที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น แต่โดยมากเรามักคิดถึงมาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวในการจัดการกับปัญหานั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว สังคมควรคิดถึงแนวทางทางศีลธรรมที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาความผิดทางศีลธรรมด้วย

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการส่งเด็กเข้าสถานพินิจ ไม่ใช่เพราะความผิดของเด็กนั้นเล็กน้อยตามที่บางคนกล่าว หรือเป็นการกระทำผิดครั้งแรกสมควรได้รับการอภัย แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าการเข้าในสถานที่เช่นนั้นจะสร้างคุณธรรมและสามัญสำนึกที่ดีให้เด็กได้มากแค่ไหน เพราะสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจบังคับให้เชื่อและทำตาม หากเกิดจากการโน้มน้าวด้วยความรักและความเมตตาจนกระทั่งเขาเห็นคุณค่าของธรรมนั้น และทำตามด้วยความสมัครใจและสำนึกแห่งความดี

ส่วนแนวคิดของคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าการชำระค่าปรับก็น่าจะเป็นบทเรียนที่เพียงพอแล้ว สะท้อนสังคมที่เห็นเงินเป็นคำตอบของทุก(ข์)ปัญหา  ข้าพเจ้าเห็นว่า การจ่ายเงินไม่ว่าจะร้อยเท่า พันเท่า หรือแม้กระทั่งหมื่นเท่าของมูลค่าของๆ ที่เด็กลักไปไม่อาจชะล้างความผิดหรือเปลี่ยนสำนึกที่ผิดเป็นดีได้

แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อเด็กทำผิด

สิ่งแรกที่ผู้ใหญ่ควรทำคือให้อภัยและความเมตตากับเขา ซึ่งข้าพเจ้าหมายความว่าก่อนที่เราจะตักเตือน สั่งสอน หรือแม้กระทั่งทำโทษเด็ก เราควรสำรวจใจตนให้มีความเป็นปรกติ มีเมตตาและความรักอย่างแท้จริงก่อน ไม่ใช่ดุด่าหรือลงโทษด้วยโทสะ หรือความเสียใจ

พูดกับเด็กด้วยท่าทีอ่อนโยน และสงบ เราอาจลองถามเขาว่า มูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดนั้นคืออะไร เขารู้ไหมว่ามันผิด ถ้ารู้ทำไมจึงยังทำ และเขารู้สึกอย่างไรขณะที่ทำมัน  ลองถามความรู้สึกของเด็กที่มีต่อการกระทำของเขาเอง ให้เขาลองนึกเปรียบเทียบว่าหากเขาโดนผู้อื่นกระทำเช่นนั้นบ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร และเขาคิดว่าจะแก้ไขความผิดของตนอย่างไรดี เช่นถ้าเด็กขโมยของ ผู้ใหญ่ควรให้เด็กเอาของไปคืนเจ้าของด้วยตนเอง กราบขอโทษ และอาจให้เด็กทำงานอะไรบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทดการแทนความผิด  นอกจากเด็กจะรู้จักว่าการกระทำของตนผิดแล้ว เขายังจะเรียนรู้และซึมซับความรัก ความเมตตาของผู้ใหญ่ที่ให้อภัยเขาด้วย

การกระทำผิดหลายอย่างในสังคม ไม่ใช่แค่การทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่เป็นการทำผิดและละเมิดทางศีลธรรมด้วย

เราจะป้องกันไม่ให้เด็กทำผิดได้อย่างไร

หากเด็กมีจิตสำนึกที่ดีและมั่นคง การจะถูกชักจูงให้ทำเรื่องที่เบี่ยงเบนจากศีลธรรมนั้นคงไม่ง่าย เด็กจะมี “หิริ โอตตับปะ” คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งในทางพุทธศาสนาถือเป็นรากฐานและพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ (และเทวดา) ถ้าสิ่งนี้มีขึ้นในใจของเด็กแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องตามคุมประพฤติเขาเลย ใจของเด็กจะสอนเขาเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ

การปลูกฝังคุณธรรมข้อนี้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่รักลูกอย่างแท้จริง เพราะธรรมะข้อนี้จะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีงามของเขาได้ชั่วชีวิต

เราจะปลูกสร้างสิ่งนี้ในใจเด็กได้อย่างไร

เด็กต้องเรียนรู้ว่าการกระทำของเขามีผลกระทบอะไร อย่างไร และ กับใครบ้าง ให้เขาเข้าใจว่าการกระทำของคนทุกคนต่างมีผลกระทบต่อสรรพสิ่งด้วยเหมือนกัน สอนให้เขารู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากเด็กคิดเป็น และคิดได้ว่า การที่เขาลักขโมยของของผู้อื่นจะทำให้แม่เป็นทุกข์ และเจ้าของร้านทุกข์ใจ เด็กที่มีสามัญสำนึกปรกติจะไม่ทำ แม้เพื่อนฝูงจะชักจูง

ความรัก ความอบอุ่นที่คนรอบข้างมีให้เขาอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็เป็นสติเตือนใจ ห้ามเขาไม่ให้ทำสิ่งผิดๆ และชี้ทางที่ควรทำให้เขาได้เช่นกัน เพราะโดยปรกติ ถ้าเรารักใครเรามักไม่อยากทำให้เขาทุกข์ใจหรือเดือดร้อน

ที่สำคัญสุด ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของการมี “หิริ โอตตัปปะ” ให้เด็กเห็น ละทิ้งพฤติกรรมประเภท ทำผิดได้ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีใครรู้ใครเห็น

ถ้าเราต้องการให้เด็กของเราดี เราต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า เขามีตัวอย่างที่ดีหรือยัง ช่วยๆ กันเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กในสังคม จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะจัดการทำโทษเด็กที่ริเป็นโจรกันอย่างไรดี


ภาพประกอบ