สิ่งนี้จะเปลี่ยนไป (นิทานอินเดีย)

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 17 มีนาคม 2013

นิทานเปิดฉากขึ้นในประเทศอินเดีย ในถิ่นที่ผู้คนนิยมอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เช่นเดียวกับเศรษฐีสูงวัย-ตัวละครแรกของเรื่อง

ต่อมาเขาเสียชีวิตไปตามความร่วงโรยแห่งสังขาร

เมื่อไม่มีเขา ลูกชายสองคนซึ่งต่างก็แต่งงานมีครอบครัวกันแล้ว ก็เริ่มทะเลาะเบาะแว้ง ระหองระแหงกัน จนตกลงแยกบ้านกันในที่สุด

แบ่งมรดกทั้งทรัพย์สิน เพชรพลอยเงินทอง ข้าวของกันเรียบร้อย เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

แต่หลังจากนั้น ก็ไปเจอเข้ากับหีบเล็กๆ อีกใบ พอเปิดดูภายในพบว่ามีแหวน ๒ วงเก็บอยู่ในนั้น

วงหนึ่งเป็นแหวนเพชรเม็ดโต เจียระไนอย่างงดงามเลอค่า

อีกวงเป็นแหวนเงินธรรมดาทั่วไป

ด้วยความอยากได้แหวนเพชร พี่ชายก็พูดกับน้องว่า “แหวนเพชรเลอค่าฝีมือประณีตอย่างนี้ คงจะไม่ใช่แหวนที่พ่อซื้อหามาโดยทั่วไป แต่ต้องเป็นแหวนประจำตระกูลของเราที่ตกทอดกันมา  ดังนั้นในฐานะพี่ชายคนโต ขอให้พี่ได้เป็นผู้ดูแลแหวนวงนี้ต่อไป”

น้องชายได้ฟังก็ไม่ว่าอะไร เขายินดีรับเอาแหวนเงิน  ยกแหวนเพชรให้พี่ชาย

ท่านโกเอ็นก้า ยกนิทานเรื่องนี้มาเล่าประกอบในการบรรยายธรรมตอนหนึ่งของการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรม ๑๐ วันตามหลักสูตรของท่าน ให้เป็นอุปกรณ์สอนธรรมในเรื่องความเป็นอนิจจัง ที่ถือเป็นหัวใจแห่งธรรม

เพราะตามความเป็นจริง ทุกสรรพสิ่งก็ล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไป

ใครได้เข้าใจเห็นจริงว่าทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไป ก็จะวางอุเบกขาได้ ไม่อยากได้ ไม่ผลักไส ไม่ยึดถือว่าตัวเรา ของเรา  ความทุกข์ทั้งหลายก็ค่อยคลาย จนพ้นทุกข์ที่ปลายทาง

เป็นเส้นทางที่ยาวไกล ไปถึงได้ไม่ง่ายนัก  แต่เมื่อใดที่ใครสักคนได้เริ่มต้นก้าวแรก นั่นก็หมายถึงเข้าใกล้จุดหมายไปก้าวหนึ่งแล้ว

อย่างการรับฟังธรรมบรรยายนั้น ท่านอธิบายว่าถือเป็นขั้นแรกสุดของปัญญา ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา

เมื่อฟังแล้วได้เอามาพิจารณาไตร่ตรองด้วยความคิดความรู้ของตัวเอง จนเข้าใจเห็นจริง ก็ถือเป็นชั้นที่สอง ที่เรียกว่า จินตามยปัญญา

กระทั่งได้ฝึกปฏิบัติจนเห็นความจริงชัดแจ้งด้วยใจตน นั่นแหละจึงจะเข้าถึงยอดสุดของปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ที่ถือเป็นปัญญาขั้นสูงสุดในทางพุทธศาสนา

ในการฝึกอบรมปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรของท่านโกเอ็นก้า จึงเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นความจริงด้วยตัวเอง โดยวิธีวิปัสสนา

ในช่วง ๑๐ วันของการอบรม จะเริ่มจากการสมาทานศีล ๕ (หรือศีล ๘ สำหรับผู้เคยผ่านการอบรมมาก่อนแล้ว) จากนั้นจะทำการฝึกสมาธิด้วยการทำอานาปานสติ ๓ วัน ที่เหลือจะเป็นการฝึกวิปัสสนา ซึ่งเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ไปจนถึงวันที่ ๑๐

ท่านได้เน้นย้ำว่า อย่าเพิ่งคาดหวังว่าการลงมือปฏิบัติเพียง ๑๐ วันแล้วจะเข้าถึงความหลุดพ้นได้ทันที  การปฏิบัติต้องการเวลาที่ยาวนานกว่านั้น  ช่วงที่เข้ามารับการอบรมนั้นเป็นเพียงการมาเรียนรู้เทคนิควิธีการปฏิบัติ ซึ่งต้องนำไปทำต่อที่บ้านอย่างน้อยวันละ ๒ ชั่วโมง ตอนเช้าและตอนเย็น เป็นเวลา ๑ ปีก็จะเริ่มเห็นผล

ให้การปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยไม่ต้องคาดหวังผล ว่าจะได้อะไร เกิดอะไร เห็นอะไร เพราะทันทีที่มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงกิเลสก็ได้เกิดขึ้นแล้ว  และอย่าได้ท้อแท้ขัดเคืองหากรู้สึกว่าการปฏิบัติไม่คืบหน้า

ท่านกล่าวหนักแน่นว่าไม่มีนักวิปัสสนาที่ตายไม่ดี  เพราะเขาจะเห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว หากเป็นเพียงจุดเปลี่ยนผ่านของการไปสู่ชีวิตใหม่ ซึ่งจิตสุดท้ายจะสำคัญที่สุด  การทำวิปัสสนาทำให้เรากำหนดจิตสุดท้ายได้เมื่อเวลานั้นมาถึง

แต่แนวทางการปฏิบัติธรรมของท่านโกเอ็นก้าไม่ได้เน้นหวังผลในชาติหน้าเมื่อตายแล้ว แต่การปฏิบัติต้องได้รับผลทันทีในชาตินี้-เดี๋ยวนี้

ท่านแนะให้ประเมินดูผลการปฏิบัติของตัวเองง่ายๆ ว่า จากที่เคยมีเรื่องมากระทบแล้วทำให้เราโกรธอยู่ ๘ ชั่วโมง หากเมื่อได้ฝึกปฏิบัติแล้วทำให้เรารู้ตัวได้เร็วขึ้น คลายความโกรธได้ใน ๖ ชั่วโมง ก็ถือว่าได้กำไร ๒ ชั่วโมงแล้ว  ปฏิบัติไปคลายความโกรธได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ก็ถือว่าได้กำไรมากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นประโยชน์ในระหว่างการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

ในความเป็นจริง ทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไป

ลูกชายคนโตของเศรษฐีในนิทาน แม้ได้มรดกของพ่อไปมาก รวมทั้งแหวนเพชรวงหรู  แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่ขาดธรรมะ ทำให้ความทุกข์เล่นงานเขาเสียสะบักสะบอม-ตามธรรมดาของชีวิตคนที่ย่อมมีขึ้นมีลง  นิทานไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วเขารักษาแหวนเพชรไว้ได้หรือไม่

ข้างฝ่ายน้องชาย เมื่อได้แหวนเงินไปแล้ว ก็ครุ่นคิดขึ้นมาว่าชะรอยแหวนวงนี้คงไม่ใช่เพียงแหวนเงินธรรมดาทั่วไป ไม่เช่นนั้นพ่อคงไม่เก็บไว้อย่างดีในกล่องเดียวกับแหวนเพชร

เขาพินิจแหวนวงนั้นจนเห็นว่าพ่อสลักข้อความบางอย่างเอาไว้ อ่านได้ความว่า

“สิ่งนี้จะเปลี่ยนไป”

เขาแน่ใจว่านั่นเป็นคำสอนที่พ่อฝากเตือนใจคนที่ได้รับแหวนวงนั้น

แล้วเขาก็ดำเนินชีวิตตามคติคำสอนนั้นตลอดมา  ยามมีความสุขเขาก็ไม่หลงไปกับมัน เพราะรู้ว่ามันจะเปลี่ยนไป  ในยามทุกข์ก็ไม่ทุรนทุราย เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไป

เขาจึงครองชีวิตได้อย่างสมดุล ไม่ว่าในยามสุขหรือทุกข์  ด้วยคำสอนที่จารึกอยู่บนวงแหวนของพ่อ

“สิ่งนี้จะเปลี่ยนไป”

คงไม่ใช่แต่ลูกชายเศรษฐีในนิทาน  แต่ลูกสาวลูกชายทุกคนย่อมพบชีวิตที่ดีได้ หากพ่อแม่ได้สอนให้เขาตระหนักในกฎธรรมชาติ–ข้อธรรมที่ว่าด้วยความเป็นอนิจจัง

ทุกสิ่งจะต้องเปลี่ยนไป


ภาพประกอบ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ