สู่วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้

พระไพศาล วิสาโล 3 พฤศจิกายน 2006

กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน ได้มีส่วนไม่น้อยในการทำให้เกิดวัฒนธรรม ๒ กระแสใหญ่ คือ “วัฒนธรรมแห่งความละโมบ” และ “วัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียด”  การเชื่อมโลกให้เกือบจะเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นด้วยโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนั้น ในด้านหนึ่งทำให้ลัทธิบริโภคนิยมแพร่ขยายไปทุกมุมโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้กระทั่งในป่าลึกและภูเขาสูงก็ยังหนีไม่พ้น  ระบบโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งโลกได้ถูกใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งวัตถุและภาพลักษณ์อย่างไม่หยุดหย่อน จนผู้คนไม่เคยรู้สึกพอเสียที

ในอีกด้านหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผู้คนทั่วทั้งโลกได้เผชิญกับการไหลบ่าของอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากตน ไม่ว่าจะเป็นศาสนา เชื้อชาติ และภาษา  ระยะห่างทางภูมิศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกำแพงขวางกั้นคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา ให้อยู่แยกห่างจากกัน เมื่อพังทลายลงหรือไร้ความหมาย ผู้คนสามารถเดินทางข้ามทวีปหรือข้ามพรมแดนง่ายกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังสามารถตอกย้ำอัตลักษณ์ของตนผ่านสื่อไร้พรมแดน  ผลที่ตามมาก็คือคนต่างอัตลักษณ์ต้องมาอยู่ประชิดกัน แต่แทนที่จะเข้าใจกันมากขึ้น กลับหวาดระแวงกันและรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของตนกำลังถูกคุกคาม จึงพยายามป้องกันอัตลักษณ์ของตนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับผลักอีกฝ่ายให้กลายเป็นคนละพวกคนละฝ่ายมากขึ้น ผลก็คือเป็นศัตรูกัน เกิดความโกรธเกลียดต่อกัน  ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการแผ่ขยายและรุกรานของทุนที่ทรงพลังในการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในท้องถิ่นอื่นได้อย่างสะดวกขึ้น เพราะตลาดถูกเปิดอย่างเสรี ทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อสู้ขัดขืนจนระเบิดเป็นความรุนแรงในหลายที่

สังคมที่ดีงาม นอกจากจะต้องมีโครงสร้างและระบบที่เอื้อให้เกิดชีวิตที่ดีงามแล้ว ยังจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน เราอาจเรียกวัฒนธรรมดังกล่าวว่า “วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้”  โครงสร้างนั้นไม่ว่าจะดีเพียงใดย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ถ้ามีวัฒนธรรมที่ดีงามเป็นเครื่องรองรับ ก็ช่วยให้การปรับเปลี่ยนนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมกับกาลเวลา แทนที่จะแข็งตัวจนฝืนความเปลี่ยนแปลง  นอกจากนั้นโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่อยู่ในโครงสร้างนั้นไม่ใช่น้อย แม้โครงสร้างจะดีเพียงใด แต่ตัวบุคคลไม่ดีด้วยก็อาจก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา  วัฒนธรรมนั้นมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดจิตสำนึกและพฤติกรรมของผู้คน  วัฒนธรรมที่ดีย่อมอำนวยให้เกิดบุคคลที่มีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีงาม จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เสริมกับโครงสร้างเพื่อก่อให้เกิดสังคมที่ดีงาม

พุทธศาสนาสามารถช่วยให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้ ด้วยการเสริมสร้างโลกทัศน์ที่ไปพ้นจากวัตถุนิยม  แม้พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธวัตถุ แต่เห็นว่าความสุขนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเสมอไป  นอกจากความสุขทางกายแล้ว เรายังต้องการความสุขทางจิตใจ และความสุขทางใจนี้เองที่เป็นความสุขที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงให้ได้  จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์จึงมิได้อยู่ที่การครอบครองวัตถุให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การเข้าถึงความสุขทางจิตใจด้วยตนเอง และเอื้อให้ผู้อื่นเข้าถึงด้วยเช่นกัน  ความสุขดังกล่าวจะช่วยให้เราไม่หลงใหลมัวเมากับวัตถุ เพราะประจักษ์ด้วยตนเองว่ามีความสุขที่ประเสริฐและลึกซึ้งกว่าความสุขจากวัตถุมากนัก

นอกจากโลกทัศน์ที่เห็นมนุษย์ในแง่มุมที่ลึกซึ้งแล้ว พุทธศาสนายังเอื้อให้เกิดโลกทัศน์ที่มองเห็นมนุษย์อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสรรพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  ชีวิต สังคม และธรรมชาติไม่อาจแยกจากกันได้  ความผาสุกของเราแต่ละคนผูกติดอยู่กับความผาสุกของผู้คนรอบข้าง สังคมรอบตัว และธรรมชาติแวดล้อม  สำนึกดังกล่าวจะช่วยให้เราอ่อนโยนต่อธรรมชาติและรู้สึกถึงบุญคุณของสรรพชีวิตและทุกผู้คนในสังคมมากขึ้น  เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ไม่มองตนเองในกรอบแคบๆ โดยมองคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาเป็นคนอื่น  หากมองเห็นมนุษย์ทุกคนและทุกชีวิตว่า เป็นเพื่อนร่วมโลกที่อยู่ภายใต้สายสัมพันธ์เดียวกัน มีความรักและความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์ มิได้อยู่ที่การครอบครองวัตถุให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การเข้าถึงความสุขทางจิตใจด้วยตนเอง และเอื้อให้ผู้อื่นเข้าถึงด้วยเช่นกัน

พุทธศาสนายังช่วยให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ได้ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาจิต พุทธศาสนามีระบบการพัฒนาจิตโดยอาศัยสมาธิภาวนาเป็นพื้นฐาน  จิตนั้นมีคุณภาพหลายประการที่สามารถพัฒนาได้ เช่น สติ สมาธิ เมตตา กรุณา รวมทั้งปัญญา  แม้ว่าคุณภาพแต่ละชนิดต้องการวิธีการที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมก็คือการกลับมารู้จักตนเองและมีความสงบเย็นเป็นผลที่ตามมา  การพัฒนาจิตให้มีคุณภาพดังกล่าวนอกจากช่วยให้ตนเองเป็นสุข และเป็นทาสวัตถุน้อยลงแล้ว ยังเอื้อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีงามกับผู้อื่น มีความเอื้ออาทร ไม่ระบายทุกข์ใส่คนอื่น หากปรารถนาช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข  การพัฒนาจิตจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีจริยธรรม (หรือศีล) ที่ดีงามในสังคม

จริยธรรมที่ดีงาม นอกจากจะเกิดจากการพัฒนาจิตโดยอาศัยสมาธิภาวนาแล้ว ยังสามารถบ่มเพาะได้ด้วยการอาศัยกัลยาณมิตรและกระบวนการกลุ่ม  พุทธศาสนาสามารถส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกลุ่มดังกล่าวได้ในหลายลักษณะ ดังที่พระสงฆ์ในหลายท้องที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  กลุ่มดังกล่าวหากมีกระบวนการที่ดี เช่น ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีการสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากจะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยหล่อหลอมให้เกิดความเสียสละและรับผิดชอบต่อส่วนรวม ตลอดจนตั้งมั่นในศีลมากขึ้น

ปริมณฑลของธรรมนั้นมิได้อยู่ที่จิตใจของผู้คนเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงสังคมและชุมชนที่อยู่รอบตัวเราด้วย  ดังนั้นเมื่อจะนำธรรมมาใช้ให้เกิดผล นอกเหนือจากการน้อมนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและตั้งมั่นในจิตใจแล้ว การจัดวางธรรมให้เป็นพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรม ก็มีความสำคัญเช่นกัน  การบูรณาการธรรมอย่างรอบด้านเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตที่ดีงามบังเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา