หลง-รู้ ที่ภูหลง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 13 พฤศจิกายน 2016

ปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรมากหรอก

ถ้าเป็นการเจริญสติภาวนาตามแบบหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่สอนโดยท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล ก็แค่การ ฝึกใจให้เหมือนฝึกกาย ฝึกกายให้เหมือนฝึกใจ

ธรรมชาติของกายนั้นชอบอยู่นิ่งๆ และชอบวาง

แต่จิตตรงกันข้าม  ชอบแบก และเที่ยวไปเรื่อยๆ

กายเจอของหนักจะรีบวาง ท่านยกตัวอย่างแบบเบาๆ (สมอง) ให้ดูว่า แม้แต่นักยกน้ำหนักที่แข็งแรงที่สุดจะในระดับชาติหรือระดับโลกก็ตาม พอได้ยินเสียงสัญญาณเท่านั้นจะรีบทิ้งคานถ่วงลูกเหล็กลงพื้นทันที

ร่างกายเจอเชื้อโรคร้ายอย่างไข้ทรพิษ (ถ้ารอดมาได้)  ทีเดียวมันก็จำ ต่อไปไม่ป่วยด้วยโรคนี้อีก

กายโดนเศษแก้วแหลมคมบาดก็ถอยหนี

แต่ใจแม้กับเรื่องเจ็บปวด ใจยังเก็บมาคิดซ้ำ ราวยอมให้โดนกรีดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตามธรรมดาของจิตใจที่ชอบไปเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งอื่น แม้อาจเป็นจุดเล็กจุดน้อย แค่ถูกนินทา เป็นสิว ความไม่สมปรารถนา ก็ยังเก็บเอาไปครุ่นคิด

ใจจึงต้องฝึกซ้ำๆ หลงลอยไปไหนกี่ครั้งก็ให้รู้  ไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่มากระทบ เพราะนั่นคือสิ่งฝึกใจที่จะเป็นภูมิต้านทาน

ให้จิตเป็นอิสระ ไม่ต้องไปบังคับ ความฟุ้งซ่านก็ทำหน้าที่ของมัน  หน้าที่ของเราคือการรู้สึกตัว

ภาพ: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาที่ภูหลง วัดป่ามหาวัน ชัยภูมิ

หัวรุ่งและย่ำค่ำทำวัตรสวดมนต์แปล ได้ความสงบจดจ่อ ใจเป็นสมาธิ และรู้ระลึกถึงสัจแห่งชีวิตผ่านบทสวดบาลีที่ลึกล้ำความหมาย

นอกนั้นทั้งวันอยู่กับการฝึกปฏิบัติ ดังในบทสวดทำวัตรตอนหนึ่งที่ว่าธรรมเป็น สันทิฏฐิโก ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตัวเอง

ธรรมชาติของกายนั้นชอบวาง แต่จิตตรงกันข้าม คือ ชอบแบก

ปฏิบัติเจริญสติให้ตื่น “รู้” อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม  ไม่ “หลง” ฟุ้ง ล่องลอย คิดโน่นนี่ไปเรื่อยไม่รู้จักหยุดหย่อนตามธรรมชาติของจิต  ซึ่งหลวงพ่อเทียนได้สร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวมือ ๑๔ จังหวะ ไว้เป็นแนวทาง เคลื่อนไหวมือให้ใจมีที่เกาะเกี่ยวอยู่กับกาย

กับเดินจงกรม อันเป็นวิธีการเจริญสติรูปแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนามาแต่ดั้งเดิม

หลังทำวัตรเช้าและค่ำพระอาจารย์ไพศาลจะแสดงธรรมบรรยายให้แนวทาง เล่าเรื่องราวที่เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติ ตอบปัญหาหรือข้อติดข้องของผู้ปฏิบัติ ช่วยชี้แนะแนวทางการวางใจในการเจริญสติภาวนา เป็นช่วงเวลาสำคัญประจำวันที่ผู้ปฏิบัติรอคอยด้วยความกระตือรือร้น

ภาพ: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ในรอบปีท่านว่าเราควรมีช่วงเวลาได้ “เว้นวรรค” ชีวิตและจิตใจบ้าง ให้กายได้พักผ่อน และใจว่างจากความคิดวุ่นวายยุ่งเหยิง

แล้วเล่าเรื่องของช่างไม้ที่โหมทุ่มเทเวลาให้กับงานเลื่อยไม้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับได้ชิ้นงานลดลง จนเขางุนงงฉงนใจอยู่เอง

ได้มาฉุกคิดก็เมื่อมีคนถามว่า เขาไม่ได้ลับคมเลื่อยมานานเท่าใดแล้ว

การเว้นวรรคชีวิตด้วยการให้เวลากับการเจริญสติภาวนา ก็ถือเป็นการลับคมเลื่อยให้จิตใจได้ดีแบบหนึ่ง

ให้มีสติมีความรู้สึกตัวจนกิเลสรบกวนไม่ได้ ไม่ว่าความโกรธเกลียด ลังเล อาลัย ฟุ้งซ่าน เบื่อหน่าย

“ความรู้สึกตัวเหมือนหยดน้ำ เมื่อต่อเนื่องเป็นสายน้ำก็จะเหมือนดวงอาทิตย์ยามกลางวันที่ส่องให้เห็นเส้นทาง และเห็นทุกสิ่งได้แจ่มชัดถ้วนทั่วหมด”

แต่ความหลงจะคอยพาใจให้ออกไปจากความรู้ตัว  หากโจมตีด้วยตัวร้ายแบบซึ่งหน้าไม่ได้ บางทีก็จู่โจมเข้ามาแบบแนบเนียน

Phra Paisal Visalo

ภาพ: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ท่านยังเตือนให้ระวัง ความคิดดีๆ ที่แวบขึ้นมาในขณะปฏิบัติ อาจเป็นอุบายของกิเลสก็ได้

พอรู้ว่าไม่สามารถทำให้เราหลงด้วยกิเลสอย่างหยาบๆ ได้ มันก็มาในรูปของความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้เราเคลิ้มใจอยากคิดต่อ หรือผละจากการปฏิบัติหันไปบันทึกความคิดนั้นก่อน

ท่านแนะให้รู้จักรู้ทัน และเล่าเรื่องของท่านพุทธทาสไว้ให้เทียบเคียงว่า บางทีความคิดดีๆ ผุดขึ้นขณะเดินบิณฑบาตร ท่านพุทธทาสจะใช้วิธีจดโน้ตเป็นหัวข้อสั้นๆ เอาไว้ แล้วทิ้งมันออกไปจากหัว

เมื่องานเขียนเรื่องชิ้นนี้ผุดขึ้นในใจระหว่างการปฏิบัติ  ข้าพเจ้าจึงเพียงแต่จดโครงร่างเอาไว้  เพิ่งมาเขียนวันหลังเมื่อกลับจากภูหลงมาแล้ว


วรรคทองจากภูหลง

“กายโดนเศษแก้วแหลมคมบาดก็ถอยหนี แต่แม้กับเรื่องเจ็บปวด ใจก็ยังเก็บมาคิดซ้ำๆ ราวยอมให้โดนกรีดซ้ำแล้วซ้ำอีก” (ประโยคท้ายนี่คมกริบปานวรรคกวี)

“ความรู้สึกตัวเหมือนหยดน้ำ เมื่อต่อเนื่องจนเป็นสายก็จะเหมือนอาทิตย์ยามกลางวันที่ส่องให้เห็นเส้นทาง และเห็นทุกสิ่งได้ถ้วนทั่วหมด”

“คำด่านี้เป็นคำพร วันหลังนิมนต์มาด่าอีกนะเจ้าคะ” แม่ชีกล่าวกับพระที่หลวงปู่ขาวส่งมาลองใจ

“ผู้มีสติโชคดีเสมอ” (พุทธพจน์)

พระไพศาล วิสาโล

ภูหลง, พฤศจิกา ๕๙

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ