หุบเหวแห่งหัวใจ…ของเธอ

มะลิ ณ อุษา 16 มกราคม 2011

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนคนหนึ่ง เธอต้องการระบายความรู้สึกทุกข์ใจที่…อืม…ผู้เขียนเคยฟังมาแล้วนับสิบๆ รอบ

แทบจะคาดเดาได้เลยว่าประโยคต่อไปเธอจะพูดว่าอย่างไร และเมื่อเวลาผ่านไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เธอก็มักจะลงท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ฉันควรทำอย่างไรดี” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับชายหนุ่มจัดอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ สองวันดีสี่วันไข้ และเริ่มพัฒนาไปถึงขั้นสองวันดีสี่วันตบ

อยากเลิกแต่ก็เลิกไม่ได้ หรือแม้แต่จะทำให้ดีขึ้นก็ยังทำไม่ได้

ช่วงหลังๆ มานี้ ผู้เขียนยอมรับว่ามีความอดทนในการรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้น้อยลง แต่เริ่มตั้งคำถามย้อนกลับแทน บางครั้งก็สัมผัสได้เหมือนกันว่าเป็นคำถามที่กระแทกจิตใจอันเปราะบางของเธอ แต่หากเธอไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่ทำอยู่ กับความต้องการภายในที่ไม่สอดคล้องกัน เธอก็ไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้

เบื้องหลังเหตุผลอันมากมายที่เธอหยิบยกขึ้นมา ผู้เขียนเห็นว่ามีเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ ความกลัวและความดื้อรั้น หรือทิฐิมานะนั่นเอง ยิ่งเธอทะเลาะเบาะแว้งกับชายหนุ่มบ่อยครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการขุดหลุมของโมหะคติทั้ง 2 ให้ลึกลงไปเท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมที่สะท้อนสภาวะดังกล่าว ได้แก่ การเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ในชีวิตของตัวเองกับคนอื่น ตั้งแต่เรื่องหน้าตา เงินทอง ความสามารถ หรือแม้กระทั่งความรัก เมื่อเห็นว่าตัวเองด้อยกว่า (ซึ่งมักจะเป็นอย่างนั้นอยู่เสมอ) ก็มักจะเรียกร้องจากทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

ความไม่มั่นใจในตัวเอง คือ เงาสะท้อนของความกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เหมือนกับการตอบโต้ของชายหนุ่ม ที่เริ่มจากการพร่ำบ่น ต่อว่าต่อขานที่หญิงคนรักเรียกร้องจากเขามากขึ้นๆ เมื่อไม่มั่นใจว่าจะตอบสนองเธอได้ และหวั่นเกรงว่าเธอจะหลุดลอยไป เขาก็เลือกที่จะใช้การข่มขู่และกลายมาเป็นความรุนแรงต่อร่างกายในที่สุด ยิ่งนานวัน ความรู้สึกนี้ก็ยิ่งจะกรีดเป็นหุบเหวลึกในจิตใจของคนทั้งคู่ จนยากแก่การเยียวยา

แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีทางเยียวยาเสียเลย

ฝึกฝืน…คือ ยาที่ผู้เขียนเลือกจ่ายในการหักดิบของเพื่อนครั้งนี้ แม้จะรู้ว่าเธอรับฟังด้วยม่านกำแพงของความดื้อรั้น แต่อย่างน้อยเธอก็ยังคงนิ่งฟัง ผู้เขียนจึงถือโอกาสสาธยายต่อไป

ความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการติดอยู่ใน ร่อง หรือวิธีที่เธอและเขาต่างเคยชิน ทั้งในการคิด การพูด การแสดงออก รวมถึงการแก้ไขปัญหา เช่น เมื่อหญิงสาวรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ จึงเลือกที่จะประชดประชัน หรือเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่า แทนที่จะบอกความต้องการของตัวเองออกไปตรงๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อชายหนุ่มรับรู้ถึงข้อเรียกร้องของหญิงสาว ก็จะตีความและลงไปสู่ร่องความคิดแบบเดิมๆ ว่าเธอเป็นอย่างนี้อีกแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันฟังความให้จบ และเลือกวิธีที่จะตอบโต้แบบเดิมๆ เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การฝึกฝืนจึงต้องเริ่มต้นจากความปรารถนาอันแรงกล้า บวกกับความกล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรคที่จะเข้ามาบั่นทอนความมั่นคงภายใน ทั้งจากตัวเธอเองและคนรอบข้าง สิ่งแรกสุดที่ต้องทำ คือ การสร้างภาพความดีงามขึ้นในจิตใจ มองให้ชัดถึงสิ่งดีๆ ที่อยากให้เป็น ทั้งนี้ ด้วยความเป็นปุถุชน (ที่ดื้อรั้น) ความขึ้งเคียดที่คุกรุ่นอยู่ในใจ ไม่อาจล้างให้หายด้วยความเมตตาแบบฉับพลันได้ เธอจึงต้องหาตัวช่วย การมองหาความดีหรือแง่งามจากชีวิตและสิ่งรอบข้าง จะช่วยทำให้เธออ่อนโยนขึ้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการมองหาแง่ดีของคนที่เธอเกลียด หรือคนที่ทำให้เธอเจ็บปวดที่สุด เหตุนี้เอง เธอจึงต้องการความปรารถนาอันแรงกล้า

เมื่อความอ่อนโยนหยั่งรากลงในจิตใจแล้ว ก็จะเริ่มผลิดอกออกผลทางวาจาและการกระทำ การลงมือปฏิบัติ ถือเป็นขั้นกว่าของการฝึกฝืน ซึ่งจะเพิ่มรายละเอียดและข้อจำกัดมากขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจที่ดี เธอจึงควรเริ่มจากสิ่งง่ายๆ รอบตัว เช่น การยิ้มให้กับตัวเองตอนตื่นนอน ขอบคุณที่เธอยังคงมีชีวิตอยู่ แปรงฟัน อาบน้ำด้วยความรู้สึกที่อยากจะทำให้ร่างกายของเธอสะอาดจริงๆ กินข้าวเช้าอย่างตั้งใจ บอกกับตัวเองว่า วันนี้ฉันจะนำพลังงานที่ได้ไปสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น ระหว่างทางไปทำงานเธออาจจะแวะอุดหนุนหรือทักทายพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น และอวยพรให้ขายหมดไวๆ เธออาจจะยิ้มให้กับเด็กๆ ที่เดินสวนมา เธออาจทักทายพนักงานรักษาความปลอดภัยหรือแม่บ้าน ถามไถ่สารทุก์สุกดิบ จากนั้นเริ่มต้นสะสางงานที่คั่งค้างอยู่ และอีกมากมายที่เธอสามารถทำได้ด้วยตัวของเธอเอง

ทั้งนี้ เธอต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะทำให้หัวใจของเธออ่อนโยนและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เพื่อกลบฝังหุบเหวแห่งโมหะคติให้ตื้นเขิน เพราะหากเธอหลงลืมไป จะกลายเป็นการสร้างร่องหรือหุบเหวอย่างใหม่ขึ้นมาแทนที่ นั่นคือการติดดี หรือการยึดมั่นถือมั่นว่าเรานี่ช่างเป็นคนดีเสียจริงๆ ซึ่งเป็นหล่มลึกและยากแก่การกลบฝังเช่นกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนหนึ่งมาจากการติดอยู่ใน ร่อง หรือวิธีที่แต่ละคนต่างเคยชิน ทั้งการคิด พูด แสดงออก รวมถึงการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ อาจส่งผลต่อคนรอบข้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสจะสะท้อนกลับทั้งในแง่ของการส่งเสริมและการบั่นทอนได้เท่าๆ กัน ความอดทนและจิตใจที่เชื่อมั่นในความดีงามเท่านั้น จึงจะสามารถประคับประคองให้เธอหยัดยืนอยู่ได้ นานวันเข้าหุบเหวที่เคยมืดมนและบาดลึกในจิตใจก็จะตื้นเขินขึ้น แม้ไม่อาจจะลบเลือนให้มันหายไปได้ แต่เราก็จะมีเส้นทางใหม่ๆ ที่งดงามและสว่างไสวให้เลือกที่จะเดินไป

มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงอยากรู้แล้วว่า เพื่อนของผู้เขียนคนนี้เป็นใคร

เธอเป็นคนที่มักจะมองหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ แต่มักมองไม่เห็นความดีของสิ่งที่มีอยู่ในมือ แม้ว่าสิ่งที่ดีกว่านั้นจะแลกมาด้วยความเจ็บปวดหรือการสูญเสียของใครก็ตาม หากเธอต้องการ เธอก็ต้องได้มา แต่เมื่อข้อเรียกร้องของเธอมีมากมายจนเกินที่ชายหนุ่มจะแบกรับได้ การตอบโต้อย่างรุนแรงจึงเป็นผลสะท้อนที่ไม่เกินความคาดหมายนัก

บางครั้ง ผู้เขียนรู้สึกว่าชายหนุ่มคนนั้น มีสัญชาตญาณของความดิบเถื่อนค่อนข้างมาก ซึ่งลึกๆ แล้วมีเงื่อนปมบางอย่างที่เขาสะสมมานานและยังไม่อาจคลี่คลายได้ ในขณะเดียวกันพฤติกรรมที่เขาเลือกใช้ตอบโต้หญิงสาว ก็สื่อสารถึงข้อความที่ธรรมชาติกำลังบอกเราอยู่ได้เหมือนกัน

แล้วเพื่อนของผู้เขียนคนนี้เป็นใครน่ะหรือ?

เธอ…ก็เป็นคนที่มีข้อเรียกร้องและต้องการจากธรรมชาติไม่รู้สิ้นสุดอย่างไรล่ะ!


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน