อนุสติจากมหันตภัยที่ภาคใต้

พระไพศาล วิสาโล 1 มกราคม 2005

ครั้งหนึ่งภูเก็ต พีพี หมู่เกาะสุรินทร์ เขาหลัก และเกาะอีกหลายแห่ง เคยได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์บนพื้นพิภพ  หาดทรายที่สวยงาม ปะการังหลากสีสัน ทะเลสีคราม ฟ้าสวย และแดดใส ล้วนตราตรึงใจผู้เยี่ยมเยือนไม่รู้ลืม  แต่มาบัดนี้พื้นที่จำนวนมากได้กลับกลายเป็นนรกไปเสียแล้ว  แทบทุกหนแห่งดารดาษด้วยซากศพ ระงมด้วยเสียงร้องและร่ำไห้ ซากปรักหักพังและกองขยะระเกะระกะไปทั่ว  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ราวกับจะบอกเราว่าสวรรค์กับนรกนั้นหามีเส้นแบ่งที่เด็ดขาดไม่ ไม่มีสวรรค์แห่งใดจะปลอดพ้นจากนรกไปได้

สวรรค์นั้นพร้อมจะแปรเปลี่ยนเป็นนรกในชั่วพริบตา  มหันตภัยจากคลื่นสึนามิได้กระชากเราให้มาเผชิญกับสัจธรรมดังกล่าวอย่างมิอาจปฏิเสธได้  ความเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็จู่โจมอย่างไม่คาดฝัน โดยแทบจะไม่บอกสัญญาณล่วงหน้าเลย  ด้วยเหตุนี้เองผู้คนจำนวนมากจึงตายและพลัดพรากสูญเสียอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว  การพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์กลับกลายเป็นการพักผ่อนชั่วนิจนิรันดร์  ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวนั้นจะกลายเป็นการเดินทางไปเผชิญมหันตภัยและพบจุดจบของชีวิต

ชีวิตและโลกนั้นหาความเที่ยงแท้ไม่ได้เลย การเตรียมพร้อมเผชิญกับสิ่งไม่คาดฝันด้วยความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และนี่คือบทเรียนอีกบทหนึ่งที่เราได้จากมหันตภัยครั้งนี้ด้วยต้นทุนที่แสนแพง  หกปีที่แล้วอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เคยกล่าวเตือนสังคมไทยให้ระวังภัยจากคลื่นสึนามิ พร้อมทั้งเสนอมาตรการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม เช่นการติดตั้งระบบเตือนภัยและการเตรียมแผนอพยพผู้คน  แต่คำเตือนดังกล่าวกลับถูกตอบโต้ด้วยเสียงโห่ฮาและคำด่าประณาม ทั้งนี้ก็เพราะคำเตือนดังกล่าวขัดกับความคิดหรือการรับรู้ของผู้คน “ไม่เคยเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดียมาก่อน” คือเหตุผลในการปฏิเสธคำเตือนดังกล่าว  ใช่แต่เท่านั้น คำเตือนดังกล่าวยังถูกปฏิเสธเพียงเพราะว่าเป็นคำพูดที่ไม่ถูกใจ สวนทางกับความรู้สึก  ในขณะที่ผู้คนกำลังเพลิดเพลินกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาภูเก็ต กระบี่ และพังงา เงินตราก็แพร่สะพัด น้อยคนอยากจะฟังว่าความพินาศกำลังจะมาเยือน  ผลก็คือไม่มีการเตรียมมาตรการรับมือคลื่นสึนามิแต่อย่างใด และนั่นคือที่มาแห่งความวิบัติอันใหญ่หลวง

นี่มิใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยละเลยคำเตือนจนต้องมาเจอกับความพินาศ  ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เคยมีคนเตือนว่าฟองสบู่กำลังจะแตก หายนภัยทางเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้น  แต่ไม่มีใครสนใจคำเตือนนี้เพราะเป็นคำพูดที่สวนทางกับภาพที่ปรากฏ ที่ไหนๆ ก็มีแต่การก่อสร้าง ราคาที่ดินสูงเอาๆ ใครๆ ก็กำลังรวยหุ้น เศรษฐกิจก็กำลังเติบโตจนไทยได้ชื่อว่าเป็นทั้ง “เสือ” และ “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ”  ที่สำคัญก็คือขณะที่ผู้คนกำลังเพลิดเพลินกับเงินที่ไหลมาเทมา ไม่มีใครอยากฟังคนที่มาเตือนว่าวันเวลาแห่งความสนุกสุขสบายกำลังจะหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมิได้มีการเตรียมตัวรับมือกับการแตกของฟองสบู่ ผลก็คือเศรษฐกิจล้มครืนในชั่วข้ามคืน

กรณีรถแก๊สระเบิดที่เพชรบุรี และกรณีโรงแรมโรยัลพล่าซ่าพังครืนลงมาที่นครราชสีมา ล้วนเกิดขึ้นโดยมีเสียงเตือนมาก่อนแล้วทั้งนั้น แต่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง  เหตุผลประการหนึ่งที่มักใช้อ้างกันก็คือ “มันยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” หรือไม่ก็บอกปัดว่า “เป็นไปไม่ได้”  ใช่หรือไม่ว่าเรือไททานิกนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะล่มลงกลางมหาสมุทรได้เพราะสร้างขึ้นมาอย่างดี เป็นประดิษฐกรรมขั้นสุดยอดในเวลานั้น  เมื่อเชื่อมั่นเช่นนั้น จึงไม่ได้เตรียมระบบกู้ภัยและเรือชูชีพไว้มากพอ ดังนั้นเมื่อชนกับภูเขาน้ำแข็ง จึงมีคนตายเป็นอันมาก ส่วนเรือก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทรในเที่ยวแรกที่ออกเรือ

ทั้งหมดนี้บอกเราว่า เบื้องหลังของมหันตภัยที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายนั้น มักมีความประมาทเลินเล่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ  น่าสังเกตว่าเรามักจะมาเห็นความสำคัญของการเตรียมการก็ต่อเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเคยเกิดขึ้นที่อื่นมาแล้วทั้งนั้น  แต่ถึงจะมีใครมาบอกมาเตือนเพียงใด ก็ไม่สนใจที่จะเตรียมการรับมือจนกว่าเหตุร้ายจะขึ้นกับตัวเองแล้ว  พูดอีกอย่างก็คือ แม้จะรู้หรือได้ยินก็ยังไม่ขยับ ต่อเมื่อเจ็บปวดแล้วถึงค่อยเขยื้อน อย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยความรู้ แต่เป็นอยู่ด้วยความรู้สึก

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่เสมอก็เพราะเหตุนี้ ผู้คนต่างก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีต แต่ไม่เคยเอาอดีตเป็นบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุร้าย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุร้ายยังไม่เกิดขึ้นกับตัว จึงไม่กระตือรือร้นที่จะเตรียมการล่วงหน้า หากพอใจที่จะอยู่อย่างเดิมๆ เพราะสุขสบายดีแล้ว  นี้ก็เช่นเดียวกับความตาย ใครๆ ก็รู้ว่าสักวันหนึ่งตนต้องตาย แต่ตราบใดที่ยังไม่เจ็บไม่ป่วยหรือความตายยังอยู่ไกล ก็ยังเพลิดเพลินกับความสนุกสนานเฉพาะหน้า

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบคนเราดังม้าสี่ประเภท  ประเภทแรกเพียงแค่เห็นเงาปฏัก ก็รู้ว่าสารถีต้องการให้ทำอะไร  ประเภทที่สอง ต้องถูกปฏักแทงที่ขุมขนก่อนถึงรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง  ประเภทที่สามนั้น กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อถูกปฏักแทงที่ผิวหนัง  ประเภทสุดท้าย ต้องถูกปฏักแทงถึงกระดูกถึงค่อยรู้ตัวว่าจะต้องทำอะไร  ม้าประเภทแรกหมายถึงคนที่เพียงแต่ได้ฟังข่าวว่าที่นั่นที่นี่มีคนตาย ก็สลดใจ หันมาบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรม จนเห็นแจ้งด้วยปัญญา  ม้าประเภทที่สองหมายถึงคนที่ต้องเห็นคนตายต่อหน้าต่อตาถึงลงมือปฏิบัติธรรม  ม้าประเภทที่สามหมายถึงคนที่ต้องรอให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตายเสียก่อนถึงค่อยปฏิบัติธรรม  ส่วนม้าประเภทสุดท้ายหมายถึงคนที่จะเข้าหาธรรมต่อเมื่อตัวเองต้องประสบกับความทุกข์ ป่วยหนัก หรือใกล้ตายเสียก่อน  พูดอีกอย่างคือ ถ้ายังไม่เห็นโลง ก็ไม่หลั่งน้ำตา นี้คือที่สุดแห่งความประมาท

ผู้ที่มีปัญญานั้นย่อมไม่รอให้เหตุร้ายจู่โจมมาถึงตัวเสียก่อนจึงค่อยรับมือกับปัญหา เพราะถึงตอนนั้นก็อาจเตรียมตัวไม่ทันแล้วก็ได้  ย่อมปลอดภัยกว่าหากเราเตรียมตัวทันทีที่รู้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับผู้อื่น เพราะนั่นหมายความว่ามันอาจมาถึงตัวเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงควรเตรียมตัวในขณะที่ยังมีเวลาและโอกาสอยู่

สังคมไทยจะต้องหันมาเป็นอยู่ด้วยปัญญามากขึ้น นั่นคือใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อน มิใช่รอให้เจ็บปวดหรือเป็นทุกข์เสียก่อนจึงค่อยเตรียมการป้องกันหรือรับมือ  “วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะเราเพลิดเพลินกับความสุขสบายเฉพาะหน้ากันมากเกินไป นี้เรียกว่าความประมาท  แต่ถ้าจะไม่ประมาท ก็ต้องมีสติเพื่อเตือนใจไม่ให้จมอยู่กับความสุขสบาย และเพื่อกำกับชีวิตให้มีปัญญาเป็นตัวนำ  หากปราศจากการเกื้อหนุนของสติเสียแล้ว ปัญญาหรือความรู้ย่อมไม่มีพลังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ต้องอาศัยอารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวผลักดันอย่างเดียว นั่นหมายความว่าต้องให้เจ็บหรือทุกข์เสียก่อนจึงจะเขยื้อนขยับทำสิ่งที่สมควรทำ  ปัญหาก็คือเหตุร้ายบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวก็ได้

ครั้งหนึ่งแทบไม่มีเคยมีใครนึกว่าคลื่นสึนามิจะเกิดขึ้นในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียได้ แต่แล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้  ครั้งหนึ่งคำว่า “เป็นไปไม่ได้” สามารถเอามาใช้ตอบโต้ผู้ที่เตือนภัยสึนามิได้ แต่วันนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว  นี้ก็เช่นเดียวกับเหตุร้ายในกรณีอื่นๆ ซึ่งไม่เคยนึกว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว  คำว่า “เป็นไปไม่ได้” นั้นได้สิ้นมนต์ขลังไปแล้ว นั่นหมายความว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น  ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เราสามารถยืนได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีทางเกิดขึ้น อย่างมากเราก็ยืนยันได้แค่ ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ยิ่งถ้าเป็นเรื่องร้ายหรือความผิดพลาดด้วยแล้ว มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา (จำกฎของเมอร์ฟี่ได้ไหมที่บอกว่า ความผิดพลาดใดๆ ก็ตามหากสามารถเกิดขึ้นได้ มันก็จะต้องเกิดจนได้)  ด้วยเหตุนี้จึงต้องจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจระแวดระวังอยู่เสมอ ไม่ตกอยู่ในความประมาท หากป้องกันไม่ได้ก็ต้องเตรียมการรับมืออย่างดีที่สุด

มหันตภัยที่ภาคใต้ยังบอกเราอีกว่า ความคิดหรือคำเตือนที่สวนกระแสและขัดหูขัดใจนั้น ในที่สุดกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีคุณค่าอย่างมาก  หากกรมอุตุนิยมวิทยาและกระทรวงมหาดไทยรับฟังคำเตือนและนำเอาข้อเสนอต่างๆ ของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช และคณะ ไปปฏิบัติตั้งแต่เมื่อหกปีที่แล้ว วันนี้คงไม่มีการสูญเสียชีวิตกันมากมายถึงขนาดนี้  น่าเสียดายที่ทั้งภาครัฐบาลและภาคธุรกิจมีทัศนคติในทางลบต่อคำเตือนดังกล่าว ดังผู้ว่าราชการบางแห่งถึงกับประกาศห้าม ดร.สมิทธ มิให้มาจังหวัดของตน

กรณีดังกล่าวตอกย้ำว่าสังคมไทยจำต้องมีความใจกว้างต่อความคิดที่ต่างไปจากตน และต่อคำเตือนที่สวนทางกับความคิด ขัดกับภาพที่ปรากฏ หรือไม่ถูกใจตน  ไม่ควรเอาเสียงส่วนใหญ่ไปตัดสินความเห็นของคนส่วนน้อย และไม่ควรกล่าวประณามผู้ที่พูดไม่ถูกใจตน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นนักวิชาการ เอ็นจีโอ ฝ่ายค้าน หรือชาวบ้านก็ตาม  อย่างน้อยที่สุดกรณีคลื่นสึนามิก็ได้ชี้ว่าคนส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนนั้นเป็นฝ่ายถูก แต่เพราะเสียงของพวกเขาถูกเมินเฉย เราถึงต้องสูญเสียกันอย่างมากมายมหาศาลถึงเพียงนี้

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความสูญเสีย ความเจ็บปวด และความผิดพลาดที่ปรากฏตัวออกมา เราก็ได้เห็นความงดงามจากน้ำใจของผู้คนทั่วทุกสารทิศ ที่ได้ร่วมกันนำเอาสิ่งดีที่สุดของตนออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  ยิ่งกว่านั้นก็คือการทุ่มตัวสู้กับอุปสรรคนานัปการเพื่อกอบกู้และดำเนินการกับซากศพเพื่อให้คู่ควรกับความเป็นมนุษย์ที่มีญาติพี่น้องและคนรัก  ความเสียสละและกล้าหาญของบุคคลเหล่านี้คือสิ่งบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังมีความหวัง  ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดเพียงใด แต่เราก็ยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่ น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล  แม้ว่าคลื่นสึนามิจะพลิกสวรรค์ให้กลายเป็นนรก แต่น้ำใจอันสูงส่งของผู้คนเหล่านี้กำลังปัดเป่านรกให้เลือนหายไป อีกทั้งทำให้มีความหวังว่าไม่นานสวรรค์จะกลับคืนมายังแผ่นดินนี้อีกครั้งหนึ่ง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา