อย่ายอมแพ้

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 6 มิถุนายน 2010

“มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ตรงที่สามารถเรียนรู้ และเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องประสบกับเหตุการณ์ด้วยตัวเอง  มนุษย์สามารถคิดจากจิตใจของคนอื่น จินตนาการว่าตัวเองยืนอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น แน่นอนว่าสิ่งนี้คือ อำนาจที่เป็นกลาง เหมือนกับเวทย์มนตร์ในนิยายของฉัน  คนอาจจะใช้ความสามารถแบบนี้ในการชักใยหรือควบคุม หรือใช้มันเพื่อสร้างความเข้าใจหรือความเห็นอกเห็นใจ”

นี่คือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของผู้เขียนหนังสือ แฮรี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมเยาวชนอันโด่งดัง  เจ. เค. โรว์ลิง กล่าวข้อความนี้กับผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา  เนื้อความที่น่าสนใจคือ เราทุกคนต่างมีอำนาจเช่นนี้ สำนึกของพลังความคิดและจินตนาการช่วยนำพาให้เรารับรู้ เข้าใจ สัมผัสและรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนรอบตัวเรา โดยไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเคยมีประสบการณ์นั้นมาก่อนหรือไม่

สำนึกจิตนาการช่วยให้เรารับรู้และเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนที่กำลังประสบความทุกข์ ความสุข หรือประสบการณ์ใดๆ ก็ตาม เราอาจจะเรียกพลังอำนาจนี้ว่า ความเห็นอกเห็นใจ หรือการโน้มน้าวชักจูง

กระนั้นอำนาจความสามารถนี้ก็ต้องอาศัยเจตนาในการทำงาน เจตนาของการเปิดใจ รับฟัง เจตนาของการปล่อยวางอคติ เจตนาของการยอมรับเรื่องราวของคนอื่นเข้ามาไว้ในใจ รวมไปถึงเจตนาของการเปิดให้ความเมตตากรุณาที่มีอยู่ในใจได้แสดงตัวเองออกมาด้วย  ในอีกทางหนึ่ง เพราะเราทุกคนต่างมีความสามารถเช่นนี้ อำนาจความสามารถก็อาจถูกหลอกใช้ผ่านเรื่องราว คำพูดที่มีพลังโน้มน้าวให้คิดหรือเชื่อตามวัตถุประสงค์ที่แอบแฝง หากเราละเลยเจตนาในเรื่องการพินิจพิจารณา

ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา กระแสข้อมูลข่าวสารความขัดแย้งจากฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงฝ่ายต่างๆ กระทำให้เราทุกคนต่างตกอยู่ในภาวะสงครามทั้งสงครามภายนอก และสงครามภายใน  ในภาวะสงคราม สิ่งที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย คือ ภาวะเครียด เกร็ง กังวล หดหู่ เศร้าหมอง ขณะเดียวกันร่างกายของเราก็มีภาวะของหัวใจเต้นเร็ว ต่อมอะดรีนาลีนหลั่งสารเคมีเพื่อกระตุ้นเร้าให้ร่างกายพร้อมตอบโต้เหตุการณ์ที่เข้ามาคุกคามด้วยพละกำลังที่เพิ่มพูน ความกลัวหายไป เหลือแต่พลังของสัญชาตญาณการเอาตัวรอด สติปัญญาและความนึกคิดถูกใช้เพื่อการเอาตัวรอด เพื่อการเอาชนะ

ผลกระทบของภาวะสงครามที่มีต่อจิตใจ และสติปัญญาความนึกคิด คือ การยึดถือความคิด ความเชื่อในอุดมการณ์ ในความถูกต้องของฝ่ายตน  ดังนั้นการยึดถือฝ่าย ถือข้าง และมุ่งมั่นกับสิ่งที่คิดและเชื่อ จึงเป็นพลังที่ด้านหนึ่งช่วยให้เราไม่ต้องรับความเสี่ยง ไม่ต้องเจ็บปวดกับการเผชิญหน้าความจริง  พลังอีกทางก็คือ การมีพวกพ้องที่ร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน ผิดถูกอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่าตัวตนของเรามีการขยายใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากขึ้นจากกลุ่มใหญ่ที่หนุนหลัง

จะเลือกเชื่อ หรือเลือกใส่เสื้อสีอะไรก็ตาม ล่วงเลยถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองร่วม ๘๘ ศพ บาดเจ็บและพิการอีกมากมายร่วมพันกว่าคน  สิ่งทึ่พึงสังวรด้วยคือ เหตุการณ์การสูญเสียเช่นนี้ก่อบาดแผลในจิตใจ และสามารถเพาะเป็นมะเร็งร้ายที่จะกลับมากัดกินองคาพยพส่วนต่างๆ ของชีวิตและของสังคมต่อไป  ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดรุนแรง  จากการสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ มีปฏิกิริยาทางอารมณ์ จิตใจ คือ หดหู่ เศร้าเสียใจ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้า บางส่วนมีภาวะโกรธแค้น เครียด ซึ่งมีโอกาสจะนำไปสู่โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเครียดรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ “PTSD” (Post-Traumatic Stress Disorder)  และภาวะโรคซึมเศร้า โรคเครียดรุนแรงก็จะมีโอกาสนำไปสู่การฆ่าตัวตาย และฆ่าผู้อื่นได้  และหากผู้ได้รับผลกระทบพบว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความใส่ใจ บาดแผลนี้ก็ยิ่งพร้อมในการเป็นมะเร็งร้ายเพื่อลุกลามต่อไป

อย่างไรก็ดี ทุกขเวทนาจากความเครียด ซึมเศร้า แค้นเคืองนี้ มันกัดกินและบั่นทอนชีวิตและความสุขในตัวเรา ในคนรอบข้าง กระนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เรายังต้องสัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ต่อไป  ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ล้วนไร้ความหมายเมื่อสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ท่ามกลางน้ำตาและเลือดเนื้อ รวมถึงบาดแผล  สิ่งที่มีอยู่ก็คือ ผู้แพ้ ผู้ชนะที่ยังต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เราต่างต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข  ผู้ชนะไม่อาจเป็นสุขได้ในเมื่อคนรอบข้าง คนร่วมสังคมยังมีความทุกข์อยู่  และหนทางเดียวที่จะคืนสังคมที่สงบสุข สังคมที่สมาชิกในสังคมที่เราอาจไม่ได้รักกัน แต่อย่างน้อยเรายังมีน้ำใจ ไม่คิดร้ายต่ออีกฝ่าย คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันหาหนทางปรองดอง และสานสัมพันธ์กับอีกฝ่าย

ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ล้วนไร้ความหมาย เมื่อสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ท่ามกลางบาดแผลและน้ำตา

ปรากฏการณ์เสื้อแดงที่เกิดขึ้น อาจมีความซับซ้อน ความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ที่ร่วมขบวนการ ความแตกต่างในวัตถุประสงค์ รวมถึงไปความหลายระดับของการรับรู้และความเข้าใจต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น  คำอธิบายหรือคำนิยามต่างๆ เช่น ควายแดง กลุ่มผู้ก่อการร้าย แดงถ่อย ฯลฯ  คำถามคือ คำอธิบายเหล่านี้นำไปสู่ผลลัพธ์อะไร หากนำไปสู่ความแตกแยกก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร นอกจากความสะใจและความสุขจากการมีฝักฝ่าย แยกพวกแยกเหล่า  มีแต่การสานไมตรี การค้นหาความจริง และเจตนาที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม กระนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ได้มาโดยง่ายดาย เราต่างต้องทำสงครามภายในกับตนเอง และเรายอมแพ้ไม่ได้ด้วย

สงครามภายในนี้คือ การเอาชนะอคติความถูก ความผิด การเอาชนะความเกียจคร้านและเฉื่อยชากับเรื่องทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ไม่จำนนพ่ายแพ้กับการมัวเมากับกิน กาม เกียรติ ตามกระแสบริโภคนิยม  แม้แต่ฝ่ายพ่ายแพ้ที่มองว่าตนเองถูกกระทำ ถูกทำร้าย ก็ต้องเอาชนะสงครามของความโกรธ เกลียด และกลัว  มีแต่หนทางการยอมรับความจริงและเจตนาที่จะคืนดี คือหนทางเยียวยาเพื่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม  นั่นจึงเป็นหลักประกันว่า ตัวเราและลูกหลานของเราจะได้มีสังคมที่สงบสุขโอบอุ้มอยู่ ไม่ใช่สังคมที่เกลียดชังกันคอยต้อนรับพวกเรา และเราทุกคนต้องช่วยกันสร้างสังคมสงบสุข


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน