“ออกกำลังกาย” สูงวัยและแข็งแรง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 27 พฤษภาคม 2018

มนุษย์เราหวาดกลัวความแก่และความตาย หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่เริ่มต้นมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์จะพบว่า สิ่งที่มนุษย์ปรารถนาสูงสุดคือการมีชีวิตอมตะ พวกเขาทุ่มเททรัพยากรมหาศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นหนุ่มสาว ไม่แก่เฒ่า หรือไม่ตาย

จิ๋นซีฮ่องเต้ผู้พิชิตแห่งประเทศจีนหมกมุ่นปรารถนาจะมีชีวิตอมตะ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้หัวเมืองและหมู่บ้านทั่วราชอาณาจักรค้นหายาอายุวัฒนะเป็นการใหญ่ มีบันทึกจากหัวเมืองต่างๆ ว่าไม่สามารถหายาอมตะเหล่านั้นได้ และจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตด้วยวัยเพียง 49 พรรษา

มายุคนี้ สารคดีเรื่อง Forever Young หรือ “หนุ่มสาวตลอดกาล” ของบีบีซีที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเรื่องด้วยการสัมภาษณ์ “ลิซ” คุณแม่ที่พยายามค้นคว้าหาหนทางรักษาบุตรชายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิด 1  ระหว่างนั้นเธอค้นพบข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการชะลอความแก่ เธอจึงผันตัวมาระดมทุนเพื่อทำงานวิจัยดังกล่าว

“ถ้ารู้ว่ามีหนทางแต่เราไม่ได้ทำ ก็เท่ากับเป็นการฆาตกรรมมนุษยชาติ” เธอกล่าวอย่างมั่นใจ และเต็มใจให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพนำการทดลองที่อยู่ในขั้นทดลองกับหนู มาใช้ทดลองกับตัวเธอ  นั่นคือการทดลองยืดส่วนปลายของโครโมโซมที่ชื่อเทโลเมียร์ (Telomeres) ที่จะสั้นลงเมื่อคนอายุมากขึ้น โดยเชื่อว่าหากคงความยาวของเทโลเมียร์ไว้ได้ จะทำให้มนุษย์อ่อนเยาว์ลง 40 เปอร์เซนต์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่าวิธีการนี้มีความเสี่ยงสูง หากเทโลเมียร์ยาวเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจในสารคดีเรื่องนี้ คือ การสัมภาษณ์นักระดมทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เรียกว่าสตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในภาพรวมมีผู้สนใจลงทุนด้านนี้เป็นวงเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะลอร่า เดมิ่ง หญิงสาววัย 23 ปี แห่งกองทุนอายุยืน (Longevity Fund) สามารถระดมทุนได้เกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เธอบอกว่าที่ระดมทุนได้มากมาย เพราะผู้คนยุคนี้เห็นว่าความแก่ “เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว”

พวกเขาทุ่มเททรัพยากรมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นหนุ่มสาว ไม่แก่เฒ่า หรือไม่ตาย

เมื่อเริ่มต้นด้วยเรื่องเงินทองและผลประโยชน์ หากความฝันนั้นเป็นจริง ผู้ที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก็ต้องเป็นคนมีเงิน ทว่าหนทางอายุยืนและสุขภาพดีที่ทุกคนทำได้ในราคาถูกที่สุด เห็นจะเป็นการออกกำลังกาย ดังที่ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์สมัยโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “การออกกำลังกายคือยาที่ดีที่สุดของมนุษย์”

วารสาร Aging Cell ฉบับมีนาคม 2561 เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมและคิงส์คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มสาวและสุขภาพดีเมื่อก้าวเข้าสู่วัยชรา

ทีมวิจัยเก็บข้อมูลสุขภาพในกลุ่มนักปั่นจักรยานที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อายุ 55-79 ปี จำนวน 125 คน ผู้ชาย 41 คน ผู้หญิง 84 คน ผู้ชายต้องปั่นได้ 100 กิโลเมตรภายใน 6.5 ชั่วโมง ส่วนผู้หญิงต้องปั่นได้ 60 กิโลเมตร ภายใน 5.5 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับกลุ่มคนสุขภาพดีที่ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมออายุ 57-80 ปี จำนวน 75 คน และกลุ่มคนหนุ่มสาวสุขภาพดีอายุ 20-36 ปี จำนวน 55 คน

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่มีการสูญเสียมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไขมันและคอเลสเตอรอลไม่เพิ่มขึ้นตามอายุ และในผู้ชายระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังคงระดับสูง ซึ่งหมายความว่าอาจจะหลีกเลี่ยงภาวะวัยทองในเพศชายได้

นอกจากนี้ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แก่เฒ่าไปตามวัยอีกด้วย โดยดูจากต่อมไทมัสซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันชื่อทีเซลล์ ซึ่งมักจะหดตัวลงตั้งแต่อายุ 20 ปี และผลิตทีเซลล์ลดลง ในกลุ่มนักปั่นที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอพบว่า ต่อมไทมัสยังผลิตทีเซลล์ได้เท่ากับคนหนุ่มสาว

“การออกกำลังกายคือยาที่ดีที่สุดของมนุษย์” ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์สมัยโบราณเคยกล่าวไว้

“เรามีหลักฐานที่หนักแน่นว่า การกระตุ้นให้คนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตลอดชั่วชีวิต คือทางออกที่เป็นไปได้ในการต่อกรกับปัญหาอายุยืนและสุขภาพแย่” ศาสตราจารย์เจเนต ลอร์ด ผู้อำนวยการสถาบันการติดเชื้อและสูงวัย แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ผู้รับผิดชอบการวิจัยกล่าว

“นักปั่นไม่ได้ปั่นเพราะแข็งแรง แต่เราแข็งแรงเพราะการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิต ร่างกายจะแก่อย่างสมเหตุสมผล ปราศจากโรคภัยที่มักเกิดจากการไม่เคลื่อนไหว และการหยุดเคลื่อนไหวจะทำให้ร่างกายเสื่อมลง” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนอร์เมน ลาซารัส แห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ซึ่งเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักปั่นมือฉมังกล่าว

“ค้นหาการออกกำลังกายที่คุณชอบและเหมาะกับคุณ แล้วทำให้เป็นนิสัย แล้วคุณจะได้รับรางวัลในช่วงท้ายของชีวิตด้วยการสูงวัยอย่างเป็นอิสระและยังทำสิ่งต่างๆ ได้”

ในสารคดีข้างต้น เมื่อถูกถามเรื่องการออกกำลังกาย ลิซผู้เข้ารับการทดลองยืดความยาวเทโลเมียร์หัวเราะและบอกว่า เธอไม่มีเวลาออกกำลังกาย

สุดท้ายก็อยู่ที่เราผู้อยากชราอย่างสุขภาพดีว่าจะเลือกวิธีที่ง่ายและถูก แต่ต้องมีวินัยอย่างการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือรอยาและวิธีการชะลอความแก่ที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งกำลังค้นคว้าวิจัยกันอย่างขะมักเขม้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถูกนำมาใช้เมื่อไรและต้องใช้เงินมากเพียงใด

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง