ออกจากสังคมที่มุ่งตัดสินตายตัว

ปรีดา เรืองวิชาธร 24 ตุลาคม 2010

สังคมไทยเป็นหนึ่งในสังคมสมัยใหม่ทั่วโลกที่นิยมชมชอบการตัดสิน ซึ่งมักทำให้คนที่เป็นเหยื่อของการตัดสินจากคนรอบข้างและสังคมโดยเฉพาะการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมได้รับความทุกข์ความเจ็บปวดใจ คำตัดสินทั้งหลายมักมาในรูปของการดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกโจมตีกล่าวร้าย ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงถูกกีดกันออกจากกลุ่มหรือสังคมที่เขาเคยดำรงอยู่ ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ มันเป็นตราบาปที่ถูกตีตราอย่างตายตัว แทบไม่มีช่องหรือโอกาสที่จะแก้ไขหรือเริ่มต้นใหม่ได้เลย คนที่ถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมจึงง่ายที่จะตัดสินตัวเองว่า ต่ำต้อยด้อยค่าหรือไร้ค่าไร้ความสามารถ ดังนั้นถ้าเขารู้สึกอย่างนั้นรุนแรงและเรื้อรัง ชีวิตก็จะท้อแท้สิ้นหวัง ซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

ส่วนคนที่ชอบตัดสินคนอื่นก็มักจะติดมองในแง่ลบ โลกและชีวิตของเขามักจะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง มีความขุ่นข้องหมองมัวมากกว่าแจ่มใสเบิกบาน จริงอยู่บางครั้งบางคราวการอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องมีการสรุปหรือตัดสินคนรวมถึงเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสรุปประเมินข้อเท็จจริงหรือความเป็นจริงร่วมกันอันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมหรือจัดการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิม  แต่ที่เป็นปัญหารุนแรงก็เพราะการตัดสินมักเต็มไปด้วยการรับรู้ความจริงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือมองไม่ครบถ้วนตามที่เป็นจริง ในที่นี้จะเรียกว่าการมองแบบตัดสินตายตัว ซึ่งการมองแบบนี้มักมาควบคู่กับการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เห็นและเชื่อว่ามันเป็นความจริงแท้แน่นอน  ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การมองแบบตัดสินตายตัวมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคิดปรุงแต่งขยายตัวเร็ว ก็เพราะเรามักมีพื้นฐานการมองแบบนี้เป็นนิสัยอันคุ้นเคยอยู่แล้ว ซึ่งมาจากความเชื่อที่ฝังแน่นในใจ จากประสบการณ์เดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้เราด่วนสรุปสิ่งที่เห็นว่าคงจะเหมือนประสบการณ์เดิม ประกอบกับมีคนรอบข้างรวมถึงสถานการณ์รอบด้านคอยกระตุ้นและโน้มน้าวให้เรามองแบบตัดสินตายตัวได้ง่ายและเร็วขึ้น

ตัวอย่างการมองแบบตัดสินตายตัวที่เห็นได้บ่อยมีดังนี้

๑) มองหรือตัดสินคนที่ภาพลักษณ์ภายนอก

หรือเปลือกนอกของความเป็นมนุษย์ โดยมองไม่เห็นแก่นแท้ข้างใน รูปธรรมที่เห็นได้ง่ายอย่างเช่น การตัดสินที่รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย บุคลิกภาพภายนอกที่แสดงออกผ่านอากัปกิริยา คำพูดหรือการกระทำ ทำให้เราสรุปคนนั้นง่ายๆ ว่า เขาเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ ดังเช่น บางคนแต่งตัวดูไม่ภูมิฐานแถมพูดไม่เก่งฉะฉาน เราก็อาจสรุปว่าเขาไม่ฉลาดไม่มีความสามารถ หรือมีฐานะต่ำต้อย แต่จริงๆ แล้วข้างในของเขาอาจมีไหวพริบปฏิภาณ มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ หรืออาจเป็นคนดีมีจริยธรรมสูง ซึ่งเรามักจะมองข้ามเนื้อในที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูไม่เข้าท่า เราจึงมองไม่เห็นแก่นแท้ด้านใน เช่น ความสามารถที่แท้จริง คุณธรรมความดีภายในและที่อยู่แก่นในที่สุดคือจิตใจที่สามารถปล่อยวางได้เป็นอิสระไม่ยินดียินร้ายได้ง่าย รวมถึงสถานภาพที่แท้จริง เป็นต้น เปลือกนอกที่บดบังแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ยังหมายถึง ชาติพันธุ์ วงศ์ตระกูล ภาษา อาชีพ สถาบันที่เรียน ดีกรีทางการศึกษา องค์กรที่ทำงาน และฐานะการเงิน เป็นต้น

๒) มองคนเพียงด้านเดียวหรือเลือกมองเพียงบางด้าน

รูปธรรมการมองลักษณะนี้จะเห็นได้ง่ายอย่างเช่น หากเรารู้สึกแย่กับใครหรือเห็นความผิดพลาดเพียงบางด้านก็มักจะมองคนนั้นเป็นร้ายไปเสียทั้งหมด มองไม่เห็นหรือมองข้ามด้านที่เป็นคุณหรือด้านดีของคนนั้น วิธีการมองลักษณะนี้มักทำให้เรารู้สึกได้ง่ายว่า โลกและชีวิตนี้มีอยู่สองขั้ว (ทวิลักษณะ) เช่น ไม่ดีก็ร้าย ไม่ดำก็ขาว ไม่รักก็เกลียดเป็นต้น ดังนั้นการมองแบบนี้จึงมักจะทำให้เรามีท่าทีต่อคนแบบสุดโต่งได้ง่าย

๓) มองเห็นความจริงของคนเฉพาะที่เขาแสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น

โดยมองไม่เห็นหรือมองข้ามความรู้สึกนึกคิดหรือปมชีวิตภายในที่สั่งสมจากอดีตจนนอนเนื่องอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของจิตใจ ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนเช่น เพื่อนร่วมงานของเราคนหนึ่งมีท่าทีก้าวร้าวชอบพูดเสียดแทงใจคนรอบข้าง เมื่อเขาแสดงออกกับเราด้วยท่าทีเช่นนี้เรามักจะพาลไม่ชอบขี้หน้าและไม่อยากร่วมงานกับเขา แต่หากเราได้ทราบเรื่องราวที่เป็นภูมิหลังของเขา เราจะเข้าใจได้ว่าพฤติกรรมด้านร้ายของเขาอาจมาจากอดีตอันโหดร้ายหรือไม่ยุติธรรมสำหรับเขาก็ได้ ดังนั้นการมองเห็นพฤติกรรมภายนอกแล้วตัดสินโดยไม่มีคำถามในใจที่อยากทราบความจริงว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น การมองคนอย่างผิวเผินเช่นนี้ก็มักทำให้เราจงเกลียดจงชังคนนั้นได้ง่าย และไม่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือรวมถึงมีท่าทีใหม่เพื่อจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม

๔) มองเห็นแต่เหตุการณ์ความจริงเฉพาะที่เกิดขึ้นตรงหน้าที่เรารู้เห็นเท่านั้น

แต่เรากลับมองไม่เห็นเหตุการณ์ความจริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหรือเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ที่เราเห็นซึ่งเป็นด้านที่เราไม่รู้ไม่เห็น ทำให้ความจริงบางด้านขาดหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของเรา แล้วชวนให้หลงเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน  การมองเห็นเหตุการณ์ความจริงบางด้านแล้วคิดปรุงแต่งไปตามอคติรวมถึงกิเลสวาสนาภายในโดยไม่ตรวจสอบค้นหาความจริงบางด้านที่เราไม่รู้ไม่เห็น ก็มักทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ตัวอย่างอันคลาสสิกได้แก่เรื่องราวในนวนิยายเรื่องคำพิพากษา

๕) มองคนแบบหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง

การมองตัดสินลักษณะนี้มักเกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่า คนที่เดิมเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น ยิ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันทุกวันก็มักเห็นแต่พฤติกรรมการแสดงออกที่ผิดพลาดซ้ำซากจำเจ จึงทำให้ยากที่จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในซึ่งอาจจะเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และยากที่จะมองเห็นความเพียรพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงของคนซึ่งเขาอาจจะทำได้บ้างล้มเหลวบ้าง แต่เราก็มักจะเจาะจงมองเห็นแต่ร่องพฤติกรรมเดิมที่จำเจคุ้นเคย เป็นต้น

๖) คิดหรือมองความจริงแบบยึดมั่นตายตัว

ว่า สิ่งนั้นๆ เป็นจริงหรือใช้ได้ผลจริงกับทุกสถานการณ์ทุกบริบท ดังเช่น เรามักจะยึดติดกับทางออกหรือวิธีการบางอย่างที่เคยใช้ได้ผลกับตัวเอง แต่พอลองเอาไปใช้กับคนอื่นสังคมอื่นก็กลับไม่ได้ผล ก็เพราะคนและสังคมแต่ละแห่งมีความแตกต่างหลากหลาย ย่อมจะตอบสนองกับทางออกหรือวิธีการไม่เหมือนกัน อีกแง่หนึ่งก็คือ แม้มันจะเคยใช้ได้ผลในอดีตแต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุปัจจัยเปลี่ยนไป มาถึงวันนี้ก็อาจใช้ไม่ได้ผล อย่างนี้ก็มีถมไป

๗) คิดหรือมองความจริงแบบปักใจเชื่อไว้กับบางคนหรือบางกลุ่มอย่างยึดมั่น

ในขณะเดียวกันก็ด่วนปฏิเสธความจริงความเชื่อของคนอื่นกลุ่มอื่นที่เห็นหรือเชื่อต่างออกไป เป็นการผูกขาดความจริงว่า ตนกับกลุ่มของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง คนที่เห็นเป็นอื่นนั้นผิด วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดความแตกแยก แบ่งเราแบ่งเขา จนนำไปสู่การให้ร้ายโจมตีกันในที่สุด กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนดังเช่น ความขัดแย้งของกลุ่มลัทธิเคร่งคัมภีร์ซึ่งมีในทุกศาสนาทุกความเชื่อ การแบ่งสีเลือกข้างของสังคมไทยในขณะนี้ เป็นต้น

สัปดาห์หน้าจะได้กล่าวถึงสาเหตุและทางออกจากการติดยึดความจริงแบบตัดสินตายตัว


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน