อันตรายที่ไม่ได้มาจากศัตรู

พระไพศาล วิสาโล 17 พฤษภาคม 2009

ย้อนหลังเมื่อ ๙๐ ปีที่แล้ว โลกทั้งโลกประสบมหันตภัยจากโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์  ไข้หวัดใหญ่ซึ่งอุบัติขึ้นเมื่อปี ๒๔๖๑ และสลายไปในอีก ๒ ปีต่อมาได้คร่าชีวิตผู้คนทุกมุมโลกไม่น้อยกว่า ๕๐ ล้านคน (บ้างว่าอาจสูงถึง ๑๐๐ ล้านคน)  แม้แต่กาฬโรคที่กวาดชีวิตผู้คนถึง ๑ ใน ๔ ของยุโรปเมื่อ ๗ ศตวรรษที่แล้ว ยังสังหารมนุษย์ได้ไม่มากเท่านี้

ไข้หวัดใหญ่ครั้งนั้นเป็นไวรัสสายพันธุ์ H1N1 (ชนิดเดียวกับที่ระบาดในขณะนี้)  ความที่ผู้คนเวลานั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นี้เลย มันจึงสามารถสังหารผู้คนจนล้มตายเป็นเบือในเวลาที่รวดเร็วมาก  ไม่เคยมีไวรัสสายพันธุ์ใดที่มีอานุภาพร้ายแรงขนาดนั้นมาก่อน  ที่น่าสังเกตก็คือเกือบครึ่งของผู้ตายเป็นหนุ่มสาวอายุระหว่าง ๒๐-๓๐ ปี ซึ่งจัดว่าเป็นวัยฉกรรจ์ที่มีสุขภาพดีกว่าประชากรกลุ่มอื่น  ประมาณกันว่า ร้อยละ ๘-๑๐ ของคนหนุ่มสาวที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นล้มตายเพราะไวรัสตัวนี้

มีหลายคนที่ป่วยและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเพราะไวรัสสายพันธุ์นี้  หลายรายเสียชีวิตภายใน๖-๑๒ ชั่วโมงที่เกิดอาการ แต่ยังมีที่ตายเร็วกว่านั้นอีก  ชายบราซิลผู้หนึ่งเล่าว่าเช้าวันหนึ่งมีคนมาสอบถามเขาขณะกำลังรอรถราง น้ำเสียงของเขาดูเป็นปกติ แต่จู่ๆ ก็ล้มลงและสิ้นลม  อีกคนเป็นชาวแอฟริกาใต้เล่าว่าขณะที่กำลังนั่งรถรางกลับบ้าน จู่ๆ พนักงานเก็บเงินก็ล้มพังพาบและตายคาที่  เมื่อนั่งรถไปได้ ๕ กม.ต่อมา อีก ๖ คนบนรถรางรวมทั้งคนขับก็ตายด้วย  สุดท้ายเขาต้องลงรถและเดินกลับบ้านคนเดียว

เป็นเวลานานนับสิบปีกว่าเราจะรู้ว่าโรคระบาดครั้งนั้นเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ และนานกว่านั้นกว่าจะรู้ว่ามันเป็นอันตรายต่อผู้คนได้อย่างไร  คำตอบที่หลายคนนึกไม่ถึงก็คือ จริงๆ แล้วผู้คนไม่ได้ตายเพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ แต่ตายเพราะภูมิคุ้มกันของตัวเอง  ปอดของผู้ตายถูกทำลายก็เพราะการโจมตีของเม็ดเลือดขาวนานาชนิดที่ตื่นตกใจเมื่อรู้ว่ามีไวรัสแปลกปลอมเข้ามา โปรตีนที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวเหล่านี้รวมทั้งเอ็นไซม์นานาชนิดถูกระดมเพื่อจัดการกับไวรัส  แต่สิ่งที่ตามมาคือเส้นเลือดฝอยรวมทั้งเซลล์ในปอดถูกทำลายขนานใหญ่ ผลก็คือเลือดและของเหลวนานาชนิดท่วมปอด จนหายใจไม่ได้  นอกจากนั้นยังเกิดการอักเสบในปอดอย่างรุนแรง ราวกับว่าปอดถูกเผาข้างใน  ทั้งหมดนี้เพื่อจุดหมายประการเดียวเท่านั้นคือทำลายไวรัสแปลกปลอมไม่ให้เหลือ  แต่การทำงานอย่างบ้าระห่ำและดุเดือดของภูมิคุ้มกัน ก็พลอยทำให้เจ้าของร่างตายตามไวรัสไปด้วย

ยิ่งอยู่ในวัยฉกรรจ์ มีกำลังวังชาดี ภูมิคุ้มกันก็ยิ่งเข้มแข็ง ทำงานได้เด็ดขาดว่องไว  นี้คือคำตอบว่าเหตุใดผู้ที่ตายจากโรคระบาดครั้งนั้นเกือบครึ่งจึงเป็นหนุ่มสาว  ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่ทำงานอย่างตื่นตระหนกและบ้าระห่ำนี้ อาจเปรียบได้กับกองกำลังติดอาวุธที่ถูกส่งมาจัดการกับแก๊งโจรเรียกค่าไถ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน  สิ่งที่เกิดขึ้นคือกองกำลังดังกล่าวกระหน่ำใส่โจรด้วยอาวุธนานาชนิด ทั้ง M16, M79 รวมทั้งทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน  ผลคือโจรตาย แต่ตัวประกันก็ตายด้วย แถมหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านยังพังพินาศ

ปัญหาหรือศัตรูนั้น บ่อยครั้งกลับน่ากลัวหรืออันตรายน้อยกว่าวิธีที่ใช้จัดการกับปัญหาหรือศัตรูเสียอีก  เมื่อใดที่ขาดสติ ตื่นตระหนก หรือใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตแล้ว  การแก้ไขปัญหาหรือกำจัดศัตรูก็อาจสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่ร้ายแรงหรืออันตรายยิ่งกว่าศัตรูตัวนั้น  ปัญหาที่เกิดจากปฏิกิริยาเกินขอบเขต (หรือที่เรียกว่า over-reaction) มิได้เกิดขึ้นกับร่างกายของเราเมื่อมีไวรัสแปลกปลอมบุกเข้ามาเท่านั้น  หากยังเห็นได้ทั่วไปทั้งในวิถีชีวิตของผู้คนและปรากฏการณ์ทางสังคม  หลายคนมองว่าความอ้วนเป็นปัญหา แต่วิธีที่ตนใช้ลดความอ้วนนั้นกลับเป็นอันตรายต่อตัวเองยิ่งกว่าความอ้วนเสียอีก  เมื่อเจอคนพูดโทรศัพท์รบกวนสมาธิของเราขณะดูหนัง การจัดการกับเขาด้วยการตะโกนด่าเขากลางโรงหนัง ไม่เพียงสร้างปัญหาที่หนักกว่าเดิมให้แก่เราเท่านั้น หากยังทำให้เรากลายเป็นตัวปัญหาที่แย่ยิ่งกว่าคนๆ นั้นเสียอีก  เช่นเดียวกับคนบางคนที่คัดค้านการทำแท้งเพราะเห็นว่าเป็นการฆ่าอย่างหนึ่ง แต่เมื่อต่อต้านเท่าไรก็ไม่เป็นผล ก็คว้าปืนกระหน่ำยิงหมอกลางคลีนิคทำแท้งจนตายคาที่

ในทางสังคมหรือการเมืองก็เช่นเดียวกัน  การจัดการกับผู้ที่เป็น “ภัยสังคม” หรือ “ศัตรูของชาติ” บ่อยครั้งลงเอยด้วยการที่ทำให้สังคมหรือชาตินั้นมีอาการเพียบหนักกว่าเดิม  เพราะวิธีการที่ใช้กำจัดภัยสังคมหรือศัตรูของชาตินั้น กลับมาทำร้ายสังคมหรือชาติของตนเสียเอง (เช่น กำจัดผู้นำที่คุกคามประชาธิปไตย ด้วยการรัฐประหารโค่นล้มเขา แต่ก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกล้มล้างไปด้วย) เป็นความพ้องพานที่น่าสนใจ เพราะในช่วงเดียวกับที่ผู้คนทั่วโลกพากันล้มตายเพราะภูมิคุ้มกันของตัวเองที่มุ่งกำจัดไข้หวัดใหญ่อย่างบ้าระห่ำนั้น ในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตอของโรคระบาดครั้งนั้น) ประชาชนก็พากันเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐบาลของตนที่มุ่งจัดการกับศัตรูของชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เมื่อใดที่ขาดสติ ตื่นตระหนก หรือใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตแล้ว การแก้ไขปัญหาหรือกำจัดศัตรูก็อาจสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่ร้ายแรงหรืออันตรายยิ่งกว่าศัตรูตัวนั้น

ช่วงที่เกิดโรคระบาดทั่วโลกนั้น สหรัฐกำลังทำสงครามกับเยอรมัน  เยอรมันถูกวาดภาพว่าเป็นตัวชั่วร้าย ประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน ประกาศว่าการต่อสู้กับเยอรมันเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมหรือหน้าที่ทางศาสนาเลยทีเดียว เพราะอเมริกาเป็นแบบอย่างของ “การอุทิศตนเพื่อความถูกต้องที่ได้รับการเผยแสดงจากพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์”  เขายังกล่าวอีกว่า เขาจะไม่ร่ำร้องคำว่า สันติภาพ “ตราบใดที่ยังมีบาปหรือความชั่วร้ายอยู่ในโลกนี้”

ในนามของความถูกต้อง ประธานาธิบดีวิลสันประกาศว่า เมื่อทำสงครามกับเยอรมัน ประชาชนอมริกันจะต้อง “ลืมว่าเคยมีสิ่งที่เรียกว่าความอดกลั้น  เมื่อจะต่อสู้ คุณต้องโหดเหี้ยมและดุร้าย  จิตวิญญาณแห่งความโหดเหี้ยมดุร้ายจะต้องอยู่ในสายเลือดของชีวิตประชาชาติเรา  แผ่ซ่านรัฐสภา ศาล ตำรวจ และผู้คนบนท้องถนน”

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การออกกฎหมายระงับสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือห้ามพูด เขียน หรือพิมพ์ข้อความที่วิจารณ์ ดูหมิ่น หรือแสดงความไม่ภักดีต่อรัฐบาล ผู้ละเมิดมีโทษจำคุก ๒๐ ปี  แม้แต่การเรียกร้องสันติภาพก็ถูกสั่งห้าม ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งถึงกับถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปีข้อหาต่อตานสงคราม ขณะที่สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุก ๒๐ ปีด้วยข้อหาเดียวกัน  ประชาชนทั่วประเทศถูกปลุกระดมให้รายงานเจ้าหน้าที่รัฐหากเห็นใคร “เผยแพร่เรื่องราวที่ทำให้มองโลกในแง่ร้าย….เรียกร้องสันติภาพ หรือ ดูแคลนการทำสงครามของเรา”  ส่วนทนายความที่ว่าความให้กับผู้ต่อต้านสงคราม ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนไม่รักชาติ”  ขณะเดียวกันหลายรัฐได้ห้ามสอนภาษาเยอรมัน มีการกล่าวหาถึงขั้นว่า “ร้อยละ ๙๐ ของหญิงและชายที่สอนภาษาเยอรมันเป็นคนทรยศ”

สิทธิเสรีภาพเป็นรากฐานของสังคมอเมริกัน และเป็นคุณค่าสูงสุดที่ชาวอเมริกันภาคภูมิใจ แต่แล้วสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ถูกบ่อนทำลาย  ไม่ใช่เพราะการกระทำของเยอรมัน แต่เป็นด้วยน้ำมือของรัฐบาลอเมริกันเอง  ยิ่งคิดจะห้ำหั่นศัตรูมากเท่าไร ก็กลับทำร้ายตัวเองมากเท่านั้น  เป็นเพราะความโกรธเกลียดชิงชังอย่างรุนแรงนี้เอง จึงไม่เพียงมีอคติ เห็นคนที่คิดต่างจากตนเป็นผู้ทรยศหรือศัตรูของชาติไปหมด  หากยังขาดสติถึงขั้นที่ทำสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อตนเอง

ที่น่าคิดก็คือขณะที่รัฐบาลอเมริกันประกาศว่ากำลังต่อสู้กับ “ความชั่วร้าย” เพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง แต่กลับใช้วิธีการอันชั่วร้ายนั้นเสียเอง ทั้งกับเยอรมันและกับประชาชนของตน  นั่นคือใช้วิธีการที่ “โหดเหี้ยมดุร้าย” อย่างไม่ต้องอดกลั้นหรือยั้งมือ  ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเชื่อมั่นในความถูกต้องชอบธรรมของตนมากเท่าไร ก็ยิ่งง่ายที่จะใช้วิธีเลวร้ายมากเท่านั้น  ก็ในเมื่อเราเป็นฝ่ายถูกต้องเสียแล้ว จะทำอะไรก็ถูกทั้งนั้น  และในเมื่ออีกฝ่ายเป็นตัวเลวร้าย จะจัดการกับ “มัน” ด้วยวิธีการใดก็ถือว่าถูกต้องชอบธรรมทั้งสิ้น

ความยึดติดถือมั่นในความเห็นของตนว่าถูกต้อง หรือสำคัญมั่นหมายว่าฉันอยู่เหนือกว่าไม่ว่าในทางศีลธรรม อำนาจ หรือความรู้ ฯลฯ คือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิและมานะ ซึ่งมีความยึดติดถือมั่นในอัตตาเป็นรากเหง้า และดังนั้นจึงสามารถชักนำเราให้ทำสิ่งที่เลวร้ายในนามของเหตุผลอันสวยหรูได้เสมอ

อะไรก็ตามที่ทำด้วยแรงผลักดันของทิฎฐิมานะหรือตัวตน ย่อมคลาดเคลื่อนจากความถูกต้องและก่อผลเสียทั้งต่อตนเองและส่วนรวมได้ง่าย  ด้วยเหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับยักษ์มารหรือความชั่วร้าย หากไม่รู้เท่าทันทิฏฐิมานะของตน เราก็จะกลับกลายเป็นยักษ์มารเสียเอง  รวมทั้งใช้วิธีการอัน “โหดเหี้ยมดุร้าย” ที่กลับมาเป็นผลร้ายกับตัวเองและส่วนรวม

วันนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังเครียดและเต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เพราะเห็นคนชั่วร้ายหรือศัตรูของชาติเต็มไปหมด  คนเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับเรา ซึ่งอาจอยู่ในบ้าน ที่ทำงาน หรือตรอกเดียวกันด้วยซ้ำ  ในเมื่อสำคัญมั่นหมายอย่างแน่นอนแล้วว่า “พวกเราถูก” “พวกมันผิด” ทุกคนก็พร้อมจะห้ำหั่นชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน (แต่ไม่ลืมที่จะบอกว่าฉันเอา “ธรรมนำหน้า”)  แต่เราลืมไปแล้วหรือว่า ศัตรูนั้นไม่น่ากลัวหรืออันตรายเท่ากับวิธีการที่เราใช้จัดการกับศัตรู  หากใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมดุร้าย อย่างไร้สติหรือความอดกลั้น ผลร้ายก็อาจสะท้อนกลับมาทำร้ายเราเองตลอดจนสถาบันและประเทศชาติที่เรารัก  มันทำร้ายเราก็ด้วยการสุมเพลิงแห่งความโกรธเกลียดเผาลนใจของเรา และทำให้เรากลายเป็นยักษ์มาร (ที่อาจจะโหดเหี้ยมดุร้ายยิ่งกว่าศัตรูที่เราหมายกำจัดด้วยซ้ำ)  มันทำร้ายสถาบันที่เรารักก็ด้วยการดึงสถาบันนั้นให้ตกต่ำลง หรือทำให้พิกลพิการ  มันทำร้ายประเทศชาติของเราด้วยการทำให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนและอาจถึงขั้นนองเลือด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะเยียวยาให้หายได้

ความยึดติดถือมั่นในความเห็นของตนว่าถูกต้อง หรือสำคัญมั่นหมายว่าตนนั้นอยู่เหนือกว่า สามารถชักนำให้คนเราทำสิ่งเลวร้ายด้วยเหตุผลอันสวยหรูได้เสมอ

เราทุกคนล้วนมีความปรารถนาดีต่อชาติ พร้อมจะต่อสู้กับศัตรูที่หมายจ้องทำลายสถาบันและประเทศชาติของเรา  แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่ทำตัวเหมือนภูมิคุ้มกันที่พยายามกำจัดไข้หวัดใหญ่อย่างตื่นตระหนกและบ้าระห่ำ จนทำให้เจ้าของร่างถึงแก่ความตาย

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕  ทหารหลายกองพันถูกสั่งให้มาปราบปราม “ศัตรูของชาติ” ที่ชุมนุมเต็มถนนราชดำเนิน  แต่การใช้อาวุธสงครามกับผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นจนเกือบเป็นมิคสัญญี  การใช้ความรุนแรงเกินพิกัดเพื่อแก้ปัญหานั้น กลับทำให้เกิดความเสียหายเหลือคณานับต่อประเทศชาติ อีกทั้งยังทำให้สถานภาพของกองทัพตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา

เห็นปัญหาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติในการจัดการกับปัญหาด้วย  และหากจะจัดการกับศัตรู เราแน่ใจได้อย่างไรว่าศัตรูที่แท้จริงนั้นมิได้ซุกซ่อนอยู่ในใจของเรานั่นเอง อันได้แก่ทิฏฐิมานะและความยึดติดในตัวตนจนหลงมั่นใจว่า “กูถูก” “มันผิด”  ที่สำคัญก็คือ หากมั่นใจว่า “มัน” คือยักษ์มาร  เรามีหลักประกันเพียงใดว่าขณะที่กำลังห้ำหั่นกับยักษ์มาร เราจะไม่กลายเป็นยักษ์มารเสียเอง รวมทั้งไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยินด้วยน้ำมือของเราเองด้วย

เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนอื่นเป็นตัวปัญหา อย่างแรกที่พึงทำก็คือ ระมัดระวังมิให้เรากลายเป็นตัวปัญหาไปกับเขาด้วย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา